แม้จะไม่หวือหวาเท่ากับธุรกิจธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ หรือสื่อสารโทรคมนาคม แต่สำหรับธุรกิจไอที ก็ไม่พลาดที่จะมีกลุ่มทุนจากสิงคโปร์เข้าร่วมวงไพบูลย์
หลังจากที่มีกองทุนเข้ามาลงทุนในธุรกิจไอทีบ้างประปราย หลังวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2541 เริ่มมีกลุ่มทุนสิงคโปร์เข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้ โดยเข้ามาในรูปแบบกองทุน หรือเข้ามาถือหุ้นธุรกิจไอทีในประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ อาทิ เข้าถือหุ้นในบริษัทเอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น จำกัดในปี 2541 เพื่อทำธุรกิจค้าส่งอุปกรณ์ไอที โดยสิงคโปร์ถือหุ้น 49% และไทย 51% ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นอีกครั้ง หลังจากเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2547
บริษัท ดิจิแลนด์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งทำธุรกิจค้าส่งและวางระบบไอที เปลี่ยนแปลงเป็นสิงคโปร์ 100% ในวันที่ 15 สิงหาคม 2540 หลังจากดำเนินธุรกิจในฐานะคนไทยมาตั้งแต่ปี 2536
ณรงค์ อิงธเนศ ประธานกรรมการ บริษัท เดอะแวลลูซิสเต็มส์ จำกัด หนึ่งในธุรกิจค้าส่งอุปกรณ์ไอทีเก่าแก่ของไทย ที่ได้บริษัท อีซีเอส โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด บริษัทค้าส่งจากประเทศสิงคโปร์มาเป็นถือหุ้น 49% และบริษัท อีซีชัวร์ โฮลดิ้งส์ (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นกองทุนร่วมไทย-สิงคโปร์ถือหุ้นอีก 51% บอกว่า ประเทศสิงคโปร์มีความพร้อมด้านการเงิน แต่ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยในการผลิตในประเทศ จึงมองหาช่องทางใหม่ๆ กระจายเม็ดเงินไปลงทุนในประเทศใกล้เคียง อาทิ มาเลเซีย และไทย ที่เห็นโอกาสสร้างรายได้ในธุรกิจ
สิงคโปร์มาตรฐานตะวันตก
ความพร้อมด้านสถาบันการเงิน บุคลากร และระบบลอจิสติกส์ที่ดี กลายเป็นปัจจัยหลักที่ดึงดูดใจให้บริษัทไอทีในระดับโลก อาทิ เอชพี ไมโครซอฟท์ หรืออินเทล เลือกตั้งสำนักงานใหญ่ในระดับภูมิภาคที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการติดต่อสื่อสาร ประสานงานระหว่างบริษัทแม่ และเครือข่ายธุรกิจได้ง่ายขึ้น
มาตรฐานบุคลากรที่มีความชำนาญด้านไอที ระบบบริหารจัดการ และประสบการณ์ทำงานในองค์กรที่มีวัฒนธรรมตะวันตก เป็นโอกาสที่คนสิงคโปร์ได้มาใกล้เคียงกับตะวันตก จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่สิงคโปรนำมาใช้ในการบริหารงานในประเทศใกล้เคียงที่เข้าไปร่วมทุน อาทิ ประเทศไทย เป็นต้น
สรรพัชญ โสภณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ทำตลาดคอมพิวเตอร์แบรนด์ HP บอกว่า เหตุผลที่บริษัทแม่เลือกตั้งสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคที่ประเทศสิงคโปร์ เพราะสิงคโปร์มีสิทธิพิเศษด้านภาษี คือลดภาษีให้องค์กรธุรกิจที่เข้าไปลงทุนในประเทศเหลือเพียง 20% คือมีรายได้ 100 บาท เหลือเงินกลับไป 80 บาท แตกต่างจากประเทศอื่นๆ อาทิ ญี่ปุ่น ฮ่องกงที่เคยเป็นที่นิยมในอดีต แต่ต้องจ่ายภาษีมากกว่า
โครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โรงเรียน โรงพยาบาล และมาตรฐานการดำเนินชีวิตถูกตั้งไว้ในระดับใกล้เคียงกับตะวันตก ทำให้ผู้บริหารหรือบุคลากรจากต่างประเทศมั่นใจในการใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวได้ดี ส่งผลให้คนสิงคโปร์มีระดับการศึกษาดี และใช้ภาษาอังกฤษใกล้เคียงกับอเมริกา หรือยุโรป
“สิงคโปร์เพิ่งแซงหน้าไทยไปเมื่อ 10 ปีมานี้ เพราะเขาส่งเสริมคุณภาพชีวิต การศึกษา และการวางแผนแก้ปัญหาที่ดี รวมทั้งความมั่นคงทางการเมือง ส่งผลให้สามารถพัฒนาโครงการต่างๆ ได้ต่อเนื่อง”
สิงคโปร์ยังมีตลาดหลักทรัพย์ในระดับภูมิภาค จึงได้รับความไว้วางใจจากบริษัทไอทีขนาดใหญ่เข้ามาใช้เป็นฐานด้านการเงิน แลกเปลี่ยนเงินตรา เพื่อเชื่อมโยงระบบเข้ากับตลาดหลักทรัพย์โลกได้ง่าย และรวดเร็วขึ้น
องค์ความรู้ด้านไอที
การบริหารจัดการด้านไอที และความพร้อมด้านเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน เป็นความได้เปรียบที่สิงคโปร์ใช้ต่อรอง เพื่อเป็นเงื่อนไขในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยยังต้องพึ่งเครื่องมือ หรือองค์ความรู้ (Know-how) จากสิงคโปร์ และประเทศที่มีศักยภาพด้านไอทีจากทั่วโลก
“ความเป็นมืออาชีพด้านไอทีสร้างโอกาสให้สิงคโปร์เข้ามาให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีให้ธุรกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา เพราะระบบไอทีมีความจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ แต่แนวโน้มในปัจจุบันคนไทยรู้จัก และเรียนรู้ไอทีได้ง่ายขึ้น สิงคโปร์จึงไม่มีอิทธิพลต่อธุรกิจไอทีมากนัก” ณรงค์ อิงค์ธเนศ อธิบาย
กระตุ้นเศรษฐกิจไทย
หากพิจารณาในแง่การลงทุนสิงคโปร์เป็นแหล่งเงินทุนสำคัญประเทศหนึ่ง เพราะตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจสิงคโปร์ได้ขนเงินมาลงทุนในไทยกว่า 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากเป็นช่วงที่องค์กรสนใจนำเอาไอทีเข้ามาลดต้นทุนธุรกิจ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน หลังได้เม็ดเงินจากกลุ่มทุน อาทิ สิงคโปร์ อเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น
วิกรม กรมดิษฐ์ ประธานมูลนิธิอมตะ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ให้มุมมองว่า สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการเข้ามาลงทุนในโครงการใหญ่ๆ ในธุรกิจหลัก ทั้งอสังหาริมทรัพย์
สถาบันการเงิน อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ หรือยูโอบี ตลอดจนธุรกิจอุปกรณ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่อาจจะเข้ามาลงทุนไม่มากนัก เพราะญี่ปุ่นเป็นผู้คุมเกมอุตสาหกรรมนี้ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น
แต่สิงคโปร์ก็เข้ามาลงทุนธุรกิจด้านค้าส่งอุปกรณ์ และบริการด้านไอที ด้วยการนำบุคลากรที่มีศักยภาพเข้ามาช่วยบริการจัดการ ส่งผลให้ธุรกิจในประเทศไทยตื่นตัวในการใช้ไอทีมากขึ้น เพราะเห็นโชว์เคสที่ประสบผลสำเร็จจากประเทศสิงคโปร์
กรณีที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศมากๆ ถือว่าประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นสิงคโปร์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ แม้ว่าสิงคโปร์จะถูกมองว่าเป็นประเทศที่เข้ามากอบโกย หรือนำรายได้ออกนอกประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการคืนทุนให้กับเจ้าของเงินทุน
แต่ประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับ คือการจ้างงาน สร้างอาชีพ หรือธุรกิจใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะนโยบายของประเทศในปี 2548 พยายามกระตุ้นให้มีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น จนมีมูลค่าการส่งออกกว่า 1.5 ล้านล้านบาท จากยอดรวม 3.2 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3 ล้านล้านบาทภายใน 3 ปีข้างหน้า
ค้าส่งไอทีเพิ่มขายเซอร์วิส
แม้สิงคโปร์จะไม่เข้ามาลงทุนใช้ไทยเป็นฐานการผลิตอุปกรณ์ไอทีมากนัก เนื่องจากมีทางเลือกที่ดีกว่า อาทิ จีน หรือเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีต้นทุนการผลิตด้านค่าแรงที่ต่ำ และระบบการขนส่งไปยังประเทศที่สามได้ง่ายกว่า แต่ประเทศไทยกลายเป็นตลาดหลักที่แบรนด์สินค้าไอทีจากทั่วโลกเฮโลเข้ามาทำตลาด อาทิ เครื่องเล่นเอ็มพี 3 โน้ตบุ๊ก และโทรศัพท์มือถือ
สิงคโปร์ในฐานะถูกเลือกเป็นที่ตั้งสำนักงานระดับภูมิภาคของสินค้าไอที และมีความพร้อมด้านระบบลอจิสติกส์ ส่งผลให้สิงคโปร์มีการอำนวยบริหารจัดการ ทั้งด้านการวางแผนทำตลาด กระจายสินค้า และบริการหลังการขาย ซึ่งตรงนี้สร้างรายได้อย่างมหาศาล จากการให้บริการด้านไอทีแก่ลูกค้าในภูมิภาค รวมทั้งประเทศไทย
ยกตัวอย่าง บริษัท เอ แอนด์ แอล คอมพิวเตอร์ จำกัด ผู้ทำธุรกิจค้าส่งอุปกรณ์ไอที เป็นอีกรายหนึ่งที่มีสิงคโปร์เข้ามาถือหุ้น 48% ไทย 51% และแคนาดา 1 % ยอมรับว่า ปัจจุบันมีรายได้หลักจากการขายคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ในฐานะตัวแทนจำหน่าย และยังมีโอกาสสร้างรายได้จากการให้บริการด้านไอที หรือดูแลหลังการขาย กรณีลูกค้าหมดระยะเวลารับประกัน หรือบริการเซอร์วิสสินค้าให้กับลูกค้าทั่วไป