การตลาดเชิงรุก ”สุวรรณภูมิ”

หากทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมาย หลังวันที่ 28 กันยายน 2549 เมื่อสนามบินสุวรรณภูมิ เปิดให้บริการแล้ว จะเป็นเวลาเริ่มต้นอีกครั้งสำหรับคนทำงานของสนามบินสุวรรณภูมิ ท่ามกลางเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างมากมาย ทั้งการเพิ่มรายได้ และการสร้างภาพลักษณ์ของ ”สุวรรณภูมิ” ให้สายการบินต่างๆ มั่นใจที่จะมาใช้บริการ และที่สำคัญคือเป็นสนามบินที่คนไทยภาคภูมิใจ

เสื้อยืดโปโลสีเหลืองสด ที่ “สมชัย สวัสดีผล” ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด สวมใส่ในวันที่ทีมงาน POSITIONING ไปสัมภาษณ์เขาถึงที่ สำนักงานของ ทอท. ซึ่งตั้งอยู่ในสนามบินสุวรรณภูมิ อาจไม่แตกต่างไปจากข้าราชการ หรือประชาชนทั่วไปในเวลานี้นัก

แต่ถ้าสังเกตให้ดี ตัวอักษรคำว่า “Can do team” บนหน้าอกเสื้อของเขาในวันนั้น นอกจากจะสร้างความแตกต่างไปจากเสื้อเหลืองทั่วไปแล้ว ประโยคสั้นๆ นี้ เป็นเสมือนเครื่องย้ำเตือนให้กับชาวการท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. ว่า พวกเขาสามารถทำมันได้ หลังจากที่โครงการนี้ใช้เวลาไม่แล้ว 40 ปี ผ่านมาแล้วเกือบทุกรัฐบาล ภารกิจที่พวกเขาต้องทำต่อไป คือ การวาง Positioning ของสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อแข่งขันกับสนามบินในภูมิภาคนี้

“สมชัย สวัสดีผล” เป็นผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) คนล่าสุด ซึ่งผ่านการทำงานกับรัฐมนตรีมาเกือบทุกชุด เปิดฉากเล่าถึงการดำเนินงานของสนามบินสุวรรณภูมิในอนาคตว่าจากการคาดการณ์จำนวนผู้โดยสารในปีงบประมาณ 2550 (ตุลาคม 2549 –กันยายน 2550) หรือปีแรกของการเปิดใช้งานสนามบินสุวรรณภูมิ จะมีผู้โดยสาร 45.6 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นจากสนามบินดอนเมือง ในปีงบประมาณ 2549 จำนวน 6.6 % จึงเชื่อมั่นว่าสนามบินสุวรรณภูมิจะเป็นสนามบินที่มีรายได้ และมีอนาคตที่ดีในเชิงธุรกิจ แต่ก็ยังต้องแข่งขันกับสนามบินอื่นๆ ในภูมิภาคนี้

หน้าที่ของการบริหารสนามบิน นอกจากก่อสร้างเสร็จแล้ว ยังต้องดำเนินการจัดการให้กิจการมีรายได้ เพราะฉะนั้นการสร้างจุดขายเพื่อดึงทั้งผู้โดยสารและสายการบินมาใช้บริการจึงเป็นหน้าที่ที่ต้องดำเนินการต่อ

“สมชัย” ระบุว่า นอกจากสนามบินสุวรรณภูมิจะได้เปรียบจากที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเชื่อมโยงสู่ประเทศอื่นในภูมิภาคนี้แล้ว บริษัทยังได้สร้างระบบการเก็บ ขนถ่าย และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยวิธีการจัดการแบบ Free Zone อยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีพื้นที่รวม 549,416 ตารางเมตร ที่เชื่อมโยงด้วยระบบไอที บริการตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้วางแผนบริหารการขนส่ง การเคลื่อนย้ายสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การอำนวยความสะดวกสำหรับเครื่องบินด้วยรันเวย์ 2 เส้นทาง ความยาว 3,700 -4,000 เมตร ระยะห่าง 2,200 เมตร ทำให้เครื่องบินขึ้นลงได้พร้อมกัน ชั่วโมงละ 76 เที่ยวบิน ทำให้สายการบินประหยัดเวลาไม่ต้องรอขึ้น-ลงนาม ที่สำคัญคือประหยัดน้ำมัน

นอกจากนี้ การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินจากเครื่องบิน (Airport Charge) เช่น ค่าลงจอด (Landing) ค่านำร่องเข้าที่จอด (Parking Navigation) และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ยังต่ำกว่าสนามบินอื่นๆ เช่น เครื่องบินโบอิ้ง 747-400 โดยรวมต้องเสียค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน ที่สุวรรณภูมิ รวม 220,948 บาท ที่ชางฮี สิงคโปร์ ประมาณ 330,156 บาท ที่เชค แลป กอก ฮ่องกง 531,196 บาท นาริตะ ญี่ปุ่น 857,586 บาท

ในแง่ของการอำนวยความสะดวกสำหรับผู้โดยสารนั้น นอกจากพื้นที่ใช้งานที่กว้างขวางภายในอาคารผู้โดยสารแล้ว “สมชัย” บอกว่าการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ยังสร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้โดยสาร ด้วยคอนเซ็ปต์การออกแบบร้านค้าในส่วนของดิวตี้ฟรี และร้านค้าปลีก ของคิงเพาเวอร์ ที่จูงใจให้ผู้บริโภคจับจ่ายซื้อสินค้า เกิดความสุขในการช้อปปิ้ง เช่นดียวกับที่ดูไบ ที่หลายคนนิยมเดินทางไปเพื่อสินค้าปลอดภาษี

จุดสำคัญ คือ การติดตั้งระบบภายในสนามบินที่เกี่ยวกับเชิงพาณิชย์ การจำหน่ายสินค้า และบริการจะติดตั้งระบบ POS (Point of Sales) ที่ทำให้ ทอท.ได้ข้อมูลทันทีแบบเรียลไทม์ เมื่อมีการจำหน่ายสินค้า ซึ่งจะนำไปสู่การแบ่งรายได้ และผลประโยชน์ตามสัญญา ที่บริษัท King Power ได้รับสิทธิ์ไป รวมไปถึงยังสร้างบริการบันเทิงอื่นๆ อีกหลายรูปแบบสำหรับผู้โดยสาร ทั้งมินิเธียเตอร์ สปา

ไม่ใช่แค่ผู้โดยสารเท่านั้น ที่จะหิ้วโน้ตบุ๊ก ส่งอีเมล ค้นหาข้อมูล เล่น MSN ระหว่างรอขึ้นเครื่องในสนามบินสุวรรณภูมิเท่านั้น หากแต่พนักงานของ ทอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังสามารถรับส่งข้อมูล ประสานงานกันด้วยเทคโนโลยีสื่อสารที่ทันสมัย ผ่านเครื่องพีดีเอ (PDA) เพราะนี่เป็นอีกจุดเด่นหนึ่งของสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ต้องมีระบบ Wi-Fi ติดตั้งเพื่อให้บริการแก่ผู้โดยสาร โดยได้บริษัทดาต้าคราฟท์ มารับเหมาผู้ติดตั้งระบบภายในสนามบิน ส่วนการให้บริการ Wi-Fi แก่ลูกค้า จะผ่านบริษัท ทศท. คอร์ปอเรชั่น และทรู คอร์ปอเรชั่น

เมื่อมีของดีเป็นจุดเด่นมากมายเช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่สนามบินสุวรรณภูมิต้องเร่งโปรโมตให้เป็นที่รับรู้ ช่วงเวลาที่เหลืออยู่อีกไม่กี่วันนับจากนี้ คือโค้งสุดท้ายที่ ทอท. ต้องเร่งโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์ อย่างเห็นตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม 2549 จะปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับสนามบินสุวรรณภูมิผ่านสื่อต่างๆ อย่างมากมาย

“สมชัย” ระบุว่าการทำตลาดของสนามบินสุวรรณภูมิจะเป็นการทำตลาดในเชิงรุก นอกจากการใช้กลยุทธ์การลดค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินให้กับสายการบิน การสร้างอาคารผู้โดยสารสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Terminal) มูลค่า 600 ล้านบาท แล้ว ยังต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสนามบิน และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าในรูปแบบเดียวกับที่เอกชนได้ทำ ที่เรียกว่า CRM (Customer Relation Management) เพราะสายการบินเป็นลูกค้าหลัก การทำ CRM จะช่วยให้ทราบความต้องการของลูกค้า และตอบสนองได้อย่างถูกต้อง รวมไปถึงการพัฒนาพื้นที่ทั้งในและนอกอาคารผู้โดยสาร เพื่อตอบสนองการเป็น ”นครสุวรรณภูมิ” ที่ในที่สุด จะส่งผลให้มีเที่ยวบินมาใช้บริการมากขึ้น

ไม่ต้องมีโลโก้

แม้ชื่อจะเป็นที่รู้จักกันดี แต่สนามบินสุวรรณภูมิกลับไม่มีทั้งป้ายชื่อ และโลโก้ ให้เห็นในสนามบินแม้แต่แห่งเดียว สมชัยบอกว่าเป็นเรื่องปกติของสนามบินที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ๆ ไม่จำเป็นต้องมีป้ายชื่อหรือโลโก้ ให้เห็น แต่จะใช้วิธีจดจำรูปลักษณ์ของตัวอาคารสนามบิน
“มองเห็นตัวอาคารของสนามบินเป็นรูปคลื่น ก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นสนามบิน สุวรรณภูมิ ในต่างประเทศเขาก็ไม่มีชื่อ หรือโลโก้ ให้เห็น”

คาดการณ์รายได้ของสนามบินสุวรรณภูมิในปีงบประมาณ 2550
(ตุลาคม 2549-กันยายน 2550) จากจำนวนผู้โดยสาร 45.6 ล้านคน
————————————————————
รายการ รายได้ (ล้านบาท)
———————————————————–
ค่าธรรมเนียมสนามบิน 3,481.87
ค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน 6,388.41
ค่าเครื่องอำนวยความสะดวก 303.91
ค่าเช่าสำนักงาน และพื้นที่ 1,377.49
รายได้เกี่ยวกับบริการ 2,612.68
รายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ 5,397.70

ที่มา : บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

โครงการที่เอกชนมีส่วนเข้าลงทุนในสนามบินสุวรรณภูมิ
———————————————————————————————
โครงการ ผู้ประกอบการ
———————————————————————————————
อาคารคลังสินค้า (Cargo) -การบินไทย และบางกอกแอร์เวย์

ครัวการบิน (Catering) -การบินไทย, ครัวการบินกรุงเทพ และLSG Sky Chef

อุปกรณ์บริการภาคพื้น และ -การบินไทย

สิ่งอำนวยความสะดวก -บางกอกแอร์เวย์

ด้านการซ่อมบำรุงเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน -บาฟส์ และASIG

ระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลงทางท่อ -ทาร์โก

ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น -DCAP (ความร่วมมือระหว่างปตท. กฟผ. และ กฟน.)

ร้านค้าปลอดอากรภายใน -คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี

อาคารผู้โดยสาร พื้นที่ร้านค้าปลีกในอาคารผู้โดยสาร -คิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ

งานป้ายโฆษณาในอาคาร ผู้โดยสาร และภายใน/ภายนอกอาคารเพียงเครื่องบิน -คิงเพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล

โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ -ร่วมทุนระหว่าง ทอท. การบินไทย และธนาคารกรุงไทย

ระบบสื่อสารโทรคมนาคมภายใน -ทีโอที กสท. และทรู คอร์ปอเรชั่น

สถานีบริการน้ำมัน -ปั้มน้ำมัน ปตท. และเชลล์

สถานีบริการก๊าซธรรมชาติ NGV -ปตท.

ระบบไฟฟ้า 400 Hz -Airport Facility