เรียลลิตี้หลังม่านอะคาเดมี่

เสียงปรบมือ และคราบน้ำตา… กว่าที่ แสง สี เสียง ของการแสดงคอนเสิร์ตอะคาเดมี่จะสาดส่องขึ้นทุกๆสัปดาห์ ใครจะรู้บ้างว่าหลังฉากการแสดงสดนั้น ไม่ต่างอะไรจากเกมเรียลลิตี้ โดยเฉพาะทีมงานผู้อยู่เบื้องหลัง

หลังม่าน Academy Fantasia ปี 3 หรือ AF3 หากได้รู้ถึงกระบวนการผลิตโชว์คอนเสิร์ตทุกสัปดาห์ อาจจะไม่มีใครเชื่อเลยว่าเป็นเกมบันเทิงชีวิตจริงชนิดหนึ่ง ซึ่งถูกคิดขึ้นแบบสัปดาห์ต่อสัปดาห์ เป็นเหมือนกติกาไบเบิ้ลที่ทางยูบีซีอยากให้เป็นสัญลักษณ์ของเกมอะคาเดมี่

เกมเรียลลิตี้

โจทย์เพลงสัปดาห์ต่อสัปดาห์นี้เอง ที่กลายเป็นความท้าทาย เหมือนเกมเรียลลิตี้ชีวิตจริง ทั้งผู้เข้าแข่งขัน และผู้อยู่เบื้องหลัง ทีมงานผู้ผลิต และบรรดาเทรนเนอร์หรือครูอะคาเดมี่ จะต้องเล่นเกมหรือทำงานกันแข่งขันบนเงื่อนไขของเวลาที่กำหนด

“โจทย์เพลง จะถูกคิดขึ้นแบบสัปดาห์ต่อสัปดาห์ เช่น จันทร์นี้ได้โจทย์แล้ว ก็ต้องประชุมว่าจันทร์หน้าจะใช้โจทย์อะไร” วรภร เฮง หัวหน้าทีมผู้ประสานงานของอะคาเดมี่ ของ เจนเอ็กซ์ อธิบาย

ดังนั้น จึงไม่มีใครสามารถกำหนดล่วงหน้าได้เลยว่า อีกสองอาทิตย์จะทำอะไร โจทย์แบบไหน ทุกอย่างจะกำหนดขึ้น และทำงานตามกระบวนการผลิตเลยเพียง 7 วันเท่านั้น

กระบวนการคิดโจทย์ ส่วนใหญ่จะมีการประชุมขึ้นทุกวันจันทร์ หรือไม่ก็วันอังคาร โดยมีตัวแทนจากยูบีซี โปรดิวเซอร์ ทีมงานจากเจนเอ็กซ์ ซึ่งดูแลด้านเสียง ครูเพลง ครูการแสดง และครูเต้น เพื่อกำหนดโจทย์เพลง ว่าสัปดาห์นี้จะนำเสนออะไร

ปัจจัยการคิดโจทย์ จะอยู่บนพื้นฐานหลายหลากประเด็น เช่น สถานการณ์บ้านเมือง ความนิยมเพลงในยุคนี้ กระแสคนดู ฯลฯ ทุกแง่มุมอย่างถูกนำมาพูดคุยและหาข้อสรุป

“บางครั้งการประชุมก็ถูกยืดมาถึงวันศุกร์ และคืนวันอาทิตย์ก็เคย และแจกโจทย์ในวันจันทร์เลยก็มี เพราะแง่มุมนับร้อยนับพัน บางครั้งก็หาข้อสรุปยากและปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา หากมีเงื่อนไขใหม่เข้ามา”

อย่างกรณีของการคัดเพลง วรภร ในฐานะผู้ทำหน้าที่คัดเพลงในแต่ละสัปดาห์ เล่าว่า บทเพลงทั้ง 12 เพลงในแต่ละสัปดาห์ ถูกคัดสรรมาจากพันๆ เพลง มาเหลือร้อยเพลง และมาจัดกรุ๊ปให้เหลือ 50 เพลงในการประชุมแต่ละสัปดาห์

โจทย์เพลงแต่ละสัปดาห์ มีหลายปัจจัยในการคัดและนำเสนอ แต่บรรทัดฐานส่วนใหญ่จะเน้นเพลงที่เป็นที่รู้จัก แพร่หลาย โดยไม่มีการแบ่งค่ายเพลง และไม่มีเงื่อนไขเวลา ซึ่งหมายถึงเพลงเก่าหรือใหม่เข้ามาเกี่ยวข้อง

วรภร ยกตัวอย่างอีกว่า มีสัปดาห์หนึ่ง ตอน AF2 เราเลือกเพลงปักษ์ใต้บ้านเรา ให้โจ ใส่ปีกนก เพื่อสื่อความเป็นนกสันติภาพ ในสถานการณ์ภาคใต้อันร้อนระอุ หรือการเลือกเพลงพระราชนิพนธ์ ถือเป็นกระแสของสังคมไทยในช่วงเวลานั้น สิ่งสะท้อนเหล่านี้คือตัวอย่างของการนำเสนอ บางสัปดาห์อาจจะเลือกเพลงเร็ว สนุก เพราะสัปดาห์ที่แล้วเป็นเพลงช้า ก็เป็นได้

5 วันอันตราย

หนึ่งสัปดาห์มี 7 วัน แต่สำหรับอะคาเดมี่มีเพียง 5 วันเท่านั้น นับตั้งแต่การได้โจทย์มาในวันจันทร์ พอถึงวันอังคาร ถึงวันเสาร์วันแสดงคอนเสิร์ต กระบวนการทุกอย่างตั้งแต่การฝึกซ้อมของบรรดานักล่าฝัน วงดนตรี ครูเพลง เครื่องเสียง คีย์เพลง ทุกอย่างต้องพร้อม

วันจันทร์แจกโจทย์ อังคารซ้อมเพลง พุธติวเข้ม พฤหัสซ้อมใหญ่ ศุกร์แก้ไข และเสาร์เตรียมคอนเสิร์ต มันคือ 5 วันอันตรายสำหรับทีมงานทุกคน โดยเฉพาะวันศุกร์คือวันโกลาหลแห่งอะคาเดมี่ เรียกว่าทีมงานเบื้องหลังทุกคนห้ามป่วย ห้ามลา และห้ามตาย สำหรับช่วงนี้

อย่างภาระหน้าที่ของครูด้านการฝึกร้องเพลง จะต้องทำหน้าที่แกะเพลงทั้งหมดทั้ง 12 เพลง หมายถึงต้องฟังทั้งหมด และต้องทราบด้วยว่านักร้องหรือผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนที่จะร้อง มีเสียงสูง ต่ำ คีย์อะไร เพื่อจะนำไปดนตรี

การเข้าไปฝึกเด็กแต่ละคน เป็นการบ้านที่หนักหนาสาหัสมากสำหรับบรรดาเทรนเนอร์หรือครู เพราะผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนนั้น มีพื้นฐานการร้องและการแสดงไม่เหมือนกัน

“AF2 มาถึง AF3 มีจุดเปลี่ยนที่ชัดเจนมาก โดยเฉพาะการสอนหรือการเทรนเรื่องทักษะ การร้อง อย่าง AF2 มีเวลาปูพื้นฐานเด็กบ้าง เพราะการเลือกเด็กส่วนใหญ่เป็นนักร้อง แต่ AF3 ไม่มีเวลาการปูพื้นฐาน ร้องกันสดๆ แก้ไขกันเลย เพราะปีนี้เลือกคนมาแบบหลากหลาย บางคนร้องไม่เก่งเลยแต่มีเสน่ห์ ดังนั้นการฝึกจะต้องลงลึกไปแบบเร่งรัดว่าแต่ละคนมีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไร”

ในขณะที่ครูด้านแอ็กติ้ง และครูเต้น จะต้องทำงานอย่างหนักเช่นกัน เพราะเด็กที่เข้าแข่งมักมีการแสดงออกไม่เหมือนกัน บางคนเต้นเก่งร้องไม่เก่ง ดังนั้นจุดอ่อนต้องรีบแก้ จุดเด่นต้องคั้นมันออกมาให้ได้

“แท้จริงนั้น คำตอบของอะคาเดมี่ คือ การตามล่าหานักแสดง ไม่ใช่ตามหานักร้อง ดังนั้น เบื้องหลังของการสร้างคนกลุ่มนี้ ต้องสร้างให้เด็กเป็นลูกบอลให้ได้ หมายถึง กลิ้งไปแบบไหนก็ได้”

กลิ้งเหมือนลูกบอล หมายถึง ต้องแสดงได้ทุกบทบาท ตามโจทย์ที่มอบให้…