วิลลี่-เยลหลี ข้าวใหม่ปลามัน สไตล์ เอส.บี.

จากดู๋-สัญญา คุณากร และครอบครัว มาสู่ วิลลี่-เยลหลี แมคอินทอช คู่รักดาราที่เพิ่งร่วมหอลงโรงกันหมาดๆ เมื่อกลางปีที่ผ่านมา มาเป็นพรีเซ็นเตอร์คู่ล่าสุดของ เอส.บี. เฟอร์นิเจอร์ ด้วยค่าตัว 7 หลัก นับได้ว่าเอส.บี. ยังคงยึดมั่นในการใช้พรีเซ็นเตอร์ในการสื่อสารถึงภาพลักษณ์และแคมเปญใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ต่างกันที่ว่าครั้งนี้วิลลี่-เยลหลี ช่วยในการขยายฐานเจาะจงกลุ่มคู่รักที่เพิ่งแต่งงานซึ่งมักมีปัญหาหนักใจในเลือกสรรเฟอร์นิเจอร์เพื่อตกแต่งบ้าน

3D Pro Designer คือหมัดเด็ดดังกล่าว ที่เป็นผลจากการงัดเอา Consumer Insight มาตีแผ่ เพราะลูกค้ามักประสบปัญหาในการเลือกเฟอร์นิเจอร์ ทั้งเรื่องของขนาดสีสัน ซึ่งไม่แน่ใจว่าหากซื้อไปจะเข้ากับบ้านหรือไม่ การมีมัณฑนากร 3 มิติ นี้จะช่วยเติมเต็มความต้องการดังกล่าวได้ ด้วยความสะดวก เนื่องจากช่วยในการจำลองห้อง จัดวาง และปิดท้ายที่การคำนวณค่าใช้จ่าย โดยทาง เอส.บี.อ้างว่าสามารถทำได้เร็วกว่าเจ้าอื่น โดยใช้เวลาเพียง 30 นาที โดยใช้งบลงทุนทั้งสิ้น 80 ล้านบาท แบ่งเป็นด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ 20 ล้านบาท และงบการตลาด โฆษณา ประชาสัมพันธ์อีก 60 ล้านบาท

แต่การจะโปรโมตเฉพาะโปรแกรมนี้ก็ดูจะจืดชืดและดูไม่น่าสนใจเท่ากับการบอกเล่าผ่านปากคำของพรีเซ็นเตอร์ โดยเฉพาะพรีเซ็นเตอร์ที่เป็นข้าวใหม่ปลามันที่มีชื่อเสียงเช่นนี้

“วิลลี่และเยลหลี เปรียบเสมือนตัวแทนของครอบครัวคนรุ่นใหม่ มีกำลังซื้อ มีไลฟ์สไตล์ทันสมัย ที่ปัจจุบันให้ความสนใจในการตกแต่งบ้าน โดยเฉพาะเรือนหอซึ่งมีความสำคัญมาก แต่ยังขาดประสบการณ์และต้องการผู้ช่วย”

นอกจากนื้ทั้งคู่ยังมีความสดใหม่ เพราะไม่เคยเป็นพรีเซ็นเตอร์ร่วมกันให้กับสินค้าใดมาก่อน ทำให้การใช้พรีเซ็นเตอร์ของเอส.บี.โดดเด่นและไม่ทับซ้อนกับแบรนด์อื่น อีกทั้งการเป็นผู้ประกอบการของวิลลี่ ที่ตั้งบริษัทผลิตรายการและเป็นพิธีกรเอง ก็สอดรับกับการดำเนินชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเป็นเถ้าแก่มากกว่าจะเป็นลูกจ้าง ธัญญรักข์ ชวาลดิษฐ์ สะใภ้มือเอกของตระกูลชวาลดิษฐ์ ผู้รั้งตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่ายตลาด บริษัท เอส.บี.อุตสาหกรรมเครื่องเรือน จำกัด บอก

นอกเหนือจาก TVC ชุดนี้แล้วยังใช้สื่อบิลบอร์ด นิตยสาร สื่อ ณ จุดขาย เป็นกำลังเสริม เราจึงได้เห็นภาพของคู่รักนี้ติดอยู่ทั่วทั้งร้าน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้บริการ

ใช่เพียงจะหวังพึ่งวิลลี่-เยลหลีเท่านั้น หากพิจารณาจากปัจจัยในการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ของผู้บริโภค จะพบว่า ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับดีไซน์ ประโยชน์การใช้งาน และราคา ตามลำดับ ดังนั้นธัญญรักข์จึงวางแนวทางการทำธุรกิจของเอส.บี.เฟอร์นิเจอร์ให้มุ่งเน้นที่ดีไซน์ และการสร้าง Value Added มากกว่าการแข่งขันด้านราคา แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีโปรโมชั่นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าแคมเปญใหม่รวมถึงการเปิดตัวเอส.บี.ดีไซน์ สแควร์แห่งใหม่ที่เซ็นทรัล เวิลด์ จะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นอีก10% จากปี 2548 หรือปิดยอดขายที่ 3,600 ล้านบาท ณ สิ้นปีนี้ แม้ทิศทางอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์จะยังชะลอตัวตามทิศทางของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ยอดขายของเอส.บี.เฟอร์นิเจอร์ (by product)
ชุดห้องนอน 50%
ชุดห้องนั่งเล่น 20%
ชุดห้องอาหาร 10%
อื่นๆ 20%