“Suvarnabhumi tower vhk 319 ready for departure”
“wind 210 degree 8 knot, clear for take off rwy 19r”
“Vhk 319” รหัสเรียกขานเครื่องบินแอร์บัส A 319 “ไทยคู่ฟ้า” เครื่องบินประจำของคณะรัฐบาลไทย เริ่มติดต่อหอควบคุมการบินสุวรรณภูมิ เพื่อบินขึ้น และเจ้าหน้าที่จากหอสูงตอบรับให้ข้อมูลความเร็วลม และแจ้งยืนยันให้เข้าใช้รันเวย์ในตำแหน่งขวา
นักบินตอบรับว่า “Roger” อันหมายถึงรับทราบ รหัสอันงุนงงสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับนักบินและผู้ควบคุมการบิน คือความเข้าใจที่ตรงกัน ทุกอย่างพร้อมเพื่อ Take off
กระทั่ง ”วิหค319” เหินขึ้นฟ้า และบินออก ส่งต่อให้เจ้าหน้าที่คนต่อๆ ไป เพื่อควบคุมการจราจรบนฟ้า
“วิหค 319” เป็นเพียงลำหนึ่ง จากเครื่องบินนับร้อยลำบนน่านฟ้า เป็นเพียงหนึ่งประโยคสนทนาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา 24 ชั่วโมง บนหอควบคุมการจราจรทางอากาศ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณสนามบิน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เป็นระบบการทำงานที่กำหนดไว้อยู่แล้วในการโต้ตอบระหว่างนักบินและหอควบคุมการบิน แต่สำหรับ 2 หนุ่มสาวไฟแรงคู่นี้ ณ นาทีนี้ ไม่ใช่ธรรมดา เพราะเป็นครั้งแรกในการทำหน้าที่ควบคุมเครื่องบินขึ้นลงในสนามบินแห่งใหม่ ”สุวรรณภูมิ” สนามบินที่ใช้เวลาเตรียมการและก่อสร้างมานานกว่า 40 ปี
อาคารหอบังคับการบินสุวรรณภูมิ (Control Tower) คือเป้าหมายของเราในวันนี้ ในช่วงเวลาปลายเดือนกรกฎาคม 2549 ที่เจ้าหน้าที่กำลังทดสอบระบบควบคุมการจราจรทางอากาศเพื่อพร้อมรับการเปิดใช้สนามบินอย่างเป็นทางการ 28 กันยายน 2549 และอย่าได้ว่ากันว่า เป้าหมายสูงเกินไปหรือเปล่า เพราะเราต้องขึ้นไปบนยอดหอที่ความสูง สูงสุดที่ 132.2 เมตร หรือเทียบขนาดตึกสูงกว่า 40 ชั้น ที่สำคัญคืออยู่บนสนามบิน ที่ความจริงแล้วสูง 10 ชั้น ก็หวาดหวั่นแล้วว่าเครื่องบินจะบินมาเฉียดทักทายใกล้ๆ หรือเปล่า
“สุนิสา ราษฎร์ดุษฎี” หรือ ”ต้อม” ผู้จัดการงานควบคุมจราจรทางอากาศ และ ”โจ๊ก” หรือ “บันเทิง เมฆฉาย” เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศอาวุโส ศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศสุวรรณภูมิ มาบอกเล่าประสบการณ์ที่ท้าทายได้อย่างน่าฟัง
“เรามีความภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่นี้ ที่สนามบินแห่งใหม่ และขอให้มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนมีความพร้อม” คำบอกเล่าของ ”สุนิสา” ที่ไม่ต่างจากความรู้สึกของ ”บันเทิง” ที่บอกว่ามีความภาคภูมิใจ แต่ไม่ได้รู้สึกถึงความตื่นเต้นอะไร เพราะความพร้อมที่มีมานาน
ความพร้อมที่ทั้งสองคน และทีมงานบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยมีนั้น ไม่ใช่การเตรียมเพียงวันสองวัน หรือเดือนสองเดือนเท่านั้น แต่คือการบ่มเพาะทักษะมานานหลายปี หรือความจริงต้องบอกว่าคือการเตรียมพร้อมตั้งแต่พื้นฐานทางจิตใจเลยทีเดียว
ไม่เพียงความรู้ด้านภาษาอังกฤษที่ต้องผ่านการทดสอบวัดระดับ ให้อยู่ในระดับที่สื่อสารได้อย่างถูกต้อง ผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ยังต้องผ่านการฝึกอบรมจากสถาบันการบินพลเรือน และที่สำคัญยังต้องผ่านการทดสอบด้านสภาวะจิตใจ และทัศนคติ ที่เมื่อแสดงผลออกมาแล้วต้องอยู่ในระดับที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเองสูงจนเกินไป ซึ่งคุณสมบัติข้อนี้ ไม่ต่างจากนักบิน เพราะหากมั่นใจในตัวเองสูงเกินไป อาจเกิดความผิดพลาด ซึ่งหมายถึงชีวิตของผู้โดยสารที่อยู่ในมือจำนวนมาก
ส่วนการทำหน้าที่นั้น ยังต้องผ่านเกณฑ์ตั้งแต่เริ่มต้น เป็นเจ้าหน้าที่จัดเตรียมข้อมูล เช่น แผนการบินของแต่ละเที่ยวบินให้กับผู้ควบคุมการบิน อยู่อย่างน้อย 3 ปี จากนั้นต้องสอบรับใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางอากาศ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศ ที่มีอยู่ 3 ส่วน แบ่งตามระยะทางของการบิน คือ Aerodrome Control Service บริเวณในสนามบิน หรือเท่าที่มองเห็นด้วยสายตา หรือทันทีที่เครื่องบินแตะรันเวย์ ส่วนที่สองคือ Approch Control Service หรือเขตประชิดท่าอากาศยาน ระยะทางไกลจากสนามบิน 5 ไมล์ทะเล ที่ต้องดูผ่านจอ ที่สื่อสารจากดาวเทียม และการควบคุมตามเส้นทางบิน Area Control Service ที่มองเห็นน่านฟ้าทั่วประเทศไทย
การทำหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศยังมีส่วนสำคัญที่ ”สุนิสา” เน้นย้ำ คือการทำงานกันเป็นทีม เพราะการส่งต่อ และส่งผ่านหน้าที่ต้องอาศัยความสามัคคีกันเป็นสำคัญ
และด้วยความเคร่งเครียดในการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ระบบการพักเพื่อผ่อนคลายต้องเป็นไปตามกฎขององค์กรการบินระหว่างประเทศ จึงต่างจากสาขาอาชีพอื่นทั่วๆ ไป
“พวกเราจะทำงานกันเป็นช่วงๆ ช่วงแรก เริ่มงาน 8 โมงเช้า ถึง 2 ทุ่ม มาอีกวันหนึ่งเริ่ม 2 ทุ่มถึง 8 โมงเช้า จากนั้นได้หยุด 2 วัน และระหว่างปฏิบัติงานใน 12 ชั่วโมงนั้น จะทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมหลัก 1 ชั่วโมง ที่ต้องติดต่อพูดคุยกันนักบินตลอดเวลา จากนั้นจะเป็นผู้ช่วย 1 ชั่วโมง และพัก 1 ชั่วโมง”บันเทิงสรุปให้ฟัง พร้อมกับบอกว่าแม้เวลาพักผ่อนแตกต่างกับอาชีพอื่น แต่สำหรับตัวเขาแล้วไม่ได้ทำให้มีปัญหาอะไร เพราะคืองานที่เขาชอบและรักที่จะทำ และไม่เพียงการเรียนรู้เฉพาะจากห้องควบคุมเท่านั้น แต่ ”บันเทิง” ยังเรียนรู้จากข้อมูลภายนอก เพื่อเตรียมรับมือ โดยเฉพาะการทำหน้าในสนามบินแห่งใหม่ ที่เขาได้สอบถามข้อมูลจากเพื่อนในอาชีพเดียวกันทั้งจากฮ่องกง สหรัฐอเมริกา ถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
สำหรับ ”สุนิสา” แล้ว เธอยืนยันว่าไม่เคยเบื่อหน่ายกับการปฏิบัติหน้าที่ แม้ว่าตอนเริ่มที่เข้ามาสมัครงานที่นี่ตามคำแนะนำของครอบครัว จะยังไม่รู้ชัดเจนว่างานนี้คืออะไร เช่นเดียวกับ ”บันเทิง” ที่เข้ามาตามคำแนะนำของรุ่นพี่ ที่ไปแนะแนวที่โรงเรียน
“ไม่เบื่อเลย ไม่ใช่เป็นงาน Routine แต่เป็นงานที่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตลอดเวลา เช่น หากนักบินไปปฏิบัติตามที่เราบอกจะทำอย่างไร สภาพอากาศไม่ดีจะต้องทำอย่างไร” สุนิสายืนยัน พร้อมกับบอกด้วยว่านี่คือหน้าที่ที่เป็นความภาคภูมิใจ
ผลพวงจากการเทใจอย่างเต็มที่ ทำให้ทั้งสองได้โอกาสเติบโตในหน้าที่ตามขั้นตอนที่ควรเป็น และที่สำคัญยังทำหน้าที่ถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับรุ่นน้องในการทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเช่นล่าสุดที่เมื่อประเทศไทยต้องเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ จึงทำให้บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย ต้องจัดซื้ออุปกรณ์ชุดใหม่ พร้อมกับต้องส่งเจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งไปอบรมการใช้อุปกรณ์ใหม่ รวมทั้ง “สุนิสา” ไปฝึกอบรมที่เมลเบิร์น ออสเตรเลีย ส่วน ”บันเทิง” ไปที่ ”อิตาลี” กลับมาแล้วจึงทำหน้าที่ส่งต่อความรู้มายังเพื่อนร่วมทีม และรุ่นน้องอีกกว่า 200 คน ซึ่งจากคำรับประกันของทั้งสองยืนยันว่าพร้อม เพื่อส่งและรับผู้โดยสารทุกคนที่ ”สุวรรณภูมิ”
“Suvarnabhumi tower…….”
เสียงเรียกดังขึ้นอีกครั้ง คราวนี้ C 130 หรือ Lucky เครื่องบินของกองทัพอากาศกำลังจะขอลงจอด และเป็นเวลาที่ทั้งสองต้องเข้าประจำการอีกครั้ง…
Profile :
Name : สุนิสา ราษฎร์ดุษฎี
Age : 33 ปี
Education :
-ปริญญาตรี คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
-ปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
-ปริญญาโท MBA มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
-ศูนย์ฝึกการบินพลเรือน สถาบันการบินพลเรือน
Career : ผู้จัดการงานควบคุมจราจรทางอากาศ
Name : บันเทิง เมฆฉาย
Age : 31 ปี
Education :
-มัธยมศึกษา ราชสีมาวิทยาลัย นครราชสีมา
-ศูนย์ฝึกการบินพลเรือน สถาบันการบินพลเรือน
Career : เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศอาวุโส