Attention Please

Campus Marketing แบบรุกพื้นที่มหาวิทยาลัย มีโอกาสและวาระในการใช้ โดยสรุปดังนี้

– มักขายสินค้าไม่ได้โดยตรง มักไปในรูปแบบการสาธิตสินค้า แจก ชิม ลดราคา หรือราคาพิเศษ หรืในเชิงความรู้ บางสินค้าอาจเข้าในรูป Co-sponsor

– สินค้าเหมาะกับการเข้าไปทำตลาดในมหาวิทยาลัยหรือไม่ โปรดักส์เกี่ยวข้องหรือไม่

– ที่สำคัญคือ ช่วงจังหวะเวลา เพราะมหาวิทยาลัยมีฤดูกาลทำกิจกรรมเป็นช่วงๆ ไม่สามารถทำได้ทั้งปี ไม่เหมือนกับออฟฟิศ หรืออาคารสำนักงานที่สามารถไปเมื่อไหร่ก็ได้ ทั้งไฮซีซั่นหรือโลว์ซีซั่นก็ไปได้ ทำให้สามารถวางระยะเวลาได้ง่ายกว่า ขณะที่มหาวิทยาลัยค่อนข้างยาก สาเหตุเนื่องจากปีการศึกษาจะมีตั้งแต่ช่วงก่อน ใกล้สอบ ซึ่งนิสิตมักไม่ค่อยมาร่วมกิจกรรมหรือให้ความสนใจมากนัก เพราะมัวแต่ยุ่งเรื่องสอบ หรือช่วงปิดเทอม นักศึกษาก็มีจำนวนน้อยจึงไม่ควรจัดกิจกรรม ช่วงที่เหมาะสมคือช่วงกลางเทอมหรือภาคการศึกษา เพราะกิจกรรมจะมีจำนวนมากทั้งของมหาวิทยาลัยในเรื่องรับน้อง

สมเกียรติ รุ่งเรืองวิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยรังสิต บอกกับ POSITIONING ว่า รูปแบบที่เจ้าของสินค้าและบริการมักเข้ามาส่วนใหญ่จะเป็นการแจก Sampling ซึ่งมีแทบทุกวันในช่วงเปิดภาคเรียน รวมถึงการจัดอีเวนต์ของ Consumer Product ต่างๆ หรือแม้กระทั่งรถยนต์ยุโรปและญี่ปุ่นก็มีมา

แต่การเข้ามาในพื้นที่มหาวิทยาลัยโดยตรงแนวทางที่เขาพึงพอใจที่สุดคือ การเข้ามาในรูปแบบของงานสัมมนาให้ความรู้แก่นักศึกษา ซึ่งจะมีสปอนเซอร์ต่างๆ จะมาจัดบูธของตนเองด้วย เช่น ทางนิตยสารคลีโอจัดสัมมนาให้นักศึกษา โดยเชิญอัจฉรา บุรารักษ์ เจ้าของร้านไอศกรีม i-berry มาบรรยาย เป็นต้น

“ซื้อไม่ซื้อเป็นสิทธิ์ของนักศึกษา แต่การมาในรูปแบบสัมมนา นักศึกษาจะได้รับความรู้ด้วย”

การตลาดยอดนิยมสร้างสัมพันธ์นักศึกษา

นอกจากนี้การสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายนอกจากจะมุ่งตรงเข้าไปยังพื้นที่มหาวิทยาลัยแล้ว การนำ “พลังนักศึกษา” มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแบรนด์เป็นสิ่งที่นิยมทำกันมาก โดยจะปรากฏในรูปแบบของ Contest Marketing ประเภท Talent หรือทดสอบความสามารถทางความคิด สติปัญญา มากกว่าจะเป็น Beauty Contest

ในแง่หนึ่งคือสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์ในการรับรู้ของกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการสร้างและกระชับความสัมพันธ์ด้วยนับเป็น CRM แบบหนึ่ง

นอกจากนี้ผลงานที่ปรากฏโฉมออกสู่ตลาดวางจำหน่ายทั่วไป จะสามารถสร้างจุดขายด้วยการประชาสัมพันธ์ได้จากคำว่า “ผลงานออกแบบจากนักศึกษา” เป็น Value Added อย่างหนึ่ง โดยสินค้าประเภทไอที อุปโภคบริโภค มักนิยมใช้กิมมิกนี้ในการทำการตลาด เช่น แบรนด์ประกวดออกแบบลวดลายกราฟิกบนแพ็กเกจจิ้ง

รวมถึงมีเดียต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาสร้างสรรค์คอนเทนต์ในบางส่วน หรือทั้งโปรเจกต์ อย่างสุดสัปดาห์ I-Mag เป็นต้น เกือบทั้งหมดจะเป็นพลังนักศึกษาที่แสดงออกในรูปแบบของไอเดียผ่านงานดีไซน์

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกลยุทธ์ที่ลงทุนน้อยและมักนิยมทำกันเนื่องจากได้รับผลตอบรับสูง คือ

Buzz Marketing / Word-of- Mounth

คือ เสียงร่ำลือถึงคุณภาพของสินค้าและบริการในหมู่บริโภคด้วยกันเอง คือสิ่งที่นักการตลาดปรารถนาจะทำให้เกิดขึ้น เป็นการตลาดแบบปากต่อปาก มักจะเกิดผลกับกลุ่มคนที่อยู่ในวัยและสังคมเดียวกัน ดังนั้นกลุ่มนักศึกษาที่มีพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าและบริการตามคำบอกเล่าของเพื่อนฝูง Product ที่เห็นได้เด่นชัดคือผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ จะมีการแข่งขันรุนแรงในเรื่องของโปรโมชั่นและบริการเพื่อให้เกิดการทดลองใช้และนำไปบอกต่อๆ กันไป

ที่เห็นชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่สุด เช่น ภาพยนตร์ต่างๆ จะใช้กลยุทธ์นี้กันมากจนแทบจะเรียกว่าเป็นรูปแบบหลักเลยก็ว่าได้ กล่าวคือ หลังรอบปฐมทัศน์จะมีทีมงานไปสัมภาษณ์ความรู้สึกผู้ชมหลายๆ คนหลังจากออกมาจากโรงภาพยนตร์ว่ามีความรู้สึกอย่างไรบ้างต่อหนังเรื่องนั้นๆ จากนั้นจะเลือกแต่ความคิดเห็นด้านบวกต่อภาพยนตร์ มานำเสนอเพื่อเชิญชวนให้ผู้ชมทางจอโทรทัศน์มาดูบ้าง

เครื่องมือสำคัญ คือ กิจกรรมที่เป็น Talk of the Town เพื่อให้เกิดกระแส อีกทั้งการจัดสัมมนา Workshop ลองใช้แล้วบอกต่อกันไป และการใช้ Blog, Forward Mail, กระทู้ในเว็บบอร์ดดังๆ เพื่อสร้างกระแส เช่น pantip.com เป็นต้น

Card for Student

จริงอยู่แม้นักศึกษาส่วนใหญ่จะยังไม่มีรายได้เป็นของตัวเอง กำลังซื้อยังไม่สูงนัก หากแต่พวกเขามีจำนวนเรือนล้านทั่วประเทศ เป็น Volume มหาศาลที่แปรสู่ Value และสร้างเม็ดเงินไม่น้อยให้กับธุรกิจ

– แค่ Student Card ใบเดียว ก็สามารถทำให้นักการตลาดทั้งหลายได้ลูกค้านักศึกษาได้ สินค้าและ
บริการหลายประเภท นิยมนำ Student Card มาเป็นเครื่องมือการตลาด การมอบส่วนสดเมื่อโชว์บัตรนักศึกษาที่พวกเขามีกันอยู่แล้ว โดยบริษัทฯไม่ต้องเสียเงินลงทุนในการออกบัตรอื่นเลย

– แต่ก็มีอยู่บ้างที่ออกบัตรส่วนลด หรือเป็นบัตรสำหรับกลุ่มนักศึกษาโดยตรง เช่น Central Y Club Card ลด 5% ที่เคาน์เตอร์ปกติและเคาน์เตอร์ร่วมรายการ ในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลและเซน, Creative Young Traveller Card ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รับส่วนลดสูงสุด 50% จากที่พักในแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศไทย เป็นต้น