วัยทีนกรี๊ด! กระเป๋าเงินดิจิตอล

เสียงกรี๊ด! ดังขึ้นท่ามกลางกลุ่มวัยรุ่นที่กำลังสนุกกับมินิคอนเสิร์ตศิลปิน AF ที่จัดขึ้นอย่างมีสีสัน ณ บริเวณลานโปรโมชั่น ชั้น G ศูนย์การค้า Central Plaza แทบไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นงานเปิดตัวบัตรเงินสดดิจิตอล Central Plaza Plus Card ซึ่งเซ็นทรัลพัฒนาจับมือพันธมิตรเจ้าของเทคโนโลยี OK Cash ร่วมให้บริการครั้งแรกในบ่ายวันอังคารปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

นั่นเพราะ OK Cash และเซ็นทรัลมีกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน คือ ต้องการขายสินค้าและบริการให้ลูกค้ากลุ่มวัยทีน รวมทั้งคนรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์ทันสมัย จึงใส่ใจกับการเปิดตัวบัตร Central Plaza Plus มากเป็นพิเศษ เพื่อเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สร้างแบรนด์ OK Cash เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น

“วัยรุ่นเป็นกลุ่มตื่นตัว และพร้อมเปลี่ยนแปลงรับสิ่งใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา ดังนั้น OK Cash จึงเลือกเริ่มต้นทำตลาดการกลุ่มนี้โดยเฉพาะ เพื่อเป็นตลาดนำร่องใช้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ Cash Card หรือบัตรที่ใช้จ่ายซื้อสินค้าได้แทนเงินสด ด้วยการสร้าง trend setter ให้ตลาดถือกระเป๋าเงินดิจิตอลให้มากขึ้น”

OK Cash บุกตลาดวัยโจ๋

ทุกวันนี้ OK Cash เร่งหาพันธมิตรที่มีฐานลูกค้าวัยรุ่น อาทิ ร้านหนังสือ B2S, ร้าน Slim, วุฒิศักดิ์คลินิก Co-brand ร่วมออกบัตรสมาชิกในรูปแบบ Cash Card ไม่เว้นแต่ห้างสรรพสินค้า ฟิวเจอร์ ปาร์ค รังสิตที่ร่วมออกบัตร Future OK Card สร้างโอกาสขยายตลาดไปยังกลุ่มผู้ใช้ทั่วไปมากขึ้น

พร้อมทั้งอัดงบส่งโฆษณาลงโทรทัศน์ อาทิ โฆษณาชุด-ค่าเทอมพรีเซนต์ความสะดวกในการโอนเงินค่าเทอมผ่านบัตร หรือชุด-ขโมยที่วิ่งราวกระเป๋า แต่ไม่สามารถใช้เงินในบัตรเงินสดดิจิตอลได้

เพราะมั่นใจว่าตลาดวัยรุ่นสามารถวิ่งตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้รวดเร็ว จึงไม่แปลกที่ OK Cash เลือกจัดกิจกรรมการตลาดเน้นเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น อาทิ จับมือกับค่ายวิทยุ 102.5 จัดโครงการ “OK Cash OK” เคลียร์หนี้ให้กับผู้ฟังที่โทรเข้ามาร่วมรายการ หรือจัดอีเวนต์โปรโมตบัตรในย่านสยามสแควร์ เป็นต้น

เพื่อให้สอดคล้องกับโพสิชันนิ่งที่ OK Cash เป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีบริหารจัดการเงินสดบนบัตรเงินสดดิจิตอล สำหรับลูกค้าองค์กรที่ต้องการรวมบัตรสมาชิกและบัตรเงินสดในรูปแบบ Cash Card เข้าด้วยกัน เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์ไตล์คนรุ่นใหม่ที่จะมีบัตรเงินสดดิจิตอลเพิ่มในกระเป๋าอีก 1 ใบ

“OK Cash Card เป็นบัตรนำร่องที่สร้างโมเดลให้ตลาด เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจระบบการทำงาน และเทคโนโลยีบริหารจัดการเงินสด เพื่อให้ตลาดยอมรับใช้บัตรกันแพร่หลาย ตอนนั้นเราก็ไม่จำเป็นต้องทำบัตรเอง เพียงแต่รับทำบัตร และรับบริหารจัดการเงินสดให้ลูกค้า อาทิ เคลียร์เงิน รับ-ส่งเงินระหว่างคู่ค้าให้ธนาคาร ด้วยการคิดค่าบริการเพียง 1% จากยอดการใช้จ่ายผ่านบัตร” ธานินทร์ อังษุวรังสี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เพย์เมนท์ โซลูชั่น จำกัด ผู้ให้บริการเทคโนโลยีและบัตร OK Cash Card (โอเค แคชการ์ด) อธิบายถึงโมเดลธุรกิจ

ทางด้าน SMART PURSE (บัตรสมาร์ทเพิร์ส) ผู้ริเริ่มแนวคิดกระเป๋าเงินสดดิจิตอลรายแรกในไทยมากว่า 7 ปี และมีทีท่าจะเปิดให้บริการมาก่อนหน้านี้ 2-3 ปี แต่ชะลอการเปิดตัวออกไป เพราะรอจังหวะที่ตลาดให้ความสนใจ และมั่นใจว่าลูกค้าพร้อมใช้บริการนั่นเอง

แต่เมื่อมีคู่แข่งอย่าง OK Cask ลงมาแข่งสร้างสีสัน ทำให้ไทยสมาร์ทจึงเลือกจังหวะนี้เปิดตัวให้บริการบัตร SMART PURSE นำร่องในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นที่มีกำลังซื้อสูงเพียง 10 สาขาเมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา และได้ขยายให้บริการครอบคลุมในร้านเซเว่นฯ ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นเคสส่งท้ายปลายปี 2548 หลังจากทดลองให้บริการ บัตรเชื่อมรัก ในคอนเซ็ปต์คล้ายกันระยะหนึ่ง

ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยสมาร์ท คาร์ด จำกัด หรือ TSC ผู้ให้บริการบัตร สมาร์ทเพิร์ส บอกว่า บริษัทต้องการจำหน่ายบัตร SMART PURSE ที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น 1,500 สาขาในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และขยายวางจำหน่ายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นครบทุกสาขาทั่วประเทศภายในวันที่ 15 มกราคม 49

“จะใช้บัตร SMART PURSE ทำตลาดนำร่องให้ลูกค้ากว่า 3 ล้านรายที่มาซื้อสินค้าในร้านกว่า 3,000 แห่งทั่วประเทศในปัจจุบัน เพื่อสร้างความคุ้นเคยและให้ลูกค้ามั่นใจในการใช้บริการบัตรเงินสดดิจิตอลรูปแบบใหม่ ก่อนจะหาพันธมิตรเชื่อมบัตรนี้ไปใช้บริการสาธารณูปโภคอื่นๆ เพิ่มขึ้น”

TCS ขยายจุดบริการ

ขณะเดียวกัน TCS ยังเตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 600 ล้านบาท เพื่อนำเงินมาลงทุนขยายเครือข่ายให้บริการเครื่องรับบัตรเงินสดดิจิตอลได้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายเพิ่มจุดให้บริการครบ 30,000 จุดภายในใน 5 ปีข้างหน้า

โดยมอบหมายให้ ฉัตรไชย ฉัตรชัยกนันท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านธุรกิจของ TSC เป็นแม่ทัพใหญ่ในการดูแลตลาดบัตร SMART PURSE ตั้งแต่การเริ่มให้บริการกับลูกค้าในกลุ่มธุรกิจ CP และ True ด้วยเปลี่ยนพฤติกรรมการเงินสดของผู้บริโภคในร้านสะดวกซื้อมาใช้บัตร SMART PURSE แทน เพื่อลดต้นทุนการบริหารจัดการเงินสดที่หมุนเวียนในร้านวันหลายร้อยล้านบาท

ในเบื้องต้นบัตร SMART PURSE ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนัก เมื่อเทียบกับ OK Cash ที่ทุ่มสร้างแบรนด์อย่างหนักจนแบรนด์ชินตา และเข้าไปสร้างความคุ้นเคยให้กลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น เพราะความง่ายในการใช้บริการของบัตร OK Cash ที่เพียงซื้อบัตรมาเป็นกระเป๋าสตางค์ และสามารถเติมเงินสดผ่านตู้ ATM เพื่อตัดเงินจากบัญชีเงินฝาก หรือผ่านโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินได้ แล้วสามารถนำเงินสดดิจิตอลไปใช้กับร้านพันธมิตรของ OK Cash กว่า 250,000 แห่งทั่วประเทศ

แตกต่างจากบัตร SMART PURSE ที่แม้จะซื้อบัตรเงินสดดิจิตอลที่สามารถใช้งานได้ทันทีตามมูลค่าเงินสดในบัตรเริ่มที่ 250 บาท แต่ลูกค้ายังจำกัดการใช้เฉพาะในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และพันธมิตรที่ร่วมรายการไม่กี่แห่ง อาทิ โรงภาพยนตร์ SF Cinema เป็นต้น เพราะเป้าหมายการทำตลาดของ SMART PURSE จะมุ่งให้บริการกับฐานลูกค้าของร้านเซเว่นฯ ที่เพิ่มขึ้นขึ้นทุกวันก็น่าจะสร้างตลาดในเชิงแมสได้เร็วกว่าคู่แข่ง

เทคโนโลยีสร้างตลาด

นอกจากนี้บัตร SMART PURSE ยังความได้เปรียบด้านเทคโนโลยีที่บรรจุชิปไมโครโปรเซสเซอร์ไว้บนบัตร เพื่อช่วยให้บันทึกข้อมูลลูกค้าและสิทธิประโยชน์ของบริการไว้ช่วยเป็นเครื่องมือในการสร้าง CRM กับลูกค้าได้ง่ายขึ้น

พร้อมทั้งมีเทคโนโลยีตัดเงินสดอัตโนมัติ ทั้งในรูปแบบรูดบัตร (Contact) และสัมผัสบัตร (Contactless) ช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็วในการให้บริการได้ แตกต่างจาก OK Cash Card ที่ใช้เทคโนโลยี Contact เช่นเดียวกับบัตรเครดิตทั่วไป

หากแต่ SMART PURSE ก็ต้องเร่งขยายโครงข่ายเทคโนโลยีเครื่องรับบัตรให้ครอบคลุมมากขึ้น เพราะเท่าที่ POSITIONING สำรวจข้อมูลร้านเซเว่นที่มีโอกาสสูง อาทิ สาขาศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ยังไม่สามารถใช้บริการบัตร SMART PURSE ได้ เนื่องจากไม่มีเครื่องอ่านบัตรและมีเพียงตัวบัตรใบละ 250 บาทวางจำหน่ายเท่านั้น

ขณะที่ OK Cash อาศัยความได้เปรียบด้านการตลาด เพื่อสร้างกิจกรรมเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจน รวมทั้งเน้นการดีไซน์บัตรให้หลากหลาย และทันสมัย เพื่อให้ตรงกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ อาทิ บัตรลายคิตตี้, บัตรรุ่นแมนยู หรือดีไซน์ขนาดเล็กที่มีสีสัน เพื่อตามกระแสเทรนดี้ที่นิยมสินค้าพรีเพดในปัจจุบัน

เพราะช่วง 2-3 ปีมานี้บัตรเติมเงิน หรือ Prepaid Card ของโอเปอเรเตอร์โทรศัพท์มือถือประสบผลสำเร็จจับทางตลาดตรงไลฟ์สไตล์คนไทยได้เกือบทุกเซ็กเมนต์ จนมีผู้ซื้อบัตรเติมเงินผ่านร้านเซเว่นฯเดือนละหลายล้านใบ และมียอดผู้ใช้โทรศัพท์ระบบพรีเพดพุ่งขึ้นกว่า 10 ล้านรายในปัจจุบัน

ส่งผลให้ผู้ทำตลาดคอนซูเมอร์ต่างหันมาให้บริการรับ-จ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการในรูปแบบพรีเพดมากขึ้น เพื่อความยุ่งยากในการบริหารจัดการเงินสด และเงินเหรียญที่ต้องใช้ต้นทุนสูง รวมทั้งบริการพรีเพดยังเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าจ่ายเงินล่วงหน้าก่อนใช้ และช่วยลดปัญหาลูกค้าเบี้ยวหนีหรือไม่จ่ายเงินได้เป็นอย่างดี

“Cash Card เป็นแค่พาร์ตหนึ่งของการทำตลาดพรีเพด และเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ผู้บริโภคเห็นได้ชัดเจน เนื่องจากตลาดมีประสบการณ์จากการใช้บัตรเครดิต และบัตรเติมเงินมาแล้ว จึงไม่ยากนักที่จะบอกลูกค้า แต่ในอนาคตนี้จะขยายบริการไปสู่รูปแบบใหม่ที่ advance มากขึ้น อาทิ บริการใช่ค่าน้ำ ค่าไฟ หรือค่ารถไฟฟ้า รวมทั้งเชื่อมบริการไปสู่โทรศัพท์มือถือ หรือ M-Commerce เป็นต้น” ฉัตรไชย อธิบายทิ้งท้าย

คู่มือการใช้เงินไฮเทค

บัตรสมาร์ทเพิร์ส มีลักษณะเป็นบัตรเติมเงินแบบพรีเพด ลูกค้าหาซื้อบัตรราคา 250 บาทได้ที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่นทุกสาขาทั่วประเทศ รวมทั้งร้าน True shop และ SF Cinema City แล้วเปิดเติมเงินเริ่มต้นที่จุดซื้อบัตร ตั้งแต่ 50-10,000 บาท ก็จะสามารถใช้บัตรซื้อสินค้าในร้านเซเว่นฯ ทั่วประเทศได้ทันทีเท่ากับมูลค่าเงินที่เติมในบัตร หลังจากสามารถเติมเงินเพิ่มได้ผ่านเครื่อง ATM ของธนาคารที่ร่วมรายการเบื้องต้น 3 ราย คือ กรุงไทย, ออมสิน และนครหลวงไทยทั่วประเทศ

โอเค แคชการ์ด มีลักษณะเป็นบัตรเดบิตแบบเติมเงิน ลูกค้าหาซื้อได้ที่ร้าน Telewiz ทุกสาขาทั่วประเทศ รวมทั้งผ่านร้าน JAY MART, Mobile Easy, Music One และคีออส OK CASH ทั้ง 5 สาขา ราคาตั้งแต่ 200-1,000 บาท ขึ้นอยู่กับประเภทของบัตร แล้วต้องสมัครเลือกบัญชีที่มีเงินฝาก หรือเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารที่ร่วมรายการ เพื่อเชื่อมต่อระบบตัดเงินสดในกรณีจะเติมเงินเข้าสู่บัตร หลังจากนันลูกค้าสามารถเติมเงินได้ตั้งแต่ 200-25,000 บาท และเติมเงินเพิ่มได้ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านตู้เอทีเอ็มธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารทหารไทย และธนาคารเอเชียทั่วประเทศ

ตารางเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์

PRODUCT&SERVICE

SMART PURSE
– จุดจำหน่ายบัตร ร้าน 7-eleven ทั่วประเทศ, True shop, SF Cinema City เป็นต้น
– จุดเติมเงิน ราคาใบละ 250 บาท เติมเงินได้ครั้งละ 50-10,000 บาท
เบื้องต้นเติมเงินที่ 7-eleven จากนั้นจะเติมผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคารต่างๆ ที่ร่วมรายการ อาทิ กรุงไทย, ออมสิน, นครหลวงไทยทั่วประเทศ
– จุดบริการ 5,400 แห่ง ทั้งร้านสะดวกซื้อ ร้านหนังสือ ร้านอาหาร ฟาสต์ฟู้ด แฟชั่นและความงาม โรงภาพยนตร์และร้านบริการสื่อสารโทรคมนาคม
– รูปแบบการบริการ บัตรเงินสดดิจิตอลที่ตัดเงินสดจากบัตรได้ทันทีภายใน 2-4 นาที ตามมูลค่าเงินในบัตร และเก็บข้อมูลใน chip แทนแถบแม่เหล็ก

OK CASH
– จุดจำหน่ายบัตร Telewiz, JAY MART, Mobile Easy, Music One และคีออส OK CASH 5 สาขา
– จุดเติมเงิน บัตรราคา 200-299 บาท***เติมเงินได้ครั้งละ 200-25,000 บาท
ผ่านร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ OK CASH และผ่านตู้เอทีเอ็มธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารทหารไทย และธนาคารเอเชียทั่วประเทศ
– จุดบริการ ใช้ได้ตามร้านค้าที่มีเครื่องหมาย MASTER CARD , VISA และ OK CASH
– รูปแบบการบริการ บัตรเดบิตตัดยอดเงินในบัตรแต่ต้องออนไลน์เชื่อมกับจากบัญชีเงินฝากตามมูลค่าที่เติมในบัตร

***ราคาบัตร OK Cash ที่ร่วมพันธมิตร Co-band เริ่มตั้งแต่ 200-1,000 บาท

ที่มา: POSITIONING Magazine รวบรวม

Website

www.okcashcard.com
www.thaismartcard.co.th