สุวรรณภูมิ ”อภิมหาโกง”

จากทุ่งนา และบ่อปลาสลิดจำหลายหลายพันบ่อ สุดลูกหูลูกตาในท้องทุ่งหนองงูเห่ากว่า 20,000 ไร่ช่วง 10 ที่ผ่านมา แทบไม่น่าเชื่อว่าขณะนี้มีสิ่งก่อสร้างเกิดขึ้นมากมาย กลายเป็นอีกโลกหนึ่ง สำหรับเป็นสนามบินระดับสากล “สนามบินสุวรรณภูมิ” ที่ทำลายสถิติโลกหลายรายการ

ไม่เพียงสถิติใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างยาวนานที่สุดถึง 46 ปี นับตั้งแต่ริเริ่มโครงการในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี พ.ศ. 2503 เป็นสนามบินมีพื้นที่ใช้สอยในอาคารผู้โดยสารเดียวที่มากที่สุดกว่า 500,000 ตารางเมตร มีอาคารหอควบคุมการจราจรทางอากาศที่สูงที่สุดในโลก 132 เมตรเท่านั้น ยังมีสิ่งที่เป็นที่สุดในความรู้สึกของคนไทยอีกสิ่งหนึ่ง นั่นคือ เป็นโปรเจกต์อภิมหาโกง โดยเฉพาะคนรุ่นปัจจุบันที่มีโอกาสเห็นพัฒนาการของการก่อสร้างสนามบินแห่งนี้ เชื่อว่าหลายคนได้น้ำตาไหลให้กับทำเลทองแห่งนี้ที่ถูกรุมทึ้ง แย่งชิงผลประโยชน์จากคนบางกลุ่มบางพวก

อาการโกงที่ถูกเปิดโปงอย่างหนัก เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงการก่อสร้างโครงการ ที่ต้องประมูลหาผู้รับเหมามาก่อสร้างส่วนต่างๆ ของสนามบิน และหนักยิ่งขึ้นในช่วง 6 ปีหลังที่งานก่อสร้างถูกเร่ง เพื่อให้สนามบินเปิดใช้งานโดยเร็วที่สุด

ช่วงกว่า 10 ปี คือช่วงที่ประเทศชาติได้ผ่านการบริหารของหลายรัฐบาล ตั้งแต่รัฐบาลนายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีตผู้นำพรรคความหวังใหม่ วนกลับมาที่รัฐบาลนายชวนอีกครั้ง และช่วง หลัง คือช่วงของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย

ระหว่างเวลาของ 10 ปี แต่ละรัฐบาลมอบหมายให้ขุนพลของพรรค ทั้งระดับรองหัวหน้าพรรค และระดับเลขาธิการพรรค เข้ามากำกับดูแลงานก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิอย่างใกล้ชิด ผ่านเก้าอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมบ้าง และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จนรัฐมนตรีบางคนได้ฉายาไปต่างๆ กัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้รับเหมาที่เรียกรัฐมนตรีบางคนว่ามิสเตอร์ 8% บางคนในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟู ก็ถูกเรียกว่า มิสเตอร์ 20% แถมเบี้ยบ้ายรายทางอีกเป็นระยะ ทั้งการเลี้ยงดูปูเสื่อและพาไปดูงานต่างในต่างประเทศ

ยุคสมัยของกระทรวงคมนาคมในช่วงหลัง จึงเปลี่ยนจากเค้กสัมปทานธุรกิจสื่อสาร มาเป็นสนามบินสุวรรณภูมิอย่างเห็นได้ชัด

เพียงแค่ช่วงเริ่มต้นของโครงการ ด้วยการหาผู้รับเหมาเพื่อปรับปรุงพื้นที่สำหรับก่อสร้าง ก็ฝุ่นตลบไปกับการเปิดประมูล ล้มประมูล และเปิดประมูลใหม่ ที่โด่งดังในช่วงนั้นเรียกกันว่า ”ประมูลถมทราย” ที่ในที่สุดไม่ว่าจะล้มประมูลอย่างไร และรัฐบาลไหนเข้ามา จะเป็นประชาธิปัตย์ หรือในการดูแล ของ ”สมศักดิ์ เทพสุทิน” ที่เคยสังกัดพรรคกิจสังคม และภายหลังควบกิจการเข้าพรรคไทยรักไทย งานถมทรายมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท ก็ตกเป็นของกลุ่มบริษัทอิตาเลี่ยนไทย ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด หรืออิตัลไทย เช่นเดียวกับอภิมหาโครงการของสนามบินสุวรรณภูมิ อย่างโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร และอาคารเทียบเครื่องบิน (Terminal & Concourse) และงานอื่นๆ รวมกว่า 60,000 ล้านบาท ก็ตกเป็นของกลุ่มอิตัลไทย

ดอกผลของการถมทราย เรายังคงเห็น “สมศักดิ์ เทพสุทิน” เป็นหนึ่งในรัฐมนตรีของพรรคไทยรักไทย ไม่ว่าพ.ต.ท.ทักษิณจะปรับคณะรัฐมนตรีกี่รอบในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา และยังเป็นผู้ใกล้ชิดของน้องสาวผู้นำพรรคไทยรักไทย “เยาวภา วงศ์สวัสดิ์” รวมถึงมีบารมี ถึงขั้นเป็นหัวหน้ากลุ่มวังน้ำยม มุ้งหนึ่งในพรรคไทยรักไทย ที่มีอำนาจต่อรองกับหน้าพรรคในทุกจังหวะ แม้ในอีกด้านหนึ่ง คือเสียงชื่นชมที่ว่างานถมทรายฝีมือของ ”สมศักดิ์ เทพสุทิน” นั้นเป็นคุณูปการต่อโครงการ เพราะจัดซื้อได้ถูก และได้สเปกของทรายที่มีคุณภาพ จนรับรองกันได้ว่าจะไม่ทำให้สนามบินทรุด ถูกน้ำท่วมอย่างแน่นอน

ส่วนดอกผลของเทอร์มินอลฯ และงานอื่นๆ นั้นส่งกระจายไปยังหลายคนที่เกี่ยวข้อง และแทบทุกพรรคการเมือง เว้นเสียแต่โครงการที่ฮือฮาระดับสากลอย่าง ”ซีทีเอ็กซ์” ที่ทำให้ ”สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” เลขาธิการพรรคไทยรักไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในช่วงนั้น สะบักสะบอม จนร้อนรนถึงท่านผู้นำที่ต้องปรับคณะรัฐมนตรี หนีอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งที่รัฐบาลไทยรักไทยเพิ่งจัดตั้งรัฐบาลเป็นรัฐบาลทักษิณ 2 ได้ไม่ถึง 6 เดือน หลังเลือกตั้งเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2548

สุดฉาวของซีทีเอ็กซ์ คือการถูกสหรัฐอเมริกาตรวจสอบได้ว่าเป็นโครงการของไทย ที่มีคนไทยไปสร้าง ”สินบนข้ามชาติ”

ข่าวนี้ต้องยกเครดิตให้กับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ที่นอกจากเปิดประเด็นแล้วยังติดตามหาประเด็นข่าวอย่างต่อเนื่องจนได้รับรางวัลข่าวสืบสวนสอบสวนดีเด่นประจำปี 2548

หลังจากรัฐบาลไทยรักไทยจัดตั้งรัฐบาลได้หมาดๆ เมื่อต้นเดือนมีนาคม เพียงเดือนเศษหลังจากนั้น หรือวันที่ 25 เมษายน 2549 หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจก็ตีพิมพ์ข่าวผลการตัดสินและลงโทษของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. สหรัฐอเมริกา ต่อบริษัทอินวิชั่น เทคโนโลยีส์ จำกัด ผู้จำหน่ายเครื่องซีทีเอ็กซ์ หรือเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด และสารเสพติดให้กับบริษัทคนไทย สำหรับติดตั้งในโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องจากพบว่ามีการร่วมเห็นชอบ และรับรู้เพื่อให้ตัวแทน หรือผู้จัดจำหน่ายในไทย ติดสินเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมืองไทย เพื่ออนุมัติจัดซื้อ ”ซีทีเอ็กซ์ 26 เครื่อง วงเงิน 35.8 ล้านเหรียญสหรัฐ”

การลงโทษด้วยการให้ ”อินวิชั่น” จ่ายเงินค่าปรับเพียงประมาณ 8 แสนดอลลาร์ หรือเพียงประมาณ 30 ล้านบาท อาจไม่มากมายนัก แต่สะท้อนให้เห็นว่าทั้งมาตรฐานของบริษัทจากอเมริกา และความโปร่งใสในการทำธุรกิจของไทยนั้นยังคงต่ำอยู่มาก

สำหรับมาตรฐานของไทย ยิ่งตกต่ำอย่างหนัก เมื่อรัฐบาลไทยรักไทย ที่เน้นนโยบายการปราบปรามการคอรัปชั่น พยายามฟอกให้โครงการนี้ ไม่ใช่ปัญหา ”สินบนข้ามชาติ” อย่างที่ถูกกล่าวหา ด้วยการพยายามหากระบวนการฟอก ทั้งการตั้งกรรมการสอบที่สรุปออกมาว่า ”ไม่พบสิ่งผิดปกติ” การย้าย ”สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แถมพ่วงด้วยตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เมื่อพ้นจากหน้าที่เดิม จึงไม่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎร

การพยายามรวบรัดตัดความให้การถกเถียงเรื่องสินบนจบความ ด้วยการสั่งซื้อตรงจากอินวิชั่น หรือภายหลังกลุ่มจีอีได้เข้ามาซื้อกิจการ โดยให้บทม. หรือบริษัทท่าอากาศยานสากลแห่งใหม่ บริษัทลูกของบริษัทท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เซ็นสัญญาซื้อ โดยไม่ผ่านนายหน้า แม้ว่านายหน้าคนเดิม คือบริษัทแพทริออต บิสซิเนส คอนซัลแตนท์ จำกัด จะยังคงได้งานติดตั้งอยู่เช่นเดิมก็ตาม

หลังจากนั้นดูเหมือนว่ารัฐบาลไทยรักไทยจะสั่นคลอนตลอดเวลา เพราะปมทุจริตซีทีเอ็กซ์ยังคงพร้อมเสมอที่จะถูกสะกิดออกมาตอกย้ำมาตรฐานความโปร่งใสของพรรคไทยรักไทย ที่ติดลบลงเรื่อยๆ จนสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผลจากการกระทำในอดีตของเหล่าพลพรรค ผู้มีอำนาจ ฉ้อโกงจากแผ่นดินทองแห่งนี้ ปรากฏให้เห็นอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบัน

“ก๊วน” ซีทีเอ็กซ์

ปลายปี 2545- พลเอกสมชัย สมประสงค์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัทท่าอากาศยานสากลแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) ผู้ดูแลรับผิดชอบงานก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ เชิญชวนกลุ่มสื่อมวลชนร่วมเดินทางดูงานสนามบินฮ่องกง และเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน -1 ธันวาคม 2545 พร้อมกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในขณะนั้น และร่วมด้วยคณะกรรมการเร่งรัดงานก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ที่มีนายสมบัติ อุทัยสางเป็นประธน และคณะกรรมการบทม.ทั้งชุด ที่มีนายศรีสุข จันทรางศุ เป็นประธาน

หลังการเดินทาง “สุริยะ” ให้สัมภาษณ์ว่าควรปรับเปลี่ยนให้สนามบินสุวรรณภูมิ ใช้เครื่องตรวจกระเป๋า แบบ Inline Screening 100% หรือการตรวจระหว่างกระเป๋าถูกส่งผ่านไปยังจุดต่างๆ บนสายพานลำเลียงกระเป๋า จากเดิมที่เป็นแบบ Stand Alone ที่ตรวจตามเคาน์เตอร์ พร้อมขยายการรองรับผู้โดยสารของอาคารจาก 30 ล้านคน เป็น 45 ล้านคน

-มกราคม 2546 คณะกรรมการเร่งรัดฯเสนอให้ปรับปรุงระบบระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า

-11 พฤศจิกายน 2546 คณะรัฐมนตรี โดยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นประธาน อนุมัติปรับปรุงระบบสายพาน เพื่อรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ด้วยงบประมาณ 4,500 ล้านบาท (ภายหลังลดลง 4,335 ล้านบาท)

-27 พฤศจิกายน 2546 คณะกรรมการบทม. มีมติให้ว่าจ้างกลุ่มไอทีโอ ซึ่งมีอิตัลไทย เป็นแกนนำ ดำเนินโครงการ แม้ว่าอิตัลไทย จะมีหนังสือตอบกลับว่าเกรงว่างจะดำเนินการเสร็จไม่ทันตามกำหนด แต่เมื่อเจรจาลงตัว และก่อนเซ็นสัญญา ต่างฝ่ายต่างได้ยืนยันนำข้อมูลจากที่ปรึกษา คือบริษัทคอวโทรเทค และกลุ่มพีเอ็มซี ที่แนะนำให้ใช้เครื่องซีทีเอ็กซ์ 9000 DSI ของบริษัทอินวิชั่น เทคโนโลยี จำกัด

-12 มีนาคม 2547 กลุ่มไอทีโอ ลงนามสัญญากับบทม. เรียกว่าโครงการปรับเปลี่ยนแบบระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า และงานออกแบบ ผลิต จัดหา ติดตั้ง และทดสอบระบบตรวจสอบกระเป๋า 100% (The Baggage Handling Design Modifications and The Design, Manufacture, Test Supply, Installation, and Commission of The 100% Inline Hold Baggage Screening) พร้อมกับปรากฏชื่อของผู้รับเหมาช่วง หรือ Sub Contractor เป็นบริษัทแพทริออต บิสสิเนส คอนซัลแตนท์ จำกัด ที่มีนายวรพจน์ ยศะทัตต์ หรือเสี่ยเช ที่เป็นตัวแทนของอินวิชั่น รับงานนี้ไป 2,608 ล้านบาท

โครงการที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สั่งตรวจสอบ
1.โครงการถมทรายรันเวย์ตะวันออก มูลค่า 1,500 ล้านบาท
2.โครงการติดตั้งระบบสารสนเทศ ด่านตรวจคนเข้าเมือง 169 ล้านบาท
3.โครงการวางท่อร้อยสายไฟ อาคารผู้โดยสาร 2,000 ล้านบาท
4.โครงการครัวการบิน (การบินไทย) ผลตอบแทน 116 ล้านบาท
5.โครงการคาร์โก 400 ล้านบาท
6.โครงการบริการอุปกรณ์บริการภาคพื้นและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการซ่อมบำรุง
7.ตรวจสอบการให้คิงเพาเวอร์ฯได้รับบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในอาคารผู้โดยสาร