ศักยภาพของสนามบินแต่ละประเทศ ทั้งในแง่ที่ตั้ง และขนาดของสนามบิน สิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับผู้โดยสารใช้งาน และสำหรับเครื่องบิน ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะดึงความเป็นศูนย์กลางทางการบิน หรือ ”ฮับ” โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน ย่อมมีการแข่งขันกันสูง อย่างเช่นที่มักได้ยินบ่อยครั้งว่าไทยต้องการแข่งกันสนามบินของสิงคโปร์ หรือแม้แต่เวียดนามในเวลานี้
A380 จุดขายล่าสุด
จากการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับสนามบินของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เป็นคู่แข่งขันของไทย ที่มีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการสูงสุด ใน 30 อันดับแรก ตามข้อมูลขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization หรือ(ICAO) โดยเฉพาะ ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ พบว่าสนามบินแต่ละแห่งต่างสร้างจุดเด่นในเรื่องความสะดวกสบายในการใช้งาน เช่น ความสะดวกสบายสำหรับผู้โดยสารในการเช็กอิน ที่มีจำนวนเคาน์เตอร์จำนวนมากเพียงพอ ความสะดวกสบายสำหรับเครื่องบิน เช่น รันเวย์ที่ยาวเพียงพอ สำหรับเครื่องบินขนาดใหญ่ การสร้างสะพานเทียบเครื่องบิน หรือ Pier ให้ประชิดกับอาคารผู้โดยสารมากที่สุด รวมไปถึงการสร้าง Pier สำหรับเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ อย่างในช่วงปีนี้ต่างพูดถึงเครื่องบินแอร์บัส A380 ที่ทั้งชางฮี และเชป แลป กอก ต่างประกาศว่าพร้อมรับเครื่องบินขนาดใหญ่
เหล็ก-กระจกอินเทรนด์
สำหรับการออกแบบอาคารผู้โดยสาร ในส่วนของสนามบินที่เพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วง 5 ปีหลังนี้ ทั้งที่ปรับปรุงขยายจากโครงการเดิม และที่ก่อสร้างในพื้นที่ใหม่ต่างเน้นโครงสร้างที่ใช้กระจก และเหล็ก เป็นหลักเนื่องจากให้ความรู้สึกโปร่ง สามารถมองเห็นบรรยากาศภายนอกอาคาร โดยฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีการถมทะเลเพื่อก่อสร้างสนามบิน เช่นที่ฮ่องกง และที่ญี่ปุ่น “เซ็นเตอร์แอร์” ซึ่งเป็นสนามบินที่เพิ่งก่อสร้างและเปิดใช้ล่าสุดเมื่อปี 2005
นอกจากนี้ประเทศที่มีการเดินทางของผู้โดยสารจำนวนมาก จะมีสนามบินนานาชาติหลายแห่ง เช่น ที่ญี่ปุ่นมีถึง 3 แห่ง คือ ฮาเนดะ ใจกลางกรุงโตเกียว นาริตะ ที่อยู่ห่างจากรุงโตเกียว 65 กิโลเมตร และล่าสุดเซ็นเตอร์แอร์ ที่อยู่ใจกลางประเทศ ที่เมือง ไอชิ ใกล้กับนาโกย่า โดยมีการขยายสนามบินตามปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางแห่งใช้วิธีการขยายพื้นที่สนามบินเดิมออกไป ด้วยเพิ่มจำนวนอาคารผู้โดยสาร เช่น ที่สิงคโปร์ ที่ในปี 2008จะมีการใช้งานถึง 3 อาคาร รองรับผู้โดยสารได้ 64 ล้านคน
การขยายสนามบิน หรือการสร้างสนามบินแห่งใหม่ ยังมีการคำนึงถึงระยะทางของที่ตั้งสนามบินกับศูนย์กลางธุรกิจ ที่หากตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์กลางธุรกิจมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้เปรียบ มีผลต่อการตัดสินใจการลงทุนของต่างชาติในประเทศนั้นๆ รวมไปถึงการสนองตอบความต้องการใช้สนามบินของสายการบินต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปัจจุบันธุรกิจของสายการบินเริ่มปรับตัวโดยให้บริการด้วยสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airline) ที่ในส่วนนี้ สนามบินชางฮี เพิ่งเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำ เมื่อเดือนมีนาคม 2006
เอนเตอร์เทนเมนต์แอร์พอร์ต
ในส่วนของประโยชน์ใช้สอยของอาคารผู้โดยสาร ต่างเน้นการให้พื้นที่สำหรับจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี ที่มีทั้งชั้นจำหน่ายสินค้าทั่วไป และสินค้าที่มีแบรนด์ระดับโลก นอกจากนี้ยังนำเสนอสิ่งบันเทิงเพื่อสร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้โดยสาร เช่น ที่อินชอน เกาหลีใต้ จะมีศูนย์ให้ผู้โดยสารได้เล่นบิลเลียด ที่ชางฮี สิงคโปร์ มีลานเล่นเกมโชว์ และการสร้างสุนทรีย์ให้กับผู้โดยสารด้วยการปลูกต้นไม้ เป็นสวนต้นไม้หลากชนิดจำนวน 6 พันธุ์ คือ 1.เฮลิโคเนีย หรือต้นธรรมรักษ์ หรือ Birds of Paradise 2.สวนไผ่ 3.ทานตะวัน 4.กล้วยไม้
5.ตะบองเพชร และ 6.เฟิร์น
นอกจากนี้ภายในอาคารผู้โดยสาร ต่างนำเสนอบริการสื่อสาร ทั้งอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย Wi-Fi และ Hot Spot หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง “บรอดแบนด์” เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถติดต่อสื่อสาร และการใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างเพลิดเพลิน
เวียดนามรุกหนัก
สนามบินนานาชาติเวียดนามมีชื่อว่า ”Tan Son Nhat International Airport” ตั้งอยู่ที่โฮจิมินห์ ซิตี้ เป็นสนามบินที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1930 ช่วงที่เวียดนามเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และช่วงสงครามกลางเมือง อเมริกาได้เข้ามาปรับปรุงสนามบิน และเปิดบินให้บริการเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2004
ปัจจุบันกำลังก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร ด้วยเงินทุนจากญี่ปุ่น มูลค่า 260 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณเกือบ 10,000 ล้านบาท มีพื้นที่ใช้สอย 100,000 ตารางเมตร 8 สะพานเทียบเครื่องบิน รองรับผู้โดยสาร 8-10 ล้านคนต่อปี
เมื่อภาวะเศรษฐกิจของเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็ว รัฐบาลเวียดนามตัดสินใจลงทุนก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ในชื่อว่า Long Thanh International Airport ในจังหวัด Dong Nai อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ จากโฮจิมินห์ประมาณ 50 กิโลเมตร กำหนดให้มี 4 รันเวย์ ขนาดยาว 4,000 เมตร แน่นอน สามารถรองรับ A 380 แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 เฟส เฟสละ 2 รันเวย์ เฟสแรกเริ่มก่อสร้างในปี 2007 แล้วเสร็จในปี 2010 รองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคน และเฟสที่ 2 แล้วเสร็จปี 2015 เมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะมีอาคารผู้โดยสารวม 3 อาคาร รองรับผู้โดยสารได้ 80-100 ล้านคนต่อปี เบ็ดเสร็จรวมค่าก่อสร้าง 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ 296,000 ล้านบาท
เวียดนามประกาศทิ้งท้ายที่ไม่อาจทำให้สนามบินอื่นๆ รวมทั้งไทยนิ่งเฉยได้อย่างแน่นอนว่าสนามบินแห่งใหม่นี้จะเป็นศูนย์การขนส่งในภูมิภาคแหลมอินโดจีน เป็น”ฮับ” ทางการบินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เปรียบเทียบจุดเด่นของสนามบิน
สุวรรณภูมิ
– ใหม่ที่สุด เนื่องจากเพิ่งเปิดใช้งาน
– พื้นที่ใช้สอยในอาคารผู้โดยสาร ที่เป็นอาคารเดียวมากที่สุด (มากกว่าฮ่องกง 10,000 ตารางเมตร นอกจากมีร้านค้าปลอดภาษี มีร้านสินค้าแบรนด์เนมที่เป็น Retail Shop แล้วยังมีมินิเธียเตอร์ สปา
– หอวิทยุการบินสูงที่สุดในโลกที่ 132 เมตร เท่ากับตึกประมาณ 40 ชั้น สูงกว่ามาเลเซีย 10 เมตร
– โรงแรมโนโวเทล หน้าอาคารผู้โดยสาร บริเวณล็อบบี้ใหญ่ที่สุด ที่ด้านล่างยังเป็นสถานีรถไฟฟ้า
เชป แลป กอก
– ฮ่องกงเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์เข้าสู่ประเทศจีนจนเรียกตัวเองว่าเป็น “ซูเปอร์ฮับ”
– อาคารผู้โดยสารที่พัฒนาเป็นแหล่งช้อปปิ้ง “สกาย พลาซ่า” เป็นส่วนหนึ่งของ “สกายซิตี้” ที่มีทั้งศูนย์กลางประชุม สนามกอล์ฟ ขนาด 9 หลุม โรงแรม 2 แห่ง และการเชื่อมต่อท่าเรือเฟอร์รี่
ชางฮี
– ความน่าเชื่อถือจากการที่สิงคโปร มีความเจริญด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี
– ร้านค้าในอาคารผู้โดยสารที่ตั้งใจออกแบบให้ดึงดูดนักท่องเที่ยว
– การทำสวนไม้ 6 ชนิดหลังคาเปิดในอาคาร
– มีพื้นที่เล่นเกมโชว์ สำหรับผู้โดยสารเปลี่ยนเครื่อง
– การเปิดโอกาสให้ผู้โดยสารกระทบไหล่คนดังไม่ว่าจะเป็นดารา นักร้อง
– เปิดตัวหนังสือพิมพ์ขนาดแท็บลอยด์ “Changi Express”
ที่มา : POSITIONING รวบรวม
สถิติสนามบินนานาชาติ ที่มีผู้โดยสารใช้บริการสูงสุด (มกราคม-เมษายน 2006)
อันดับ ชื่อสนามบิน สถานที่ตั้ง จำนวนผู้โดยสาร(คน)
1. Hartsfield-Jackson Atlanta International Airport แอตแลนตา จอร์เจีย สหรัฐฯ 26,641,429
2. O’Hare International Airport ชิคาโก อิลลินอยส์ สหรัฐฯ 24,011,515
3. London Heathrow Airport ลอนดอน อังกฤษ 21,220,624
4. Tokyo International Airport (Haneda) โตเกียว ญี่ปุ่น 20,220,206
5. Los Angeles International Airport ลอสแองเจลลิส แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ 19,194,220
6. Dallas-Fort Worth International Airport ดัลลัส เท็กซัส สหรัฐฯ 19,076,983
7.Charles De Gaulle International Airport ทรอมเบลย์ ออง ฟรองซ์ ฝรั่งเศส 17,121,173
8.Frankfurt International Airport แฟรงก์เฟิร์ต เยอรมัน 15,603,391
9. Denver International Airport โคโลราโด สหรัฐฯ 14,887,971
10.McCarran International Airport ลาสเวกัส เนวาดา สหรัฐฯ 14,755,745
11. Bangkok International Airport กรุงเทพฯ ไทย 14,744,381
12. Beijing Capital International Airport ปักกิ่ง จีน 14,554,716
13. Hong Kong International Airport ฮ่องกง 13,950,000
14.Sky Harbor International Airport ฟีนิกซ์ แอริโซนา สหรัฐฯ 13,845,034
15. George Bush (Houston) Intercontinental Airport ฮุสตัน เท็กซัส สหรัฐฯ 13,744,742
16. Barajas International Airport มาดดริด สเปน 13,662,849
17. Amsterdam Schiphol Airport ฮอลแลนด์เหนือ เนเธอร์แลนด์ 13,132,966
18. John F. Kennedy International Airport นิวยอร์กซิตี้ สหรัฐฯ 12,846,477
19.Orlando McCoy International Airport ฟลอริดา สหรัฐฯ 12,123,165
20. Detroit Metropolitan Wayne County Airport ดีทรอยท์ มิชิแกน สหรัฐฯ 11,439,904
21. Minneapolis-Saint Paul International Airport มินนิโซตา สหรัฐฯ 11,435,688
22. Newark Liberty International Airport นิวเจอร์ซีย์ สหรัฐฯ 11,286,943
23.Miami International Airport ฟลอริดา สหรัฐฯ 11,233,850
24.Singapore Changi Airport ชางฮี สิงคโปร์ 11,080,528
25.San Francisco International Airport ซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ 10,263,018
26.Narita International Airport นาริตะ ชิบะ ญี่ปุ่น 10,237,824
27.Philadelphia International Airport เพนซิลเวเนีย สหรัฐฯ 9,884,003
28.Kingsford Smith International Airport ซิดนีย์ นิว เซาท์ เวลส์ ออสเตรเลีย 9,857,401
29. Toronto Pearson International Airport โตรอนโต ออตาริโอ แคนาดา 9,764,537
30.Soekarno-Hatta International Airport (Jakarta) อินโดนีเซีย9,606,497
ที่มา : องค์กรการบินระหว่างประเทศ (ICAO)
ระยะระหว่างเมืองหลักและสนามบินที่สำคัญของโลก
เมืองหลัก/สนามบิน ระยะทาง (กม.)
– โตเกียว/นาริตะ 65
– โซล/สนามบินใหม่ 51
– ลอนดอน/แกตวิค 46
– วอชิงตัน/ดัลลัส 43
– โรม/ฟูมิชิโน 35
– ชิคาโก/โอแฮร์ 35
– กรุงเทพฯ/สุวรรณภูมิ 30
– กรุงเทพฯ/ดอนเมือง 29
– โซล/คิมโป 26
– นิวยอร์ก/นิวอาร์ค 26
– ดัลลัส/DFW 26
– ซานฟรานซิสโก/สากล 25
– ลอนดอน/ฮีทโธรว์ 24
– แอล เอ/สากล 24
– กัวลาลัมเปอร์/ซูบัง 23
– ปารีส/ชาร์ลเดอร์โกล 23
– สิงคโปร์/ชางฮี 20
– จาการ์ตา/โซกาโม 20
ที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
แผนการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ระยะที่ 1 (2548)
ความสามารถรองรับผู้โดยสาร45 ล้านคน/ปี
สิ่งก่อสร้างหลัก
– อาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ
-อาคารเทียบเครื่องบินหลักด้านทิศเหนือ
-ทางวิ่ง 2 เส้น
ระยะที่ 2 (2548-2553)
ความสามารถรองรับผู้โดยสาร54 ล้านคน/ปี
สิ่งก่อสร้างหลัก
-อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1
– ทางวิ่งเส้นที่ 3 ด้านตะวันตก
ระยะที่ 3 (2553-2558)
ความสามารถรองรับผู้โดยสาร73 ล้านคน/ปี
สิ่งก่อสร้างหลัก
– ขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ
– อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2
– ทางวิ่งเส้นที่ 4 ด้านตะวันออก
ระยะที่ 4 (2558-2563)
ความสามารถรองรับผู้โดยสาร95 ล้านคน/ปี
สิ่งก่อสร้างหลัก
– อาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้
– อาคารเทียบเครื่องบินหลักด้านทิศใต้
ระยะที่ 5 (2563-2568)
ความสามารถรองรับผู้โดยสาร120 ล้านคน/ปี
สิ่งก่อสร้างหลัก
– ขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้
– ขยายอาคารเทียบเครื่องบินหลักด้านทิศใต้
ที่มา : บริษัทท่าอากาศยานไทย