หลังจากจัดระเบียบเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงตาม “คาราโอเกะ” อยู่นาน ในที่สุด จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่เจ้าของซอฟต์แวร์เพลงรายใหญ่เมืองไทย ตัดสินใจเปิดแนวรุกร่วมพันธมิตร “กลุ่มมิวสิค พาวิลเลียน” ผู้ผลิตตู้คาราโอเกะรายใหญ่ของวงการเข้าสู่ “ธุรกิจการร้องเพลงเต็มรูปแบบ (Singing business)” ภายใต้ชื่อ “คลีน คาราโอเกะ”
การเปิดตัว “คลีน คาราโอเกะ” บนชั้น 21 อาคารจีเอ็มเอ็ม ย่านอโศกวันนั้น เป็นหน้าที่ของ “อากู๋น้อย” สุเมธ ดำรงชัยธรรม เป็นแม่งานนำทีมแถลงข่าว ที่แปลกตาจนแน่นขนัดห้องประชุม นอกจากสื่อมวลชนแทบทุกสำนัก ยังมีผู้บริหารหน้าใหม่แต่เก๋าในวงการตู้คาราโอเกะจากกลุ่ม มิวสิค พาวิลเลียน อย่าง “ทวีชัย ตรีธารทิพย์” มานั่งแท่นจีเอ็ม คนใหม่ใน คลีน คาราโอเกะ โดยมี ยงศักดิ์ เอกปรัชญาสกุล เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท ส่วน “ธัญญะ ดาวเรือง” ผู้ผลิตตู้คาราโอเกะรายใหญ่มานั่งเป็นจีเอ็ม บริหารคลีน คาราโอเกะ และรับหน้าที่บรรยายระบบการจัดเก็บลิขสิทธิ์ ระบบเทคนิค พร้อมกับสาธิตโปรแกรมคาราโอเกะให้สื่อมวลชนอย่างตั้งอกตั้งใจ
การรุกสู่คาราโอเกะนี้ นอกจากเป็นการขยายช่องทางการจำหน่ายเพลงในรูปแบบการร้องเพลงเป็นครั้งแรก ยังทำให้แกรมมี่ได้ฐานข้อมูลลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการร้องเพลงคาราโอเกะ เช่น เพลง และศิลปิน สถานที่ที่ใช้บริการ ความถี่ในการร้อง มาช่วยทำตลาดในรูปแบบกิจกรรมส่งเสริมการขาย พีอาร์ ให้แก่ธุรกิจเพลง ธุรกิจบริหารศิลปิน และธุรกิจโชว์บิสอีกด้วย
งานนี้จึงเป็นการตอบโจทย์เรื่องของ “Asset Management” (เพลง) ที่แกรมมี่พยายามจัดระเบียบ จากการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงต่างๆ มานานนับปี จากบรรดาผู้ค้าในธุรกิจคาราโอเกะ ซึ่งนำเอา “เพลง” ไปสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ขณะที่เจ้าของลิขสิทธิ์กลับได้เม็ดเงินไม่ค่อยเต็มเม็ดเต็มหน่วยในอดีตที่ผ่านมา
ยงศักดิ์ เอ็มดี คลีน คาราโอเกะ บอกว่า ปัจจุบันเพลงของแกรมมี่มีส่วนแบ่งในตลาดคาราโอเกะประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่กลุ่มมิวสิค พาวิลเลียนก็เป็นผู้ประกอบการตู้คาราโอเกะรายใหญ่ มีจำนวนตู้ที่ตั้งอยู่ในช่องทางโมเดิร์นเทรดกว่า 1,500 ตู้ทั่วประเทศ เมื่อควบรวมกิจการกัน ส่งผลให้คลีน คาราโอเกะกลายเป็นผู้ประกอบการธุรกิจรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และทำให้ “การจัดเก็บลิขสิทธิ์เพลงจากคาราโอเกะ” ชัดเจนขึ้น
ด้าน คลีน คาราโอเกะ เน้นช่องทางโมเดิร์นเทรดเป็นหลัก ปัจจุบันมีจำนวนตู้กว่า 1,700 ตู้ทั่วประเทศ รายได้เฉลี่ยต่อตู้ประมาณ 8,000-12,000 บาทต่อเดือน โดยมีเป้าหมายขยายเป็น 2,000 ตู้ภายในสิ้นปีนี้ คาดว่าในครึ่งปีหลังนี้คลีน คาราโอเกะจะมีรายได้จากการบริการกว่า 100 ล้านบาท และสิ้นปี 2550 คาดว่าเพิ่มเป็น 300 ล้านบาท
“คลีน คาราโอเกะ” มี Shop Concept เป็นร้านสะดวกซื้อ รูปแบบเป็น Shop หลากหลายขนาด มีตั้งแต่ตู้ เป็นห้อง ตั้งตามศูนย์การค้าต่างๆ จุดขายเน้นทันสมัยด้วย Network Computer ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ใหม่ที่ทำงานควบคู่กับระบบ GPRS เครือข่ายมือถือของ AIS สามารถบรรจุเพลงต่อเครื่องได้มากกว่า 1 พันเพลง
Did you know?
หลายประเทศในเอเชีย นิยมใช้ตู้คาราโอเกะ (บางทีก็เรียกว่า KTV) นับเป็นเครื่องเล่นคาราโอเกะที่นิยมกันมากที่สุด ร้านคาราโอเกะนั้น เป็นห้องขนาดเล็ก หรือขนาดกลาง ที่ใส่อุปกรณ์คาราโอเกะเอาไว้ สำหรับในร้านอาหารจีนแบบดั้งเดิมบางแห่ง เรียกว่า ห้องคาราโอเกะ-ไพ่นกกระจอก (Mahjong-Karaoke Room) ที่มาข้อมูลจาก วิกิพีเดีย