กลุ่มทุนในสิงคโปร์

เครือข่ายการลงทุนของสิงคโปร์ ที่บุกขยายออกไปทั้งในและและนอกประเทศนั้น มี “กองทุน” ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น ซึ่งมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง และกองทุน ที่เป็นของเอกชนเป็นผู้ลงทุน และนี่คือตัวอย่างกองทุนที่ได้ชื่อว่ามีบทบาทมากที่สุดในการแผ่ขยายเข้ามาลงทุนในไทย เช่น เทมาเส็กโฮลดิ้งส์ และกลุ่ม GIC เป็นของรัฐบาลสิงคโปร์ ที่ใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มทุนชาวจีนที่มีบทบาทในสิงคโปร์อย่างน้อย 10 ราย ที่มีบทบาทในการลงทุนในธุรกิจหลากหลาย ตั้งแต่ธนาคาร เงินทุนหลักทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม โดยมีทั้งที่รัฐบาลถือหุ้น และไม่ได้ถือหุ้น

GIC (Government of Singapore Investment Corporation)

ปี 1970 หรือ 36 ปีที่แล้ว ที่เศรษฐกิจของสิงคโปร์แข็งแกร่ง ประชากรในกลุ่มหนุ่มสาวทำงานจำนวนมาก รัฐบาลมีนโยบายสร้างเงินออมในระยะยาว และคนสิงคโปร์เองก็มีนิสัยประหยัดมัธยัสถ์ จนทำให้เงินทุนสำรองของประเทศสิงคโปร์เติบโตอย่างรวดเร็ว จน รัฐบาลสิงคโปร์ต้องตัดสินใจตั้งหน่วยงานใหม่ GIC (Government of Singapore Investment Corporation) เพื่อบริหารเงินกองทุน เมื่อ 22 พฤษภาคม 1981 หรือ พ.ศ. 2524 ถือหุ้นทั้งหมดโดยรัฐบาลสิงคโปร์ แต่บริหารงานแบบเอกชน โดยเน้นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนระยะยาว และทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง

GIC ลงทุนในกองทุนต่างๆ ในตลาดเงินหลายรูปแบบทั้งการลงทุนในโครงการต่างๆ เช่น ลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ ลงทุนในธุรกิจหลักทรัพย์ และการลงทุนรูปแบบพิเศษ ทำให้กองทุนของ GIC เติบโตจากมูลค่าไม่กี่พันล้านดอลลาร์ เป็นมากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ หรือมากกว่า 4 ล้านล้านบาท (มากกว่างบประมาณรายจ่ายประจำปีของไทยที่ตั้งไว้ประมาณ 1.1 ล้านล้านบาทต่อปี) ปัจจุบัน GIC ลงทุนในกว่า 30 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ที่รู้จักกันอย่างดีคือในกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ และสถาบันการเงินอีกหลายแห่ง

เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ (Temasek Holdings)

“เทมาเส็ก” มีความหมายจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ระบุไว้มีความหมายว่า ”เมืองทะเล” ในภาษาชวา ต่อมาที่ตั้งเมืองนี้เปลี่ยนเป็น “สิงคะปุระ” ในภาษาสันสกฤต แปลว่า ”เมืองสิงโต”

“เทมาเส็กโฮลดิ้งส์” เป็นกองทุนที่รัฐบาลสิงคโปร์ตั้งขึ้น เมื่อปี 1974 หรือ พ.ศ. 2517 โดยกระทรวงการคลัง สิงคโปร์ถือหุ้น 100% ซึ่งเริ่มแรกลงทุนในกิจการต่อเรือและการผลิต และจากนั้นลงทุนในกิจการจำนวนมากของสิงคโปร์

ปัจจุบันพอร์ตการลงทุนของเทมาเส็กมีอยู่ประมาณ 1.03 แสนล้านเหรียญสิงคโปร์ หรือประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท ลงทุนไปทั่วโลกในอุตสาหกรรมต่างๆ ประกอบด้วย โทรคมนาคม สื่อสารมวลชน ภาคการเงิน อสังหาริมทรัพย์ ระบบขนส่ง ลอจิสติกส์ พลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน วิศวกรรม และเทคโนโลยี รวมไปถึงอุตสาหกรรมยา และชีวภาพ ในหลายธุรกิจหลายประเทศ ทั้งที่อินเดีย ใน ICICI Bank, Mahindra & Mahindra และกลุ่มโรงพยาบาล The Apollo Hospital Group ที่ประเทศจีน ใน China Construction Bank และใน China COSCO Holdings ที่อินโดนีเซีย Bank Danamon และ Bank Internasional Indonesia และที่เกาหลีใต้ ใน Hana Bank

สำหรับที่ประเทศไทย เทมาเส็กเข้าในประเทศไทยในหลายอุตสาหกรรม เช่น ธุรกิจสื่อสาร ผ่านบริษัทลูกหลายแห่ง รวมทั้งผ่านสิงคโปร์เทเลคอม ในกลุ่มชินคอร์ปอเรชั่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผ่านบริษัทแคปปิตอลแลนด์ที่เข้ามาเป็นพันธมิตรกับกลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ในบริษัททีซีซี แคปปิตอลแลนด์ โดยเฉลี่ยผู้ถือหุ้นของเทมาเส็กจะได้ผลตอบแทนคืนปีละประมาณ 18%

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ระบุว่าปัจจุบันเทมาเส็กมีมาดาม “Ho Ching” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ามาดาม ”โฮ” เป็นผู้บริหารสูงสุดในตำแหน่ง Executive Director ตั้งแต่ปี 2002 ซึ่งมาดาม “Ho Ching” เป็นภรรยาคนที่สองของ Lee Hsien Loong (ลี เซียน ลุง) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของสิงคโปร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2004
Lee Hsien Loong เป็นบุตรชายคนโตของอดีตนายกรัฐมนตรี Lee Kuan Yew (ลี กวน ยู)