เป้าหมายใหม่…แต่จุดยืนเดิม

แม้จะทำตลาดเครื่องดิจิตอลมัลติฟังก์ชันมากว่า 38 ปี แต่ Toshiba ยังเป็นที่รู้จักในตลาดเฉพาะกลุ่ม เพราะคนส่วนใหญ่รู้จัก Toshiba ในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าและโน้ตบุ๊ก แตกต่างเครื่องมัลติฟังก์ชั่นอย่าง e-studioที่รู้จักเฉพาะตลาดองค์กรธุรกิจ และภาครัฐ เพราะผู้บริโภคทั่วไปไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายผลิตภัณฑ์นี้

นั่นเพราะ e-studio (อี-สตูดิโอ) เป็นกลุ่มสินค้าที่ทำตลาดผ่าน “โตชิบา สิงคโปร์” โดยวางโพสิชันนิ่งเป็นเครื่องดิจิตอลมัลติฟังก์ชัน ทั้งพิมพ์งาน ถ่ายเอกสาร และสแกนสี เพื่อทำตลาดองค์กรธุรกิจ ภาครัฐ และกำลังขยายไปสู่องค์กรเอสเอ็มอีรายใหม่ๆ มากขึ้น เพราะฉะนั้นแบรนดิ้งจริงเป็นเรื่องสำคัญ

“จิมมี่ ลิม ผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท โตชิบา สิงคโปร์ บอกว่า ปีนี้ Toshiba เน้นสร้างการรับรู้ใหม่ให้กับตลาด เพื่อกระตุ้นยอดขาย และขยายตลาดไปสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ โดยเน้นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ และสร้างกิจกรรมการตลาดถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

“ปีนี้จะเห็น Ad โฆษณา e-studio บนรถไฟฟ้าบีทีเอส หรือย่านห้างสรรพสินค้า ผู้คนทั่วไปที่เดินไปมาจะได้รับรู้ว่า Toshiba ไม่ขายเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือโน้ตบุ๊ก ที่สำคัญลูกค้าองค์กรธุรกิจก็จะใกล้ชิดกับแบรนด์มากขึ้น จากเดิมที่พบเห็นเฉพาะที่ในทำงาน หรืองานสัมมนาด้านเทคโนโลยี”

เป้าหมาย e-studio ต้องการขยายฐานตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายให้เติบโตมากขึ้น โดยตั้งเป้าส่วนแบ่งตลาดปีนี้ไว้ประมาณ 12% และเพิ่มเป็น 15% ในปี 2550 เพื่อติดอันดับ 1 ใน 3 ตลาดมัลติฟังก์ชันเครื่องใหญ่ เพราะปีที่ผ่านมามีส่วนแบ่งตลาดเพียง 8% โดยมียอดขายรวม 25,000 เครื่อง

อีกทั้ง e-studio ยังประสบผลสำเร็จมียอดขายเป็นอันดับหนึ่งระดับภูมิภาค อาทิ ประเทศอินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา ปากีสถาน และจีน ซึ่งต่างเป็นประเทศที่รู้จักแบรนด์ e-studio ในระดับแมสเกือบทั้งนั้น e-studio จึงปฏิเสธไม่ได้ที่ทำคนทั่วไปรู้จักแบรนด์ในตลาดไทยเช่นกัน

“เราอยากให้แบรนด์ e-studio รู้จักในระดับแมส เพื่อสร้างโอกาสในการทำตลาดใหม่ๆ แต่ไม่ได้เปลี่ยนจุดยืนเดิม คือโฟกัสตลาดองค์กรธุรกิจ และภาครัฐเช่นเดิม เพราะเป็นตลาดนี้มีกำลังซื้อสูง รวมทั้งมีปริมาณงานที่เหมาะกับเครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่ และต้องการใช้โซลูชั่นบริหารจัดการงานเอกสาร ตรงกับโพสิชันนิ่ง e-studio”