“แตงโม” ช่วยชาติ

แบรนด์เสื้อผ้า “แตงโม” ถือเป็นโปรดักส์ชิ้นหนึ่งที่สร้างอาชีพ และแนวคิดความพอเพียงให้กับชุมชน โดยเฉพาะชุมชนบ้านบอเกาะ ตำบลสากอ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงของ 3 จังหวัดภาคใต้ ได้กลายเป็นชุมชนมุสลิมตัวอย่างที่ ใช้พ่อบ้านสร้างโรงงาน ส่วนแม่บ้านตัดเย็บเสื้อผ้าออกขาย

แนวคิดสร้างอาชีพ และความพอเพียงของชุมชนบ้านบอเกาะ เกิดขึ้นจากความคิดของอมรา พวงชมภู กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามแฮนดส จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเสื้อผ้าทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้แบรนด์ “แตงโม” ที่เธอบอกว่า “คนทำเสื้อ ห่วงบ้านห่วงเมืองได้หรือไม่”

โครงการ “เสื้อแตงโมสมานฉันท์” จึงเกิดขึ้น ด้วยความร่วมมือของ พล.ท.องค์กร ทองประสม แม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งได้มอบหมายให้ พล.ต.พิเชษฐ์ วิสัยจร รองแม่ทัพภาคที่ 4 รับผิดชอบ ได้สร้างโรงงานผลิตเสื้อผ้ายี่ห้อแตงโม ที่ชุมชนบ้านบอเกาะ โดยให้พ่อบ้านในชุมชนร่วมมือกันก่อสร้าง และให้แม่บ้านในชุมชนเป็นผู้ตัดเย็บเสื้อเหลือง ออกขาย

การดำเนินโครงการเสื้อแตงโมสมานฉันท์ ดำเนินการขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเดือน ก.พ. – มี.ค.49 ที่ผ่านมาได้ ชาวบ้านจากชุมชนบ้านบอเกาะจำนวน 11 คน ได้เข้ามาฝึกฝีมือการตัดเย็บเสื้อยืดคอปกตราครองราชย์ ที่โรงงานผลิตของบริษัท สยามแฮนดส จำกัด จ.นครปฐม ทำให้พัฒนาจาก “ชาวบ้าน” กลายเป็น “ช่างฝีมือ”

“ขั้นตอนการผลิต คือ ทางบริษัท สยามแฮนดส จะส่งวัสดุดิบชิ้นส่วนของเสื้อไปให้ชาวบ้านเย็บอย่างเดียว และส่งกลับมา เพื่อทางเราจะวางจำหน่ายให้ และในอนาคตจะพัฒนาการผลิตไปในเสื้อผ้าอื่นๆ อีก”

ทำให้ทุกวันนี้ ชุมชนที่นี้กลายเป็นชุมชนช่างฝีมือตัดเย็บเสื้อผ้าแบรนด์แตงโม ส่งออกขายทั่วประเทศ ที่สร้างทั้งรายได้และชื่อเสียงให้พวกเขาอย่างภูมิใจ โดยปีหนึ่งสร้างได้ให้พวกเขาเกือบ 5 แสนบาท และขยายรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โครงการสมานฉันท์นี้ยังหารายได้เสริมทางการเกษตร ด้วยการนำแตงโมไร้สารพิษไปปลูก ในพื้นที่ อ.สุไหงปาดีอีกด้วย แล้วนำไปขายที่โรงงานผลิตของบริษัท สยามแฮนดส จำกัด จ.นครปฐม ปรากฏว่าขายได้หมดในพริบตา ถือเป็นการหารายได้ที่สร้างรายได้กับชุมชนอย่างดียิ่ง

อมรา พูดเสมอว่า กุญแจสำคัญของการทำธุรกิจและการดำเนินชีวิตอยู่ที่ว่า “ถ้ารู้สึกพอเพียง เราจะทำอะไรได้ง่าย”