เลขที่ 1 ถนนวิภาวดีรังสิต เขตจตุจักร กรุงเทพฯ คือเป้าหมายของเราในวันนี้…
สำนักงานหรือสำนักพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดดเด่นด้วยพื้นที่กว้างขวาง บนพื้นที่ที่ใครผ่านถนนวิภาวดี รังสิตแล้วไม่รู้จัก ต้องถามว่า ”คุณไปอยู่ไหนมา” และเช่นเดียวกันหากคุณอาศัยอยู่ในประเทศไทยแล้วไม่รู้จักหนังสือพิมพ์ ”ไทยรัฐ” ก็ต้องถามอีกว่า ”โตมาได้ยังไง” เพราะไม่ว่าคุณจะชอบอ่านหนังสือพิมพ์หรือไม่ หรือแอนตี้ข่าวเลือดกระฉูด หรือข่าวคาวดาราบันเทิง หรือเบื่อหน่ายการเมือง คุณก็ต้องรู้จัก ”ไทยรัฐ”
สำนักงานไทยรัฐ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ”โรงพิมพ์ไทยรัฐ” มีพื้นที่ อาณาบริเวณรวมเกือบ 40 ไร่ มีอาคารต่างๆ 13 หลังทั้งเก่าและใหม่ ที่สำคัญและสะดุดตาผู้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมเยียนโรงพิมพ์ไทยรัฐมากที่สุด คือพื้นที่แปลงใหญ่ประมาณครึ่งสนามฟุตบอลที่เต็มไปด้วยต้นทานตะวัน ที่หันดอกเหลืองบานสะพรั่งรับแสงอาทิตย์
ด้วยอาณาบริเวณที่กว้างขวาง และเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ที่ ”ทรงอิทธิพล” ในสังคมไทย ทำให้ระบบรักษาความปลอดภัยที่นี่เข้มแข็งอย่างยิ่ง ซึ่งบางครั้งแม้แต่พนักงานของไทยรัฐเอง หากเป็นหน้าใหม่ รปภ.ยังจำหน้าไม่ได้ กว่าจะเข้าโรงพิมพ์ได้สักทีต้องสอบสวนแล้วสอบสวนอีก หรือบางครั้งต้องให้หัวหน้างานที่รปภ.รู้จักมักคุ้นโทร.มายืนยันรับรองให้ลูกน้องเข้าทำงาน
“รากฐานแน่น จากป๊ะกำพล”
ความเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมสูง ในธุรกิจสิ่งพิมพ์ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากระบบการผลิต การทำตลาด สายส่ง และส่วนต่างๆ ของโรงพิมพ์เป็นส่วนประกอบสำคัญแล้ว หัวใจสำคัญคือการผลิตเนื้อหาของข่าวสารให้ผู้อ่านได้เสพ
เท่าที่ได้รับการบอกเล่าจากสมาชิกในกองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ได้บทสรุปอย่างหนึ่งตรงกันว่ามาจากระบบการทำงานที่มีการวางรากฐานมาอย่างดีจากผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ “กำพล วัชรพล” ผู้ล่วงลับ และสานต่อระบบโดยรุ่นลูกอย่าง ”ยิ่งลักษณ์ และสราวุธ วัชรพล”
“ท่านวางระบบไว้อย่างดี เช่นการจัดโครงสร้างองค์กรบริหาร ที่แม้จะมีขั้นตอนแต่ก็มีความคล่องตัว ท่านคลุกคลีทำงานหนัก และเช่นเดียวกันคุณหยี (สราวุธ) ก็ขยัน คลุกคลีกับงานโดยตรง กระจายอำนาจการบริหาร ให้หัวหน้าฝ่าย หัวหน้าแผนก มีอำนาจในการบริหารระดับหนึ่ง สามารถขึ้นเงินเดือนลูกน้อง ขณะเดียวกันก็สามารถลงโทษได้หากมีความผิด มีระบบการให้คุณให้โทษชัดเจน ผู้บริหารระดับต่างๆ มีอำนาจ และใช้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด” ปราโมทย์ ฝ่ายอุประ บรรณาธิการข่าวการเมือง ที่อยู่ใต้ชายคาไทยรัฐมาเกือบ 20 ปี บอก
นอกจากระบบกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนแล้ว หากใครได้มีโอกาสไปธุระปะปังในช่วงเย็นที่ไทยรัฐ จะเห็นภาพ และได้กลิ่นหอมของอาหารมื้อค่ำที่จัดไว้สำหรับกองบรรณาธิการ เพื่อให้กองทัพผู้ผลิตข่าวสารเดินด้วยท้อง รวมไปถึงรถรับส่งบริการพนักงาน และโบนัสที่ได้แต่ละปี
เสน่ห์มัดใจพนักงานไทยรัฐส่วนใหญ่ ที่เมื่ออยู่แล้วมักไม่ค่อยย้ายไปไหน นอกเหนือจากเหตุผลที่ว่าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงที่สุด
กองบก.สุดเข้ม
เมื่อความเป็นอยู่ดีพร้อมแล้ว ระบบการทำงานที่เอื้อต่อการผลิตเนื้อหาคุณภาพนั้นคือ การที่กองบรรณาธิการ ทุกฝ่ายข่าวต้องประชุมกันอย่างน้อยวันละ 2 รอบ รอบแรก ช่วงเช้า 11 โมง และรอบ 2 ช่วงเย็น 5 โมง องค์ประชุม จากทั้งโต๊ะข่าวการเมือง เศรษฐกิจ สังคม กีฬา บันเทิง ส่วนกลาง รวมๆ แล้วเกือบ 30 คน ใช้เวลาประมาณ 40 นาทีในการแต่ละโต๊ะข่าวรายงานเหตุการณ์สำคัญในฝ่ายข่าวที่ตัวเองรับผิดชอบ เพื่อหาทิศทางร่วมกันว่าจะตามประเด็นต่อกันอย่างไร
เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว นักข่าวส่งข่าว ถึงหัวหน้าโต๊ะข่าวแต่ละโต๊ะ จัดการพิมพ์ เขียนใหม่หรือ Rewrite พาดหัวข่าว ส่งพิสูจน์อักษร หรือตรวจแก้คำผิด ยิงเพลท และส่งพิมพ์
สำหรับหน้า 1 ด่านแรกสำหรับการตัดสินใจของคนซื้อหนังสือพิมพ์ จะมีผู้ทำหน้าที่คัดเลือกข่าว เรียงข่าว พาดหัวข่าว หรือที่เรียกว่า ”หัวหน้าข่าว 1” ซึ่งที่ไทยรัฐมีทั้งหมด 4 คน แต่ละคนจะรับผิดชอบคนละวันเวียนสลับกันไป
ความสดใหม่ของเนื้อหาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มีการปรับแก้ในหน้า 1 เป็นระยะๆ จึงทำให้ต้องจัดพิมพ์ทั้งหมด 6 กรอบ หรือ 6 เนื้อหาในหน้า 1 ที่ต่างกันไป อาจมีการเปลี่ยนข่าว สลับข่าวบางข่าวให้มีพื้นที่เล็กลง หรือให้บางข่าวมีพื้นที่เด่นมากขึ้น ด้วยจำนวนยอดพิมพ์รวมวันละ 1 ล้านฉบับ และโดยเฉพาะวันที่หวยออก ยอดพิมพ์ในช่วงบ่ายหลังหวยออกจะเพิ่มขึ้น 100% เลยทีเดียว
น.3 การเมืองสมดุล ”นสพ.หัวสี”
สำหรับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐแล้วทุกตัวอักษรที่ปรากฏบนสายตาของผู้อ่าน คือตัวอักษรที่มี
ผลกระทบเสมอ โดยเฉพาะในแง่ดีต่อสังคม และในแง่ลบต่อผู้ที่จ้องทำลายสังคม ข่าวทุกข่าวสามารถเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ได้ ทุกคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ก็เป็นทำเลทองหากใครได้จับจองเป็นคอลัมนิสต์ รับรองอยากมีคนรู้จัก เข้าหาทุกราย ทั้งเข้าหาเพื่อชื่นชม หรือแสดงความไม่พอใจ
คอลัมน์หนึ่งจากผลวิจัยทางการตลาดโดยฝ่ายตลาดของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ พบว่าคอลัมน์น.3 ไทยรัฐ โดยทีมข่าวการเมือง ทุกวันอาทิตย์ได้รับความนิยมจากผู้อ่านสูงสุด
เนื้อหาของ น.3 วันอาทิตย์ นั้น ”ปราโมทย์” เล่าว่าจะวิเคราะห์เจาะลึกถึงเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และมองอนาคตว่าทิศทางประเด็นร้อนๆ นั้นจะไปในทางใดต่อไป ซึ่งเนื้อหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการเขียนของบุคคลในกองบรรณาธิการการเมืองเพียงบุคคลเดียว แต่เกิดจากการประชุมหารือกันภายในกองบรรณาธิการการเมือง และด้วยผู้สื่อข่าวการเมืองส่วนใหญ่ไม่ใช่เป็นเด็ก ที่เพิ่งเป็นนักข่าว แต่เป็นผู้มีประสบการณ์มานานหลายปี ซึ่งหมายถึงการสั่งสมแหล่งข่าวจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้นข้อมูลจากที่ปรึกษา ซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์อาวุโส ระดับหัวหน้า บรรณาธิการที่อยู่ไทยรัฐมานาน ซึ่งที่ไทยรัฐไม่ได้ให้เกษียณ แต่เลี้ยงกันจนตาย เพราะฉะนั้นการวิเคราะห์เรื่องใดเรื่องหนึ่งของทิศทางทางการเมืองจึงได้ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ และเกือบทุกครั้งที่เหตุการณ์เป็นไปอย่างที่มีการเขียนรายงานไปบนหน้า 3
เช่นเดียวกับข้อกำหนด ”จรรยาบรรณ” ของอาชีพสื่อมวลชน คือต้องเป็นกลางและไม่พลาดในการวิเคราะห์ข้อมูล แต่ก็มีบ้างบางครั้งที่ น.3 ต้อง ”ชี้นำ”
“บางทีก็ลุยเลย ออกล้ำหน้า เพราะเราต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม เรารู้ว่าเป็นยังไง ปล่อยให้เฉยได้ยังไง อย่างกรณีบางรัฐบาลเฮงซวย ไม่ถูกต้อง ก็ต้องพิจารณา” ปราโมทย์บอกกันอย่างชัดๆ
ด้วยระบบการสร้างสรรค์ น.3 ทำให้เกือบ 30 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เคยถูกฟ้องแม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งบก.ปราโมทย์ หรือคนในไทยรัฐส่วนใหญ่จะเรียกกันว่าหัวหน้าปราโมทย์ บอกเพียงว่า “เราคงไม่พลาดเท่าไหร่”
ความทรงอิทธิพลของ น.3 ยังทำให้ผู้รับผิดชอบต้องละเอียดละออและถี่ถ้วนมากขึ้น และแม้กระทั่ง ”สราวุธ” ต้องได้อ่านครั้งสุดท้ายก่อนปั๊ม QC คุณภาพผ่านให้ตีพิมพ์ได้
คุณภาพข่าวการเมืองของไทยรัฐ ยังได้รับการกล่าวขานทุกครั้งเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล หรือหลังเลือกตั้งใหม่ๆ เพราะความทรงอิทธิพลของสื่ออย่างไทยรัฐ ทำให้ข้อมูลจากทุกสารทิศหลั่งไหลเข้ามาหา และไม่อยากที่จะเข้าหาแหล่งข่าวที่รู้ข้อมูลจริง เพราะฉะนั้นใครอยากรู้ว่ารัฐบาลใหม่จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ก็เชิญเปิดดูไทยรัฐได้
ดัชนีวัดความสำเร็จของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ยังคงดูได้จากหน้าโฆษณาจำนวนมากที่ตีพิมพ์ในไทยรัฐ ที่ฝ่ายขายแทบไม่ต้องวิ่งหาให้เหนื่อย แต่ลูกค้าที่ต้องการลงโฆษณาต้องรอคิวจัดให้ลงกันเป็นลำดับ ดัชนีอีกตัวหนึ่งคือเรื่องราคาขายหนังสือพิมพ์ ที่หนังสือบางหัว ไม่ว่าจะเป็นเดลินิวส์ มติชน ต่างไม่กล้าขึ้นราคาขายก่อน ต้องรอพี่เบิ้มไทยรัฐขึ้นราคาพร้อมๆ กัน
แม้ว่าความสำเร็จของไทยรัฐ จะเห็นแต่กราฟที่ชี้ขึ้นตลอดเวลา แต่ใช่ว่าการทำธุรกิจนี้จะประมาทได้ ตรงกันข้ามฝ่ายบริหารของไทยรัฐยังสร้างเกราะป้องกันอย่างดีที่ทำมาอย่างต่อเนื่องคือการให้ฝ่ายวิจัยตลาดสำรวจความคิดเห็นของผู้อ่านตลอดเวลา และรายงานผลทุกเดือน
เพียงเท่านี้ คุณพอจะเชื่อได้หรือไม่ว่าหนังสือพิมพ์ ”ไทยรัฐ” ที่บางคนร้องยี้ ร้องว้าย ไม่อ่านหรอก เพราะมีภาพโป๊ ขายข่าวคาวดารา พาดหัวข่าวอาชญกรรมเลือดสาด ยังมีส่วนผสมอื่นที่สำคัญเพียงพอให้ ”ไทยรัฐ” เป็นหนังสือพิมพ์ที่ทุกคนต้องอ่าน หรืออย่างน้อยควรอ่านไปอีกนาน
ข้อมูลเกี่ยวกับไทยรัฐ (สรุปจากเว็บไซต์ Thairath.com)
เจ้าของ – บริษัทวัชรพล จำกัด
ทุนจดทะเบียน – 4,000 ล้านบาท
ผู้ก่อตั้ง – นายกำพล วัชรพล
วันที่ก่อตั้ง – 1 มกราคม 2493
พื้นที่บริษัท – 39 ไร่ 9 ตารางวา หรือ 15,609 ตารางวา
จำนวนอาคาร 13 หลัง
ผู้อำนวยการ – ยิ่งลักษณ์ วัชรพล
หัวหน้ากองบรรณาธิการ – สราวุธ วัชรพล
บรรณาธิการ – ไพฑูรย์ สุนทร
จำนวนพิมพ์เมื่อเริ่มต้น – 3,000 ฉบับ
ปัจจุบันจำนวนพิมพ์ – 1 ล้านฉบับต่อวัน
ปริมาณกระดาษ 225 ตันต่อวัน (230 ม้วน)
ปริมาณการใช้หมึก – สีดำ 1,200 กก. , สีแดง 445 กก. สีฟ้า 430 กก. , สีเหลือง 630 กก.ต่อวัน
จำนวนพนักงาน – 2,007 คน