หากเป็นไปตามคาดหมาย ดวงไฟในรันเวย์ของสนามบิน “ดอนเมือง” กลางดึกของวันที่ 27 กันยายน 2549 จะถูกดับมืดลงไปพร้อมๆ กับดวงไฟที่สว่างโชติช่วงขึ้นของสนามบินแห่งใหม่ กลางท้องทุ่งหนองงูเห่า บนทำเลทอง “สุวรรณภูมิ” ที่พรั่งพร้อมไปด้วยความทันสมัย และยิ่งใหญ่ของงานก่อสร้าง หากทุกอย่างเป็นไปตามที่เตรียมไว้ ชีพจรของสนามบินนานาชาติของไทยแห่งใหม่ได้เริ่มต้นเต้นขึ้นแล้ว
เป็นภาพที่มีความหมายสำหรับการรอคอยมานานเกือบตลอดชีวิตของคนบางคน
“สุวรรณภูมิ” ไม่ได้เป็นเพียงอภิมหาโปรเจกต์ที่มีคุณค่าทั้งในด้านของเวลาการก่อสร้างยาวนานเกือบ 46 ปี แต่ยังฝากบทเรียนและเรื่องราวไว้มากมายเกี่ยวกับ ”การคอรัปชั่น” บนงบที่ใช้เกือบ 1.2 แสนล้านบาท กับจำนวนรัฐบาลที่เวียนหน้ากันเข้ามาทำหน้าที่เกือบ 30 รัฐบาล
หากพลิกแฟ้มประวัติศาสตร์แล้ว การจ้องเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากแผ่นดินทองแห่งนี้ เกิดขึ้นเป็นระยะๆ นับตั้งแต่วันที่ยังไม่ได้ตั้งงบประมาณก่อสร้าง จนถึงวันที่กำหนดงบไว้ที่หลักแสนล้านบาท โดยเฉพาะในช่วง 6 ปีหลัง ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลไทยรักไทย ที่เดินหน้าเต็มที่กับการประมูล การก่อสร้าง และการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งระหว่างทางนี้เอง ผลงานของรัฐบาลนายกฯ แม้วได้ฝากรอยด่างให้กับโครงการที่ควรเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย โดยเฉพาะสินบนข้ามชาติ ”ซีทีเอ็กซ์”
เรื่องราวของการคอรัปชั่นแบบอภิมหาโกงนี้เอง ที่ทำให้ได้บทสรุปว่า ”ความโลภ โกงสมบัติของชาติ” คืออุปสรรคสำคัญที่ฉุดรั้งสนามบินแห่งชาติ ”สุวรรณภูมิ” ให้ล่าช้า ด้อยค่า กลายเป็นรอยเปื้อนในใจคนไทย
“สุวรรณภูมิ” ยังกลายเป็นเครื่องมืออย่างดีสำหรับเวลา ”ขาลง” ของนายกฯ แม้ว ในการโฆษณาชวนเชื่อ ที่เจ้าตัวพยายามเป็นพรีเซ็นเตอร์ในทุกซีนที่มีโอกาส ด้วยคอนเซ็ปต์พร้อมเปิดใช้สนามบิน ท่ามกลางเสียงเตือนเรื่องความปลอดภัย และความพร้อมของระบบ
แม้การเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิคือสัญลักษณ์หนึ่งของการบรรลุเป้าหมาย แต่ยังไม่ได้หมายถึง ”ผลประโยชน์” หมดลงแล้วในสนามบินแห่งนี้
“สุวรรณภูมิ” ยังกลายเป็นทำเลทอง และโอกาสสำหรับธุรกิจอีกมากหน้าหลายตา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่ม “คิง เพาเวอร์” ที่ได้สิทธิพื้นที่ในการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์เพียงรายเดียวในอาคารผู้โดยสาร และอาคารเทียบเครื่องบิน
”อาณาจักรธุรกิจ” อันกว้างใหญ่ไพศาล และ Luxury สุดๆ ของคิง เพาเวอร์ ในสุวรรณภูมิ ยังต่อยอดไปยังสายสัมพันธ์ระดับสากล และการขยายธุรกิจให้เติบโตกว่าเดิม รวมไปถึงการเปิดตัวมากขึ้นด้วยการหาที่ปรึกษาเพื่อสร้างแบรนด์ ”คิง เพาเวอร์” ให้น่าเชื่อถือ เพื่อโกอินเตอร์
สนามบินแห่งนี้ ยังส่งต่อให้ธุรกิจโลจิสติกส์ ที่กลุ่มวินโคสท์ฯ ของครอบครัว ”วงศ์สวัสดิ์” เข้ามายึดหัวหาดไว้แล้วก่อนหน้านี้ มีโอกาสเติบโต เน้นจุดขายการเป็นฟรีโซน ใกล้สนามบินมากกว่าใคร รวมไปถึงผู้ใกล้ชิดอย่างกลุ่มสามารถฯ ที่ได้ประสบการณ์ธุรกิจใหม่จากระบบสื่อสารของสนามบิน ”AIMS”
ทุกตารางเมตรของสนามบินสุวรรณภูมิที่ให้ความรู้สึกถึงด้านมืด แต่สิ่งที่อาจชดเชยความรู้สึกได้บ้าง ต้องยกให้กับความตั้งใจของคนทำงานที่ร่วมในงานก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ จนสามารถทำคลอดออกมาให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่อลังการของสนามบิน ด้วยเนื้อที่กว่า 20,000 ไร่ เป็นสนามบินมีพื้นที่ใช้สอยในอาคารผู้โดยสารเดียวมากที่สุดกว่า 500,000 ตารางเมตร มีอาคารหอควบคุมการจราจรทางอากาศสูงที่สุดในโลก 132 เมตร
ได้ชื่อว่า เป็นสนามบินที่ทันสมัย ด้วยฝีมือสถาปนิกออกแบบระดับโลก “เฮลมุท จาห์น” ที่เน้นความสะดวกของการใช้งานของผู้โดยสาร ผสานกับศิลปกรรม ทั้งภาพจิตรกรรม ประติมากรรม ที่ประดับอยู่ในทุกมุม ประติดประต่อเพื่อสร้างจุดเด่น หวังชิงความเป็นศูนย์กลาง หรือฮับ ทางการบินในภูมิภาค
แต่ทั้งหมดอาจไร้ความหมาย หาก ”สุวรรณภูมิ” ไม่เป็นที่รู้จัก
45 วันนับจากวันที่ 1 กันยายนเป็นต้นไป สนามบินสุวรรณภูมิจะถูกเผยแพร่ทุกรูปแบบ ผ่านสื่อทุกรูปแบบ รวมทั้งเป็นรายการ “เรียลลิตี้” เพื่อให้เป็นไปตามแผนการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ โดยช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ เป็นแม่งาน และอีกส่วนหนึ่งผ่านสื่อต่างชาติด้วยงบรวมเกือบ 200 ล้านบาท
ดวงไฟแห่งการเริ่มต้นขึ้นพร้อมกับหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของการสนามบินแห่งชาติของไทย ที่มีชื่อว่า สุวรรณภูมิ ได้เริ่มขึ้นแล้ว