นพรัตน์ ชราพก ART+TECHNOLOGY= FASHIO

หนุ่มน้อยรูปร่างโปร่ง ยิ้มทักทายผู้มาเยือนอย่างเป็นกันเอง แต่แฝงไว้ด้วยบุคลิกที่กระตือรือร้น แววตามุ่งมั่นและใฝ่รู้ เขามีชื่ออันเป็นมงคลว่า นพรัตน์ ชราพก หรือ กรณ์ หนุ่มวัย 20 ต้นๆ ที่มีต้นกำเนิดอยู่จังหวัดน่าน อีกหนึ่งจังหวัดภาคเหนือของไทย

เขาเป็นหนึ่งใน 3 ผู้มีผลงานชนะการประกวดเป็น Young Designer ด้วยการออกแบบเครื่องประดับที่ทำด้วยมือ (Handmade) ที่มีแรงบันดาลใจการออกแบบจากโทรศัพท์มือถือแนวแฟชั่นของ Nokia จากเวที Elle Fashion Week 2005 ที่ผ่านมา

“โนเกียได้จัดเวทีประกวดผลงานดีไซน์ ตั้งแต่เสื้อผ้า เครื่องประดับ และวัสดุสิ่งของที่ใช้งานได้จริง โดยมีโจทย์ให้ผู้ออกแบบใช้แรงบันดาลใจจากโทรศัพท์มือถือแนวแฟชั่นของโนเกีย” นพรัตน์บอก

นพรัตน์ มีความสนใจด้านเสื้อผ้ามาตั้งแต่วัยเด็ก เพราะเติบโตมากับการทอผ้าที่เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน ได้สัมผัสกี่ทอผ้า และเสียงสอดกระสวยการทอผ้ามาตลอดวัยเยาว์ จึงซึมซับและเรียนรู้อย่างสนใจ จนสามารถผลิตผลงานชิ้นแรกเป็นถุงย่ามลายแปลกตาที่ทอเองกับมือ ส่งผลผูกพันและรักงานผ้าทอมือที่เป็นวิถีแห่งล้านนาอย่างลึกซึ้ง เขาจึงเลือกเรียนปริญญาตรี ด้านวิจิตรศิลป์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เขาได้มีโอกาสศึกษาเกี่ยวกับศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิตพื้นบ้าน และงานศิลปะที่ผลิตเองด้วยมือ (Handmade) ส่งผลให้เขาสามารถศึกษา เรียนรู้ และประยุกต์งานศิลปะแบบใหม่ จนสร้างผลงานได้โดดเด่นหลายชิ้นในช่วงระยะเวลาที่อยู่ เนื่องจากเป็นการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ความต้องการ และข้อสงสัยด้านต้นกำเนิดของงานศิลปะในวัยเด็กเขาได้ ตั้งแต่งานศิลปะพื้นบ้าน งานออกแบบต่างๆ ที่ยึดแนวคิด และวิถีชีวิตแบบไทยพื้นบ้าน

“ผมเติบโตมากับวัฒนธรรมท้องถิ่น เพราะคุณยาย คุณป้า ทำงานผ้าทอพวกนี้ ซึ่งผมได้คลุกคลีอยู่กับครอบครัวที่ทำงานหัตถกรรมและงานศิลปะ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่ในสังคมที่เราอยู่ จนผมได้รับการปลูกฝัง และทำให้สนใจในทุกรายละเอียด ว่าของแต่ละชิ้นทำยังไง เช่น ตะกร้า กระบุง ถ้วยโถโอชามต่างๆ ว่ามันเริ่มต้นมายังไง ผลิตยังไง และทำขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์อะไร”

เขาบอกว่า เริ่มต้นไม่คิดจะก้าวสู่การเป็นดีไซเนอร์ แต่โดยส่วนตัวเป็นคนชอบงานศิลปะ งานเพ้นต์ งานปั้น แต่ยังไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วตัวเองต้องการทำอาชีพอะไร จนในระหว่างเรียนได้มีโอกาสจัดแสดงละครในระดับมหาวิทยาลัย โดยรับหน้าที่เป็นผู้ออกแบบ และตัดเย็บเสื้อให้กับตัวละคร อาทิ ละครหุ่น และละครเวที ซึ่งเขาทำได้ดี และได้รับการแนะนำให้เดินเข้าสู่เส้นทางด้านดีไซน์เสื้อผ้า

“แต่พอมีงานเสื้อผ้าในระดับมหาวิทยาลัยทุกคนก็จะโยนงานนี้มาให้ก้อน รับผิดชอบทั้งหมด เพราะเราทำได้ เนื่องจากเรามีประสบการณ์มาตังแต่เด็ก โดยคลุกคลีอยู่กับการตัดเย็บ ทอผ้า และทดลองตัดเย็บจริงกับพวกป้าๆ มาตั้งแต่อดีต จนความสามารถนั้นติดตัวเรามาถึงปัจจุบัน”

หลังสำเร็จการศึกษา นพรัตน์เริ่มทำงานที่ห้องเสื้อไข่ ของ สมชาย แก้วทอง เพื่อเพิ่มเติมประสบการณ์ด้านการออกแบบ โดยเรียนรู้ตั้งแต่งานรีดผ้า ออกแบบเครื่องประดับ ทำแพตเทิร์น ตัดเย็บไปจนถึงการตลาด ซึ่งเขาให้เหตุผลว่า “การตลาดเป็นหัวใจของงานดีไซเนอร์ยุคแห่งการแข่งขันในปัจจุบัน เพราะงานดีไซน์ที่ดีจำเป็นต้องมีการตลาดที่ดีควบคู่กันไป” จนเขาสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้ช่วยดีไซเนอร์อย่างเต็มตัว โดยใช้เวลาฝึกฝนจนเชี่ยวชาญตลอดระยะเวลา 5 ปี

“ก่อนหน้านี้ผมรู้เพียงว่างานดีไซน์คืองานเสื้อผ้าที่เป็นงานยาก ต้องใช้เวลา เพราะรายละเอียดเยอะ แต่จริงๆ แล้วงานแฟชั่นมีความหลากหลาย ตั้งแต่งานอาร์ต ดีไซน์ และงานประดิษฐ์อื่นๆ อีกมาก ตรงนี้ผมเรียนรู้จากการเข้ามาฝึกฝนในการทำงานจริง ณ ห้องเสื้อคุณไข่ ย่านถนนราชดำริ”

นพรัตน์เริ่มผลิตผลงานด้านการออกแบบกับสมชาย เพื่อแสดงในงาน Elle Fashion Week 2000 และเขาได้มีโอกาสแสดงผลงานคอลเลกชั่นของตนเองครั้งแรกในงาน Elle Fashion Week 2005 ที่ผ่านมา ด้วยการโชว์ผลงานเครื่องประดับที่ทำด้วยมือ (Handmade) ผลงานที่ได้แรงบันดาลใจจากโทรศัพท์มือถือแนวแฟชั่นของ Nokia

ส่วนใหญ่นพรัตน์เน้นออกแบบงานที่ประดิษฐ์ด้วยมือ อาทิ หยิบเสื้อผ้ามาประยุกต์เข้ากับเครื่องประดับ หรือนำลูกปัด หิน และผ้ามาประดิษฐ์เป็นเครื่องประดับที่มีเพียงชิ้นเดียว เพื่อสร้างความแตกต่าง แต่ตรงนี้ถือเป็นความยากของการออกแบบ เพราะต้องใช้เวลา และใส่ใจในรายละเอียดสูง

แต่เขาโชคดีที่มีอาจารย์ระดับมืออาชีพอย่าง สมชาย แก้วทอง เป็นผู้แนะนำด้านดีไซน์ แนวคิดการออกแบบ และการใช้เทคนิคพิเศษต่างๆ จนเขาสามารถผลิตชิ้นงานออกเป็นเสื้อผ้า และเครื่องประดับที่มีความโดดเด่น และชนะใจคณะกรรมการในงาน Elle Fashion Week 2005 ที่ผ่านมา และนับเป็นดีไซเนอร์รุ่นเยาว์ที่เติบโตมาท่ามกลางวิถีชีวิตคนไทยอย่างแท้จริง

“รางวัลที่ได้นี้เป็นใบเบิกทางให้คนรู้จักเรามากขึ้น แต่อาชีพนี้ต้องมีการพัฒนา รับการติชมอยู่เสมอ เพื่อนำมาพัฒนางานออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด ตรงนี้คุณไข่ช่วยผมได้เยอะ เช่นงานโชว์ครั้งล่าสุด เขาก็แนะนำผมให้ใช้รูปแบบงานที่ประดิษฐ์ด้วยมือ เพื่อส่งเข้าประกวด เพราะเป็นงานที่คนให้ความสนใจผลิตน้อย เพราะยากและต้องใช้เวลางานต่อ 1 ชิ้นสูง แต่ผมชอบและถนัดจึงทำออกมาดี โดยทำทั้งหมด 20 ชุด แต่ละชุดมีเพียงชิ้นเดียว แต่ละชิ้นก็ได้เทคนิคออกแบบต่างกันออกไป อาทิ ใช้ผ้าถักเป็นปม ปักเลื่อม หรือร้อยด้วยลูกปัด”

แม้เส้นทางชีวิตจะดูสดใส แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่กรณ์จะก้าวมาถึงวันนี้ เพราะเขาใช้เวลาฝึกฝนและเรียนรู้อย่างหนัก แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาโดดเด่นและแตกต่าง คือ กล้าคิด และทำในสิ่งที่ต่างแตก โดยเลือกดีไซน์ชิ้นงานแบบไม่ยึดติดกรอบ เพื่อให้งานรูปแบบใหม่ๆ อยู่เสมอ

“ผมมีจุดอ่อนตรงงานแพตเทิร์น คือไม่ชอบงานที่มีแบบที่ตายตัว อาทิ เสื้อสูท หรือเชิ้ต นี้ไม่ชอบเลย แต่มีความสุขหากได้ทำงานดีไซน์ใหม่ๆ อาทิ เอาผ้า 1 ชิ้นมาขมวด หรือผูกเป็นชุด 1 ชุดโดยไม่ต้องตัดผ้าออกเลยสักชิ้น งานแบบนี้ผมมักทำได้ดี และมีความสุขที่ได้ทำ”

เขามีความใฝ่ฝันอยากทำชุดเสื้อผ้าหรู ชุดราตรี หรือชุดแต่งงาน เพื่อส่งออกและเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มบนเป็นหลัก โดยเขาเหตุผลว่าเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง และเป็นตลาดที่ชอบงานดีไซน์ที่แตกต่าง ซึ่งตรงกับความชอบของเขา และเขาให้มุมมองว่า “อาชีพดีไซเนอร์ ต้องอาศัยใจรัก เพราะงานแต่ละชิ้นต้องใช้เวลา และความอดทนสูง ดังนั้นควรขยัน และตั้งใจจริง เพื่อสามารถก้าวไปสู่เป้าหมายได้”

นั่นเป็นเพราะนพรัตน์ ยึดแบบอย่าง น้อยพิจิตร นฤเบศร์ ดีไซเนอร์ชื่อดัง เป็นครูต้นแบบอีกคนที่ช่วยถ่ายทอดความรู้เรื่องการตลาดให้เขามีมุมมองธุรกิจใหม่ๆ เพื่อให้ก้าวไปสู่อนาคตดีไซเนอร์มืออาชีพดั่งตั้งใจไว้

“ปัจจุบันเทคโนโลยีกับงานศิลปะเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาไปควบคู่กัน โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันอย่างโทรศัพท์มือถือ จำเป็นต้องมีดีไซน์ที่แตกต่าง ไม่น่าเบื่อ เพื่อสร้างสีสัน และมีชีวิตชีวา ซึ่งจะส่งผลให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้น” กรณ์บอกด้วยใบหน้าที่เปี่ยมยิ้ม

Profile:

Name : นพรัตน์ ชราพก
Education :
– โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอบัว จังหวัดน่าน
– ปริญญาตรี ด้านวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Career Highlights :
– ผู้ช่วยดีไซเนอร์ (สมชาย แก้วทอง) เพื่ออกแบบเสื้อผ้าแสดงในงาน Elle Fashion Week 2000
– ออกแบบเครื่องประดับสำหรับแฟชั่นโชว์ของ Pisit ในงาน Elle Fashion Week 2001 และ 2003
– ได้รางวัลชนะเลิศในงาน Preview in Deagu-International Textile and Fashion Exhibition ที่เมืองดีอากู ประเทศเกาหลีใต้
– รางวัลชนะเลิศ Young Designer จากภาคเหนือ ในไทยแลนด์ เอ็กซ์พอร์ต มาร์ท (TEM) ปี 2547
– รวมถึงร่วมแสดงชุด “Good Night” ในงานนิทรรศการแฟชั่น “Desire by Nokia 2005” ที่เพลย์กราวน์ ทองหล่อ
– แสดงผลงานคอลเลกชั่นของตนเองครั้งแรกในงาน Elle Fashion Week 2005 ด้วยการโชว์ผลงานเครื่องประดับที่ทำด้วยมือ (Handmade) ผลงานที่ได้แรงบันดาลใจจากโทรศัพท์มือถือแนวแฟชั่นของ Nokia

Did you know?

โทรศัพท์แนวแฟชั่นของ Nokia ที่สร้างสีสันที่สุด คือ “โนเกีย ลามูร์ คอลเลกชั่น” ที่เน้นการออกแบบ และดีไซน์จากเสื้อผ้าแฟชั่นแบรนด์ “L’Amour (ลามูร์)” ซึ่งคอลเลกชั่นนี้มีโทรศัพท์ 3 รุ่นล่าสุด คือ Nokia 7380, 7370 และ 7360 ผลงานการออกแบบของทีมดีไซน์ระดับโลกของ Nokia นำทีมโดย แฟรงค์ นูโว ผู้ดีไซน์ช็อปโทรศัพท์หรูแบรนด์ VERTU นั่นเอง