The big : change Politic + Economy+ Civil Service + Academic

“ประเทศไทย” ที่ต้องขับเคลื่อนไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยไม่ให้ตกไปจากแผนที่โลก มี ”ผู้บริหาร และผู้ร่วมบริหารประเทศ” อันเป็นองค์ประกอบสำคัญเช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ในประชาคมโลก แบ่งเป็นกลุ่มตามบทบาท ดังนี้ กลุ่มนักการเมือง กลุ่มนักบริหารงานด้านเศรษฐกิจ กลุ่มข้าราชการ และนักวิชาการ

ในฐานะกลุ่มผู้บริหารประเทศ ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี ในนามของรัฐบาลไทย ที่เกี่ยวพันกับการเมืองโดยตรง เพราะระบบการปกครองของไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ มีพรรคการเมือง มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งโดยเสียงของประชาชน

ตลอดเกือบ 6 ปีที่ผ่านมา ”พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” คือหัวหน้าพรรคไทยรักไทย นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เป็นที่ยอมรับว่าคือผู้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับระบบพรรคการเมืองไทย ที่นักการเมืองต่างศิโรราบ สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้รัฐบาลที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเพียงพรรคเดียว สามารถสร้างนโยบายใหม่ๆ มารองรับ นำกลยุทธ์การตลาดมาใช้นำเสนอถึงประชาชนอย่างได้ผล

ขณะเดียวกันผู้ร่วมบริหารประเทศที่เป็นนักการเมืองอื่นอย่าง ”บรรหาร ศิลปอาชา” หัวหน้าพรรคชาติไทย ที่มีความเก๋า และทำความปั่นป่วนใจให้กับพรรครัฐบาล หรือไม่ก็พรรคฝ่ายค้านมาโดยตลอด เพราะท่าทีที่หาความชัดเจนได้ยากว่าต้องการอยู่ฝ่ายใด

สำหรับบุคคลทางการเมืองอีกหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ คือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ที่แม้ว่าโดยสถานะแล้วอยู่ห่างไกลจากการเมือง แต่เพราะบารมีที่ยังมีอยู่ล้นเหลือ ทำให้นักการเมืองมักดึงท่านมาเกี่ยวข้องตลอดเวลา

สุดท้ายสำหรับบุคคลทางการเมืองที่ไม่อาจลืมได้ “สมัคร สุนทรเวช” แม้จะมีคนที่ไม่ชอบหน้าจำนวนมาก แต่ก็มีคนจำนวนมากที่ชอบน้ำเสียง ลีลา และการแสดงออก โดยเฉพาะความชัดเจนในการเลือกฝ่ายอยู่ในขั้วอำนาจ หลายครั้งที่ลงในสนามการเมืองจึงยังคงกลับคืนสู่เก้าอี้รับใช้พ่อแม่พี่น้องได้ตลอดเวลา

อีกส่วนที่สำคัญคือผู้บริหารงานด้านเศรษฐกิจของประเทศ ที่ยุคนี้ต้องยกให้กับ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในปัจจุบัน และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้มีบทบาทร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทยตั้งแต่ต้น และเจ้าของพิมพ์เขียวนโยบายของพรรคไทยรักไทย ที่สามารถนำความต้องการของชาวบ้านมาเขียนแผนสนองความต้องการ จนโดนใจประชาชน

ที่สำคัญเมื่อเสียงร้อง”ท้าก-ษิน ออกไป“ ดังขึ้นเรื่อยๆ ชื่อของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ คือตัวเลือกใหม่สำหรับเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

“ทนง พิทยะ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนปัจจุบัน ผู้ที่สนิทสนมและคุ้นเคยกับพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้มีบทบาท เคาะแผนการประกาศนโยบายลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 ท่ามกลางกระแสข่าวการเอื้อประโยชน์ต่อบางบริษัท จนพ้นการเจ๊งในช่วงนั้น เมื่อกลับมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้ง จึงเป็นที่จับตามองว่าบทบาทที่จะแสดงคือการพัฒนาประเทศ หรือการเข้ามาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น

ขณะที่ฝากของคณะรัฐมนตรีของพ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการผลักดันประเทศให้เติบโตโดยวัดจากตัวเลข ”จีดีพี” โดยเฉพาะนโยบายการกดดอกเบี้ยต่ำ เพื่อกระตุ้นการลงทุนและจับจ่ายใช้สอย ธนาคารแห่งประเทศไทย โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ในฐานะผู้ว่าการฯ ก็แสดงบทบาทอย่างชัดเจนว่าต้องการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าสนองนโยบาย

ภาคหนึ่งในการบริหารประเทศที่มีบทบาทสำคัญมานาน คือกลุ่มข้าราชการ ในยุคนี้หากเอ่ย ถึงชื่อของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน และพลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ทั้งสองคือผู้กู้ภาพลักษณ์ให้ข้าราชการในเครื่องแบบทหารและตำรวจ คือที่พึ่งของประชาชนได้อีกครั้ง

สำหรับกลุ่มคนที่ยังคงมีบทบาทสำคัญปัจจุบัน และถือเป็นที่พึ่งยามต้องการกระตุกแนวทางการบริหารงานของรัฐบาล คือนักวิชาการ บุคคลที่โดดเด่น และทำการบ้านอย่างต่อเนื่องในด้านการเมือง โดยเฉพาะการรักษาความกล้าอย่างสม่ำเสมอในการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายทักษิณ ต้องยกให้กับ”ธีรยุทธ บุญมี” ส่วนในภาคเศรษฐกิจมหภาค ต้องเอ่ยถึง ”ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ที่เป็นเสมือนใบเตือนให้รู้ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังไปทางไหน และอะไรบ้างที่ต้องระมัดระวัง

กลุ่มคนเหล่านี้ ด้วยบทบาทเหล่านี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำความรู้จัก…