ความมหัศจรรย์ของสนามบินสุวรรณภูมิ ไม่เพียงแต่เป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของประเทศไทยเท่านั้น สิ่งที่เรียกกันว่าไม่เชื่ออย่าลบหลู่นั้น ก็ชัดเจนอย่างยิ่งบนพื้นที่ทำเลทองแห่งนี้
คำบอกเล่าจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวงคมนาคม และบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ต่างมีเรื่องเล่าขานตรงกันถึงความเชื่อ และความบังเอิญที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มโครงการ จนถึงช่วงก่อสร้าง และแม้กระทั่งเมื่อก่อสร้างเสร็จแล้ว
สิ่งมหัศจรรย์ ที่พูดคุยกัน และเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมักภูมิใจบอกเล่าเสมอคือ “มหัศจรรย์หมายเลข 9” เพราะผู้ดูแลรับผิดชอบงานก่อสร้างต่างทึ่งกับเลข 9 ที่เกิดขึ้น
นับตั้งแต่เลขที่มหามงคลสำหรับคนไทย เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไทยองค์ปัจจุบัน คือรัชกาลที่ 9
เลข 9 ในสนามบินสุวรรณภูมินั้นจากคำบอกเล่าของผู้บริหารบริษัทท่าอากาศยานไทยนั้นเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจของผู้ออกแบบอาคารผู้โดยสาร และอาคารเทียบเครื่องบินที่เป็นต่างชาติ คือทีมงานของ เฮลมุท จาห์น สถาปนิกระดับโลก
เริ่มตั้งแต่ระยะระหว่างเสาแต่ละต้นของตัวอาคารผู้โดยสารห่างกัน 9 เมตร โดยเสาหลักหรือเสาไพลอน ที่ค้ำคานหลักรั้น (ซูเปอร์ทรัส) มี 2 ตัวต่อ 1 คาน รวมกันเป็น 1 ชุด ซึ่งเสาสองตัวที่ค้ำคานนี้จะห่างกัน 81 เมตร ที่คำนวณกันว่าเลข 8 เมื่อบวกกับ 1 ก็ได้เลข 9
ในส่วนของชุดเสาที่อยู่ทางทิศตะวันออก จะห่างจากชุดเสาทางด้านทิศตะวันตก 126 เมตร และเช่นกัน 1+2+6 ก็ได้ 9 เช่นกัน
มาที่หลังคาผ้าใยสังเคราะห์ที่ติดตั้งกับอาคารเทียบเครื่องบินมีทั้งหมด 108 ผืน ซึ่งบวกกัน 1+0+8 ก็ได้ 9 หรือหากนำเลข 9 มาหาร จำนวน 108 ก็ได้ผลลัพธ์ลงตัวที่เลข 9 พอดี
นอกจากนี้ในส่วนของทางเลื่อนในอาคารเทียบเครื่องบิน ซึ่งมีทั้งหมด 95 ชุด มีความยาวตั้งแต่ 27 เมตร และ 108 เมตร เลขทั้ง 2 ชุด 2+7 และ 1+0+8 ก็บวกกันได้ 9 เช่นกัน
ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ความเร็วของทางเลื่อนในอาคารรวมทั้งทางเลื่อนลาดเอียง ก็มีความเร็ว 45 เมตรต่อนาที บวกกันก็ลงตัวที่เลข 9 หากนับตัวเลขจำนวนผู้โดยสารที่อาคารแห่งนี้สามารถรองรับผู้โดยสารที่มาใช้บริการได้ ก็อยู่ที่ปีละ 45 ล้านคน
หลังจากนั้นความตั้งใจสร้างความมงคลให้แก่สนามบินแห่งใหม่ด้วยเลข 9 ก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันเริ่มทดสอบทางเทคนิคของสนามบิน ด้วยเที่ยวบินปฐมฤกษ์ของการบินไทย เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2548 การบินไทยได้กำหนดเที่ยวบินบินออกจากสนามบินดอนเมือง เวลา 08.39 น. กำหนดแตะพื้นรันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิ 09.19 น. หรือแม้กระทั่งการทดสอบเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2549 ที่การบินไทยได้กำหนดเที่ยวบินที่บินออกจากดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ที่กำหนดเวลาลงท้ายด้วยเลข 9
ในวันที่ 9 เดือน 9 กันยายน 2549 นี้ ผู้บริหารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังกำหนดจัดงานเดิน วิ่งเทิดพระเกียรติ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ในเวลา 9.09 นาทีอีกด้วย
บริษัทท่าอากาศยานไทย ในฐานะผู้รับผิดชอบการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ นอกจากสร้างกำลังใจด้วยเลขมงคลนี้แล้ว ยังหลีกเลี่ยงเลขที่หลายคนเชื่อว่าเป็นเลขไม่ดี อย่างหมายเลขที่ 13 เช่นในพื้นที่ผู้โดยสารขาเข้า ชั้น 2 ของตัวอาคาร จุดรับกระเป๋า (Baggage Claim Carousels) จากสายพานลำเลียงกระเป๋า ซึ่งมีทั้งหมด 22 แถว แต่มีตัวเลขนับถึง 23 เพราะเมื่อนับเลขจากแถวที่ 12 ในแถวถัดไป ก็ข้ามไปใช้หมายเลข 14 แทน
ความเชื่อในมหัศจรรย์หมายเลข 9 นี้ ถือเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจอย่างดีทั้งสำหรับผู้ที่รับผิดชอบงานก่อสร้าง เพราะกว่าที่โครงการนี้จะก่อสร้างแล้วเสร็จ ก็ผ่านอุปสรรคมากมาย จนหลายคนในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ย้อนเรื่องราวว่าเริ่มต้นจากที่ตั้งของสนามบิน ที่รัฐบาลไทย เมื่อปี พ.ศ. 2504 โดยกระทรวงคมนาคมได้ศึกษาและเลือกพื้นที่บริเวณหนองงูเห่า ที่ตำบลบางโฉลง ตำบลราชาเทวะ และตำบลหนองปรือ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ให้เป็นที่ตั้งสนามบินใหม่
“หนองงูเห่า” ชื่อที่บ่งบอกถึงลักษณะทางกายภาพ ของหนองน้ำแห่งนี้ และยิ่งไปกว่านั้น ข้าราชการซี 9 คนหนึ่งของกระทรวงคมนาคมเล่าว่า ในพื้นที่กว่า 20,000 ไร่ในหนองงูเห่านั้น มีประชากรอาศัยอยู่ถึง 1,962 หลังคาเรือน ที่แต่ละหลังได้ตั้งพระภูมิเจ้าที่ และเทวาอารักษ์ เมื่อแผนการก่อสร้างเริ่มขึ้น จึงต้องอพยพชาวบ้าน และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมทั้งหมด
ด้วยปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลายครั้งช่วงเริ่มการก่อสร้าง ที่แสดงถึงอุปสรรค ที่อาจทำให้การก่อสร้างสนามบินสะดุด “ศรีสุข จันทรางศุ” ในฐานะประธานกรรมการของบริษัทท่าอากาศยานไทย ผู้รับผิดชอบงานก่อสร้าง จึงเสนอให้ก่อสร้างศาลเทพารักษ์ เพื่อเป็นที่สถิตของเทพยดา และพระภูมิเจ้าที่ โดยระหว่างการบวงสรวงตั้งศาล พราหมณ์ผู้ทำหน้าที่อัญเชิญเทวดาในพิธีได้เล่าว่าหากเทวดาฟ้าดินรับรู้ถึงการบรวงสรวงครั้งนี้ จะมีแมลงบินผ่านให้เห็น และโดยทันใดนั้น เมื่อพราหมณ์เล่าจบ ก็ปรากฏผึ้งตัวใหญ่บินผ่านหน้า “ศรีสุข” ด้วยความเร็วขนาดที่ก่อให้เกิดแรงลมปะทะหน้าจนรู้สึกได้
สิ่งที่เกิดขึ้นอาจยากที่จะพิสูจน์ได้ในทางวิทยาศาสตร์ แต่ถือเป็นความมหัศจรรย์ ที่เกิดขึ้นให้สามารถนำมาเล่าเป็นเรื่องราวส่วนหนึ่งของ ”สนามบินสุวรรณภูมิ” แห่งนี้