ปรากฏการณ์ สนธิ ลิ้มทองกุล

คงไม่มี “สื่อมวลชน” คนใดที่จะสามารถสร้างปรากฏการณ์ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้เท่ากับ “สนธิ ลิ้มทองกุล” เมื่อพลานุภาพของเขา ทำให้ ทักษิณ ชินวัตร ต้องยอมลุกจาเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

ย้อนไปเพียงแค่ปีเศษๆ ที่แล้วในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ความนิยมของนายกฯทักษิณและรัฐบาลพรรคไทยรักไทยอยู่ในระดับสูงยิ่ง กวาดเสียงได้ถึง 19 ล้านเสียง ได้ที่นั่งในสภามากเป็นประวัติการณ์จนตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้

แต่เพียงแค่ 1 ปีผ่านไป อะไรทำให้ความนิยมของพรรคและ “ท๊าก…สิน” จากการสำรวจของหลายๆ โพลตกต่ำลงรวดเร็ว ?

ไม่เพียงแค่ผลทางการเปลี่ยนแปลงความคิดคน ยังมีผลต่อเนื่องไปทางการเมืองจริงจังถึงขั้นที่นายกฯทักษิณตัดสินใจยุบสภา หวังแก้ปัญหาแต่กลับพาไปสู่แรงกดดันมากขึ้นจนต้องประกาศเว้นวรรค ในเวลาเพียงปีเศษหลังจากชนะเลือกตั้งถล่มทลาย

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สนธิ ลิ้มทองกุล คือ คำตอบแรกๆ ของคำถามเหล่านี้

กันยายน 2548 การจัดรายการของเขาที่ช่อง 9 ด้วยลีลาตรวจสอบตำหนิรัฐบาลที่ดุเดือด จนมาถึงครั้งที่มีการกล่าวถึงบทกลอน “ลูกแกะหลงทาง” รัฐบาลโดย อสมท ก็ฉวยโอกาสนี้ปลดรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ออกจากผัง ซึ่งแทนที่จะยุติบทบาทของสนธิได้ กลับทำให้บทบาทของเขาโดดเด่นกว่าเดิมมากมายมหาศาล และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ “ปรากฏการณ์เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” ซึ่งสนธิได้ให้สัมภาษณ์กับ POSITIONING ไว้ว่า…

“สิ่งที่เป็นข้อผิดพลาดของรัฐบาลก็คือ การทำรายการทีวีนั้น แม้ลีลาและคำพูดสามารถมีได้ แต่ทีวีมันมีข้อจำกัดที่บังคับไม่ให้เราแสดงออกได้มากเหมือนกับการทำรายการแบบสัญจร มันเป็นเรื่องของ News Entertainment หรือ Information Entertainment คือ คนดูได้ทั้งข้อมูล ได้ความรู้ และได้ความบันเทิงจาก “วิธีการ” ที่เราให้เขาไป”

และนั่นคือสนธิได้พลิก “วิกฤต” จากการถูกปิดกั้นจากสื่อฟรีทีวี ให้กลายเป็น “โอกาส” จากการสัญจรไปที่ต่างๆ โดยเฉพาะสวนลุมพินีที่มีผู้เข้าชมอย่างล้นหลามนับแสน นำไปสู่การชุมนุมใหญ่หลายครั้งต่อมาที่มีผู้เข้าร่วมนับแสน เกิดเป็นประเด็นข่าวใหญ่จนสื่อหลักๆ ทั้งฟรีทีวีและหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ต้องหันมาเสนอข่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป ทำให้การเมืองกลายเป็นเรื่อง Talk of the town อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมานานแล้ว

สนธิสรุปบทบาทที่เขาเรียกตัวเองว่า “ยามเฝ้าแผ่นดิน” ไว้ว่า “เรื่องที่รัฐบาลชุดนี้ทำและปกปิดไว้มีเยอะเหลือเกิน พอเรามานำเปิดเผย ก็เลยไปโดนใจคน เฮ้ย ใช่ เป็นอย่างนี้จริง โดยเฉพาะคนที่มีปัญญา ชนชั้นกลาง เขาสงสัยอยู่แล้ว พอเราขยายความ ทำให้เขาเข้าใจระบบทั้งระบบเป็นองค์รวม ส่วนชาวบ้านก็อยากมาดูเรา เพราะสงสารว่าเราถูกรังแก พอเขาเข้าใจเรื่อง เขายิ่งสงสารมากขึ้น”

“เมืองไทยรายสัปดาห์มีการอธิบายความที่ใช้ภาษาธรรมดาสามัญ ทำเรื่องยาก สลับซับซ้อน ต้องใช้เวลาอธิบายเป็นชั่วโมงๆ มาพูดให้ชาวบ้านเข้าใจได้ง่ายๆ จะพูดเรื่อง CTX จะพูดเรื่อง C130 จะพูดเรื่องอะไรก็ตาม แต่รายการนี้สามารถพูดให้เข้าใจได้ภายในไม่เกิน 5 นาที ด้วยภาษาที่เป็นชาวบ้านที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งเนื้อหา ตรงนี้คือ เสน่ห์ของเมืองไทยรายสัปดาห์”

“ประสบการณ์ในการทำข่าวมาร่วม 30 กว่าปีของผม สอนให้ผมรู้ว่า ประเด็นไหนคนสนใจ และที่สำคัญไม่น้อยกว่ากัน คือ ลีลาที่พูดแล้วโดนใจ…ลีลาที่พูดแล้วเขาเห็นด้วย ทั้งท่าทาง จังหวะจะโคน มันผสมผสานกันทั้งนิเทศศาสตร์ สื่อสารมวลชน และวิชาการละคร”

ต่อมารายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรก็ได้เติบโตปรับเปลี่ยนไปเป็นการชุมนุมใหญ่หลายๆ ครั้งโดยสนธิและกลุ่มพันธมิตร สื่อหลักๆ ทุกแขนงหันมาสนใจข่าวนี้ ต่อโยงไปถึงประเด็นการทุจริตต่างๆ ของนายกฯ และรัฐบาล มีแนวร่วมใหม่ๆ เข้ามามากมายทั้งอาจารย์นักวิชาการ อดีตผู้บริหารพรรคไทยรักไทย นักศึกษา และอีกหลายสาขาอาชีพ

หากจะมองเชิงการตลาดแนว Emotional Marketing ก็อาจนับได้ว่าสนธิได้จี้ 3 “จุดโดน” ของคนไทย หนึ่งคือความอยากรู้เรื่องที่ถูกปิด ถ้อยคำของสนธินั้นให้ความรู้สึกถึงการเป็นคนวงใน “Insider” ได้รู้อะไรๆ ที่เป็น Inside Information อยู่เสมอ

ต่อมาคือความรู้สึกสงสารและเชียร์มวยรอง ที่กล้าสู้กับอำนาจรัฐและทุนขนาดยักษ์ของทักษิณ และสุดท้ายสำคัญที่สุดคือความรู้สึกเทิดทูนชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ที่ยึดเหนี่ยวสังคมไทยไว้ด้วยกันมาช้านาน

ถึงปัจจุบันแม้การต่อสู้ตรวจสอบรัฐบาลจะขยายแนวร่วมไปกว้างขวางกว่าสนธิและพันธมิตรไปมากแล้ว แต่ชื่อของเขาก็จะเป็นชื่อแรกๆ ที่ผู้คนนึกถึงเสมอเมื่อมีประเด็นข่าวเกี่ยวกับการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ในฐานะที่เป็นผู้จุดประกาย “จุดเทียนแห่งปัญญา” และทุกวันนี้สนธิกับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ, เว็บ Manager และเครือข่าย ASTV ก็ยังคงเดินหน้าลุยให้สังคมได้รู้เท่าทันรัฐบาลให้มากกว่าการหาเสียงผ่านข่าวและโฆษณาต่างๆ ทางสื่อหลักต่อไป