สนธิ ลิ้มทองกุล “ผมเป็นวีรบุรุษโดยอุบัติเหตุ”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เวลานี้ไม่มีสื่อมวลชน หรือพิธีกรรายการโทรทัศน์คนไหนในเมืองไทย ที่จะโด่งดังได้เท่ากับ “สนธิ ลิ้มทองกุล” อีกต่อไปแล้ว

เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลสั่งถอดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ออกจากผังรายการของช่อง 9 ก็ยิ่งทำให้เมืองไทยรายสัปดาห์ ที่มี “สนธิ ลิ้มทองกุล” เป็นพิธีกร กลายเป็นของหายาก ด้วยเนื้อหาที่เน้นการตรวจสอบ และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ทำให้รายการนี้มีแฟนประจำติดตามดูอย่างเหนียวแน่น และยังเพิ่มจำนวนมากขึ้นทวีคูณ

ยิ่งรัฐบาลพยายาม “ปิดกั้น” ด้วยวิธีต่างๆ มากเพียงใด ก็ยิ่งสร้างแรงกระตุ้นให้มีผู้มาเข้าชมรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร จนตัวเลขหลักแสนคนในช่วงสัปดาห์ท้ายๆ

เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ชนิดที่ใครก็คาดไม่ถึง เพราะนับจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภาทมิฬ ปี 2535 แล้ว ยังไม่มีใครที่สามารถระดมประชาชนให้เข้าร่วมได้มากเท่ากับรายการเมืองไทยรายสัปดาห์

จนเป็นที่มาของ คำว่า “ปรากฏการณ์สนธิ” หรือพลานุภาพสนธิ ที่ทำให้หนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ ต้องนำไปพาดหัวติดต่อกัน และเป็นกระทู้บนเว็บที่มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นมากที่สุด ใน “เว็บไซต์”ยอดฮิตอันดับต้นๆ ชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน

ทุกสปอตไลต์ กำลังฉายลงบนตัวเขา ฉายาต่างๆ มากมาย ของการเป็น “ผู้นำม็อบ” หรือ “ฝ่ายค้านตัวจริงของรัฐบาล” แสนยานุภาพสนธิ

ปรากฏการณ์สนธิจะไปสิ้นสุดลงตรงจุดใด จุดยืนของสนธิ ลิ้มทองกุล และรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร คำตอบเหล่านี้ อยู่ในบทสัมภาษณ์ Exclusive Interview ระหว่างทีม POSITIONING และสนธิ ลิ้มทองกุล ที่นี่ที่เดียว

POSITIONING – คุณสนธิวางจุดยืนอย่างไร ในการทำรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ตั้งแต่เริ่มต้นจนมาถึงการทำเวทีสัญจร จนกระทั่งมาเกิดเป็นปรากฏการณ์ขึ้นในปัจจุบัน

สนธิ – มาจากการที่เรามีความรู้สึกว่า ถูกปิดกั้นในการแสดงจุดยืนของสื่อมวลชน ที่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เมื่อเราถูกปิดกั้นแบบนี้…เราก็ต้องสู้ นั่นคือวัตถุประสงค์แรกของเรา… เราไม่ได้คิดในแง่การตลาด เรามีความรู้สึกว่า มีประชาชนที่ดูรายการเราอยู่ แล้วไม่ได้ดู เราก็เลยอยากให้เขาดู…

16 กันยายน 2548 เป็นสัปดาห์แรกของการจัดเวทีสัญจร จัดกันในห้องส่งของโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ปรากฏว่ามีคนมาขอดูรายการในห้องส่งเยอะมาก จนสถานที่รับได้ไม่ไหว ที่สำคัญเรารู้ว่า มีคนฟังที่เป็นตัวจริงเสียงจริงอยากมาฟัง เราเลยย้ายไปจัดที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เวลานั้นเราไม่ได้คิดอะไร หนำซ้ำตอนที่เราเลือกจัดในหอประชุมเล็ก ซึ่งจุคนได้ 500 คน เราคิดว่าเราได้ 700 คน เราก็เก่งแล้ว…. และเวลานั้น เราก็ยังถ่ายทอดสดรายการผ่านทีวีดาวเทียม ASTV

ปรากฏว่า มีคนที่ถูกปิดกั้นข้อมูลเมืองไทยรายสัปดาห์มากกว่าที่คิดไว้เยอะ คือเราไม่เคยคิดว่าประชาชนจะให้ความสนใจกับเรื่องที่เราพูดมากขนาดนั้น จนมารู้ตอนที่คนล้นห้องประชุม ซึ่งจุได้ 500 คน อัดเข้าไปเกือบ 700 คน ล้นไปข้างนอกเป็น 1,000 กว่าคน เราเลยจัดต่อ พอจัดได้ 2-3 ครั้ง เราก็คิดว่า….ลองจัดหอประชุมใหญ่ มีคนมาเบ็ดเสร็จ ประมาณ 4,000 คน ล้นไปข้างนอก รวมแล้ว 7,000 กว่าคน เผอิญว่าอาจเป็นโชคของเราก็ได้ หอประชุมใหญ่ไม่ว่าง ก็เลยไปได้เวทีสวนลุมพินี ซึ่งจุคนได้ 1 พัน คนถึง 2 พันคน พอไปครั้งแรก คนไหลไป 14,000-15,000 คน จัดครั้งที่ 2 มีคนมาดู 40,000 -50,000 คน ครั้งที่ 3 เพิ่มเป็น 80,000 คน ครั้งที่ 4 มีคนมา 150,000 คน ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ตั้งใจ

ตัวที่ช่วยอย่างมากๆ ก็คือ การกระทำของรัฐบาล ที่จงใจปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร ทำให้ประชาชนมีความสงสารเรา และมีความรู้สึกว่า ทำไม…การที่คนออกมาพูดความจริงแล้ว ทำไมต้องปิดกั้น และต้องรังแกกันถึงขนาดนั้น ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องร้องเรา หรือการที่สมัคร-ดุสิต ออกมาด่ารายการนี้ทุกวัน ดังนั้น การมีตัวแทนรัฐบาลออกมาให้ข่าวในเชิงร้าย ตรงนี้เองที่เป็นการ “ส่งเสริมการขาย” ให้กับเราเสร็จสรรพ มันเป็น “negative reaction” ที่ส่งกลับให้มา เป็น positive marketing กับเราได้ ทำให้เรามารู้ในช่วงหลังว่า อ๋อ…คนเกลียดรัฐบาลชุดนี้ และเกลียดมากด้วย

ยิ่งเมื่อเขาไปปิดกั้นพวกเคเบิลท้องถิ่น ก็ยิ่งทำให้คนรู้สึกว่า สิทธิของเขาโดนขโมยไป เหมือนกับการปิดไม่ให้เขาหายใจ …คุณมีสิทธิ์อะไรไปห้ามไม่ให้เขาหายใจ รัฐบาลจึงอยู่ในจุดที่เสียเปรียบมากๆ แต่แทนที่จะแก้ไข แต่กลับกลัว ซึ่งถ้าเขากล้าตอบคำถามได้ ปัญหาก็จบ…แต่เขาก็รู้ว่า ถ้าเขาตอบเท่ากับว่าเป็นการโกหก ก็เหมือนกับเขาโกหกเรื่อง C130

ตัวนายกรัฐมนตรีเองก็ไม่เคยเห็นเราอยู่ในสายตา … เพราะเขามีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง แต่พอเราระดมคนมาดูรายการได้ถึง 150,000 -160,000 คน ทำให้เขาตกใจ… จริงๆ เขาตกใจตั้งแต่อาทิตย์ที่แล้ว ที่มีคนมา 80,000 คน ที่เราทำไม่มีอะไรจงใจเลย… มันเป็นไปตามคำเรียกร้องของสังคม ผมมาเสนออาหารทางสมองให้เขา แต่กลับถูกแกล้ง ถูกฟ้องร้อง ขู่ฆ่า รังแก ซึ่งตรงนี้ไม่ได้มีผลดีต่อรัฐบาล กลับเป็นการ “โปรโมชั่น” ให้เราด้วยซ้ำ

POSITIONING – จุดเด่นของรายการเมืองไทยรายสัปดาห์อยู่ตรงไหน

สนธิ – มันมีการอธิบายความที่ใช้ภาษาธรรมดาสามัญ ทำเรื่องยาก สลับซับซ้อน ต้องใช้เวลาอธิบายเป็นชั่วโมงๆ มาพูดให้ชาวบ้านเข้าใจได้ง่ายๆ จะพูดเรื่อง CTX จะพูดเรื่อง C130 จะพูดเรื่องอะไรก็ตาม แต่รายการนี้สามารถพูดให้เข้าใจได้ภายในไม่เกิน 5 นาที ด้วยภาษาที่เป็นชาวบ้านที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งเนื้อหา ตรงนี้คือ เสน่ห์ของเมืองไทยรายสัปดาห์

อีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ เรื่องที่รัฐบาลชุดนี้ทำและปกปิดไว้มีเยอะเหลือเกิน พอเรามานำเปิดเผย ก็เลยไปโดนใจคน เฮ้ย ใช่ เป็นอย่างนี้จริง โดยเฉพาะคนที่มีปัญญา ชนชั้นกลาง เขาสงสัยอยู่แล้ว พอเราขยายความ ทำให้เขาเข้าใจระบบทั้งระบบเป็นองค์รวม ส่วนชาวบ้านก็อยากมาดูเรา เพราะสงสารว่าเราถูกรังแก พอเขาเข้าใจเรื่อง เขายิ่งสงสารมากขึ้น

POSITIONING – มีการเลือกหัวข้อ หรือข้อมูลอย่างไร ที่คิดว่าคนจะสนใจมากที่สุด

สนธิ – ประสบการณ์ในการทำข่าวมาร่วม 30 กว่าปีของผม สอนให้ผมรู้ว่า ประเด็นไหนคนสนใจ และที่สำคัญไม่น้อยกว่ากัน คือ ลีลาที่พูดแล้วโดนใจ…ลีลาที่พูดแล้วเขาเห็นด้วย ทั้งท่าทาง จังหวะจะโคน มันผสมผสานกันทั้งนิเทศศาสตร์ สื่อสารมวลชน และวิชาการละคร

แต่สิ่งที่เป็นข้อผิดพลาดของรัฐบาลอีกข้อหนึ่ง ก็คือ การทำรายการทีวีนั้น แม้ลีลาและคำพูดสามารถมีได้ แต่ทีวี มันมีข้อจำกัดที่บังคับไม่ให้เราแสดงออกได้มากเหมือนกับการทำรายการแบบสัญจร มันเป็นเรื่องของ news entertainment หรือ information entertainment คือ คนดูได้ทั้งข้อมูล ได้ความรู้ และได้ความบันเทิงจาก “วิธีการ” ที่เราให้เขาไป

POSITIONING – การทำเวทีสัญจรสนุกกว่า

สนธิ – สนุกกว่า และผมจะทำไปทุกอาทิตย์ นี่เป็น long term ไม่ใช่ระยะสั้น

POSITIONING – มีพัฒนาการของรูปแบบการนำเสนอ

สนธิ – ผมไม่เคยคิดอะไรทั้งสิ้น ยึดหลักเอาความจริงมารายงานให้ประชาชนทราบ และต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในการเป็นสื่อมวลชนที่เสรีเท่านั้นเอง ส่วน positioning จะเป็นอย่างไร คุณต้องไปตีความเอาเอง ผมไม่รู้แล้ว คือ ผมไม่ได้ทำเพราะต้องการ position ตัวผม อะไรทั้งสิ้น ผมทำเพราะผมเชื่อ และศรัทธาในสิ่งที่ผมทำ

POSITIONING – มีการวางวาระในแต่ละเรื่องที่จะนำมาพูดให้กับคนฟังอย่างไร

สนธิ – ไม่มี เราจะมาตัดสินใจเอาในวันพฤหัส ดูเหตุการณ์ เพราะอาจมีเรื่องเกิดขึ้นในวันพฤหัสบดีเช้า แล้วมานั่งวิเคราะห์กันก่อว่าจะพูดถึงเรื่องนี้อย่างไร

POSITIONING – ไม่เหมือนรัฐบาลที่ต้องประชุมทีม รับมือตลอดเวลา

สนธิ – ใช่

POSITIONING – ทีมงานทำ content เมืองไทยรายสัปดาห์ที่เคยทำเมื่อครั้งอยู่ช่อง 9 กับสัญจร ปัจจุบัน เป็นทีมเดียวกัน พอจะบอกโครงสร้างทีม

สนธิ – ใช่ เป็นทีมเดียวกัน ไม่มีโครงสร้าง แต่ทีมจะมาคุยกับผมก่อน ซึ่งผมก็จะแนะเค้าว่ามีอะไรบ้าง หรือทีมเสนอเรื่องนี้มา ผมก็จะดูว่าน่าจะไปได้ หรือไม่น่าทำ

POSITIONING – ในส่วนผู้ร่วมรายการ มีการกำหนดไว้จะเป็นใครบ้าง เป็นคาราวานหรือเปล่า

สนธิ – อันนั้นผมไม่เกี่ยว ผมสนใจแต่เนื้อๆ ของผมเท่านั้น ส่วนใครจะเข้ามานั้นเป็นเรื่องที่ต้องไปจัดการกันเอง

POSITIONING – มีการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เป็นเรื่องของม็อบมือถือ แต่ครั้งนี้ มันกลายเป็น ม็อบดิจิตอล ซึ่งเป็นการบูรณาการของสื่อในเครือผู้จัดการ คุณสนธิมองเรื่องนี้อย่างไร

สนธิ – เป็นเพราะ เว็บไซต์ผู้จัดการโดนข่มขู่ ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า ปิดรายการในโทรทัศน์ไม่พอ ยังมาหาเรื่องปิดเว็บไซต์อีก ประชาชนจึงต้องออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง พัฒนามาเป็นความโกรธ และในที่สุดจบลงด้วยความแค้น เขารู้สึกว่าการที่มาร่วมให้กำลังใจเพื่อแสดงพลังให้รัฐบาลเห็นว่า ยิ่งรัฐบาลพูดจาไม่เข้าท่า เขาก็ยิ่งต้องแสดงออกให้รัฐบาลเห็น ว่าไม่ใช่ม็อบจัดตั้งอย่างที่รัฐบาลพูด

ตัวเว็บไซต์ manager.co.th นำวิทยุเข้าไปเสริมด้วย จะเห็นได้ว่า คนดูที่เป็นพลังสำคัญที่สุด คือ พลังคนแก่คนเฒ่าที่เป็นแฟนประจำ เมื่อรายการถูกถอด เขาก็มาดูจากวีซีดีที่ลูกซื้อมาให้ หรือดูจากอินเทอร์เน็ต ที่ลูกๆ หลานเปิดให้ ดังนั้นเราประเมินได้เลยว่า 1 คลิกที่เขามาฟังรายการวิทยุจากอินเทอร์เน็ต จะมีคนนั่งฟัง 4-5 คน ตรงนี้ต่างหากที่ทำให้คนฟังทวีคูณ และเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคิด

โครงสร้างของคนดูเวลานี้ มีทั้งคนแก่ คนหนุ่มสาวช่วงหลังเริ่มมีมากมากขึ้น ครอบครัวพาทั้งลูกเมียมา และที่น่าสนใจมากคือ คนต่างจังหวัดเหมารถมากัน การที่เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น แปลได้ 2 สถานภาพ สถานภาพหนึ่งคือ คนเกลียดรัฐบาลจริงๆ และเขาต้องการเรียกร้องสิทธิของเขา ผมว่ามันเป็นทั้งสองสถานภาพ

อีกประการหนึ่ง สื่อมวลชนที่ไม่ยอมรายงานเรื่องเหล่านี้ และไม่กล้าพอที่จะมาทำข่าว หรือรายงานในเชิงลักษณะที่เราทำ มันก็เลยทำให้ผมและรายการกลายเป็นจุดที่โดดเด่นที่สุด เพราะเขาพึ่งใครไม่ได้แล้ว… มีเครือผู้จัดการเจ้าเดียวเท่านั้นที่กล้ายืนหยัด

ทางจิตวิทยา…นายกฯ คนนี้จัดได้ว่ามีอำนาจมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของนายกรัฐมนตรีไทย จากการที่เขาสามารถคุมหมดทุกอย่างที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีคนพยายามลุกขึ้นมาสู้ แต่ก็ถูกรัฐบาลชุดนี้โค่นลงมาได้หมด ไม่ว่าจะเป็น เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, ธีรยุทธ บุญมี รวมทั้งกลุ่มเนชั่น จนเมื่อรัฐบาลมาเจอ “มวยวัด” อย่างเราเข้า ซึ่งสู้ไม่ถอย จะฟ้องเราก็ไม่ยอม หรือจะไต่สวนฉุกเฉิน หรือมีทหารตบเท้ามาหาเราก็ไม่กลัว พอมาถูกขู่ฆ่า เราก็ไปอยู่วัดป่า บ้านตาด ไปออกอากาศจากวัดป่า ตรงนี้มันได้ใจคนดู… มันก็เหมือนการแข่งชกมวย ซึ่งเราเป็นมวยรองไม่รู้กี่ขุม ที่ต้องไปยืนซดหมัดกับตัวใหญ่ มันชกเราเซแล้วเซอีก แต่เราไม่ล้มเสียที….แถมยังวิ่งเข้าหามัน คนก็เลยเกิดความรัก ความสงสาร เป็นห่วง และหมั่นไส้ ตัวใหญ่ ในเชิงจิตวิทยา คำนวณเป็นพลังมหาศาล และไม่สามารถอธิบายเป็นรูปธรรมออกมาได้ นี่แหละคือเหตุผลทีว่า ไปไหน…มาไหนมีแต่คนให้กำลังใจ และบอกสู้ๆ จดหมายหลั่งไหลมหาศาลเลย ทำให้เมืองไทยรายสัปดาห์เป็นตัวแทนประชาชน พูดแทนเขา ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นในรูปลักษณ์แบบนั้น

POSITIONING – มีการมองว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งระหว่างทักษิณ และสนธิ เป็นเรื่องระหว่างคนสองคน

สนธิ – เหตุการณ์มันใหญ่เกินกว่าจะเป็นเรื่องระหว่างทักษิณ-สนธิ ไปแล้ว จิตวิทยามวลชนเวลานี้ มันไปถึงจุดที่ไม่หวนกลับแล้ว ดังนั้น ไม่ว่าจะมีใบปลิว หรือจะอ้างอิงอะไรก็ตามที่มา ลบเครดิตสนธิเนี่ย มันกลับกลายเป็น positive marketing สำหรับสนธิ และเป็น negative marketing สำหรับเขาไปแล้ว

POSITIONING – เวลานี้คุณสนธิ เปลี่ยนบทบาทจากพิธีกรเมืองไทยรายสัปดาห์ไปเป็นผู้นำม็อบ

สนธิ – ไม่ใช่เลย เราต้องรู้ตัวเอง เราพยายามเป็นตัวแทนประชาชน เรียกร้องในสิทธิที่เขาต้องการ เรียกร้องเสรีภาพของสื่อ เวลานี้เราเพิ่มอีกข้อแล้ว คือ สิทธิของประชาชน จากการเรียก อธิปไตยจากการเมืองคืนมา… เพื่อให้มีการปฏิรูปการเมืองเกิดขึ้น แต่เราจะไม่ก้าวเข้าไปสู่การเป็นผู้นำม็อบ เพราะเราไม่ใช่ผู้นำใคร แต่ถ้าประชาชนเห็นด้วยกับเรา เราจะเป็นตัวแทนให้เขา

POSITIONING – ถ้ารัฐบาลบอกคืนเวลาช่อง 9 ให้เมืองไทยรายสัปดาห์อีกครั้ง คุณสนธิจะรับมั้ย

สนธิ – ผมไม่เอา เพราะว่ามีข้อจำกัด ที่สำคัญ ผมไม่ได้ทำเพื่อเรียกร้องให้ผมกลับเข้าไปในรายการ แต่ผมทำเพื่อให้รัฐบาลเปิดเสรีกับสื่อ และไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อ

POSITIONING – คนส่วนใหญ่จะมีข้อสงสัยว่า แล้วมันจะไปจบลงอย่างไร

สนธิ – ผมว่าคนที่ถามอย่างนี้ ต้องเป็นคนที่สนใจการเมือง ผมคิดว่ามีชาวบ้านอยู่เยอะที่สนใจข้อมูล คำถาม คือว่า ประชาชนยังสนใจสื่อ ที่ให้ข้อมูล ไม่บิดเบือนอยู่หรือเปล่า

POSITIONING – ถ้ามองในรูปการนี้แล้ว คุณสนธิมีทางออกให้กับรัฐบาลนี้อย่างไร

สนธิ – เขาต้องทำงานโดยที่ผมตั้งคำถามเขาไม่ได้ ถ้าเขาตอบคำถามผมได้หมดอย่างโปร่งใส และเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวได้เสรีหมด ผมจัดรายการก็ไม่มีใครมาฟัง เพราะทุกคนรู้หมดแล้ว

POSITIONING – ระหว่างเหตุการณ์ รสช. กับที่รัฐบาลทักษิณทำอยู่ในเวลานี้ แตกต่างกันอย่างไร

สนธิ – กรณีของรสช. คนเห็นภาพชัดกว่า สื่อมวชนเห็นภาพชัดกว่า แต่กรณีนี้มันต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าสื่อมวลชนบางฉบับจะเริ่มเห็น ถ้าไม่มีคนมาฟังเป็นแสนคนหนังสือพิมพ์ไม่รายงานข่าว เวลานี้หนังสือพิมพ์ก็เป็นเรื่องของธุรกิจการค้า อย่างช่วงหลังที่เอาผมและสโรชาขึ้นปก ก็เพราะมันขายได้

POSITIONING – ในคอลัมน์ กาแฟดำ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ บอกว่า การต่อสู้ที่เป็นอยู่เวลานี้เหมือนกับนายกเป็นผู้มีอำนาจ และคุณสนธิเป็นเหมือนกับระเบิดพลีชีพ คุณสนธิมีความเห็นกับกรณีนี้อย่างไร

สนธิ – เฉยๆ ผมไม่รู้สึกอะไรทั้งสิ้น มีอย่างเดียวคือ ผมเชื่อและศรัทธาในสิ่งที่ทำหรือเปล่า… ถ้าผมเชื่อ…ผมศรัทธาผมจะไม่ถอย…ไม่หวั่นไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะผมรู้ว่าต้องทำอะไรอยู่ และเชื่อในสิทธิเสรีภาพของสื่อ และสิทธิเสรีภาพของประชาชนว่าควรได้รับข่าวสารที่ถูกต้อง และถึงเวลาแล้วที่การเมืองต้องปฏิรูป นั่นคือสิ่งที่ผมเชื่อ ผมก็เดินหน้า ใครจะคิดว่า หรือชมอะไร ผมไม่รู้สึก แต่ผมไม่พยายามเป็นผู้นำประชาชน…ผมพยายามให้ปัญญากับประชาชน

คำพูดผม เหมือนกับเป็นโครงกลอน แต่จริงๆ แล้วมันเป็นนัยลึกซึ้ง ผมเป็นคนที่กล้าจุดเทียนแห่งปัญญาขึ้นมา ท่ามกลางพายุที่พัดมารุนแรง ในอดีตมีคนพยายามจุดมาแล้วหลายครั้ง แต่จุดแล้วก็ดับ ที่มันดับก็เพราะเขาไม่กล้าเอาตัวเขามาบังเทียน ผมเป็นคนแรกและคนเดียวที่กล้าเอาตัวมาบังเทียน ซึ่ง ในกระบวนการบังเทียน พายุมันแรง มันก็มีเศษอิฐ เศษสังกะสี ปลิวเข้ามาหาผมได้รับบาดเจ็บ เทียนถึงจะอยู่ได้ เมื่อเทียนอยู่ได้ และลุกสว่างโชติช่วง มีหลายคนมาขอร่วมจุดด้วย เมื่อมีเทียนจำนวนมากๆ ก็หลอมให้เป็นเทียนพรรษา พอเทียนพรรษาสว่างไสว ก็เหมือนกับสังคมที่มันสว่างไสว ภูตผีปิศาจก็อยู่ไม่ได้

POSITIONING – การที่คุณสนธิ เรียกร้องให้คนมาดูรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ในวันที่ 9 ธันวาคม 5 แสนคน มันมีนัยอย่างไร

สนธิ – การที่มีคนมา 5 แสน มันเป็นนัยพลังบริสุทธิ์ของประชาชน เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะปฏิเสธต่อไปไม่ได้

POSITIONING – ไม่มีอะไรมากกว่านั้น

สนธิ – เป็นสัญลักษณ์ แต่จะมีอะไรมากกว่านั้นหรือเปล่า… ยังไม่รู้ เพราะเราไม่ได้มีการเตรียมการณ์ สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรามาจนถึงวันนี้ เพราะความเป็นมวยวัดของเรา… ถ้าเราวางแผนล่วงหน้าเราคงมาไม่ได้ถึงวันนี้

POSITIONING – แต่ละสัปดาห์จะมีการประเมินหรือไม่ว่าสัปดาห์หน้าจะทำอย่างไร

สนธิ – แต่ละอาทิตย์เราก็ทำไป …ปรับตัวรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

POSITIONING – คุณสนธิพูดว่าถึงเวลาที่จะต้อง “รุก” หมายถึงอะไร

สนธิ – เป็นการที่เราประกาศเจตนารมณ์ เราเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเสรีสื่อ เรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปทางการเมือง และเราขอฉันทามติของประชาชน จะให้รัฐบาลนี้คืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชนหรือไม่ เพื่อปฏิรูปทางการเมือง

POSITIONING – ถ้าหลวงตามหาบัวเรียกคุณสนธิกับนายกทักษิณ บอกให้คืนดีกันจะเป็นไปได้หรือไม่

สนธิ – ผมว่าครูอาจารย์คงไม่ทำเช่นนั้น ท่านคงจะเอาธรรมขั้นสูงมาสอน และสิ่งที่ผมทำอะไรไม่ผิด เพราะผมเอาธรรมนำหน้า ปัญหาของนายก คือ นายกไม่ได้เอาธรรมนำหน้า

POSITIONING – ในสัปดาห์ที่ผ่านๆ มา คุณสนธิประกาศชื่อหนังสือพิมพ์ให้ประชาชนรับรู้ความจริงได้ และมีนัยแฝงว่า เป็นการหาแนวร่วม และเป็นเช็กบิลหนังสือพิมพ์บางฉบับด้วยใช่หรือไม่

สนธิ – ในการทำงานเราก็มีการ เช็กบิลกันบ้าง เป็นของธรรมดา และก็ได้ผล เพราะเวลานี้ ไทยรัฐ หนังสือเหลือเยอะมาก

POSITIONING – แนวคิดในการทำ ASTV เป็นการมาตอบโจทย์ความเป็นทีวีเสรี แทน ไอทีวี ที่เริ่มมาจากทีวีเสรี แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะมีกลุ่มทุนพรรคร่วมรัฐบาลซื้อกิจการไป

สนธิ – ไม่เชิง ASTV เป็นบริษัททำธุรกิจดาวเทียมอยู่ในประเทศฮ่องกง เราส่งเนื้อหาให้เขา เรามีความรู้สึกว่า เทคโนโลยีโทรทัศน์ดาวเทียมในไทยต้องพัฒนาไปจากฟรีทีวีเยอะ เรามีความเชื่อมั่นว่า ทีวีดาวเทียมที่คนซื้อจานและกล่องจะเพิ่มขึ้นมาก และตรงจุดนั้นเป็นโอกาทางธุรกิจที่จะให้กำลังใจ ขณะเดียวกันให้เนื้อหาที่ดีแก่ประชาชน

POSITIONING – คอนเซ็ปต์ของช่อง News 1 จะมาแทนไอทีวีหรือเปล่า

สนธิ – ถ้าเราทำงานอย่างมืออาชีพ ก็มีคนดูเอง โดยเฉพาะในสังคมที่มีผลประโยชน์แอบแฝงซ่อนเร้นอยู่เยอะ คือ ทำหน้าที่สื่ออย่างมืออาชีพ โดยไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลใครทั้งสิ้น เป็นสื่อสารข้อมูลที่ประชาชนไว้ใจได้ นั่นคือกระบวนการสร้างองค์ความรู้ให้ประชาชน

POSITIONING – ครั้งนี้จะพูดได้หรือไม่ว่า เป็นการกลับมาของหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ ที่จะมีเนื้อหาวิเคราะห์เจาะลึกอีกครั้ง

สนธิ – ผมไม่ได้คิดอะไร หนังสือพิมพ์มีขึ้นมีลงเหมือนสินค้า เพียงแต่หนังสือพิมพ์มีจิตวิญญาณมากกว่าสินค้า คือยืนอยู่บนความถูกต้อง และบางครั้งสิ่งแวดล้อม หรือบางเหตุการณ์ ทำให้หนังสือพิมพ์เฉไฉไปบ้าง แต่บทสรุปตอนจบสุดท้าย ถ้าหนังสือพิมพ์ยืนอยู่ในที่ที่ควรจะอยู่…. มันก็ไม่มีอะไรจะล้มหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนได้ เพราะในที่สุดแล้ว การยืนหยัดอยู่บนความถูกต้องเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

POSITIONING – เหตุการณ์ครั้งนี้ เรียกว่าเป็นวิกฤตหรือโอกาส

สนธิ – ขึ้นอยู่กับว่ามองมิติไหน ถ้ามองมิติเชิงธุรกิจถือว่าเป็นวิกฤต ถ้ามองในเชิงธุรกิจอีกด้านหนึ่ง มันก็เป็นโอกาส เพราะอย่างน้อยที่สุด หลังจากเหตุการณ์ ทำให้หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ หนังสือในเครือ ทั้งผู้จัดการรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน ขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง ตามรายงานสำรวจของเอซี นีลสัน

ถ้ามองในแง่วิกฤตแล้ว ก็ลำบากในการหาเงินหาทอง หาผู้ร่วมลงทุน เพราะรัฐบาลก็กลั่นแกล้งเราได้ โฆษณาภาครัฐถูกตัดออกทั้งหมด แต่ถ้ามองเป็นโอกาสธุรกิจ เราก็มีโฆษณาจากภาคเอกชนเข้ามาเยอะ เพราะว่าในที่สุดแล้วหนังสือพิมพ์เรามีคนอ่านมาก แต่ ถ้ามองในแง่วิกฤตอีกด้าน ถ้ารัฐบาล block ตัวเคเบิลทีวีไม่ให้รับรายการเรา โอกาสเราก็น้อยลง เพราะมีจำนวนคนดูน้อยลง โอกาสที่จะหาโฆษณาก็ลดลง ถ้ามองในแง่ในแง่โอกาส หากเรื่องนี้จบลง และรายการฯสามารถออกอากาศได้ หมายความว่า คนจะหันมาดูช่องของเราหมดที่เป็นเคเบิลทีวี ขณะเดียวกัน มีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์สินค้าไหนบ้างที่จะได้ผลเท่า ASTV ครั้งนี้ โดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ทุกวันนี้ทุกคนรู้จัก ASTV มันขึ้นอยู่กับว่าจะมองในแง่ไหน

POSITIONING – ช่วงแรกคุณสนธิคิดอย่างไรถึงทำเสื้อยืดสีเหลืองขึ้นมา จนเวลานี้กลายเป็นปรากฏการณ์สีเหลืองไปทั่ว ม็อบไหนๆ ก็เอาสีนี้ไปใช้

สนธิ – ไม่ได้คิดอะไร แค่อยากทำเสื้อออกมาให้คนใส่ เพื่อ identify ในสิ่งที่เราสู้ ผมต้องระวังรักษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเรามีประชาชนที่รักมาให้กำลังใจเราเป็นล้านคน รวมคนในต่างจังหวัดที่ไม่มีโอกาสเข้ามา คนล้านคนจะต้องไม่ทำให้เค้าผิดหวัง เพราะเขามีแรงบันดาลใจ มาช่วยให้กำลังใจ เพราะเราถูกข่มขู่ และเราบอกเขาว่า กล้าพูดในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้า เพราะฉะนั้นเราจะต้องเก็บความกล้าเหล่านี้ไว้ตลอดชีวิต เพราะว่านี่คือ ยี่ห้อ คุณภาพของเราที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง และคนที่สนับสนุนเราตั้งแต่วันแรกจนถึงวันต่อๆไป เขาก็บอกว่าเครือผู้จัดการไม่เคยมีอะไรเปลี่ยนแปลง ตรงนั้นต่างหาก

POSITIONING – เสื้อ “ เราจะสู้เพื่อในหลวง” ก่อเกิดคำถามในสังคม พอจะบอกได้มั้ยว่า เราสู้อะไร เพื่ออะไร

สนธิ – ตอนแรกที่ทำเพราะเห็นว่า ในหลวงถูกละเมิดพระราชอำนาจไปเยอะ ก็เลยทำ ว่าเราจะสู้เพื่อในหลวง และต้องการให้ถวายพระราชอำนาจคืนให้ในหลวง นั่นคือ นัยมันมีแค่นั้นเอง

POSITIONING – ตอนนี้ถือว่าเราทำหน้าที่เสร็จสมบูรณ์หรือยัง เมื่อพูดถึงความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ในการสู้เพื่อในหลวง

สนธิ – ไม่ทราบเหมือนกัน คำว่าเหมาะสม การที่เราจะทำเสื้อเราสู้เพื่อในหลวง ไม่ใช่เรื่องเสียหาย อาจจะเสียหายในแง่ public ซึ่งอาจจะบอกว่า การดึงเรื่องในหลวงมาพูด อย่างกรณีเรื่องวัดพระแก้ว เราจบไปแล้ว เราได้พูดในสิ่งที่เราต้องการพูดไปแล้ว แต่รัฐบาลก็ตอบคำถามไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะทำวีซีดีออกมาก็ตาม มันจบแล้ว

POSITIONING – ตอนนี้เสื้อเหลือง เป็น symbol หรือสัญลักษณ์ในแง่การต้องการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

สนธิ – ใช่มันเหมือนยี่ห้อ คือ การถวายพระราชอำนาจคืนให้ในหลวง

POSITIONING – ชีวิตของคุณสนธิเวลานี้เปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน

สนธิ – เปลี่ยนแปลงเยอะ ผมกลายเป็นคนไม่มีความเป็นส่วนตัว ซึ่งผมไม่ชอบเลย ในแง่ระวังตัวก็ต้องทำอยู่แล้ว แต่การที่ไปไหนมาไหนคนรู้จักไปหมด เป็นสิ่งที่ผมไม่ชอบ ตอนนี้ผมดังกว่า เบิร์ด-ธงไชย คุณคิดว่าสนุกเหรอ …ขนาดวันนี้ผมไปกินข้าวกับผู้บริหารหนังสือพิมพ์ International Herald Tribune โรงแรมโอเรียลเต็ล…พอผมขึ้นเรือไปมีคนสวัสดีตั้งแต่เด็กท่าเรือจนถึงยาม ทุกคนรู้จักผมหมด แล้วยังมีคนที่นั่งกินตามร้านอาหารแอบมากระซิบตอนที่ผมกำลังตักอาหาร บอกว่า ให้กำลังใจนะค่ะ เวลานี้ทุกคนให้กำลังใจหมด เราเข้าใจความปรารถนาดี แต่อันนี้ไม่ใช่สิ่งที่วางแผนเอาไว้ เราไม่ต้องการ…แต่ว่ามันมาเอง คุณจะมันเรียกว่า วีรบุรุษโดยอุบัติเหตุก็ได้ แต่สำหรับผมไม่เคยคิดว่า เป็นวีรบุรุษ ถ้าคุณถามว่า positioning ผมอยู่ตรงไหน ผมตอบได้เลยว่า ผมเป็นเพียงยามเฝ้าบ้านคนหนึ่ง ณ วันนี้ก็ยังคิดเช่นนั้น ผมไม่ได้มักใหญ่ใฝ่สูง แต่ขอเป็นแค่ยาม ที่เป็นสื่อมวลชน รักษาแผ่นดิน ยามที่ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ

POSITIONING – คุณสนธิได้ประเมินเหตุการณ์ครั้งนี้จะมีทางออกกี่ทาง หรือมีจุดลงอย่างไรบ้าง

สนธิ – ผมไม่รู้ ผมไม่ประเมิน (ส่ายหน้า)

POSITIONING – ทำไมถึงไม่ประเมิน

สนธิ – คนคำนวณไม่สู้ฟ้าลิขิต ผมคิดอยู่แค่นี้ ผมไม่ใช่นักวางแผน จะให้มาคิดแบบ MBA หรือทำ SWOT Analysis ผมไม่ทำ

POSITIONING – ถือได้ว่า เรากำลังขี่หลังเสือหรือเปล่า

สนธิ – ก็ไม่คิด ถือว่าเราทำหน้าที่ของเราอยู่ และหน้าที่นั้นต้องผ่าน ไม่ได้คิดว่าเป็นเสือ หรือเป็นช้าง มีหน้าที่ต้องทำก็ต้องทำ ผมเป็นคนค่อนข้างโรแมนติกกับเรื่องเก่าๆ ผมเชื่อว่าลูกผู้ชายคนหนึ่งมีบ้างที่ควรกระทำ และมีบ้างที่ไม่ควรกระทำ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรกระทำอย่างยิ่ง

POSITIONING – คุณสนธิเคยพูดว่าจะเป็น ไทยคูน มีเดีย ออฟเอเชีย เวลานี้ยังคิดอย่างนั้นอยู่หรือเปล่า

สนธิ – นั่นมันเป็นอดีต ตอนนี้ไม่ต้องการเลย เสียใจที่เคยคิดอย่างนั้น เพราะว่าเราทำความใหญ่ พิเศษในเรื่องเล็กๆได้ดีที่สุด สิ่งที่ทำไม่จำเป็นต้องใหญ่ ถึงมันจะเล็กขอให้มันใหญ่ในตัวมัน ใหญ่ในแง่คุณภาพมันก็ใหญ่

POSITIONING – ช่วงนี้เข้าใจว่าคุณสนธิได้รับเชิญไปออกงานเยอะ

สนธิ – ผมต้องปฏิเสธหมด เพราะผมไม่ต้องการเป็นตัวเสี่ยงของเค้า (ผู้จัด) และไม่ต้องการให้ผู้จัดอยู่ในสภาวะกระอักกระอ่วนใจ เพราะหลายงาน รับปากแล้วพอใกล้จะไป ก็จะโทรศัพท์มาขอโทษว่า โดนบีบไม่ให้จัด ผมก็เลยตัดขาดไปเลย

POSITIONING – มองว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ จะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่สื่อมวลชนไทยหรือไม่

สนธิ – ถ้าพูดแล้วก็จะว่าเป็นการยกยอตัวเอง คือ มันไม่เคยมีปรากฏการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นมาก่อน ที่คนคนหนึ่งลุกขึ้นมาสู้ยืนหยัด ชูธง โต้กระแสทวนคนเดียวจริงๆ แล้วในที่สุดคนก็เริ่มสงสาร เมื่อเห็นผมเอาหลังบังเทียน และผมโดนก้อนอิฐ ขวดแตก สังกะสีบาด จนในที่สุด คนเริ่มเห็นใจ และเอาหลังบังบ้าง นี่ เป็นครั้งแรกๆ สุดๆ เลย ที่คนคนหนึ่งสามารถทำให้รัฐบาลทั้งรัฐบาลหวั่นไหวได้หมดเลย เค้าถึงบอกว่า เป็นปรากฏการณ์สนธิ Sonthi Phenomenon มติชนพาดหัวข่าว พลานุภาพสนธิ คำถามคือ ทำไมจึงไม่มีพลานุภาพเจิมศักดิ์ ทำไมไม่มีพลานุภาพธีระยุทธ บุญมี ผมก็ตอบไม่ได้

POSITIONING – เพราะการที่คุณสนธิเป็นสื่อหรือเปล่า

สนธิ – แล้วทำไมไม่มีพลานุภาพสุทธิชัย หยุ่น ทำไมไม่มีพลานุภาพสรยุทธ ใช่หรือไม่

POSITIONING – ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล

สนธิ – ไม่รู้ แล้วแต่จะคิดกัน มันอาจขึ้นอยู่ที่ตัวคน หรืออุดมการณ์ของคน เพราะในที่สุดแล้ว สังคมตอนนี้ที่ถูกละเมิด อุดมการณ์กลายเป็นของเด็กเล่นไป มันทำให้ประชาชนโหยหาคนที่มีอุดมการณ์ เผชิญมีโผล่ขึ้นมา …ผมเองไม่ใช่คนดี แต่ผมค่อนข้างเลวน้อยที่สุด ประชาชนเลยมีความรู้สึกว่า ใช่เลย นี่คือตัวแทนของเขา

POSITIONING – หลายคนมองว่า การที่คุณสนธิออกมาวิพากษ์วิจารณ์คุณทักษิณได้ขนาดนี้ เพราะคุณสนธิรู้จัก กับคุณทักษิณมานาน

สนธิ – กับทุกรัฐบาลผมรู้ทันหมด เพราะผมเป็นคนที่ใฝ่รู้ เวลาผมดูอะไร จะศึกษาและทำความเข้าใจองค์รวม ไม่ได้ศึกษาเฉพาะแต่ต้นไม้ต้นเดียว แต่ผมดูและศึกษาทั้งป่า เพราะฉะนั้นแล้วไม่จำเป็นต้องคุณทักษิณผมก็รู้ทัน

POSITIONING – มีคนตั้งข้อสังเกต ประเด็นการนำเสนอและท่าทีของรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ช่วงแรกเชียร์รัฐบาล แต่ภายหลังกลับโจมตี เกิดอะไรขึ้น

สนธิ – เหตุผลก็เพราะว่า ผมให้โอกาสเค้าทำงานในตอนแรก เหมือนกับที่ผมเคยให้โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์ทำงานในช่วง 2 ปีแรก พอเริ่มปีที่ 3 ผมก็เริ่มวิพากษ์วิจารณ์วิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจของนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ โดยเฉพาะกรณีการแก้ปัญหา ปรส. ที่เอาต่างชาติเข้ามาซื้อ ทักษิณก็เหมือนกัน 2 ปีแรกพยายามให้กำลังใจเค้าทำงาน อธิบายความในสิ่งที่เค้าได้ทำผิดพลาดไป แต่พอขึ้นปีที่ 3 เริ่มทนไม่ได้ เริ่มเห็นพฤติกรรมหลายอย่างที่ตอบคำถามผมไม่ได้หลายอย่าง

ผมยอมรับเหมือนกันว่า ช่วงปีที่ 3 ประมาณปลายปี 2546-2547 เป็นช่วงที่ผมลำบากใจมาก เพราะเวลาจะไปออกรายการแต่ละครั้งผมต้องทำใจ อึดอัดใจ คนที่ทำงานกับผมจะรู้ เพราะหน้าตาผมไม่สบาย เพราะผมไม่รู้จะพูดอะไร ที่จะไปสร้างความชอบธรรมให้ได้อีก เพราะมันเริ่มฝืนความรู้สึกมากขึ้น มันทำให้ผมนอนไม่หลับมานาน จนกระทั่งในที่สุดแล้ว มโนธรรมของผมบอกว่า ต้องทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเดือนสิงหาคม 2547 เป็นจุดแรกที่ผมเริ่มเปลี่ยน วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมากขึ้น มากเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงเดือนกันยายน 2548 รวมเวลาได้รวม 1 ปี 1 เดือน

POSITIONING – กับการทำงานของรัฐบาลทักษิณใน 2 ปีที่คิดว่า ทำได้ดี

สนธิ – 2 ปีแรก ผมถือว่าคุณทักษิณไม่ได้ทำงาน เพราะปีแรกเป็นปีที่เขามัววุ่นวายต่อสู้ดิ้นรนให้หลุดจากคดีซุกหุ้น ปีที่ 2 เป็นปีแห่งการจัดระเบียบองค์กร การโยกย้ายปลัดกระทรวงต่างๆ ถือว่าเป็นการจัดทัพ ปลายปี 2 ถึงปีที่ 3 ถือว่าเป็นที่ปีที่เขาเริ่มทำงาน พอเขาเริ่มทำงานปั๊บ ผมก็ทนไม่ไหวแล้ว

POSITIONING – มีคนพูดว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มันเป็นการสร้างความแตกแยกขึ้นในประเทศ คุณสนธิมองอย่างไร

สนธิ – มองในเชิงปรัชญาผม ผมกลับคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดี เพราะถ้าไม่สร้างข้อแตกต่างให้เห็นแล้ว ก็เท่ากับว่า คุณทักษิณขายความคิดของเขาให้ทุกคนได้หมด แต่เผอิญผมไม่ซื้อความคิดคุณทักษิณ เมื่อผมไม่ซื้อความคิดของเขา ทำไมผมต้องเห็นด้วย และการที่ผมไม่เห็นด้วยกับคุณทักษิณแล้ว ถ้ามันจะต้องแตกแยก เพราะผมไม่เห็นด้วยกับคุณทักษิณ ก็ปล่อยให้มันแตกแยกไป

POSITIONING – คุณสนธิไม่เห็นด้วยกับคุณทักษิณในทุกเรื่องหรือเปล่า หรือมีเรื่องไหนบ้างที่คุณสนธิเห็นด้วยกับคุณทักษิณในอนาคต ถ้าหากมันจะเกิดขึ้นมา

สนธิ – ผมไม่ทราบต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป ถ้ามีผมก็เห็นด้วยกับเค้า แต่ขอให้ผมเห็นด้วยจริงๆ นะ ขอให้เค้ามีจริงๆและทำจริงๆ นะ ไม่ใช่ทำเพื่อสร้างภาพ

POSITIONING – คิดว่าอะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลงโดยเร็วที่สุด

สนธิ – ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่รัฐธรรมนูญต้องแก้ การปฏิรูปการเมืองต้องเกิด เพราะว่ารัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันที่ได้ร่างขึ้นมาเพื่อให้ทุนครอบงำประเทศ ผมคิดว่าตรงนี้ต้องเปลี่ยน… ไม่เปลี่ยนไม่ได้ เพราะถ้าทุนครอบงำประเทศแล้ว ความหลากหลายของสังคมไม่มี, ตัวแทนของกลุ่มชนต่างๆ, ตัวแทนธุรกิจปลีกย่อยจะไม่มี ถ้าทุนครอบงำประเทศใครจะเป็นตัวแทนโชวห่วย ในเมื่อทุนเป็นของห้างแม็คโคร โลตัส เป็นรัฐบาลเสียเอง นี่เป็นตัวอย่างง่ายๆ

ถ้าเรามี ส.ส. ที่หากพรรคมีมติอย่างไรก็ตาม ก็ต้องว่าไปตามนั้น แล้วจะมีใครเป็นตัวแทนของคนเลี้ยงวัว สหกรณ์โคนม หรือตัวแทนผู้ปลูกลำไย…สังคมในระบอบประชาธิปไตย ต้องเป็นสังคมที่หลากหลายความคิด ในการปกป้องผลประโยชน์ของทุกๆ ชุมชน ไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ที่ต้องการ อย่างน้อยก็ต้องได้ 50 เปอร์เซ็นต์เขาควรจะต้องได้ หรือถ้าไม่ได้ก็อย่าไปรังแกเขา ตัวรัฐธรรมนูญไม่แก้ไข การปฏิรูปการเมืองจะไม่เกิด วันนี้ก็จบกัน เพราะเจ้าของพรรคการเมือง คือ ทุน เมื่อพรรคเข้ามาบริหารประเทศ ก็เพื่อผลประโยชน์ของทุน และเอาภาษีราษฎรไปซื้อเสียง เพื่อให้พรรคกลับมาเข้าเป็นรัฐบาลต่อ ก็เหมือนบริษัท

POSITIONING – คุณสนธิคิดว่าใครเหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีในอนาคต ภายใต้สถานการณ์บ้านเมืองที่เป็นอยู่ในเวลานี้

สนธิ – เมืองไทย ใครก็ได้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ทำงานเพื่อประเทศชาติดีทุกคน และผมมองเห็นปัญหาที่รัฐบาลชุดนี้ได้พาประเทศเดินไปในทิศทางที่น่ากลัวที่สุด เพราะเป็นทิศทางที่ให้คนไทยเป็นหนี้ทุกคน ถ้าหากโครงสร้างมันล้ม จะล้มทั้งบ้านเลย มันไม่เหมือนสมัยปี 2540 ซึ่งยุควิกฤตเศรษฐกิจ ค่าเงินบาท มันล้มเฉพาะธุรกิจใหญ่ๆ และมันก็เกิดขึ้นมาได้ แต่งวดนี้ สังคมรากหญ้าเป็นหนี้สินกันหมด ถ้าหากมันล้มขึ้นมาก็เหมือนกับเสาเรือนล้ม การฟื้นตัวจะยากลำบากมาก

POSITIONING – คิดว่านโยบายประชานิยมของคุณทักษิณ ใช้เวลานานเท่าไหร่กว่าบูมเมอแรงจะย้อนกลับมา

สนธิ – บูมเมอแรงมันเริ่มแล้ว เพราะตอนนี้เงินไม่มี ตอนนี้เห็นชัดเจนแล้วในสังคมรากหญ้า เรื่องกองทุนหมู่บ้าน

POSITIONING – อยากให้พูดถึงพัฒนาการของพิธีกรร่วมคุณ สโรชา พรอุดมศักดิ์

สนธิ – มีพัฒนาการดีขึ้นมาก เรียนรู้เยอะ รู้จังหวะ ว่าเวลาใดก็ควรจะนิ่ง เวลาใดควรจะถามคำถาม และได้พัฒนาจากคนที่เคยไม่เจอเรื่องแบบนี้ จนมีความเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ

POSITIONING – ถือว่าคุณสโรชาตกกระไดพลอยโจนหรือเปล่า

สนธิ – ไม่รู้เหมือนกัน ผมให้โอกาสเขาแล้ว ช่วงที่รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ได้ออกมาจัดสัญจร ผมก็บอกให้เขาถอนตัวได้ แต่เค้าบอกไม่ถอน ถ้าเช่นนั้น จะบอกว่าเขาตกกระไดพลอยโจนไม่ได้หรอก

POSITIONING – ในการจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ พิธีกรหญิงสโรชาจะไม่รู้ว่าแต่ละสัปดาห์คุณสนธิจะพูดอะไร

สนธิ – มันเป็นความตั้งใจที่จะให้เขาไม่รู้ว่าผมจะพูดอะไร รายการนี้ไม่มีเตี๊ยม จะรู้อย่างเดียวว่าหัวเรื่องที่จะพูดมีอะไรบ้าง ซึ่งเป็นข้อดีเพราะเขาจะตั้งใจฟังผมพูด และในระหว่างตั้งใจฟังจะได้คิดว่า เขาจะถามอะไรดี มันเป็นการฝึกไปในตัว คุณสโรชา เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ผมเชื่อว่า ผู้หญิงที่เป็นพิธีกรทั่วประเทศอิจฉาริษยามากที่สุด ถ้ามีความกล้าหาญแบบคุณสโรชา เพราะวันนี้พิธีกรหญิงในประเทศไทยไม่มีใครดังเท่าคุณสโรชา… กาละแมร์ชิดซ้าย ไม่เหมือนคุณสโรชา ซึ่งเป็นคนมีสาระและได้รับกำลังใจจากประชาชนอย่างสูง

POSITIONING – ประเด็นในการนำเสนอรายการเมืองไทยฯ ระยะหลังเห็นว่าค่อนข้างซ้ำไปซ้ำมา จะมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่

สนธิ – มันอาจจะซ้ำไปบางกรณี แต่ว่าที่ซ้ำประเด็นแสดงว่าคนพูดอาจไม่เข้าใจ เพราะเป็นการขยายความ กรณี เครื่องบิน C130 สัปดาห์ครั้งที่ 10 ที่ผ่านมา เป็นการขยายความต่อจากครั้งที่ 9 ซึ่งทางฝ่ายรัฐบาลได้ออกมาชี้แจงว่าเป็นเที่ยวบินเมล์ ก็เลยต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่า เขาโกหก หรือประเด็นนายเหยียน ปิน ซึ่งเขาบอกว่ารู้จักดี แต่ผมไม่ได้ถามว่า คุณรู้จักมั้ย แต่ผมว่าคุณได้ตรวจสอบหรือยังว่า นายเหยียน ปินได้สัญชาติไทยมาถูกต้องหรือเปล่า ถ้ามองในมุมนี้มันไม่ได้ซ้ำ แต่มันจะมีข้อมูลใหม่ในประเด็นเก่า

POSITIONING – อยากให้ฝากข้อคิดกับวงการสื่อสารมวลชนในอนาคต

สนธิ – ผมคิดว่า การทำหนังสือพิมพ์ หรือการทำสื่อ มันมี 2 องค์ประกอบที่สำคัญที่สุด นอกเหนือจากทักษะในตัวเองทีได้ฝึกฝนมาแล้ว คือ ต้องมีองค์ประกอบของจิตวิญญาณ ซึ่งผมถือว่า สำคัญที่สุด สื่อบ้านเราปัจจุบันเป็นผีดิบเสียมาก วิญญาณไม่ค่อยมี

POSITIONING – อยากให้พูดถึงการพัฒนา DATA, Information และ Knowledge

สนธิ – บ้านเรา การพัฒนาจาก Data ไปเป็นข้อมูลข่าวสารกำลังเริ่มต้น แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ การพัฒนาข้อมูลข่าวสารไปเป็น Knowledge (ความรู้) ตรงนี้หายากมาก และองค์กรนี้กำลังทำ เพราะความรู้นั้นหากสังคมใดมีก็จะสามารถพัฒนาไปสู่ปัญญาได้