เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เจ้าของ “โลโก้ มือปราบตงฉิน!

แม้ว่าภาพลักษณ์ตำรวจไทยจะสั่นคลอนอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเอ่ยถึงตำรวจที่เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ที่ปราบปรามทุจริต หรือประเภท “ตงฉิน” จะต้องมีชื่อของ “พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส” เสมอ

พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เริ่มต้นมีชื่อเสียงในช่วงปี 2520 จากความกล้าหาญในการขอย้ายตัวเองจากเขตเมืองไปยังเขตสีแดงที่มีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ชุกชุมในยุคนั้นคืออำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ซึ่งเขาเคยกล่าวไว้กับนิตยสาร “สารอโศก” ว่า “เราคนเดียว เป็นโสดไม่มีครอบครัว อยู่ในเมืองอย่างสบาย ก็ย้ายตัวเองออกไปเพื่อทำงานตรงนั้น อย่างน้อยก็ได้ไปแทนคนที่มีภาระครอบครัวหนึ่ง เขาจะได้กลับไปดูแล ครอบครัวของเขา ผมแต่งงานตอนเป็นผู้กำกับจังหวัด พ.ศ. 2527 อายุ 36 ปีแล้ว ถ้าแต่งงานก่อนหน้านั้น คงบู๊ไม่ได้ถึงขนาดนี้”

เสรีพิศุทธ์ยังกล่าวถึงหลักการบริหารตลอดเส้นทางการเติบโตในสายงานกับสารอโศกว่า “ผมผ่านมาเยอะ ปราบคอมมิวนิสต์มา 100 กว่าครั้ง เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ยิงกันหูดับไฟแลบ ก็สามารถผ่านวิกฤตต่างๆ มาได้ตลอด ช่วงหลังโตขึ้นด้วยยึดหลักความถูกต้อง บางทีก็ต้องเผชิญกับปัญหา ยิ่งสูงยิ่งหนาว ถ้าเราเป็นนายตำรวจใหม่ๆ ปัญหาก็อยู่ในระดับต่ำๆ ไม่ค่อยมีอิทธิพล อิทธิฤทธิ์เท่าไหร่ แต่ยิ่งอยู่สูง ก็ต้องต่อสู้กับผู้ที่เหนือกว่า หรือคนมีอำนาจ มีอิทธิพล เกือบจะถูกปลดตั้งหลายครั้ง ความที่เราไม่ยอมเขานั่นเอง”

เสรีพิศุทธ์เคยเล่าเรื่องนี้กับรายการโทรทัศน์ “คมชัดลึก” ว่า “ถูกแกล้งเรื่อยเพราะขัดผลประโยชน์ และคนไม่อยากเห็นเราเด่นเกิน ผมเคยแป้กหลายครั้ง โดนตั้งคณะกรรมการกลั่นแกล้ง เราก็ฟ้องกลับ เคยถูกอธิบดีเล่นงานเราก็ฟ้องกลับ สู้กันจนกว่าอธิบดีถูกปลดไป” และล่าสุดเสรีพิศุทธ์วิจารณ์การทำงานของตำรวจนครบาลกรณีบ่อนต่างๆ ในกรุงเทพฯ อย่างดุเดือด “ถ้าบ่อนเล็กๆ เล่นสิบยี่สิบคนไม่เป็นไร แต่ถ้าบ่อนใหญ่ๆ 6 – 7 แห่งในกรุงเทพฯ ไม่มีทางที่ตำรวจจะไม่รู้ ทั้งท้องที่และหน่วยเหนือๆ ขึ้นไป”

ในความรับรู้ของประชาชนส่วนใหญ่ผ่านทางสื่อ เสรีพิศุทธ์เป็นสัญลักษณ์เสมือนการการันตีว่าการสอบสวนทุจริตเหล่านี้จะเป็นไปอย่างเที่ยงตรง จากคดีทุจริตของกำนันเป๊าะ บ่อนปอประตูน้ำ ฯลฯ ล่าสุดคือบ่อนลอยฟ้าปิ่นเกล้าที่มีตำรวจอยู่เบื้องหลัง และยังมีคดีที่อยู่ระหว่างสืบสวนสอบสวน เช่น ทุจริตลำไย ทุจริตทางด่วนบูรพาวิถี ไปจนถึงตรวจสอบศพที่ปัตตานี

เทคนิคการทำงานที่สำคัญอย่างหนึ่งที่เสรีพิศุทธ์เปิดเผยกับ “คมชัดลึก” คือขั้นตอนการยกกำลังไปจับบ่อน “จับบ่อนไหนต้องให้ได้ตัวเจ้าของ จัดทีมเฉพาะกิจเตรียมไว้ หาคนที่ซื่อสัตย์ ฝีมือใช้ได้ ก่อนจะไปจับใครจะมีเรารู้คนเดียวหรือระดับสูงไม่กี่คนเท่านั้น กันข่าวรั่ว ถึงเวลาก็เรียกรวมพลไป ตำรวจในทีมไม่มีใครรู้ว่าจะไปไหนจนกว่าจะไปถึงบ่อน”

เส้นทางอาชีพตำรวจของเสรีพิศุทธ์ไม่ใช่จะราบรื่นเหมือนชื่อเสียงในทางดี ย้อนไปในอดีตหลายครั้งที่เสรีพิศุทธ์พบกับมรสุมการถูกโยกย้ายไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถจับกุมใครได้ เช่นที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ หรือบางครั้งที่ประจำกรมตำรวจ (ในยุคนั้น) ซึ่งเขาเองเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “อยากคิดอยากทำอะไรก็ทำไม่ได้ แต่เมื่อมันเป็นหน้าที่ เขามอบให้เราทำ ก็ต้องทำ ทำตามระบบ จะไปเกินกรอบไม่ได้ ประชาชนไม่เข้าใจคิดว่า ตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประชาชนเดือดร้อน คงจะแก้ไขปัญหาได้ ไม่ใช่เขาให้เราทำอยู่แค่นี้ ขณะนี้ผมดูแลรับผิดชอบเรื่องการเงินกับการศึกษา”

แต่ในที่สุดแล้วเราจะเห็นเขากลับมามีบทบาทเดิมได้เสมอราวกับแมวเก้าชีวิต เพราะหลายรัฐบาลมักเลือกเสรีพิศุทธ์ให้เข้ามาจับคดีอื้อฉาวที่สังคมและสื่อตั้งข้อสงสัยเรื่อยมา เพราะจะช่วยส่งผลบวกต่อรัฐบาลในฐานะผู้บังคับบัญชาของตำรวจด้วยเช่นกัน

ชื่อ “เสรีพิศุทธ์” นั้นเปลี่ยนมาจากชื่อเดิม “เสรี” เป็นการทำเพื่อภรรยาด้วยเหตุผลที่เล่าไว้ในสารอโศก “ภรรยาผมเจ็บออดๆ แอดๆ แล้วไปฟังคนที่เคารพนับถือมาว่า ชื่อไม่ถูกโฉลก แต่ถ้าจะเปลี่ยน ต้องให้สามีเปลี่ยนด้วย ก็มาปรึกษาผม ผมคิดว่าสิ่งไหนเราเสียสละให้ครอบครัวได้ก็ให้ ความจริงผมรักชื่อผมนะ ก็ขออย่างเดียว อย่าเปลี่ยนหมดได้ไหม ขอให้มีชื่อเดิมเอาไว้ ก็ให้เขาไปคิดกัน และเขาก็ให้ผมเปลี่ยนชื่อมาอย่างนี้”

ปัจจุบัน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ดำรงตำแหน่ง จเรตำรวจแห่งชาติ หรือเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในสำนักงานจเรตำรวจ ซึ่งมีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนและสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับการกระทำที่ไม่เหมาะสมของตำรวจด้วยกัน นับเป็นงานตรวจสอบที่คงเลี่ยงการกระทบกระทั่งไม่ได้ ซึ่งเป็น Positioning ของนายตำรวจ “เสรี” ผู้โด่งดังคนนี้มาช้านาน