“ทนง พิทยะ” ลดค่าเงินบาท ชื่อนี้ไม่มีพลาด

ซูเปอร์ ”ทนง” ฮีโร่ ”ของทักษิณ”

“หมดเวลาฮันนีมูน ถึงเวลามาช่วยกันทำงานได้แล้วนะ”

ประโยคจากปากของ ”พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ระหว่างการสนทนาครั้งหนึ่งกับ ”ทนง พิทยะ” ขณะที่ ”ทักษิณ” กำลังเตรียมจัดตั้งรัฐบาลชุดทักษิณ 2 ต่อจากทักษิณ 1 หลังดำรงตำแหน่งมาครบวาระ 4 ปี จนเป็นที่มาทำให้ ”ทนง” กลับมาในตำแหน่งทางการเมืองอีกครั้ง

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นไปตามคาดที่พรรคไทยรักไทยได้เสียงข้างมาก พ.ต.ท.ทักษิณจึงจัดตั้งรัฐบาล โดยดึง ”ทนง พิทยะ” ที่ในช่วงรัฐบาลทักษิณ 1 ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ อย่างประธานคณะกรรมการการบินไทย ด้วยความสุข เป็นประธานสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทอุตสาหกรรมเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลทักษิณ 2/1 ซึ่งจัดตั้งแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2548

แต่ปีแรกที่ควรเป็นเวลาของ “4 ปีสร้าง” หลังผ่าน “4 ปีซ่อม” ช่วงทักษิณ 1 มาแล้ว ตามสโลแกนหาเสียงของพรรคไทยรักไทย กลับไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นนั้น เพราะภาวะราคาน้ำมันตลาดโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วทั้งในจีน และอินเดีย ขณะที่น้ำมันเป็นทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด ยังไม่นับปัจจัยเรื่องการคาดการณ์กันว่าส่วนหนึ่งมาจากการเก็งกำไรราคาน้ำมัน ส่งผลให้ตัวเลขดุลการค้าที่มูลค่านำเข้าสินค้ามากกว่าส่งออก จึงขาดดุลอย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายเดือน

ดุลการค้าที่ขาดดุลทุกเดือนนับตั้งแต่รับตำแหน่งเดือนมีนาคม 2548 บวกผสมดุลการค้าในรอบ 6 เดือนสิ้นสุดมิถุนายน 2548 ทำให้ขาดดุลอยู่เกือบ 9,000 ล้านบาท ทำให้หลายคนเริ่มตระหนักถึงสัญญาณอันตรายทางเศรษฐกิจ ที่ตัวเลขดุลการค้าเป็นดัชนีชี้วัดตัวหนึ่งของวิกฤตเศรษฐกิจ

สัญญาณนี้ทำให้เห็นว่าไม่ควรให้ ”ทนง” นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ต่อ แม้ภารกิจเรื่องการดึง ”เงินจากกองทุนประกันภัย” มาหมุนต่อยอดการลงทุนของประเทศตามนโยบายของรัฐบาลยังไม่บรรลุผลก็ตาม ซึ่งไม่ใช่ความสามารถไม่ถึงในการแก้ปัญหา หรือเป็นเพราะว่ายังมีภารกิจอื่นที่สำคัญกว่าสำหรับ ”ทนง”

แล้วความกังวลของหลายคนก็เป็นจริง เมื่อ”ทนง” ถูกโยกไปนั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แลกเก้าอี้กับสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่เริ่มมีกระแสข่าวว่าเริ่มเบื่อหน่ายกับตำแหน่งที่กระทรวงการคลัง จนร่ำลือผ่านคนรอบข้างว่า ”สมคิด” อยากเป็นแค่รองนายกรัฐมนตรีเพียงตำแหน่งเดียว

ต้องมีความกังวลต่อ ”ทนง” เพราะทุกคนยังจำได้ดีกับเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ฝันร้ายของใครหลายคนในช่วงรุ่งสางวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ที่รัฐบาลขณะนั้นประกาศใช้นโยบายลอยตัวค่าเงินบาท เพราะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในกระเป๋าของแบงก์ชาติหดหายไปจากการปกป้องค่าเงินบาท จนเหลือจริงๆ ไม่กี่พันล้านเหรียญสหรัฐ

การประกาศลอยตัวค่าเงินบาทครั้งนั้น เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีรองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งที่ชื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลังจากที่ ”ทนง” เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2540 หรือ 11 วัน แทนอำนวย วีรวรรณ ที่ลาออก ซึ่งนอกจากลอยตัวค่าเงินบาทแล้ว ยังสั่งปิดสถาบันการเงิน 56 แห่งอีกด้วย นอกจากส่งผลให้ความน่าเชื่อของสถาบันการเงินในระบบหมดไปแล้ว ที่สำคัญยังทำให้ธุรกิจที่ต้องกู้เงินจากต่างประเทศมาลงทุน มีหนี้พุ่งพรวดเป็นเท่าตัว จำนวนมากต้องปลดพนักงาน และหลายแห่งต้องปิดกิจการในที่สุด

นั่นอาจเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดในเวลานั้น แต่ก็เกิดขึ้นท่ามกลางความเคลือบแคลงว่ามีใครร่ำรวยจากค่าเงินในเวลานั้นหรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่เป็นบริษัทสื่อสารแห่งเดียวที่ไม่เจ๊งเพราะค่าเงิน แม้หลายคนจะพยายามโยงใยว่า ”ทนง” คือคนคุ้นเคย และเป็นคนหนึ่งที่ ”ทักษิณ” ไว้เนื้อเชื่อใจ

”ทนง” เคยเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย ธนาคารเดียวที่เคยให้ความช่วยเหลือธุรกิจของ ”ทักษิณ” และ ”ทักษิณ” ก็ตอบแทนด้วยการให้นั่งเป็นกรรมการอยู่ในบริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์แอนด์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อธนาคารทหารไทยขายหุ้นเพื่อระดมทุน ”ทักษิณ” ก็ใช้ชื่อบุตรชาย ”พานทองแท้” เข้าไปซื้อ

นั่นคือเหตุการณ์ก่อนวิกฤตค่าเงินบาท และไม่กี่วันก่อนการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทของทางการ “ทนง” ก็รู้ล่วงหน้า

ข้อครหานี้ติดตามตัวของ ”ทนง” อยู่ตลอด จนอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนคนหนึ่งที่ดูสุขม นิ่มนวล ตามสไตล์แบบชาวญี่ปุ่นอย่าง ”ทนง ซัง” เกิดอาการสะกดอารมณ์ไว้ไม่อยู่ หากถูกสื่อมวลชนซักถามหนัก สะกิดถูกต่อมอารมณ์โกรธ ก็สวนกลับทันที

วิธีการป้องกันอย่างหนึ่งของ ”ทนง ซัง” คือมักจะเดินไปให้สัมภาษณ์ไป เพื่อพาตัวเองให้ถึงจุดหมายโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม ”ทนง” ได้ชี้แจงผ่านหนังสือพิมพ์รายวัน ”มติชน” เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 เรื่อง “คำให้การ”ทนง พิทยะ ”กับการลอยตัวค่าเงินบาทปี 40” ช่วงหนึ่งว่า ”ผมหยุดความคิดใครไม่ได้ เปลี่ยนความคิดเขาไม่ได้” และ ”ใครบอกว่าเขาไม่ขาดทุน”

สำหรับ ”ทนง” ที่ถูกมองเห็นภาพชัดแล้วว่าเป็น ”ซูเปอร์ทนง” เพราะหลังจากนั้นก็เริ่มเป็นชื่อที่ถูกเรียกหาบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะมีตำแหน่งไหนว่างลง จนดูเหมือนว่าเขาจะทำหน้าที่ได้หลายอย่าง

ในที่สุดรัฐบาลทักษิณ 2/2 ก็ปรากฏชื่อ ”ทนง พิทยะ” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2548

หลังเริ่มดำรงตำแหน่ง ก็โชว์ฟอร์มเต็มที่ เริ่มตั้งแต่งานเพื่อรากหญ้า อย่างการเรียกสถาบันการเงินมาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ให้คนจน การสั่งแบงก์กรุงไทยเร่งปล่อยสินเชื่อ การสั่งเบรกไม่ให้ ”เบียร์ช้าง” เข้าตลาดหุ้นเป็นการชั่วคราว ที่ลดกระแสความร้อนแรงไปได้อย่างมาก

ทั้งหมดคือการเร่งปั๊มความเชื่อมั่นของพรรคไทยรักไทยให้กลับฟื้นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ตามแผนการสร้างภาพลักษณ์ให้กับรัฐบาล แต่ยิ่งปั๊มดูเหมือนจะยิ่งไปกันใหญ่ เมื่อปรากฏข่าวเงินคงคลังเริ่มลดลง ความเชื่อมั่นจึงยิ่งถดถอย

อาการหนักมากยิ่งขึ้นสำหรับรัฐบาลไทยรักไทย เมื่อปรากฏข่าวคนในครอบครัวของนายกรัฐมนตรีขายหุ้นในบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด ให้กองทุนเทมาเส็กจากสิงคโปร์ ด้วยรายรับมูลค่าประมาณ 73,000 ล้านบาท

“ทะนง” ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์โดยตำแหน่ง ดูแลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ที่คุมการบริหารงานกรมสรรพากร ไม่อาจหากระบวนการให้ 73,000 ล้านบาทก้อนนี้ เจียดส่วนหนึ่งเป็นภาษีให้รัฐบาลได้ ไม่อาจเอาผิดกับการซิกแซกแจ้งข้อมูล และการตั้งกองทุนแอมเพิล ริชในต่างประเทศเพื่อสลับโอนหุ้นกันไปมา เพื่อเลี่ยงการจ่ายภาษี โดยเอาผิดด้วยค่าปรับได้เพียงเล็กน้อยสำหรับการแจ้งข้อมูลผิดพลาดในการขายหุ้นเท่านั้น

”ซูเปอร์ทนง” ณ ปัจจุบัน ยังต้องรอโอกาสพิสูจน์ให้ได้ว่าความตั้งใจและสิ่งที่ทำมาทั้งหมดนั้น ”เพื่อประเทศชาติ” แต่บทสรุปที่ได้ ณ เวลานี้ เขาเป็น ”ฮีโร่” ของ ”ทักษิณ” อย่างไม่สามารถปฏิเสธได้

Profile

Name : ทนง พิทยะ (เปลี่ยนนามสกุลจาก “ลำใย”)
Born : 28 กรกฎาคม 2490 ที่จังหวัดสุพรรณบุรี
Education :
2513 ปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโยโกฮามา ญี่ปุ่น (หลายคนจึงเรียกเขาว่า ”ทนง ซัง” หมายถึง ”คุณทนง”)
2514 ปริญญาโท เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น สหรัฐอเมริกา
2521 ปริญญาเอก บริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น สหรัฐอเมริกา
Career Highlights :
ภาคเอกชน
-รับราชการเป็นอาจารย์ คณะบริหารธุรกิจ
-ดูแลงานด้านวางแผน และการค้าต่างประเทศ กลุ่มน้ำตาลมิตรผล
-ทำงานกับสำนักงานธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์
-ธนาคารทหารไทย (ช่วงที่ 1 ปี 2528) มีโอกาสได้ประสานงาน ติดต่อพ่อค้านักธุรกิจรุ่นใหม่
-เป็นที่ปรึกษาและวางแผนทางการเงินให้แก่กลุ่มชินวัตร คอมพิวเตอร์แอนด์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด
-ธนาคารทหารไทย ในตำแหน่งสูงสุด “กรรมการผู้จัดการใหญ่”
-ผู้แทนการค้าไทย
ภาคการเมือง
2540 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
2545-2548 ประธานคณะกรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)
2544-2548 รองประธานกรรมการ คณะกรรมการที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ
2544-2548 ประธานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
2548 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ปัจจุบัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
Status : สมรส –ภรรยา นางมธุรส พิทยะ บุตร นางสาววิชชุญา ,นายธราธร และเด็กหญิง ศรัญญา