ระบบไอทีในโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ แตกต่างจากระบบไอทีอื่นในภาครัฐทั่วไปอย่างสิ้นเชิง เพราะการให้บริการภายในสนามบินย่อมเกี่ยวกับความสะดวก ความเป็นระบบต่อผู้โดยสาร และเครื่องบิน นั่นหมายถึงความปลอดภัยสูงสุดสำหรับชีวิตผู้คนจำนวนมาก ที่ใช้บริการสนามบินสูงสุดถึง 45 ล้านคนต่อปี
แต่แน่นอนเป็นที่รู้กันดีว่าโครงการใด High Risk ย่อม High Return จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายบริษัทต่างแย่งชิง โดยเฉพาะ ”โครงการงานระบบบริหารและสารสนเทศท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” (Airport Information Managenment System : AIMS) มูลค่า 2,290 ล้านบาท แต่กลุ่มสามารถฯ ในนามบริษัทสามารถคอมเทค และพันธมิตรคว้ามาได้ จนสามารถต่อยอดไปจนถึงระบบรักษาความปลอดภัย ผ่านกล้องวงจรปิดอีกประมาณ 400 ล้านบาท ท่ามกลางกระแสข่าวสะพัดถึงความใกล้ชิดกับนักการเมือง
แม้โครงการนี้จะยังไม่ออกดอกออกผลเป็นกอบเป็นกำ แต่ก็พอได้กำไรอยู่บ้าง ที่สำคัญไปกว่านั้น ยังได้โอกาสสร้างเครดิตให้บริษัทเพื่อต่อยอดธุรกิจในอนาคตเป็นอย่างดี
“วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มสามารถฯ บอกว่า “ถ้าพูดถึงผลตอบแทนทางธุรกิจ ผมว่าเป็นระยะยาวมากกว่า เพราะขณะนี้ก็ไม่ได้อะไรมากหรอก กำไรก็ไม่ได้อะไรมาก เพราะว่าการแข่งขันมันเยอะ ชนกับบิ๊กเยอะแยะ ทั้งอิตาเลียนไทยฯ และหลายบริษัทก็เส้นใหญ่ทุกคน เพราะฉะนั้นราคาตอนนั้น (ช่วงประมูล) ก็ต้องถูก แต่ที่เราหวังต่อไป คือเรื่อง Service Income Maintenance ระบบ Upgrade Software ต่อไปมีอะไรใหม่ๆ นั่นคือต่อเนื่องในระยะยาวมากกว่า”
ความหมายของคำว่า ”เส้นใหญ่” สำหรับ ”วัฒน์ชัย” ยังอธิบายต่อด้วยว่า “ไม่ได้เรื่องคอนเนกชั่นอย่างเดียว เรื่องของคุณภาพสินค้าก็ต้องตรงที่เขาต้องการด้วย อย่างประมูลAIMS ต้องแข่งกับ ITD (กลุ่มอิตาเลียนไทย) แข่งกันเยอะแยะ อีก 4-5 ราย ทุกคนก็เหมือนกันหมด ใหญ่หมด เรารู้จักคน ธุรกิจเมืองไทยก็รู้ก็รู้จักหมดแหละ แต่ทุกอย่างต้องได้อย่างถูกต้องด้วย ไม่ใช่ได้ง่ายๆ เดี๋ยวนี้ทุกคนตรวจสอบ สื่อตรวจสอบหมด ฝ่ายค้านตรวจสอบ ทำอะไรไม่ได้ง่ายๆ”
แม้จะไม่ง่าย แต่เป้าหมายของกลุ่มสามารถฯยังขยายไปยังระบบรักษาความปลอดภัย โดยกลุ่มสามารถจัดหาระบบกล้องวงจรปิด ที่แข่งขันสูงเช่นกัน จนได้งานส่วนหนึ่ง คือการติดตั้งกล้องภายนอกอาคารผู้โดยสาร และในอาคาร AIMS รวมจำนวน 350 ตัว เป็นล็อตที่มากที่สุด จากเดิมที่กลุ่มสามารถฯเริ่มเข้าสู่ธุรกิจนี้ด้วยการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดให้หน่วยงานราชการหลายแห่ง รวมทั้งที่กระทรวงกลาโหม ผ่านบริษัทวิชั่น แอนด์ เซคเคียวริตี้ ซิสเต็ม ที่กลุ่มสามารถฯเพิ่งเข้าไปถือหุ้น 70% ได้ไม่นาน และได้มือดี คอนเนกชั่นแน่น ”สมหมาย ดำเนินเกียรติ” ที่อยู่ในธุรกิจระบบกล้องวงจรปิด และระบบรักษาความปลอดภัยสนามบินมานานกว่า 20 ปี
แผนธุรกิจสำหรับระบบรักษาความปลอดภัย ยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ กลุ่มสามารถฯยังเล็งไปที่จุดต่างๆ ภายในสนามบิน ที่ในอนาคตต้องการติดตั้งกล้องวงจรปิดอีกกว่า 400 ตัว
“ตั้งแต่เกิดมาเราคุ้นเคยสนามบินเก่าอยู่แล้ว ไม่เคยเป็นสนามบินใหม่ เกิดมาก็ใช้แต่ดอนเมือง เวลาต่อไป ไม่ว่าใครไปใช้ระบบไอที หรือระบบเช็กอินที่สนามบินสุวรรณภูมิ คนก็พูดถึงว่านี่ระบบของเรานะ เราเป็นคนวางไว้ ก็เป็นความรู้สึกที่ดีๆ” คำตอบจาก ”วัฒน์ชัย” ที่ยืนยันให้เห็นผลตอบแทนที่ได้นอกจากตัวเลขรายได้
สิ่งที่ยืนยันว่าไม่ใช่เพียงแค่เส้นสายที่ทำให้มีโอกาสได้งาน แต่เพราะการสร้างทีมงานเพื่อให้กลุ่มสามารถฯมีคุณสมบัติพร้อมรับงาน
“สงวน ตรีเจริญวิวัฒน์” กรรมการผู้อำนวยการ สายธุรกิจสื่อสารไอที กลุ่มสามารถฯ เล่าเบื้องหลังว่ากว่าที่กลุ่มสามารถฯจะได้งานนี้ต้องเตรียมงานก่อนยื่นประมูลถึง 2 ปี เป็นเวลาที่หมดไปกับการศึกษา และหาพาร์ตเนอร์ หรือผู้ร่วมธุรกิจที่เหมาะสม โดยเฉพาะจากผู้ที่มีประสบการณ์ในการติดตั้งระบบไอทีในสนามบินของต่างชาติ
แม้ว่าประสบการณ์ของกลุ่มสามารถฯจะเคยวางระบบไอทีในหน่วยงานราชการขนาดใหญ่ แต่ก็ไม่เคยเกี่ยวข้องกับสนามบินมาก่อน
“Application สนามบิน เป็นโครงการขนาดใหญ่ สามารถฯมองว่าน่าจะเป็นโอกาสเติบโต เพราะเป็นโครงการระดับ World Class เราศึกษาตั้งแต่ยังไม่รู้จักการสร้างสนามบิน หา Partner เรียนรู้ ลงลึกและเข้าใจมากขึ้น มีงานหลายอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน
มีงานย่อยจากสัญญาหลักอีกถึง 40 ระบบ เป็นสัญญาที่ไม่เคยเจอ ไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งพอเห็นระบบ เราก็บอกว่าเราทำเองไม่ได้ จากตอนแรกที่ตั้งใจทำเองทั้งหมด ในที่สุดได้ปรึกษากับผู้บริหาร และสรุปว่าเราต้องหา Partner ด้วยเหตุผลที่สรุปได้ว่า Scale งานใหญ่กว่า 2,000 ล้านบาท จากเดิมที่มากสุดเราเคยรับงาน 1,000 ล้านบาท และระบบงานที่ซับซ้อน ไม่คุ้นเคย”
สิ่งที่กลุ่มสามารถฯเชี่ยวชาญอย่างหนึ่งคือการหาผู้ร่วมทุน จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับโครงการนี้ หลังจากตระเวนหาผู้เชี่ยวชาญระบบไอทีสนามบินทั้งเกาหลีใต้ มาเลเซีย เกือบจะตกลงร่วมธุรกิจกับซัมซุงของเกาหลีใต้ แต่เมื่อมีเหตุขัดข้อง และจวนเจียนเวลาใกล้ยื่นซองประมูลในที่สุด กลุ่มสามารถฯก็จับมือกับกลุ่มซีเมนส์ และผู้ร่วมธุรกิจอีกหลายราย แบ่งงานรับผิดชอบตามความถนัด
ความทันสมัยของระบบที่นำเสนอนั้น ”สงวน” ยกตัวอย่างระบบการบริหาร Back Office ของสนามบินโดยซีเมนส์ ที่ใช้โปรแกรมของ SAP จะรวดเร็ว เช่น การออกใบเรียกเก็บเงินค่าบริการใช้สนามบินจากเครื่องบินสามารถออกได้และเก็บเงินทันที จากระบบเดิมที่เครื่องบินออกไปแล้ว จึงให้จ่ายค่าบริการสนามบินในภายหลัง โดยใช้ระบบบริหารการจัดการเที่ยวบินที่มีประสิทธิภาพ (Flight Information Management System) ด้วยซอฟต์แวร์ UFIS หรือ Universal Flight Information System ที่มีการใช้งานอยู่ที่สนามบินกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ที่ทันทีที่เครื่องบินแตะพื้นสนามบิน จะมีระบบตรวจวัดและส่งสัญญาณบันทึกที่ระบบ คำนวณค่าใช้บริการสนามบินทันที
ส่วนระบบการเช็กอินตั๋วโดยสาร ใช้ระบบของ SITA ที่กลุ่มสามารถฯเป็นตัวแทนจำหน่าย เป็นเครือข่ายที่จอคอมพิวเตอร์แสดงผลต่อเชื่อมไปยังสายการบินทั่วโลก
จากประสบการณ์ที่ได้จากโครงการนี้ ทำให้กลุ่มสามารถฯตั้งหน่วยงานธุรกิจเกี่ยวกับสนามบิน “Airport Business Unit” เป็นตัวแทนของ SITA หาโอกาสธุรกิจในสนามบิน เพราะเทคโนโลยีที่ใช้ในสนามบินจะมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ เช่นเทคโนโลยี RFID (Radio Frequency Identification) ซึ่งเป็นชิปซิลิคอน และเสาอากาศเพื่อส่งสัญญาณผ่านคลื่น สำหรับการระบุตัวตน ช่วยประหยัดต้นทุนในการพิมพ์ตั๋วโดยสาร Boarding Pass และการตรวจสอบกระเป๋าได้แม่นยำยิ่งขึ้น หรือการใช้ 2 Dimension Bar Code หรือบาร์โค้ดรูปสี่เหลี่ยม การจัดทำระบบ Self Check-in ซึ่งโอกาสทางธุรกิจในภูมิภาคยังมีอีกมาก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ที่มีแนวโน้มการเดินทางโดยเครื่องบินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน และอินเดีย
เพราะฉะนั้นยืนยันได้ว่ากลุ่มสามารถฯมีโอกาสในธุรกิจการบินทั้งสายการบินและสนามบินอีกยาวนาน
เปิดผนึกศูนย์ไอที
Airport Information Management System : AIMS ดำเนินการโดยกลุ่มบริษัท Airport System Integration Specialist Consortium (ASIS Consortium) ประกอบด้วย บริษัทซีเมนส์, สามารถคอมเทค, แซทแยม คอมพิวเตอร์ เซอร์วิส (ผู้เชื่อมต่อระบบ) และบริษัทเอบีบี
AIMS เป็นระบบบริหารจัดการและเชื่อมโยงข้อมูลการสื่อสารภายในสนามบินเพื่อการวางแผน ควบคุม และตัดสินใจ นอกจากนั้นระบบยังเชื่อมโยงกับระบบย่อยต่างๆ ในสนามบินเพื่อได้มาซึ่งข้อมูลที่ทันเหตุการณ์เพื่อประกอบการบริหารและจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ แบ่งระบบออกเป็นส่วนงานต่างๆ ดังนี้
1. Airport Operations Database (AODB) (บริษัทเอบีบี ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ รับผิดชอบโดย ใช้ซอฟต์แวร์ UFIS ที่มีการใช้งานในสนามบินเอเธนส์แล้ว) แบ่งเป็น Flight Information Management System (FIMS) ระบบบริหารข้อมูลการบิน โดยมีการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลขององค์กรสากลและสนามบินต่างๆ , Ramp Service Management System ระบบบริหารการเข้าจอดของเครื่องบิน ณ อาคารผู้โดยสาร
จุดเด่นของระบบ : การตรวจสอบเครื่องบินที่ลอยอยู่เหนือน่านฟ้าทั่วโลก ทำให้มีข้อมูลชัดเจนว่าสายการบินใดกำลังจะเข้าใช้บริการภายในสนามบิน และระบบการจับสัญญาณ ทันทีที่เครื่องบินแตะรันเวย์สนามบิน ทำให้สามารถจับเวลาการใช้บริการสนามบินเพื่อนำไปสู่การคิดค่าบริการได้อย่างถูกต้องแม่นยำ จากเดิมที่สนามบินดอนเมืองใช้ระบบเจ้าหน้าที่คำนวณเวลาการใช้บริการของเครื่องบินภายในสนามบิน
2. Common Use Terminal Equipment (CUTE) (กลุ่มสามารถฯใช้ระบบ SITA)
เป็นระบบจัดการด้านผู้โดยสารและสัมภาระ ซึ่งมีส่วนสำคัญคือ External CCTV & Central CCTV Integration (กลุ่มสามารถฯใช้ระบบของ Nice Vision อิสราเอล) เป็นระบบกล้องวงจรปิดภายนอกและการเชื่อมต่อกับศูนย์ควบคุมส่วนกลาง สำหรับใช้ในระบบรักษาความปลอดภัยภายในบริเวณต่างๆ ของสนามบิน ซึ่งมีกล้องวงจรปิดทั้งสนามบินมากกว่า 1,000 จุด
จุดเด่น : ระบบของอิสราเอล ที่เห็นภาพและแสดงภาพชัดเจน อย่างที่เรียกได้ว่า กล้องเห็นเหมือนกับตาคนที่มองเห็นเหตุการณ์นั้นๆ โดยระบบการบันทึกภาพจะเก็บภาพย้อนหลังได้อย่างน้อย 30-60 วัน
3. Airport Management Database (AMDB) (กลุ่มซีเมนส์ เยอรมนี ใช้ระบบของ SAP)
ระบบฐานข้อมูลการปฏิบัติการสนามบินเพื่อสังเกตการณ์ ตรวจสอบ วางแผน และควบคุม รวมไปถึงระบบ Back Office บัญชี ระบบการเงิน การจัดเก็บค่าบริการส่วนต่างๆ ของสนามบิน
จุดเด่น : การออกใบเรียกเก็บค่าบริการ การใช้สนามบิน จากสายการบิน และสามารถจัดเก็บค่าบริการได้ทันทีที่เครื่องลงจอด จากระบบเดิมที่ใช้ในดอนเมือง จะมีการคำนวณเวลาการใช้บริการ และรอให้สายการบินจ่ายค่าบริการหลังจากนั้น หรือแม้กระทั่งหลังจากสายการบินนั้นบินออกไปแล้วหลายวัน
ศูนย์ควบคุม (Operation Center) 3 ส่วน คือ
Airport Operation Center – AOC – ดูข้อมูลระบบการบริการภายในสนามบิน
Security Control Center – SCC – ดูจอ CCTV ระบบรักษาความปลอดภัยทั้งหมด
Crisis Control Center – CCC – ห้องประชุมที่เปิดใช้เฉพาะยามที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน