ลูกคลื่นที่พลิ้วไหวเป็นทิวแถวอยู่ด้านล่างตามที่บางคนจินตนาการ สะกดให้ผู้โดยสารหลายๆ คนบนเครื่องบินต้องหยุดสายตา กับความแปลกใหม่ของงานออกแบบอาคารที่ทันสมัยของสนามบินสุวรรณภูมิ
“สนามบินสุวรรณภูมิ” บนเนื้อที่ 20,000 ไร่ สนามบินเกิดใหม่ในทศวรรษนี้ ด้วยมูลค่าก่อสร้างกว่า 1 แสนล้านบาท มาพร้อมกับโครงสร้างและสถาปัตยกรรมที่ไม่ทำให้ผู้โดยสารที่มองลงมาจากท้องฟ้าผิดหวัง โดยเฉพาะอาคารผู้โดยสาร (Passenger Terminal) และอาคารเทียบเครื่องบิน (Concourse) จุดที่ที่ผู้โดยสารทุกคน ไม่ว่าจะเดินทางออกนอกประเทศ หรือเดินทางเข้ามาในประเทศต้องผ่าน และใช้เวลาอยู่ในอาคารอย่างน้อยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าคนละ 2 ชั่วโมง สำหรับผู้โดยสารขาออก และไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง สำหรับผู้โดยสารขาเข้า
เมื่อเข้าไปในตัวอาคาร ความรู้สึกที่ได้นอกจากความโปร่งโล่ง จากการใช้วัสดุกระจก และเหล็ก หลังคาผ้าใบใยสังเคราะห์สีขาว ทำให้มองเห็นทิวทัศน์ด้านนอกอย่างชัดเจนแล้ว ความแปลกตาของอุปกรณ์เครื่องใช้และการตกแต่งภายในด้วยโทนสีเทา และปูนเปลือย ทำให้หลายคนบอกว่าชอบ เพราะเป็นแนวโมเดิร์น แต่หลายคนไม่ประทับใจนัก เพราะดูไร้สีสัน ยิ่งไปกว่านั้นหลายเสียงยังบอกว่ากระเบื้องปูพื้นทำให้สนามบินดูด้อยค่าลง ข้อสังเกตมีเพิ่มเติมเกี่ยวกับทางเลื่อนสำหรับเข้าสู่ห้องผู้โดยสาร (Gate) เตรียมขึ้นเครื่อง และลงจากเครื่อง ที่มีเพียงเส้นเดียว จึงดูเหมือนไม่เพียงพอต่อการใช้งานของผู้โดยสาร และทางเดินในอาคารเทียบเครื่องบิน ที่มีทางสำหรับเดินเหมือนตรอกซอกซอย แต่มีพื้นที่ร้านค้าขนาบข้างดักสายตาตลอดเวลา
หลายคนอาจนึกว่ากำลังเดินอยู่ในสนามบินต่างชาติ แต่เมื่อมีประติมากรรม และภาพจิตรกรรมที่แสดงความเป็นไทยหลายอย่างตั้งอยู่ ก็ทำให้ย้ำเตือนได้บ้างว่านี่คือสนามบินของประเทศไทย
แต่ความอลังการของพื้นที่ใช้สอยต้องยกให้กับชั้น 4 ของอาคาร ที่เป็นส่วนของผู้โดยสารขาออก ที่จุดเช็กอินเป็นแถวยาว และหลังคายกสูง ที่ให้ความรู้สึกว่าหากจินตนาการว่ามีผู้โดยสารจำนวนมากเข้าคิวเพื่อเช็กอินแล้ว ก็คงไม่เกิดความรู้สึกอึดอัดอย่างแน่นอน
กว่าจะได้มาซึ่งความอลังการของโครงการนี้ เริ่มตั้งแต่ประมาณปี 2538 บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.)ในขณะนั้น ได้ว่าจ้างบริษัทรับออกแบบที่เรียกกันว่า “กลุ่มเอ็มเจทีเอ” ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างบริษัทสถาปนิกคนไทย คือ บริษัท แอ็ค เอนจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัทแทมส์ คอนซัลแตนท์ สหรัฐอเมริกา และกลุ่มบริษัทของเมอร์ฟี่ จาห์น ด้วยมูลค่าเกือบ 1,000 ล้านบาท (ในช่วงแรกมีมูลค่าว่าจ้างประมาณ 650 ล้านบาท ภายหลัง ทอท.ได้ให้ออกแบบเพิ่ม เพื่อรองรับผู้โดยสารจาก 30 เป็น 45 ล้านคน) โดยสถาปนิกที่เป็นผู้ออกแบบ คือ เฮลมุท จาห์น (Helmut Jahn) และ เวอร์เนอร์ โซเบค (Werner Sobek) ชาวเยอรมัน มีงานออกแบบที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง รวมทั้งสนามบินชิคาโก สหรัฐอเมริกา และตึกโซนี่เซ็นเตอร์ที่เยอรมัน
เฮลมุท จาห์น ได้เดินทางมาเมืองไทยเพื่อบรรยายเบื้องหลังแนวคิดและงานออกแบบสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ด้วยค่าตัว 1 ล้านกว่าบาท ใช้เวลา 1 ชั่วโมง โดยกลุ่ม SCCC หรือปูนซิเมนต์นกอินทรี เป็นเจ้าภาพ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดงาน Holcim Awards
คอนเซ็ปต์ในการออกแบบสนามบินสุวรรณภูมินั้น เป็นสถาปัตยกรรมสไตล์ Bauhaus ที่ตัดทอนองค์ประกอบที่ไม่จำเป็น และเลือกใช้วัสดุประเภทเหล็ก และกระจกใส เน้นประสิทธิภาพการใช้สอย และการสร้างจุดเด่นเพื่อเป็นสัญลักษณ์สนามบินที่ยิ่งใหญ่ เป็นจุดที่บ่งบอกได้ว่า นี่คือประเทศไทย (Landmark)
ผู้ออกแบบได้นำเสนอต่อผู้บริหาร ทอท.ไว้ว่า หากมองจากด้านบน จะเห็นหลังคาอาคารผู้โดยสารเหมือนปีกนกที่กำลังขยับปีกบิน ส่วนอาคารเทียบเครื่องบินที่ใช้วัสดุเป็นหลังคาผ้าใบสีขาว เปรียบเสมือนลูกคลื่นที่พลิ้วไหวอยู่บนท้องทะเล
ในส่วนของประสิทธิภาพการใช้สอย ที่นอกจากออกแบบให้รองรับเครื่องบิน แอร์บัส A380 เครื่องบินที่ทันสมัย และใหญ่ที่สุดในเวลานี้แล้ว ยังเน้นให้มีพื้นที่การใช้สอยอย่างเต็มที่ และสะดวกสบาย รวมไปถึงการประหยัดพลังงาน จากการเลือกวัสดุหลักคือกระจก ผสมผสานกับโครงสร้างเหล็ก เพื่อให้แสงส่องผ่านเพียงพอต่อการใช้งานในเวลากลางวัน และการใช้แสงไฟในเวลากลางคืนที่ทำให้เกิดมิติหลากหลายในอาคาร
ความร้อนจากแสงที่ผ่านกระจก ผู้ออกแบบได้ใช้กระจกที่แม้ว่าจะใส แต่ฉาบสารที่ช่วยสะท้อน และดูดกลืนแสง โดยกระจกที่อยู่ในระดับต่ำจะมีความหนากว่า และสารเคลือบไม่หนานัก เพื่อให้มองเห็นทิวทัศน์ด้านนอก ส่วนที่อยู่สูง จะมีความหนาลดลง เพื่อให้น้ำหนักเบา แต่ฉาบสารเคลือบหนาขึ้น
ระบบปรับอากาศที่ออกแบบให้เน้นการประหยัดพลังงาน จะมี 2 โซน คือส่วนปรับอากาศที่เย็นจากพื้น ด้วยการฝังท่อน้ำเย็นไว้ที่พื้นทางเดิน ที่ดูดซับรังสีความร้อนไม่ให้สะท้อนไปมาภายในอาคาร และระบบการสร้างความเย็น ด้วยการใช้เครื่องปรับอากาศผลิตความเย็นที่มีอัตราการเคลื่อนตัวช้า จนอากาศที่ถูกถ่ายทอดออกมารวมกัน ที่ผู้ออกแบบเรียกว่า ”ทะเลความเย็น” ที่มีความสูงครอบคลุมพื้นที่ที่ระยะความสูง 2.5 เมตร เหนือพื้นดิน
นอกเหนือจากนี้ การออกแบบให้หลังคาผืนผ้าใบที่มีรูปทรงคล้ายจั่วสาเหลี่ยม เหมือนศาลาไทยแล้ว ยังมีหลักการทำงานเหมือนกัน คือทำให้ความร้อนลอยอยู่ใต้หลังคา ไม่ส่งผ่านมายังด้านล่างได้มากนัก เมื่ออุณหภูมิด้านบนและด้านล่างมีความแตกต่าง จึงทำให้เกิดกระแสลมลอดผ่าน
เมื่อคนต่างชาติเป็นผู้ออกแบบ จนทำให้อาคารมีความทันสมัย เป็นสถาปัตยกรรมแห่งอนาคต แต่เพื่อการสร้างจุดเด่น ด้วยการแสดงความเป็นเอกลักษณ์ไทย ทอท. จึงได้เสนอให้ออกแบบสัญลักษณ์ที่สะท้อนความเป็นไทย โดยกลุ่มบริษัท เค.เอช. พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบ และมอบหมายให้ บริษัทเอ็นที กรุ๊ป จำกัด ที่มีศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ตรึงใจ บูรณสมภพ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นประธานดำเนินการ
ภายในอาคารตามจุดต่างๆ ตั้งแต่ประตูทางเข้าอาคารและออกจากประตูเทียบเครื่องบิน ก็พบกับประตูกระจกที่เพนต์เป็นรูปเทวดาต้อนรับผู้เดินเข้าเดินออก ในระยะทางเดินเพื่อเตรียมขึ้นหรือหลังลงจากเครื่อง ก็พบภาพวาดของศิลปินชื่อดัง
ที่สะดุดตาที่สุดต้องยกให้กับบุษบก 2 หลัง ศาลาไทย 2 หลัง ที่สร้างด้วยไม้สักทอง ยักษ์ 12 ตน ภายในอาคาร และที่ยิ่งใหญ่อีกจุดหนึ่งต้องยกให้กับภาพเขียนสีอะคริลิกเต็มผนัง 3 ด้าน บริเวณจุดรับกระเป๋าผู้โดยสารขาเข้า ของอาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร และทีมงาน ในชื่อภาพ “สุวรรณภูมิ ดาวดึงส์” “แดนสรวงพิสุทธิ์” และ ”อนันดามหานคร” และอีกด้าน ที่เป็นผลงานของกลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร
การตอกย้ำความเป็นไทย มีให้เห็นเป็นระยะๆ ด้วยภาพพิมพ์ซ้ำจำนวน 66 ผนัง กว้าง 8.20 เมตร สูง 2.80 เมตร ทั้งหมด 94 ภาพ บริเวณทางเดินภายในอาคารเทียบเครื่องบิน จากศิลปินผู้เขียนภาพ และองค์กรที่เป็นเจ้าของภาพหลายแห่ง เช่น มูลนิธิธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงเทพ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ และพิพิธภัณฑ์ศิลปะของรัชกาลที่ 9
สิ่งสำคัญของอาคารที่ใครๆ ต่างพูดถึง อยู่ที่จุดกึ่งกลางของอาคารบริเวณผู้โดยสารขาออก ระหว่างประเทศ หลังจากตรวจหนังสือเดินทางแล้ว ยังมีประติมากรรมที่รับผิดชอบโดยบริษัทคิงเพาวเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ด้วยงานศิลป์ ”เทวตำนานการกวนเกษียรสมุทร” ที่สื่อความหมายเชื่อมโยงถึงความสำเร็จ ความเป็นอมตะ และความเจริญรุ่งเรื่อง มั่นคง ชั่วนิรันดร์
ด้านนอกอาคารนั้น หลายคนยังได้ความรู้สึกแปลกตากับสวนที่ขนาบข้างอาคาร 2 สวน สวนละ 17 ไร่ คือ City Garden อยู่ด้านตะวันออกของอาคาร เป็นสวนในเมือง และด้านตะวันตก จะสื่อถึงชนบทในประเทศไทย หรือ Country Garden
ปลอดนกและแมลง
จุดสำคัญนอกจากความเชื่อในการจัดสวนที่แสดงถึงความเจริญเติบโตของสนามบินแล้ว การคัดเลือกพันธุ์ไม้ยังต้องพิจารณาจากบทวิเคราะห์ และวิจัยของผู้เชี่ยวชาญด้านนก และการประชุมร่วมกับ ICAO หรือองค์กรการบินพลเรือน ที่ได้ข้อสรุปประเด็นหนึ่งว่า ต้นไม้ที่นำมาปลูกภายในพื้นที่นั้น จะต้องไม่ใช้ไม้ดอกที่ดึงดูดแมลงมาตอม เพราะหากมีแมลง จะทำให้มีนกมาจับแมลง และหากมีนก ก็จะมีงู กลายเป็นวงจร จนทำให้มีนกตัวใหญ่มากขึ้น จนเป็นอันตรายต่อเครื่องบินที่บินขึ้นลงในสนามบิน
ดูเหมือนว่าทุกรายละเอียดคือความตั้งใจ และเต็มไปด้วยความหมายที่มีคุณค่าอย่างยิ่งในการชื่นชมกับ ”สนามบินสุวรรณภูมิ”
”เทวตำนานกวนเกษียรสมุทร”
ก่อสร้างโดยบริษัทคิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ โดยใช้งบ 48 ล้านบาท ออกแบบโดย นายนิคม พลเยี่ยม นางช่างศิลปกรรม 6 กรมศิลปากร โดยเป็นประติมากรรมโลหะปิดทอง ประดับกระจก กว้าง 3 เมตร ยาว 21 เมตร และสูง 5.50 เมตร องค์ประกอบที่เป็นจุดเด่นสำคัญที่จัดวางไว้ตรงกลาง คือรูปองค์นารายณ์ทรงยืนประทับเขามันทรคีรี มีกูรมาวตารเป็นเต่าหนุนใต้ภูเขา องค์ประกอบซ้ายด้านซ้ายคือเหล่าอสูรยืนท่าออกแรงกำลังฉุดชักนาคด้านเศียรของพญาวาสุกินาคราช ส่วนเทวดาชักด้านหาง ยืนหันหน้าเข้าตรงกลางภาพ ส่วนองค์ประกอบรองลงไป เพื่อสร้างความงดงาม และมีชีวิตชีวา คือคลื่น น้ำ พื้นล่างมีหอย ปู ปลา ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา
สำหรับตามเทวดาตำนานการกวนเกษียรสมุทรนั้นจากข้อมูลของบริษัทคิงเพาเวอร์ จำกัด เล่าว่า พระวิษณุเสด็จเป็นองค์ประธาน แล้วตรัสให้เหล่าเทวาอสูรช่วยกันถอนภูเขามันทรคีรี ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดแห่งมณีนพรัตน์ มาตั้งลงในท่ามกลางทะเลน้ำนม ที่สถิตอยู่ในไวกูณฑ์สวรรค์ แล้วให้ช่วยกันเก็บหาสมุนไพรนานาชนิดมาผสมลงในเกษียรสมุทร และมอบหมายให้จอมนาควาสุกิ มาเป็นเชือกพันรอบมันทรคีรีต่างสายชักโยง โดยออกอุบายว่าพวกใดมีกำลังเข้มแข็งที่สุดในสามโลกให้มาชักทางฝั่งเศียรนาค เหล่าอสูรรีบเข้าทางเศียรนาคทันที ฝ่ายเทวดาก็ชักทางหาง ต่างฝ่ายต่างออกแรงเต็มที่ให้ภูเขาหมุนเพื่อกวนสมุนไพรให้เข้ากับน้ำนาในทะเล เมื่อพญานาคเจ็บและเหนื่อยล้า ก็อ้าปากคายพิษเป็นไฟกรดพ่นออกมาทีละน้อย โดนพวกอสูร ทำให้อ่อนแรงไปตามๆ กัน แต่ไม่โดนเหล่าเทวดา และยังมีพระลักษมีปติบันดาลฝนให้โปรยปรายชุ่มชื่นตลอดเวลา
ส่วนเต่าที่เห็นคือนารายณ์อวตารลงมาเพื่อหนุนภูเขาให้ตั้งตรงหลังจากเขามันทรคีรีเริ่มเอียงระหว่างการกวน พิธีนี้กินเวลานับพันๆ ปี ในที่สุดทำให้เกิดของทิพย์วิเศษ 14 อย่าง โดยที่ 13 คือแพทย์สวรรค์ ผุดขึ้นมาทูนของทิพย์ที่ 14 คือหม้อน้ำทิพย์อมฤต ที่เหล่าเทวดาได้ดื่มหนึ่งในสี่ส่วน ส่วนที่เหลือมอบให้พระอินทร์เก็บรักษาบนสวรรค์
ความหมายของการกวนเกษียรสมุทรนั้น หลังเกิด ”น้ำอมฤต” หมายถึงความว่าไม่ตาย ดังนั้นสถานที่ซึ่งเป็นที่สถิตของน้ำอมฤตย่อมเป็นสถานที่อมตะ มั่นคง ยืนยงสถาพร ดุจดั่งคุณสมบัติของน้ำอมฤตอันเป็นที่ปรารถนาของเหล่าเทวดา และอสูร เช่นเดียวกับสุวรรณภูมิ อันเป็นแผ่นดินทอง ความอุดมสมบูรณ์ ความเจริญ รุ่งเรือง มั่นคง เป็นอมตะตลอดกาล
ข้อมูลทั่วไป ”สนามบินสุวรรณภูมิ” ณ กันยายน 2549
ชื่อสนามบิน: ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” (Suvarnabhumi Airport) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2543
สถานที่ตั้ง: อยู่ห่างจากกรุงเทพฯไปทางตะวันออกประมาณ 35 กิโลเมตร บริเวณหนองงูเห่า ตำบลบางโฉลง ตำบลราชาเทวะ และตำบลหนองปรือ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ รวมพื้นที่ 20,000 ไร่
การเดินทาง: – มีถนนเข้า-ออกสนามบิน 5 เส้นทาง
1.ทิศเหนือ-เป็นถนนยกระดับขนาด 8 ช่องจราจร จากถนนกรุงเทพฯ-ชลบุรี (สายใหม่) เข้าสู่อาคารผู้โดยสาร
2.ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-เป็นถนนขนาด 6 ช่องจราจร เชื่อมกับทางยกระดับจากถนนร่มเกล้าและถนนกิ่งแก้ว
3.ทิศใต้-เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร เชื่อมกับถนนบางนา-ตราดและทาง ด่วนบูรพาวิถี
4.ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร เชื่อมกับถนนอ่อนนุช
5.ทิศตะวันตก-เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร เชื่อมกับถนนกิ่งแก้ว
-รถไฟฟ้า Airport Rail Link เส้นทางมักกะสัน-สุวรรณภูมิ (อยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดเปิดใช้งานปี 2008)
จำนวนรันเวย์: 2 รันเวย์คู่ขนาน ความยาว 3,700-4,000 เมตร กว้าง 60 เมตร ระยะห่าง 2,200 เมตร (มีแผนก่อสร้างอีก 2 รันเวย์ เพื่อรองรับผู้โดยสารได้ 100 ล้านคน ในอนาคต)
หลุมจอดเครื่องบิน
-จำนวนหลุมจอดประชิดอาคาร 51 จุด (รวมที่ก่อสร้างเฉพาะรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ A380 จำนวน 5 จุด)
-จำนวนหลุมจอดระยะไกล 69 จุด
ความสามารถรองรับ เครื่องบิน
– 76 เที่ยวบินต่อชั่วโมง
ความสามารถรองรับผู้โดยสาร
-45 ล้านคนต่อปี และขยายเป็น 100 ล้านคน ในอนาคต
ความสามารถรองรับการขนส่งสินค้า
– 3 ล้านตันระยะแรก และ 6.4 ล้านตัน ในอนาคต
อาคารผู้โดยสาร
-มีทั้งหมด 7 ชั้น (รวมชั้นใต้ดิน 2 ชั้น)
-พื้นที่ใช้สอย 563,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ในอาคารผู้โดยสาร 182,000 ตารางเมตร และพื้นที่สะพานเทียบเครื่องบิน 381,000 ตารางเมตร
-ลักษณะโครงสร้างเป็นเหล็ก กระจก และผ้าใบใยสังเคราะห์
จำนวนเคาน์เตอร์เช็กอิน
-แบ่งเป็น 10 แถว (สำหรับผู้โดยสารในประเทศ 3 แถว ระหว่างประเทศ 7 แถว) แถวละ 36 เคาน์เตอร์ ห่างกันแถวละ 30 เมตร รวมมีเคาน์เตอร์สำหรับเช็กอินในประเทศ 108 เคาน์เตอร์ และระหว่างประเทศ 252 เคาน์เตอร์
จุดตรวจหนังสือเดินทาง
– จุดตรวจผู้โดยสารขาเข้า 120 เคาน์เตอร์
-จุดตรวจผู้โดยสารขาออก 70 เคาน์เตอร์
-จุดตรวจผู้โดยสารเปลี่ยนเครื่องในและระหว่างประเทศ 10 เคาน์เตอร์
-จุดตรวจผู้โดยสารเปลี่ยนเครื่องระหว่างประเทศ 58 เคาน์เตอร์
เคาน์เตอร์ศุลกากร
-ขาออก 8 เคาน์เตอร์ และขาเข้า 26 เคาน์เตอร์
เฮลมุท จาห์น เกิดที่เมือง Nuremberg เยอรมัน เมื่อปี ค.ศ. 1940 เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัย Technische Hochschule เมืองมิวนิก และศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา Illinois Institute of Technology ภายใต้การดูแลของ Ludwig Mies Van Der Rohe สถาปนิกระดับโลก ผู้ให้กำเนิดสถาปัตยกรรมสไตล์ Bauhaus หลังศึกษาจบ เฮลมุท จาห์น ร่วมงานในบริษัท C.F.Murphy Associates 6 ปี หลังจากนั้นได้เป็นผู้อำนวยการด้านการออกแบบ และยังได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น เมอร์ฟี่ จาห์น ส่วนงานที่สะท้อนบุคลิกของ เฮลมุท จาห์น คือโครงสร้างานแบบเปลือยแข็ง สถาปัตยกรรมมีความโดดเด่น และความสวยงามเมื่อได้เห็น
เวอร์เนอร์ โซเบค เกิดที่เมือง Aalen ประเทศเยอรมัน ปี ค.ศ. 1953 มีความเชี่ยวชาญพิเศษเกี่ยวกับวัสดุประเภทกระจก เหล็ก และผ้าใบ จบศึกษาระดับปริญญาโท ในคณะสถาปัตยกรรม และวิศวกรรมโครงสร้างที่มหาวิทยาลัยชตุทท์การ์ท เยอรมัน โดยมีหัวข้อวิจัย เรื่องโครงสร้างขนาดใหญ่ ที่มีน้ำหนักเบา และยังจบระดับปริญญาเอกด้านวิศวกรรมโครงสร้าง ร่วมงานกับ เฮลมุท จาห์น มาแล้วหลายโครงการ เช่น โซนี่เซ็นเตอร์ เยอรมัน