62 ปี 62 ครั้ง ตัวเลขที่สะท้อนเวลายาวนานเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่งานกิจกรรมอย่างหนึ่งจะอยู่ต่อเนื่องได้เพียงเท่านี้ แต่ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์มาถึง และปี 2550 จะเป็นการจัดครั้งที่ 63 ซึ่งผู้รับผิดชอบการจัดงานไม่แสดงความหวั่นใจนักกับการหารายได้จากผู้สนับสนุน หรือสปอนเซอร์ ที่เป็นเจ้าของสินค้าและบริการ เพราะมีทั้งให้การสนับสนุนด้วยใจ ในฐานะศิษย์เก่าของทั้งสองสถาบัน และที่สนับสนุนเพราะมองเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่สามารถสื่อให้สินค้าและบริการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้
การจัดงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์แต่ละปี ทั้ง 2 มหาวิทยาลัยจะผลัดกันเป็นเจ้าภาพ โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีหน่วยสนับสนุนจากนิสิตนักศึกษาคือ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
และชุมนุมเชียร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปีไหนลำดับเลขที่การจัดงานเป็นเลขคี่ ฝ่ายธรรมศาสตร์เป็นเจ้าภาพ หากปีไหนเป็นเลขคู่ก็เป็นหน้าที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยแต่ละฝ่ายจะแบ่งหน้าที่กันในการจัดหาสปอนเซอร์
สินค้าและบริการที่จะเข้ามามีโอกาสในการโปรโมตในงานนี้ เริ่มตั้งแต่ช่วงการเริ่มโฆษณาประชาสัมพันธ์กิจกรรมผ่านสถานีโทรทัศน์ การโฆษณาผ่านสื่อกลางแจ้ง ทั้งคัตเอาต์ภายในมหาวิทยาลัย และตามสถานที่ต่างๆ ด้วยป้ายขนาดใหญ่ หรือบิลบอร์ด
ในระหว่างวันของการจัดกิจกรรมสปอนเซอร์สามารถโฆษณาได้ผ่านป้ายโฆษณาที่อยู่รอบสนามกีฬา ซึ่งมีราคาโดยเฉลี่ยป้ายละ 30,000-50,000 บาท ซึ่งปกติในแต่ละปีจะสามารถหาได้เต็มรอบสนามกีฬาศุภชลาศัย ที่มีอยู่ประมาณ 60 ป้าย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีโอกาสได้โฆษณาผ่านสถานีโทรทัศน์ที่รับถ่ายทอดสด
นอกจากนี้ยังมีสปอนเซอร์ที่ปรากฏอยู่ใน ”ถุงยังชีพ” ที่มีทั้งขนมขบเคี้ยวและน้ำดื่ม หรือแม้กระทั่งครีมกันแดด ซึ่งปรากฏแบรนด์ของสินค้านั้นอย่างชัดเจน และยังมีให้เห็นในสมุดซ้อมเพลงเชียร์ ที่บรรจุอยู่ในถุงยังชีพ แจกจ่ายสำหรับผู้ที่ขึ้นสแตนด์เชียร์ เพื่อร่วมร้อง และแปรอักษรตลอดงานทั้งหมดประมาณ 2,500 คนอีกด้วย
“เหมวัส ชาญชัยวานิช” ผู้ประสานงานศูนย์ประชาสัมพันธ์ สมาคมเชียร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่าแต่ละครั้งที่ติดต่อให้สินค้าประเภทน้ำดื่ม และขนมขบเคี้ยวเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ ส่วนใหญ่จะได้รับการตอบอย่างดี แต่ละปีก็จะเปลี่ยนแบรนด์ไม่เหมือนเดิม ซึ่งหลักการเดินเข้าไปหาสปอนเซอร์ อย่างขนมขบเคี้ยวที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ก็มักจะให้การตอบรับเป็นอย่างดี
หากถามว่าสปอนเซอร์ลักษณะนี้มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าในอนาคตหรือไม่ “เหมวัส”บอกว่าก็มีบ้างเหมือนกัน เพราะในช่วงหนึ่งที่ทำกิจกรรมนักศึกษาได้เห็นแบรนด์ และจดจำได้ เมื่อต้องเลือกซื้อสินค้านั้นในอนาคต ก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่งเหมือนกัน
จากการรวบรวมข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ของทั้งสองสมาคมพบว่าแต่ละปีที่จัดกิจกรรม ส่วนใหญ่จะได้รับการสนับสนุนอย่างดี และแม้ว่าต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้วยังสามารถนำทูลเกล้าฯถวายเป็นพระราชกุศลอีกด้วย
การสนับสนุนอย่างเต็มที่จะมาจากทั้งสปอนเซอร์ที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีศิษย์เก่าของทั้งสองสถาบันเป็นผู้บริหารอยู่ และสินค้าและบริการที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนิสิตนักศึกษา ซึ่งแน่นอนสปอนเซอร์ที่อยู่ในสายตาผู้ชมในสนามที่จุผู้ชมได้เกือบ 30,000 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นศิษย์เก่าของทั้งสองสถาบัน จึงได้ทั้งภาพลักษณ์ของบริษัท และนำไปสู่การเพิ่มยอดขายได้อย่างไม่ยากนัก
ขณะที่อีกกิจกรรมหนึ่งที่กลุ่มนิสิต นักศึกษาให้ความสนใจเข้าร่วมกันมากคือ การแข่งขันกีฬาฟุตบอลยู-ลีก (Football Thailand University League หรือ U-League) ที่จัดมาแล้ว 9 ครั้ง แต่ในแง่ของสปอนเซอร์แล้ว ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก
“ประเสริฐ พุฒตาลศรี” ประธานจัดการแข่งขันฟุตบอลยู-ลีก บอกว่า การจัดการแข่งขัน
ฟุตบอลยู-ลีก ดำเนินการในนามบริษัทยู-ลีก ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท แต่การดำเนินการไม่ได้เน้นการหากำไร เพราะจุดเริ่มต้นของการตั้งบริษัท ต้องการสร้างกิจกรรมให้กับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และหาทุนการศึกษาให้เด็กมหาวิทยาลัย บางปีที่ดำเนินการขาดทุน บางปีมีกำไรบ้าง อย่างปีแรกก็ขาดทุนไป 4 ล้านบาท
หากเปรียบเทียบกับฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์แล้ว น่าจะมีรายได้จากสปอนเซอร์มากกว่า เพราะกิจกรรมมีเพียงวันเดียว ต้นทุนไม่ได้สูงมาก เมื่อเทียบกับยูลีกที่จัดต่อเนื่องนาน 4 เดือน เพราะจัดแข่งฟุตบอลแบบลีก ที่แต่ละทีมต้องพบกันหมด สปอนเซอร์ส่วนใหญ่จึงเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ แต่ละปีต้องหาสปอนเซอร์ให้ได้อย่างน้อย 10 ล้านบาท ซึ่งบางปีก็ได้ บางปีก็ไม่ได้
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ค่อยไดรับสนใจจากสปอนเซอร์นัก แต่สปอนเซอร์รายใหญ่อย่างดีแทค ก็ยึดพื้นที่ในกลุ่มนี้มาตั้งแต่เริ่มแรก จากการเริ่มต้นด้วยความช่วยเหลือ เพราะ “ประเสริฐ” เป็นผู้บริหารของกลุ่มยูคอม ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของดีแทค แต่ทุกวันนี้ดีแทคก็ยังคงสนับสนุนต่อเนื่อง ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การให้ความช่วยเหลือเท่านั้น แต่ดีแทคมองว่านี่คือโอกาสทางธุรกิจเช่นกันสำหรับการสร้างแบรนด์ให้กลุ่มลูกค้าที่เป็นนิสิต นักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ สนใจดีแทค เพราะยู-ลีกมีสถาบันการศึกษาทั่วประเทศกว่า 20 มหาวิทยาลัยเข้าร่วม
หลายกิจกรรมในยู-ลีก จึงมีสินค้าและบริการของดีแทคมีให้เห็นไปทั่ว ตามความตั้งใจของผู้บริหารดีแทค คือต้องผสมผสานให้ลงตัวมากที่สุด อย่างเช่นการจัดงานยู-ลีก ล่าสุดเมื่อกลางปี 2548 ดีแทคได้สอดแทรก Theme : Happy Fair Play โดยตั้งรางวัล Happy Fair Play Award และรางวัลกองเชียร์แฮปปี้ เพื่อมอบให้กับทีมฟุตบอลและกองเชียร์แฮปปี้
“ประเสริฐ” บอกว่า แม้ในแง่สปอนเซอร์อาจยังไม่มากนักสำหรับยู-ลีก แต่ในฐานะผู้จัดงานก็ยังคงพยายามจัดงานต่อไปเรื่อยๆ เพราะเชื่อว่ากิจกรรมที่รวมสถาบันการศึกษาได้มากกว่า 20 สถาบันในเวลาเดียวกัน ก็ยังคงเพียงพอเป็นจุดขายที่ทำให้สปอนเซอร์บางรายให้ความสนใจ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้ามาสนับสนุนกิจกรรมกีฬาเช่นนี้ เป็นวิธีการหนึ่งที่แนบเนียนพอสมควรในการทำให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายกลุ่มใหญ่กลุ่มนี้รู้จักและจดจำสินค้า และบริการนั้นๆ ได้
เปรียบเทียบยู-ลีก กับฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์
งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์
-จัดมาแล้ว 62 ปี
-จัดงานเพียงวันเดียว
-มีนิสิต-นักศึกษาเฉพาะ 2 สถาบันเข้าร่วม
-มีจุดเด่นการแปรอักษร เชียร์ลีดเดอร์และขบวนพาเหรดล้อการเมือง
งานฟุตบอลยู-ลีก
-จัดมาแล้ว 9 ปี
-จัดต่อเนื่องนาน 4 เดือน
-มีนิสิต-นักศึกษาเข้าร่วมกว่า 20 สถาบัน
-จุดเด่นเรื่องเชียร์ลีดเดอร์ประกวดมิสยู-ลีก