คิง เพาเวอร์… ยักษ์ร้านค้าสุวรรณภูมิ

เกือบทุกตารางเมตร สำหรับโซนช้อปปิ้ง ตั้งแต่ร้านกาแฟ เสื้อผ้า และสินค้าแบรนด์เนมนานาชนิด…นี่คือพื้นที่ของ “คิง เพาเวอร์” ยักษ์สัมปทานผู้ผูกขาดพื้นที่การค้าขายเพียงรายเดียว กล่าวกันว่า ผู้โดยสารคนใดพลัดหลงไปในเขตพื้นที่นี้ อาจมีสิทธิ์กระเป๋าฉีกได้

หลังจากเช็กอินตั๋วโดยสารได้รับบัตรผ่าน (Boarding Pass) ที่ชั้น 4 ของอาคารผู้โดยสาร (เทอร์มินอล) เรียบร้อยแล้ว หากคุณเป็นผู้โดยสารกลุ่มที่เดินทางไปต่างประเทศ แต่ยังไม่ได้แลกเงินสกุลของประเทศที่จะไป ก็สามารถมองหาเคาน์เตอร์ของธนาคารที่มาตั้งไว้พร้อมให้บริการแลกเงินตราต่างประเทศ มีหลายธนาคารที่มาตั้งอยู่ แต่ที่เห็นเด่นเป็นสง่าในชั้นนี้ ต้องยกให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารทหารไทย ที่โดดเด่นชัดเจน

หลังตรวจหนังสือเดินทาง หรือ Passport แล้ว แน่นอน ยังพอมีเวลาเดินเล่น ฆ่าเวลา เพราะใครๆ ก็ต้องมาที่สนามบินก่อนเวลา เพื่อป้องกันการตกเครื่อง ผ่านพ้นหลังกำแพงเคาน์เตอร์ตรวจคนเข้าออกเมือง ก็จะพบกับความอลังการของประติมากรรม”เทวตำนานการกวนเกษียรสมุทร” ที่ตั้งอยู่ใจกลางอาคารผู้โดยสารพอดี

จากจุดนี้ผู้โดยสารระหว่างประเทศไม่ว่าจะเดินไปทางอาคารเทียบเครื่องบิน (Concourse) ใด ที่กำหนดตัวอักษรไว้ตั้งแต่ อาคาร C D E F G สายตาคุณ ไม่อาจละไปไหนได้ เพราะทางเดินเพื่อไปขึ้นเครื่องที่ไม่กว้างขวางนัก กับเพดานต่ำ ทำให้ร้านรวงที่พรึ่บ 2 ข้างทาง เต็มไปด้วยทุกสินค้าและบริการมีให้เลือก จับจ่ายใช้สอย อยู่ในสายตาของผู้เดินไปมาอย่างมากมาย ทั้งพื้นที่กว้าง ที่มีสินค้าวางบนชั้น หลากหลายประเภท หรือที่เรียกรวมว่าพื้นที่ Duty Free หรือจุดจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีแล้ว ยังมีร้านค้าประเภท Retail Shop และ Boutique Shop ที่มีแบรนด์ดังๆ จากทั่วโลกปรากฏให้เห็นให้เลือกซื้อ เช่นเดียวกับสนามบินต่างชาติหลายๆ แห่งในปัจจุบัน

จากการเดินไปยังอาคารเทียบเครื่องบิน D พบทุกพื้นที่ถูกจับจองโดยแบรนด์ดังๆ จำนวนมากทั้งร้านค้าประเภทเครื่องดื่ม อาหาร และเสื้อผ้า จุดแรกที่สะดุดตาต้องยกให้กับ Suchi Bar, Snack Bar แบรนด์ดังอย่าง Catier, Burberry, Zegna, Me, Kipling, Chopard หรือแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักกันอย่าง F & B Outlets และ Lamoon ก็เรียงรายให้ได้เลือกซื้อ เลือกหาได้อย่างไม่ผิดหวัง

นอกจากนี้บางส่วนก็ได้เตรียมไว้โดยแยกประเภทสินค้าตามกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เช่น Kids Retail, Sport Retail รวมไปถึงร้านที่สะท้อนความเป็นไทย อย่างจิตรลดา ดอยตุง และแม่ฟ้าหลวง รวมไปถึงร้านผ้าไหม จิม ทอมป์สัน

เพลิดเพลินจนหิวกระหาย ในทางเดินขึ้นเครื่องด้านต่างๆ ก็ยังมีร้านอาหารทุกประเภทไว้บริการ ทั้งภัตตาคาร และร้านอาหารว่างและเครื่องดื่ม แน่นอนภัตตาคารการบิน ไทยมีให้เลือกได้ลิ้มรส หรือร้านที่เป็นที่คุ้นเคย อย่าง S&P และ Black Canyon ร้านกาแฟ Starbucks และดอยตุง ก็มีให้เลือกได้นั่งฆ่าเวลา

ระหว่างทาง ก็ยังมีจุดบริการของแบงก์ต่างๆ ทั้งกดเอทีเอ็ม แลกเงิน

ไม่เพียงสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศเท่านั้น ในอาคารเทียบเครื่องบินสำหรับผู้โดยสารในประเทศ ที่อาคาร A B และ C ก็มีร้านรวงให้เลือกช้อปได้เช่นกัน ต่างจากสภาพของสนามบินดอนเมืองในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง ที่จะมีก็เพียงฟาสต์ฟู้ดเท่านั้น

เบ็ดเสร็จกว่าจะขึ้นเครื่อง คุณอาจจะจ่ายพันบาท หรือหมดไป 10 ล้านบาท ก็เป็นได้ !

ทั้งหมดคือพื้นที่บริหารจัดการของบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ที่ได้รับสัมปทานจากบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.)

“สมชัย สวัสดีผล” ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บอกว่า คิง เพาเวอร์ได้รับสัมปทานจาก ทอท. ให้บริหารพื้นที่ร้านค้า หรือเชิงพาณิชย์รูปแบบปลอดภาษีรวมประมาณ 25,000 ตารางเมตร เป็นเวลา 10 ปี โดยมีสัญญาประกันรายได้ขั้นต่ำปีละ 1,400 ล้านบาท

หลักการในการพัฒนาพื้นที่นั้น คือการสร้างแรงจูงใจให้ผู้โดยสารบริโภคสินค้า และบริการ หรือไม่เพียงแต่ให้เป็นสนามบินสำหรับผู้โดยสารใช้บริการขึ้นลงเครื่องบินเท่านั้น แต่ยังมีความสุขในการเดินทางด้วยการจับจ่ายใช้สอย เหมือนกับหลายคนที่ชอบเดินทางไปช้อปปิ้ง อย่างสนามบินดูไบ เป็นตัวอย่าง รวมไปถึงมีโซนเพื่อความบันเทิง ทั้งสปา และโรงภาพยนตร์

สำหรับเงื่อนไขที่กำหนดให้คิดอัตราค่าบริการสินค้าและบริการนั้น ให้แพงกับราคาที่จำหน่ายปกติ หรือราคาตลาดไม่เกิน 25% โดย ทอท. จะได้รับส่วนแบ่งรายได้จากราคาส่วนเกิน 6% โดย ทอท. จะรับรู้รายได้ทันที ที่มีการขายสินค้า เพราะได้ใช้ระบบเชื่อมโยงข้อมูล POS (Point of Sales)

รายได้จากการบริหารพื้นที่ของคิง เพาเวอร์ ถือเป็นรายได้ส่วนสำคัญของ ทอท. เพราะปัจจุบันสนามบินมีการแข่งขันกันพัฒนาพื้นที่ Duty Free กันอย่างมาก เพื่อดึงผู้โดยสารและสร้างรายได้ และที่สำคัญยังมีสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ใต้อาคารผู้โดยสาร ที่จะทำให้ผู้ที่อยู่ใจกลางเมืองสามารถโดยสารรถไฟมาเพื่อใช้บริการร้านค้าและบริการต่างๆ ในอาคารผู้โดยสาร ซึ่ง ”สมชัย” บอกว่า คิง เพาเวอร์เองได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าไม่เพียงแต่สำหรับบริการผู้โดยสารเท่านั้น แต่บริการที่อำนวยความสะดวกสำหรับคนรุ่นใหม่ทั้งร้านกาแฟ เครื่องดื่ม และอินเทอร์เน็ต และศูนย์รวมความบันเทิง จะดึงดูดกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่มาใช้บริการได้ด้วย

ประเภทร้านค้าของคิง เพาเวอร์ฯ ในอาคารผู้โดยสาร
ชั้น 2 ร้านขายยา, ร้านหนังสือ, Duty Free Shop, ร้านจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพ, จุดให้บริการเช่ารถ และลีมูนซีน, เคาน์เตอร์แลกเงินตรา, ร้านอาอาหารและเครื่องดื่ม และร้านสะดวกซื้อ
ชั้น 3 ภัตตาคาร, สปา และนวดแผนไทย, กิฟต์ช็อป, ร้านจำหน่ายของที่ระลึก, ร้านหนังสือ, ศูนย์อาหาร, โซนบันเทิง
ชั้น 4 โซนบันเทิง (มินิเธียเตอร์, เกมโซน, คาราโอเกะ), ฟิตเนส เซ็นเตอร์, บิสสิเนสเซ็นเตอร์ , วีไอพี เลานจ์ ของสายการบิน,ร้านจำหน่ายสินค้าเด็ก และเพลง,Duty Free Shop, ร้านโอท็อป , ภัตตาคารอาหารจีน ไทย และญี่ปุ่น และ ห้องพักสำหรับผู้โดยสารที่อยู่ในสนามบินเป็นเวลานาน, ร้านค้าสินค้าแบรนด์เนม, ร้านกาแฟ, ร้านจำหน่ายสินค้าประเภทเทคโนโลยี และอิเล็กทรอนิกส์, เคาน์เตอร์แลกเปลี่ยนเงิน

จากข้อมูลของบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด สรุปได้ว่า บริษัทแบ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ผู้โดยสารเที่ยวบินระหว่างประเทศ 2.ผู้โดยสารเที่ยวบินภายในประเทศ 3.ผู้โดยสาร Transit/Transfer (เปลี่ยนเครื่อง) 4. ผู้โดยสาร Early Flight / Late Flight (ต้องรออยู่ในสนามบินเป็นเวลานานเพื่อเปลี่ยนเครื่อง) และ 5.กลุ่มผู้มารับมาส่งผู้โดยสาร

เพื่อสนองตอบลูกค้าแต่ละกลุ่ม จึงเน้นหลักการออกแบบพื้นที่ร้านค้า ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ
1. ความหลากหลาย : ในการออกแบบและจัดสรรพื้นที่ส่วนกิจกรรมเชิงพาณิชย์ กำหนดให้มีความหลากหลายทั้งส่วนของร้านค้าและบริการ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ของการช้อปปิ้ง ด้วยร้านค้ารูปแบบต่างๆ ให้บริการอยู่หลายจุด หรือส่วนของร้านอาหาร นอกจากนี้ยังมีบริการจากธนาคารและบริการด้านความบันเทิง

2. การสัญจรของผู้โดยสาร : นอกจากความหลากหลายของร้านค้าและบริการแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ การสัญจรของผู้โดยสาร ซึ่งได้มีการออกแบบให้สอดคล้องและลงตัวกับการสัญจร ภายใต้แนวคิด Walk Through ทำให้การจับจ่ายใช้สอยเกิดความเพลิดเพลิน และสอดคล้องกับการจัดการสัญจรภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ต้องการให้การสัญจรของผู้โดยสารเกิดความสะดวกสบาย รวดเร็ว และปลอดภัยมากที่สุด

3. รูปแบบการตกแต่ง : มีการออกแบบงานสถาปัตยกรรมและมัณฑนศิลป์ ที่สะท้อนถึงมรดกทางวัฒนธรรม และคุณค่าความเป็นไทย

นอกจากนี้ยังมีหลักการออกแบบที่เน้นความทันสมัยและเอกลักษณ์ความเป็นไทยร่วมสมัย เพื่อสร้างให้เกิดความรู้สึกแตกต่างจากสนามบินทั่วไป ประกอบด้วย 4 ส่วน ดังนี้

1. World of Thailand เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของสนามบินสุวรรณภูมิ ที่จะสร้างความประทับใจให้กับนักเดินทาง ด้วยประติมากรรม “เทวตำนานการกวนเกษียรสมุทร” ที่มีขนาดใหญ่ ความยาวถึง 21 เมตร

2. Specialty retail เป็นพื้นที่จัดแสดงสินค้า Brand Name ชั้นนำระดับโลก และร้านค้า Concept Shop ที่รวบรวมสินค้าประเภทต่างๆ อย่างเป็นหมวดหมู่ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเลือกซื้อสินค้าประเภทที่ต้องการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยมีรูปแบบการตกแต่งที่เน้นวัสดุจากธรรมชาติ เพื่อแสดงถึงความละเมียดละไมและทรงคุณค่าความเป็นไทย แต่แฝงไว้ด้วยความหรูหราและสวยงามตามยุคสมัย

3. Walk through Duty Free เป็นพื้นที่ที่มีการตกแต่งอย่างสวยงามด้วยสถาปัตยกรรมร่วมสมัย และเทคนิคการจัด Display ที่ได้มาตรฐานระดับโลก

4. ร้านค้าจากโครงการหลวงและ OTOP จำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เป็นโครงการในพระราชดำริ โดยจุดเด่นของพื้นที่ส่วนนี้จะตกแต่งด้วยวัสดุอุปกรณ์ ที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์และขนบธรรมเนียมประเพณี จำหน่ายสินค้าที่ผ่านการผลิตด้วยฝีมือคนไทยจากทั่วทุกจังหวัด ควรค่าแก่เลือกสรรและเป็นสินค้าของฝาก ภายใต้แนวคิด “Thai Gift Destination”

นอกจากร้านค้าปลอดอากรแล้ว ภายในพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ยังประกอบไปด้วยร้านค้าและบริการชั้นนำหลายประเภท ได้แก่

1. ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ทั้งภัตตาคาร ร้านอาหารจานด่วน (ฟาสต์ฟู้ด) ร้านเครื่องดื่ม และของว่าง รวมไปถึงศูนย์อาหาร

2. สปา จัดให้มีบริการสปาหลายแบบตามความต้องการและเวลาของผู้โดยสาร เช่น นวดฝ่าเท้า นวดแผนไทย อบสมุนไพร การบำบัดด้วยศาสตร์แห่งเครื่องหอมหรืออโรมาเทอราปี

3. Salon จัดให้มีร้านบริการเสริมความงามที่มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายทั่วโลก
4. Day Rooms บริการห้องพัก ที่เตรียมไว้บริการสำหรับผู้โดยสารที่ต้องอยู่ที่ท่าอากาศยานเป็นเวลา
นาน เช่น ผู้โดยสาร Early Flight, Late Flight และผู้โดยสาร ที่รอเปลี่ยนเครื่อง บริการที่จัดให้มีทั้ง ห้องนอน ห้องอาบน้ำ ที่ตกแต่งอย่างสวยงาม

5. Karaoke & Game Rooms รูปแบบความบันเทิงที่ชวนให้ผู้มีใจรักความสนุกสนาน ได้เพลิดเพลินกับห้องคาราโอเกะที่ทันสมัย และห้องเกมที่เตรียมไว้บริการ เพื่อให้ผู้โดยสารได้เลือกพักผ่อนอย่างเพลิดเพลิน

6. Fitness & Business Center เป็นบริการที่จะช่วยให้นักธุรกิจสามารถทำงานและติดต่อธุรกิจได้ในระหว่างที่รอเวลาขึ้นเครื่อง รวมไปถึงศูนย์ออกกำลังกาย
7. Banking บริการด้านการเงิน ซึ่งเป็นบริการที่สำคัญอีกประเภทหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสาขาธนาคาร และบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ทุกชั้น ทั้งอาคารผู้โดยสารและอาคารเทียบเครื่องบิน ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการทางด้านการเงินได้อย่างครบวงจรและทั่วถึง