”จิกมี” เจ้าชายฟีเวอร์

สาวไทยกรี๊ดสนั่น…มกุฎราชกุมาร”จิกมี”

พาดข่าวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 19 มิถุนายน 2549 ที่สะท้อนเห็นชัดเหลือเกินว่าสาวไทย ”ฟีเวอร์” เจ้าชายแห่งภูฏานองค์นี้มากเพียงใด แม้กระทั่งทรงเสด็จกลับไปแล้ว ก็ยังมีต่อจากกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวที่เล็งเห็นช่องทางให้ผู้ชื่นชมในพระบารมีของเจ้าชายองค์นี้ มีโอกาสไปเยือนภูฏานมากขึ้น

และแม้กระทั่งสำนักวิจัยเอแบคโพล ก็ได้สำรวจในหัวข้อเรื่อง “ความปลื้มปิติ ประทับใจของคนไทยต่อพระราชอาคันตุกะที่เสด็จร่วมงานเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบรอบ 60 ปีของในหลวง : กรณีศึกษาประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ก็พบว่า 70.4% ของผู้ถูกสำรวจ 1,591 คน ตอบว่ามีความประทับใจเป็นพิเศษเพิ่มเติมในพระราชอาคันตุกะจากราชอาณาจักรภูฏาน ด้วยเหตุผลว่าทรงมีจริยวัตรงดงาม ไม่ทรงถือพระองค์ เป็นกันเอง และยังเห็นว่าประทับใจที่ทรงมีพระสิริโฉมงดงาม

มกุฎราชกุมาร ”จิกมี” จึงทรงมาแรง กลายเป็นขวัญใจคนไทยจำนวนมากในเวลานี้

เจ้าชาย ”จิกมี” หรือพระนามเต็มว่า ”มกุฎราชกุมาร จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก” ทรงเสด็จร่วมพระราชพิธีฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ท่านทรงมีพระจริยวัตรที่งดงามด้วยบุคลิกท่าทาง ทรงไหว้ เป็นการทักทายต่อผู้ที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้า และฉลองพระองค์ที่ทรงรักษาไว้ และแสดงความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของภูฏาน ตั้งแต่วันแรกที่เสด็จถึงประเทศไทย และตลอดเวลาช่วงที่ทรงร่วมพระราชพิธี และวันเสด็จกลับประเทศ

แม้เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ที่จังหวัดภูเก็ต “เจ้าชายจิกมี” ก็ทรงฉลองพระองค์ด้วยเสื้อสีเหลืองพร้อมตราสัญลักษณ์ ฉลองการครองสิริราชสมบัติ เช่นเดียวกับชาวไทยทั่วประเทศ

สำหรับพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์นั้น ทรงสนิทสนมกับครอบครัวของม.จ.ภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งการเสด็จเยือนไทยครั้งนี้ ยังได้เสด็จไปที่วังประมวญ เพื่อเสวยพระกระยาหารค่ำในวันที่ 11 มิถุนายน และก่อนเสด็จกลับวันที่ 12 มิถุนายน ยังได้เสด็จเสวยพระสุธารสชา

ทั้งนี้เพราะ ม.จ.ภีศเดช ทรงเคยเข้าเฝ้า สมเด็จพระรามาธิบดี จิกมี ซิงเย นามยาล วังชุก ซึ่งทรงสนพระทัยงานปราบฝิ่นอันเป็นโครงการของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงให้ชาวบ้านปลูกต้นไม้อื่นทดแทน หรือทำไร่เลื่อนลอย เมื่อ 4 ปี ที่ นอกจากนี้หลานสะใภ้ของม.จ.ภีศเดช ก็เป็นพระสหายของเจ้าชายเมื่อครั้งทรงศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา

สื่อมวลชนไทยเองก็เฝ้าติดตามการรายงานข่าวของพระองค์เป็นระยะ ต่อเนื่องจนเสด็จกลับ ทั้งพระฉายาลักษณ์ และเนื้อหา ปรากฏสู่สายตาคนไทยทั่วประเทศผ่านทุกสื่อแทบก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสาร และโดยเฉพาะอย่างสื่ออินเทอร์เน็ต ที่มีการส่งพระฉายาลักษณ์ของพระองค์ต่อๆ กันผ่านอีเมล

“ทรงพระหล่อ น่ารัก” คำชมจากปากสาวไทยหลายต่อหลายคนที่มีให้ได้ยินบ่อยๆ ในช่วงที่ผ่านมา และดูเหมือนจะมีการเตรียมตัวกรี๊ดกันอีก เมื่อเจ้าชายจะเสด็จเยือนประเทศไทยอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้

ในปี 2551 มกุฎราชกุมารจะเสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นกษัตริย์พระองค์แรกของภูฏานที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ สืบต่อจากพระบิดา ที่ทรงประกาศสละราชบัลลังก์ และทรงแสดงพระราชหฤทัยโดยมุ่งมั่นพัฒนาประเทศตามแนวทางของพระบิดา ที่ทรงมีแนวทางการพัฒนาประเทศคล้ายคลึงกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทย พระองค์ประกาศไว้ว่าให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาประเทศที่ไม่ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์มวล รวมภายในประเทศ (GDP–Gross Domestic Product) แต่ให้ความสำคัญกับความสุขมวลรวมแห่งชาติ (GNH–Gross National Happiness)

วโรกาสนี้ ไม่เพียงเจ้าชาย ”จิกมี” ทรงทำให้คนไทยทั้งประเทศได้รู้จักพระองค์มากขึ้นเท่านั้น แต่พระองค์ท่านทรงทำให้ประเทศภูฏานอยู่ในใจของคนไทยอีกด้วย

พระราชประวัติ (ข้อมูลจากกรมเอเชียใต้ กระทรวงการต่างประเทศ ของไทย)
พระนาม : มกุฎราชกุมาร จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก (His Royal Highness Jigme Khesar Namgyel Wangchuk)
พระอิสริยยศ : มกุฎราชกุมารแห่งภูฏาน
ประสูติ : 21 กุมภาพันธ์ 2523 ณ ภูฏาน (พระชนมายุ 26 พรรษา)
การอภิเษกสมรส : ยังไม่ได้ทรงอภิเษกสมรส
การศึกษา :
– Yangchenphu High School ภูฏาน
– Cushing Academy มลรัฐ Massachusetts สหรัฐอเมริกา
– Wheaton College มลรัฐ Massachusetts สหรัฐอเมริกา
– Magdalen College, Oxford University สหราชอาณาจักร
– Foreign Service Program, Queen Elizabeth House, Oxford University สหราชอาณาจักร
– Department of Politics and International Relations, Oxford University สหราชอาณาจักร
พ.ศ. 2548 National Defence College กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย
พ.ศ. 2548 Honorary Degree of the Doctor in Laws, University of New Brunswick แคนาดา
พ.ศ. 2548 Innovations in Governance, Kennedy School of Government, Harvard University สหรัฐอเมริกา

พระราชกรณียกิจ
– ทรงเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนภูฏานในการเข้าร่วมการประชุมสมัชชา สหประชาชาติ สมัยที่ 27 และทรงเข้าร่วมการประชุมองค์การ
สหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยเรื่องเด็ก พ.ศ. 2545
– อธิการบดี Royal University of Bhutan
– ประธาน Bhutan Trust Fund for Environmental Conservation
ข้อมูลเพิ่มเติม
– ทรงสนพระทัยในงานศิลปะ ภาพวาด การถ่ายภาพ กีฬา และการอ่านหนังสือ

คติประจำพระองค์
Service before self และ My ambitions and goal are lodged within those of my country

ข้อมูลทั่วไป “ภูฏาน”

จากข้อมูลของวิกิพีเดีย ระบุว่าชื่อ”ภูฏาน” หมายถึงดินแดนที่สูง ส่วนชื่อตามภาษาท้องถิ่น “Druk Yul (อ่านว่า ดรุ อือ) แปลว่า “ดินแดนของมังกร” นอกจากนี้ยังเรียกว่า Druk Tsendhen แปลว่า “ดินแดนของมังกรสายฟ้า”

ข้อมูลจาก กระทรวงการต่างประเทศของไทย

ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย มีอาณาเขตทิศเหนือติดกับทิเบต 470 กิโลเมตร และอาณาเขตด้านอื่นๆ ติดกับอินเดีย 605 กิโลเมตร ไม่มีทางออกทะเล ( land – locked country )
พื้นที่: 47,000 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง : กรุงทิมพู (Thimphu)
เมืองสำคัญต่างๆ : เมืองพาโร (Paro) เป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติ เมืองพูนาคา (Punaka) เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นที่ตั้งของพระราชวังฤดูหนาว และเป็นที่ราบสำหรับทำการเกษตร
ประชากร– คน : 752,693 คน มี 3 เชื้อชาติ ได้แก่ Sharchops (ชนพื้นเมืองดั้งเดิม ส่วนใหญ่อยู่ภาคตะวันออก) Ngalops (ชนเชื้อสายทิเบต ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคตะวันตก) และ Lhotshams (ชนเชื้อสายเนปาล ส่วนใหญ่อยู่ทางใต้)
ศาสนา : 75% นับถือศาสนาพุทธมหายาน นิกาย Kagyupa อีก 25%นับถือศาสนาฮินดู
ภาษา : ซองข่า (Dzongkha) เป็นภาษาราชการภาษาอังกฤษใช้เป็นสื่อกลางในสถาบันการศึกษาและในการติดต่อ ธุรกิจภาษาทิเบตและภาษาเนปาลมีใช้บางส่วนในทางภาคใต้ของประเทศ
เศรษฐกิจ ปี 2547 – อัตราการเติบโตของจีดีพี 7.1% อัตรารายได้ประชากรต่อหัวเฉลี่ย 698.8 เหรียญสหรัฐต่อปี
การท่องเที่ยว : เป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้เป็นอันดับหนึ่งของภูฏาน จำกัดนักท่องเที่ยวไม่กี่พันคนต่อปี เพราะต้องการรักษาสิ่งแวดล้อม จึงเก็บค่าเข้าประเทศ หรือค่าขอวีซ่าเข้าประเทศวันละ 200 เหรียญสหรัฐ