แม้ปี 2548 อีซูซุจะยังรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดปิกอัพเมืองไทยได้อยู่ต่อไป แต่ก็ไม่สร้างความย่อท้อกับคู่แข่งขัน โดยเฉพาะโตโยต้าหรือค่ายขนาดกลางอย่างมิตซูบิชิ หรือนิสสัน เพราะปริมาณยอดขายปิกอัพของไทยในแต่ละปีมันสูงจนน่ายั่วยวนใจแม้จะต้องเจอกับการแข่งขันที่รุนแรงก็ตาม
ตัวเลขล่าสุดของยอดขายปิกอัพขนาด 1 ตันของเมืองไทย ช่วง10 เดือนที่ผ่านมาจากมกราคมถึงตุลาคม มีจำนวนทั้งสิ้น 379,585 คัน คิดเป็นอัตราการเติบโตได้ถึง 31.6%
ขณะที่ตลาดรถยนต์นั่งช่วงเวลาเดียวกันกลับลดลงจนน่าใจหาย คือลดลงถึง 13.3% โดยมียอดขายทั้งสิ้น 144,975 คันเท่านั้น ที่น่าสนใจคือแนวโน้มตลาดปิกอัพของไทยจะเข้าสู่ยุคของ “คอมมอนเรล” กันเต็มตัวเพราะผู้ผลิตรถปิพอัพทุกรายจะต้องกระโดดเข้ามาเล่นตลาดที่ว่านี้แน่นอน เพราะเครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรลนั้นได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นระบบที่มีการใช้น้ำมันได้อย่างคุ้มค่าทำให้ประหยัดน้ำมันกว่าเครื่องยนต์ดีเซลรุ่นก่อนๆ
ทั้งอีซูซุ โตโยต้า มิตซูบิชิ เชฟโรเลต ต่างผลิตรถปิกอัพเครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรลเข้าสู่ตลาดกันหมดแล้ว และล่าสุดคือนิสสัน ที่เพิ่งเปิดตัวเครื่องยนต์รุ่นทื่ชื่อ YD-Di TurboIntercooler เป็นเครื่องยนต์แบบ DOHC ทวินแคม 16 วาล์ว ระบบ M-Fire Direct Injection ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์
ECCS แม้มันก็ยังไม่ถือว่าเป็นเครื่องยนต์คอมมอนเรลเต็มตัวนัก แต่ก็ถือว่าเป็นการปรับตัวด้านเครื่องยนต์ระดับหนึ่งก่อนการเปลี่ยนโฉมครั้งใหญ่ และเป็นเครื่องยนต์คอมมอนเรลอย่างสมบูรณ์ในปลายปี 2549
ขณะเดียวกันปิกอัพ 2 ค่ายพันธมิตรคือ ฟอร์ดและมาสด้านั้น มีการคาดการณ์ว่า ในปีหน้าจะต้องปรับโฉมกันครั้งใหญ่
รวมถึงหันมาติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรลด้วยเช่นกัน เมื่อในที่สุดแล้วผู้ผลิตรถปิกอัพในเมืองไทยทุกค่ายหันมาทำตลาดเครื่องยนต์คอมมอนเรลกันหมดแล้ว การแข่งขันในเรื่องข้อแตกต่างด้านเครื่องยนต์ก็จะลดลง เพราะทุกค่ายสามารถบอกได้ว่ารถของตัวเองนั้นทั้งประหยัดและสมรรถนะดีเยี่ยม
เมื่อถึงตอนนั้นถ้าไม่วัดกันด้วยเรื่องของความภักดีต่อแบรนด์ แต่ละค่ายรถยนต์ก็น่าจะหันมาใส่ใจจุดขายอื่นๆ เช่น สมรรถนะการบรรทุก, ห้องโดยสารที่กว้างและสะดวกสบาย, ระบบความปลอดภัย จนถึงเรื่องช่วงล่าง และรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของโครงสร้างตัวรถ ใครสามารถสร้างการรับรู้ จดจำและฝังเข้าไว้ในหัวใจของผู้บริโภคได้มากที่สุด โอกาสขยับตัวขึ้นมาอยู่ตำแหน่งต้นๆ ของผู้นำตลาดก็เป็นไปได้มากขึ้น
หรือกระทั่งผู้นำตลาดปิกอัพเอง ทั้งอีซูซุและโตโยต้าเอง ก็มีการปรับเปลี่ยนแผนการรับมือ และก้าวรุกเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอีซูซุนั้นที่ผ่านมาจะไม่ใช้แคมเปญส่งเสริมการขายดันยอดมากนัก อย่างมากที่เห็นคือการแจกทองงคำ 1 บาทบ้าง 2 บาทบ้าง
ปัจจุบันจะเห็นว่าแบรนด์นี้ก็เริ่มขยับขึ้นมาเล่นเรื่องดอกเบี้ยต่ำๆ ด้วยเช่นกัน ขณะที่โตโยต้าเองก็เดินหน้าเจาะฐานคู่แข่ง และสกัดค่ายกลางๆ ไม่ให้ขยับตัวมากนัก โดยเล่นทั้งเรื่องดอกเบี้ย การสร้างภาพพจน์ด้านบริการ ล่าสุดคือการใช้ความแข็งแกร่งของฐานธุรกิจที่ใหญ่กว่า รุกทั้งเรื่องเช่าซื้อของโตโยต้าลิสสิ่ง
จนถึงการประกันภัยในชื่อ GOA กลยุทธ์นี้ว่ากันว่า win win เกม เพราะลูกค้าได้รับความสะดวกในการซื้อรถ ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งรายได้ใหม่ให้กับโชว์รูม ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้ดีลเลอร์ทำยอดขายเพิ่มขึ้นด้วย
ปัญหาหนักอกจึงตกอยู่ที่ค่ายกลายๆ ทั้งมิตซูบิชิ นิสสันมาสด้า และฟอร์ด ที่ต้องแก้เกมกันต่อจากเครื่องยนต์คอมมอนเรลและแบรนด์ และก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสกันเลย เพราะเงื่อนไขการทำตลาดรถยนต์เมืองไทยมีปัจจัยและองค์ประกอบอีกมากมาย