เนื้อที่ทั้งหมดของสนามบินสุวรรณภูมิประมาณ 20,000 ไร่ และพื้นที่ในบริเวณอาคารผู้โดยสารจำนวน 563,000 ตารางเมตร มีพื้นที่หวงห้าม ระบุชัดเจนผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องห้ามเข้า ด้วยเหตุผลสำคัญ คือเรื่องระบบรักษาความปลอดภัยของสนามบิน แต่ทีมงาน POSITIONING จะพาเข้าไปในพื้นที่ต้องห้ามเหล่านี้
1. ท้าจับระเบิดกับ CTX
ลิฟต์ด้านในสุดของอาคารผู้โดยสาร ในบริเวณชั้น 4 นำพาทีมงานของเรา และเจ้าหน้าที่ของการท่าอากาศยาน 2 คน เดินทางลงสู่บริเวณชั้นใต้ดินของอาคาร ซึ่งเต็มไปด้วยรางเลื่อน และระบบสายพานทอดยาวสลับซับซ้อนทั่วอาณาบริเวณ เพื่อทำหน้าที่ลำเลียงกระเป๋าผู้โดยสาร ความยาวของสายพานทั้งหมด 22.312 กิโลเมตร
กระเป๋าผู้โดยสารที่ผ่านการ Check in จากเคาน์เตอร์ของสายการบิน จะถูกลำเลียงมายังบริเวณใต้ดิน หากเป็นกระเป๋าที่ต้องสงสัย จะถูกส่งเข้าสู่สายพานสีแดง เพื่อเข้าเครื่อง CTX หรือเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดและสารเสพติด ซึ่งเจ้าหน้าที่ของ ทอท. ยืนยันว่าเครื่องนี้สามารถตรวจจับไม่ให้หลุดรอดได้ 100% เต็ม
หากเป็นกระเป๋าปกติ ไม่มีวัตถุต้องสงสัยใดๆ จะเข้าสู่สายพานสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นระบบจัดกระเป๋า เพื่อเตรียมเข้าสู่สายการบินที่รออยู่ กระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 20 นาทีต่อใบ
CTX ถือเป็นอุปกรณ์ต้องห้าม สำหรับคนภายนอก หลายคนอยากเห็น อยากสัมผัส เพราะไม่เพียงแต่อยากรู้ว่ามีอยู่จริงเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารทุกคน การเดินขึ้นไปสัมผัสกับเครื่อง CTX ซึ่งต้องผ่านสายพาน และปีนบันไดขึ้นไป ต้องผ่านป้ายที่มีตัวอักษรขนาดใหญ่ชัดเจนว่า “ห้ามเข้า”
ด้วยความที่เป็นพื้นที่หวงห้าม ทีมงานของพวกเราจึงมีเวลาไม่มานนัก ก็ต้องเร่งมือ เก็บภาพ และข้อมูลกันอย่างเร่งรีบ
ถ้าจำกันได้ เครื่อง CTX 9000 หรือเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดและสารเสพติด ของบริษัทอินวิชั่น เทคโนโลยี จำกัด เคยโด่งดังแบบอื้อฉาวมาจาก กรณี “สินบนข้ามชาติ” โดย CTX เป็นส่วนหนึ่งของระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า มีชื่อเรียกว่า งานระบบขนส่งกระเป๋าและสัมภาระระบบตรวจสอบแบบ 100% (Hold Baggage Inline 100%) จากจุดเช็กอินบนชั้น 4 ของอาคารผู้โดยสาร จนถึงการส่งกระเป๋าขึ้นเครื่อง
เครื่อง CTX ทั้งหมด 26 เครื่อง ติดตั้งฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออกของอาคาร ฝั่งละ 13 เครื่อง รวมทั้งระบบมูลค่า 4,435 ล้านบาท ความพิเศษของเครื่องนี้อยู่ที่ตัวระบบ ที่สามารถสแกนหาวัตถุระเบิดและสารเสพติด ตรวจกระเป๋าได้ชั่วโมงละ 10,000 ใบ ผู้บริหารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยืนยันว่าสามารถตรวจจับได้แม้กระทั่งวัตถุต้องสงสัยที่เป็นของเหลว หรือแม้แต่ประดิษฐกรรมของแผนก่อการร้าย
2. ห้องบัญชาการสกัดบอมบ์
บริเวณชั้นใต้ดินของอาคารผู้โดยสาร ยังมีส่วนสำคัญที่ทำงานต่อเนื่องจากระบบสายพาน และเครื่อง CTX คือห้องควบคุมระบบทั้งหมด ที่เรียกว่า Baggage Control Room (BCR) ถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบตรวจสอบความปลอดภัยของสัมภาระต่างๆ ของผู้โดยสาร มีเจ้าหน้าที่ประจำการตลอดเวลา ด้วยจอคอมพิวเตอร์ทั้งหมด 8 คู่ กับพนักงานจำนวนกว่า 20 คน ตลอด 20 ชั่วโมง
ทันทีที่เครื่อง CTX รายงานพบสิ่งผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุต้องสงสัยว่าจะเป็นระเบิด หรือสารเสพติด จะมีการบันทึกและสั่งการต่อโดยทันที
กระเป๋าต้องสงสัย จะถูกส่งต่อไปยังห้องตรวจสอบที่อยู่ด้านบน ที่ก่ออิฐเป็นกำแพงหนาทึบ ภายใต้ชั้นใต้ดินของอาคารผู้โดยสาร
การขนย้ายวัตถุต้องสงสัย ถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก ลิฟต์โดยสารที่ทำงานขนย้าย จึงต้องออกแบบมาเป็นพิเศษ การโดยสารลิฟต์ของทีมงาน POSITIONING ในวันนั้นจึงแทบไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวเลยแม้แต่น้อย
3. รถขนระเบิด
ถัดไม่ไกลจากห้องควบคุมระบบ คนทั่วไปอาจคิดว่าเป็น “รถปิกอัพ” ธรรมดา แต่ไม่ใช่สำหรับคันนี้ เพราะมันคือรถขนระเบิด ที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา และถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งฮีโร่ในการรักษาให้สนามบินรอดจากการบอมบ์
เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นระเบิด หรือสารอันตราย หากจำเป็นต้องนำออกจากพื้นที่ จะใช้รถปิกอัพคันดังกล่าว ซึ่งจอดรออยู่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อลากถัง หรือแท็งก์ขนาดใหญ่ ที่บรรจุกล่องใส่วัตถุระเบิดออกจากสนามบิน โดยประสิทธิภาพของแท็งก์อยู่ในระดับสากล เพราะจัดซื้อมาพร้อมกับ CTX แพ็กเกจเดียวกันจากบริษัทอินวิชั่น เป็นแท็งก์ที่สามารถรองรับวัตถุระเบิดทีเอ็นทีขนาด 5 ปอนด์ ถ้าจะเทียบให้เห็นประสิทธิภาพของการทำลายล้าง เทียบเท่ากับระเบิดที่เคยทำลายตึกจอดรถของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ของสหรัฐอเมริกามาแล้ว
รถปิกอัพที่ใช้เป็นสายพันธุ์อเมริกา ยี่ห้อ ฟอร์ด รุ่น 150 กำลัง 300 แรงม้า ขนาด 5.4 ลิตร V8 รวมภาษีนำเข้าแล้วคิดเป็น 6 ล้านบาท สามารถลากของหนักกว่ารถปิกอัพทั่วไปที่จำหน่ายในไทย ที่มีเพียง 90 แรงม้า บรรทุกได้เต็มที่ประมาณ 1 ตันเท่านั้น ความจำเป็นต้องใช้รุ่นนี้ เพราะต้องมีความสัมพันธ์กันระหว่างการบรรทุกของหนัก และความเร็ว เพื่อให้นำระเบิดหรือวัตถุต้องสงสัยออกจากสนามบินเร็วที่สุด
4. หัวใจของสนามบินอยู่ที่นี่
ถัดจากพื้นที่ “อันตราย” มาถึงพื้นที่ที่เป็นเสมือน “หัวใจ” ของการควบคุมระบบการบิน ซึ่งเป็นอาคารขนาดย่อม ตั้งอยู่ไม่ไกลจากอาคารผู้โดยสาร ถือเป็นเขตหวงห้าม ที่ต้องมีการตรวจตราเป็นพิเศษ เพราะระบบควบคุมการปฏิบัติงานของสนามบินจะอยู่ที่นี่
อาคารนี้มีชื่อเรียกกันภายในว่าตึก AIMS ย่อมาจาก Airport Information Management System เป็นศูนย์กลางการสั่งการสำคัญของสนามบินสุวรรณภูมิ การเข้าออกของพนักงานทุกคนที่ต้องปฏิบัติงานภายในอาคารนี้ จะต้องมีบัตรผ่านเข้าออกที่บันทึกข้อมูลส่วนตัวพนักงาน รวมทั้งลายนิ้วมือของพนักงาน
ส่วนงานสำคัญแรก ภายในตึก AIMS คือ ศูนย์ปฏิบัติการท่าอากาศยาน (Airport Operation Center : AOC) เรียกได้ว่า เป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงสนามบิน เพราะทำหน้าที่การบริหารรายได้ให้กับบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด
พอดีกับเป็นวันซ้อมใหญ่ของสนามบิน ห้องนี้จึงเต็มไปด้วยเจ้าหน้าที่ กำลังปฏิบัติการซักซ้อม ชนิดข้ามวันข้ามคืน และเป็นวันสุดท้ายที่บุคคลภายนอกจะเข้าไปสัมผัสได้ จากนั้นห้องนี้จะเป็นพื้นที่หวงห้าม ที่เข้าได้เฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
จุดเด่นของห้องนี้ คือ แผงหน้าจอคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ เพื่อแสดงความเคลื่อนไหวต่างๆ บนสนามบิน ทั้งการขึ้นลงของเครื่องบิน และหลุมจอดเครื่องบินที่มีอยู่ทั้งหมด 120 จุด แล้วยังสามารถเรียกดูข้อมูลของเที่ยวบินต่างๆ ที่อยู่ทั่วโลก
ระบบนี้ สามารถเลือกดูเฉพาะเที่ยวบินที่ยืนยันบินมายังสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นระบบบริหารของกลุ่มเอบีบี ที่ใช้ซอฟต์แวร์ของ UFIS เช่นเดียวกับที่ใช้ในสนามบินที่กรุงเอเธนส์ ว่ากันว่าเป็นระบบที่แม่นยำในการบันทึกเวลาการใช้บริการสนามบินของเครื่องบินต่างๆ
ทันทีที่ล้อเครื่องบินแตะรันเวย์สนามบิน การตรวจจับเวลาจะเริ่มขึ้นทันที โดยข้อมูลการใช้สนามบินจะถูกส่งผ่านระบบสัญญาณสื่อสาร นำไปสู่การคิดคำนวณค่าใช้จ่ายของสายการบินนั้นๆ
จากนั้น “ข้อมูล” การใช้สนามบินของเครื่องบินดังกล่าว จะถูกส่งต่อไปยังระบบ Back Office ฝ่ายบัญชีและการเงิน (Airport Management Database) ที่ใช้ระบบของ SAP ติดตั้งโดยซีเมนส์
ทำให้การท่าอากาศยานฯ สามารถออกใบเรียกเก็บค่าใช้บริการสนามบิน ทั้งค่าลงจอด ค่าที่จอด จากสายการบินต่างๆ ได้ทันที แบบเรียลไทม์ จากเดิมที่ต้องใช้ระบบพนักงานจดบันทึกเวลา แล้วจึงสามารถเคลียร์บัญชีค่าใช้จ่ายจากสายการบินหลังจากนั้นอีก 2-3 วัน
ข้อมูลที่ถูกบันทึกและคำนวณด้วยระบบคอมพิวเตอร์แบบเรียลไทม์นี้ นอกจากจะสามารถดูข้อมูลย้อนหลังได้ 1 เดือนแล้ว ยังนำไปสู่การแสดงผลบนหน้าจอ เพื่อบอกถึงความเคลื่อนไหว สายการบินเข้าออกได้ตลอดเวลา
5. ตาที่สามของสนามบิน
ห้องถัดไปจากศูนย์ปฏิบัติการท่าอากาศยาน (Airport Operation Center : AOC คือ ศูนย์ควบคุมการรักษาความปลอดภัย (Security Control Center : SCC) อีกส่วนสำคัญในตึก AIMS ที่มีจอคอมพิวเตอร์ขนาดตั้งโต๊ะ และจอขนาดใหญ่ เรียงรายอยู่รอบบริเวณห้อง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่บางส่วนที่มาซักซ้อม เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดใช้ที่จะมีขึ้นในไม่ช้านี้
ความเคลื่อนไหวทั้งหมด จะถูกบันทึกผ่านโทรทัศน์วงจรปิดกว่า 1,000 ตัว ติดตั้งในบริเวณสนามบิน จะถูกส่งมายังศูนย์ควบคุมการรักษาความปลอดภัย โดยมีเจ้าหน้าที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำงานตลอด 24 ชั่วโมง
จุดเด่นของระบบนี้อยู่ที่กล้องวงจรปิด CCTV ซึ่งเจ้าหน้าที่ของ ทอท. ระบุว่า สามารถจับภาพทั้งหมดด้วยคุณภาพของภาพเทียบเท่ากับที่ตาเราเห็น โดยใช้เทคโนโลยีของบริษัท Nice Vision จากประเทศอิสราเอล ประเทศที่ได้ชื่อว่าเชี่ยวชาญกับการรักษาความปลอดภัย และการระแวดระวังการก่อการร้ายเป็นอย่างดี
6. หอที่สูงที่สุดในโลก
แม้ความสูงอาจจะไม่เท่าอาคารสูงอื่นๆ ที่มีในไทย แต่ความน่าตื่นเต้นของการโดยสาร “ลิฟต์” ตัวนี้ อยู่ที่การนำพาทีมงานของเราไปสู่จุดที่เรียกว่า เป็นหอบังคับการบินที่สูงที่สุดในโลก หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางว่า ศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศ (Air Traffic Control : ATC) ดำเนินการโดยบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย
ด้วยความสูง 132 เมตร หรือขนาดเท่ากับตึกประมาณ 40 ชั้น หอวิทยุการบินของไทยแห่งนี้ จึงได้ชื่อว่าเป็นหอวิทยุการบินที่สูงที่สุดในโลก สูงกว่าหอวิทยุการบินมาเลเซีย 10 เมตร
ชั้นบนสุดคือศูนย์ควบคุมการบินในระยะที่เจ้าหน้าที่สามารถมองเห็นด้วยสายตา ด้านตรง ในระยะ 180 องศา นอกเหนือจากนั้น จะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่คนต่อไป เรียกว่าส่วนบริการ (Aerodrome Control Service) มีเจ้าหน้าที่ประจำการช่วงละ 12 ชั่วโมง จำนวนกว่า 20 คน ตลอดเวลาที่อยู่ในหอนี้นอกจากมองเห็นทิวทัศน์ในมุมสูงของสนามบินสุวรรณภูมิแล้ว ยังจะได้ยินเสียงการสื่อสารระหว่างนักบิน และเจ้าหน้าที่ผ่านคลื่นวิทยุวอล์กกี้ ทอล์กกี้ตลอดเวลา
หากใครได้มีโอกาสยืนอยู่บนอาคารแห่งนี้ จะให้ความรู้สึกใกล้ชิดฟ้าในแบบที่แตกต่างจากการยืนในอาคารสูงแห่งอื่นใจกลางกรุง เพราะบนหอสูงที่ระดับ 132 เมตรแห่งนี้ ไม่มีอาคารใดสูงเทียบเท่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องมีหอสูงถึงขนาดนี้ เจ้าหน้าที่ประจำการเล่าว่า หากไม่สูงขนาดนี้ เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถมองเห็นรันเวย์รอบด้าน ตามาตรฐานการบิน เพราะจะถูกอาคารผู้โดยสาร และอาคารเทียบเครื่องบินที่ถูกออกแบบมาอย่างแบบแผ่ขยายไปรอบๆ บดบังรันเวย์บางส่วน
“โอกาสแบบนี้มีไม่บ่อยนัก”
วันที่ทีมงาน POSITIONING ไปที่สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นช่วงเวลาของซ้อม เพื่อเตรียมความพร้อม ที่จะเปิดใช้บริการให้ทันวันที่ 28 กันยายน
ทีมงานส่วนใหญ่จึงเป็นชายหนุ่มวัยฉกรรจ์ ร่างกายบึกบึน แต่งกายชุดลำลองฝึก เสื้อยืดสีเขียว กางเกงครึ่งท่อน สวมรองเท้าคอมแบ็ก จำนวนหลายสิบคน ถูกเกณฑ์จากหน่วยงานให้มาช่วยงาน ที่เรียกว่า เป็นภารกิจพิเศษ เพื่อทดสอบความพร้อมของสายพานลำเลียงกระเป๋า โดยจัดเป็นทีม 2 จุด คือ จุด Check in บนชั้น 4 และชั้นใต้ดินระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า ยิ่งทำให้อยากเข้าไปค้นหา
นายทหารคนหนึ่ง เล่าว่า ตนและเพื่อนในทีมได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการให้มาร่วมทดสอบในการลำเลียงกระเป๋า เพื่อทดสอบระบบความพร้อมของสายพานลำเลียงชนิดที่ต้องให้เหมือนจริง โดยภายในกระเป๋าบรรจุเศษผ้าจนเต็มกระเป๋า พวกเขาเริ่มทำงานกันตั้งแต่เช้า 8- 9 โมง มาสิ้นสุดจนถึงช่วงค่ำ การซ้อมถูกแบ่งออกเป็น 2 รอบ บ่ายและค่ำ ซึ่งการทำงานจะได้รับเบี้ยเลี้ยงจำนวนหนึ่ง จากบริษัทการท่าอากาศยาน
“รู้สึกสนุก งานก็ไม่ได้หนัก และถือเป็นประสบการณ์ที่ดี ไม่ค่อยมีโอกาสแบบนี้บ่อยนัก” นายทหารคนหนึ่งบอกความรู้สึก