หลังจาก Fashion Trend Center เปิดตัวได้ไม่ถึงสัปดาห์ ดีไซเนอร์บ้านเราก็ได้คึกคักอีกครั้งกับ Thailand Creative & Design Center (TCDC) โครงการพี่น้องกับ TK Park ห้องสมุดเด็กเล็กที่เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งต่างก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ OKMD ที่เปิดตัวด้วยโฆษณา “กระตุกต่อมคิด”
TCDC เป็นห้องสมุดเฉพาะด้านการออกแบบ มีวัตถุประสงค์ไม่ต่างกันนัก คือ สร้างโอกาสในเสาะแสวงหา“ความรู้” เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ใช้สโลแกน “เติมเต็มทุกจินตนาการด้วยประสบการณ์ใหม่จากทั่วโลก” ตั้งอยู่บนชั้น 6 ของห้างหรูเอ็มโพเรียม เพื่อเป็นแหล่งความรู้ที่อยู่ในวิถีชีวิตปกติของผู้คน และเข้าถึงง่าย
ห้องสมุดนี้ใช้เงินลงทุนถึง 200 ล้านบาทในการก่อตั้งและตกแต่ง บนเนื้อที่ร่วม 4,500 ตร.ม. โดยได้ “ดวงฤทธิ์ บุนนาค” สถาปนิกชื่อดังของเมืองไทยเป็นผู้ออกแบบและจัดการพื้นที่ (space management) ดังนั้น เพดานและผนังเปลือย รวมทั้งความหรูที่เกิดจากความโปร่งและความเรียบอันเป็นเสมือน motif ของดวงฤทธิ์จึงปรากฏให้เห็น
สำหรับความโดดเด่นในดีไซน์ของ TCDC คงอยู่ที่คอนเซ็ปต์ในการออกแบบที่มีรากมาจากการให้ความสำคัญกับ Content โดยไชยยง รัตนอังกูร ในฐานะ MD ของ TCDC อธิบายเพิ่มเติมว่า “ดีไซน์ของเราพยายามสะท้อนคอนเทนต์ นั่นก็คือวิธีการกระตุ้นให้คนค้นคว้าผ่านรูปแบบต่างๆ เช่น นิทรรศการ การจัดวางหนังสือที่เข้าถึงง่าย การดูหนังฟังเพลง รวมทั้งการสัมผัสจาก design object ของดีไซเนอร์ชั้นนำระดับโลก”
นอกจากหนังสือว่าด้วยทุกเรื่องที่เกี่ยวกับดีไซน์กว่า 15,000 รายการ TCDC ยังนำเก้าอี้คลาสสิก original ของดีไซเนอร์ชื่อดังของโลกมาสร้างเสริมบรรยากาศความเป็น Art Gallery และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสหรือทดลองนั่ง ซึ่งน้อยนักที่แกลเลอรี่หรือพิพิธภัณฑ์จะยอมให้สัมผัสจับต้องของราคาแพงที่นำมาโชว์ เรียกว่า การสร้างประสบการณ์ตรงเช่นนี้ถือเป็นอีกจุดเด่นของ TCDC
เก้าอี้ที่นำมาโชว์ภายใน TCDC ถือเป็นเก้าอี้ตัวสำคัญของโลกก็ว่าได้ เพราะหลายตัวเป็นเก้าอี้ที่วงการดีไซน์ของโลกพูดถึง เช่น เก้าอี้คาร์บอนของ Marcel Wanders ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากการเห็นแม่ถักนิตติ้ง จึงนำเชือกไปเข้ากระบวนการคาร์บอนผลิตออกมาเป็นเก้าอี้ หรือเก้าอี้ต้นหญ้าที่ดีไซเนอร์ได้แรงบันดาลใจจากการสัมผัสความสบายขณะที่นอนอยู่บนสนามหญ้า หรือเก้าอี้ไม้อัดธรรมดา แต่ใครจะเชื่อว่า นั่นเป็นการเปลี่ยนกระบวนการด้านดีไซน์ของโลก ด้วยการนำวัสดุราคาถูกมาอัดทำให้ดูดีและมีราคาขึ้นมา เป็นต้น
ข้อมูลที่มาหรือแรงบันดาลของผลงานเหล่านี้ถูกแฝงเอาไว้กับเฟอร์นิเจอร์ในห้องสมุดแห่งนี้ โดยไชยยงเชื่อมั่นว่า เมื่อคนได้สัมผัสด้วยเองย่อมได้แรงบันดาลใจบางอย่างกลับไปบ้าง ไม่มากก็น้อย ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุให้ TCDC ยอมลงทุนนำเข้า design object ที่เป็นของ original เข้ามาเป็นเฟอร์นิเจอร์ประดับห้องสมุด
เอกลักษณ์อีกอย่างของห้องสมุดแห่งนี้คือ ด้านหน้าจะมีแกลเลอรี่ถึง 2 ห้อง ซึ่งเปิดบุคคลทั่วไปให้เข้าชมฟรี โดยส่วนใหญ่จะจัดแสดงนิทรรศการระดับโลก ที่ไม่อาจหาชมได้ง่ายๆ ในเมืองไทย เพราะหาสถานที่จัดแสดงที่ได้มาตรฐานการจัดนิทรรศการระดับสากลได้ยาก เช่น “What is Design?” ในแกลเลอรี่ 1 ที่ขนวัตถุชิ้นสำคัญจากทั่วโลกมาจัดแสดง และแกลเลอรี่ 2 ที่กำลังจะจัดแสดงถึงรากเหง้าพื้นฐานทางความคิดและดีไซน์ของญี่ปุ่นเป็นที่แรกของโลกในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 นี้ ก่อนจะกลับไปแสดงให้คนญี่ปุ่นดูที่โตเกียว
“แกลเลอรี่เราได้มาตรฐานตามที่ Museum & Exhibition Standard ระดับโลกกำหนด เช่น อุณหภูมิในห้องแสดงจะผันผวนได้ไม่เกิน 5 องศาเซลเซียสในช่วงเวลาหนึ่ง พื้นผิวของวัสดุก่อสร้างต้องไม่ก่อให้เกิดฝุ่น การไหลของอากาศต้องปล่อยอากาศจากด้านบนแล้วดูดอากาศที่พื้นเพื่อให้อากาศและฝุ่นเดินทางเป็นทางเดียว การใช้แสงสี ระบบขนของ และความปลอดภัย ฯลฯ” ไชยยงสาธยายกฎข้อกำหนดอีกมากมาย
ไฮไลต์อีกอันที่ไชยยงภูมิใจนำเสนอคือ ห้องสมุดวัสดุ (Material Library) ซึ่ง TCDC ซื้อสิทธิในการจัดแสดงมาจาก Material Connexion บริษัทสรรหาวัสดุแปลกใหม่จากทุกมุมโลกมาจัดแสดง โดยห้องสมุดวัสดุที่ TCDC ถือเป็นแห่งแรกในเอเชีย และแห่งที่ 4 ของโลก ซึ่งอีก 3 แห่งอยู่ที่นครหลวงแห่งดีไซน์ของโลก ได้แก่ มิลาน โคโลญจน์ และนิวยอร์ก
“ห้องสมุดวัสดุนี้ช่วยทำให้ดีไซเนอร์และผู้ประกอบการคนไทยได้ติดตามความเคลื่อนไหวทางด้านวัสดุและเทคโนโลยีดีไซน์ใหม่ๆ ของโลก และวัสดุที่แปลกใหม่ก็อาจจะช่วยกระตุ้นดีไซน์สินค้าที่สร้างสรรค์แปลกใหม่ได้ด้วย เพราะ every idea has a material solution”
และเพื่อไม่ให้คร่ำเคร่งกับการหาความรู้จนเกินไป TCDC ยังมีพื้นที่ผ่อนคลายพักสมองจากหน้าหนังสืออยู่หลายแห่ง เช่น the Kitchen @ TCDC by Greyhound XS ที่ไม่ใช่แค่ห้องอาหาร แต่ยังเป็นพื้นที่สาธิตการดีไซน์อาหารโดยเชฟรับเชิญ หรือ Coffee Bar & Creative Space ที่นั่งจิบกาแฟไปถกเรื่องดีไซน์กันไป พร้อมฟังดนตรีแจ็สสบายๆ ยามบ่ายวันศุกร์ถึงอาทิตย์ หรือนั่งดูหนังอาร์ตในห้องส่วนตัวภายในโซนห้องสมุด
ถ้าใครใคร่ทำงาน ที่นี่มีทั้ง PC และ Mac พร้อมสาย Lan และ Wi-Fi ให้ใช้ฟรี หากจะประชุมนอกสถานที่หรือเจรจาธุรกิจ ที่นี่ก็มีห้องประชุมเล็กให้เช่าเพียงชั่วโมงละ 100 บาท สำหรับสมาชิกระดับ Silver และ Gold ก็จะเพิ่มสิทธิใช้บริการ “เลาจน์” ห้องรวบรวมหนังสือเล่มใหญ่และหายาก ซึ่งตกแต่งคล้ายห้องหนังสือของท่านลอร์ด เหมาะกับดีไซเนอร์มืออาชีพที่ต้องการความสงบและเป็นส่วนตัวมากขึ้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อตอบรับสไตล์การทำงานของดีไซเนอร์รุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มฟรีแลนซ์
“เราอยากให้ TCDC เป็นแหล่งสร้างความเคลื่อนไหวของงานดีไซน์และความคิดสร้างสรรค์ให้แพร่กระจายไปทั่วกรุงเทพฯ และเมืองไทย เพื่อสร้างคนพันธุ์ใหม่ที่รู้จักใช้ความรู้และจินตนาการสร้างมูลค่าให้สิ่งที่ตัวเองทำ และสร้างคุณค่าให้ตัวเอง ซึ่งถ้าเราผลิตคนอย่างนี้ได้มาก ประเทศไทยก็จะพัฒนา” ไชยยงสรุปเป้าหมายการทำงาน
สุดท้าย โปรดแวะเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติม การสมัครสมาชิก และอัพเดตกิจกรรมด้านดีไซน์ที่เป็นประโยชน์ที่ www.tcdc.or.th และเพื่อไม่ให้ตกเทรนด์และเพื่อประโยชน์ของท่านเอง POSITIONING ขอแนะนำให้ตั้งเว็บไซต์นี้เป็นอีกหนึ่งเว็บที่ท่านควรเช็กเป็นประจำ
Did You Know?
ประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์มีห้องสมุดสาธารณะที่ทันสมัยเกือบ 30 แห่ง (ไม่นับห้องสมุดโรงเรียน) และกำลังจะเปิด National Library ที่ใหญ่และทันสมัยแห่งที่สองในอีก 5-6 ปีข้างหน้า ขณะที่ประชากรชาวสิงคโปร์มีทั้งหมดแค่ 4.3 ล้านคน โดยจำนวนนี้มีที่เป็นสมาชิกห้องสมุดแห่งใดแห่งหนึ่งถึง 1.8-1.9 ล้านคน และจำนวนการเข้าห้องสมุดของชาวสิงคโปร์ตกปีละราว 30 ล้านครั้ง
ข้อมูลจาก www.nlb.gov.sg/annualreport/fy04/visitorship.html