เขาอาจจะเป็น แฟชั่นดีไซเนอร์ ที่ไม่รู้เรื่องของ “แพตเทิร์น” หรือการตัดเย็บ แต่เขามีอีกด้านที่ดีไซเนอร์ส่วนใหญ่ไม่มี นั่นคือ งานศิลปะ ที่เขาสามารถผสมผสานงานทั้งสองด้านได้อย่างลงตัว
ผลงานด้านจิตรกรรมของเขาก็ไม่เป็นรองใคร ได้ชื่อว่าเป็นศิลปินชั้นแถวหน้า กวาดรางวัลมามากมาย เช่นเดียวกับ 10 กว่าปีของการเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ ให้กับ Greyhound และยังบุกเบิกแบรนด์ Playhound ให้ออกมาท้าทายตลาดแฟชั่นวัยรุ่น ได้อย่างที่ใครก็มองข้ามไม่ได้
การเปิดกว้าง และเรียนรู้ ตลอดเวลานี้เอง คือคุณสมบัติของเขา
คำว่า สุดยอดดีไซเนอร์ หรือศิลปินเบอร์ 1 จึงไม่ใช่จุดหมายปลายทางของจิตต์สิงห์มากเท่ากับการเลือกทำทุกอย่างที่อยากทำ ไม่แปลกที่เขาจะบอกว่า อยากเป็น “เป็ด” ที่ดีที่สุด
ผมหยิกยาวสลวย ของชายร่างผอมสูง ในชุดเสื้อยืดขาว กางเกงยีนส์สีขาว รองเท้าทรงแหลม ถ้าเป็นสาวกของ Greyhound ก็จะรู้ทันทีว่าเสื้อผ้าที่เขาสวมใส่อยู่นี้เป็นของยี่ห้ออะไร เป็นภาพสะท้อนที่เป็นส่วนผสมระหว่างการทำงานเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ และศิลปินด้านจิตรกรรม ของชายผู้นี้ได้เป็นอย่างดี
“ผมทำงานศิลปะ และผมก็อยู่วงการแฟชั่น งานทั้งสองด้านมันเอื้อต่อกัน ไปด้วยกันได้ ยิ่งในช่วงนี้ด้วยแล้ว แฟชั่นที่พ่วงงานศิลปะเข้าไปได้ มันฮิตเหลือเกิน”
พื้นฐานของจิตต์สิงห์ เริ่มต้นมาจากความชอบงานด้านศิลปะมาตั้งแต่วัยเด็ก จากการเขียนภาพเลียนแบบการ์ตูนญี่ปุ่นเล่นยามว่าง จนสามารถหารายได้ และนำไปสู่การเลือกเรียนด้านศิลปะ ในวิทยาลัยช่างศิลป์ และก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร เรียนจบจากคณะจิตรกรรมมาพร้อมกับการคว้ารางวัลชนะเลิศ จากธนาคาร กสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพฯ และปิโตรเลียม เป็นบทพิสูจน์ฝีมืองานด้านศิลปะของเขาเป็นอย่างดี
เขา เลือกเส้นทางชีวิตการทำงาน ด้วยการเป็นฟรีแลนซ์ รับทำงานให้กับเอเยนซี่โฆษณาหลายแห่ง ซึ่งทำให้เขามีรายได้ ซื้อรถ กินเที่ยว ตามที่ใจอยากทำ จนอายุ 27 ปี เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ
“พอดีมาเจอกับรุ่นพี่ ที่คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำงานเป็นดีไซเนอร์อยู่ที่เกรย์ฮาว เขาเห็นผมมาตั้งแต่เรียน อยู่ในกลุ่มชอบแต่งตัว คือ ไม่เหมือนใคร เขาเรียกว่า กลุ่มบูติก” จิตต์สิงห์เล่าถึงที่มาของการ “หลุด” ไปสู่เส้นทางของแฟชั่น
จิตต์สิงห์ บอกว่า วิธีคิดที่เขาใช้มาตลอดตั้งแต่เด็ก คือ มีอะไรน่าสนใจจะเข้าไปทำ ซึ่งเป็นที่มาของการตัดสินใจยื่นใบสมัครไปเป็นดีไซเนอร์ให้กับเกรย์ฮาว ซึ่งเวลานั้นถือว่าเป็นอาชีพที่แตกต่างไปจากคนรุ่นเดียวกันค่อนข้างมาก
“คุณภาณุ (อิงควัต) ก็งงๆ กับผม ว่ามันจะออกแบบได้หรือเปล่า เพราะนอกจากผมแล้ว มีอีกคนที่มาสมัครด้วย ซึ่งเวลานี้เป็นดีไซเนอร์อยู่ที่จัสปาล เขาก็มาเป็นตัวเลือกด้วย ซึ่งเขาทำเสื้ออยู่แล้ว ในขณะที่ผมไม่มีพื้นด้านนี้…แต่งตัวมาอย่างเดียวเลย”
สิ่งที่เขานำมาทดแทนความรู้ด้านเสื้อผ้า คือความรู้ด้านศิลปะ ที่เขามักสอดแทรกเข้าไปในการออกแบบเสื้อผ้า บวกกับอาศัยมุมมองของตัวเอง และพื้นฐานความชอบในการแต่งตัว
“ผมทำเสื้อไม่เป็น แต่ผมจะรู้ว่าผมชอบเพราะอะไร เช่นว่า กางเกงตัวนี้ถ้าทำให้ขาด หรือ ซีด น่าจะดีกว่า เหมือนกับตอนเด็กๆ ด้วยความที่ไม่มีสตางค์ซื้อ ผมหยิบกางเกงพ่อมา เอามาใส่ หรือเอามาแก้ บางทีถึงขั้นเอาเสื้อแม่มาทำใหม่”
สไตล์ของเสื้อก็มีส่วนสำคัญ “อย่าลืมว่าผมทำเสื้อผ้าผู้ชาย แม้จะดูแลเสื้อผ้าผู้หญิงด้วย แต่ก็จะเป็น Street Ware รากฐานเสื้อผ้าเกรย์ฮาวเป็น Street Ware มันจะไม่ใช่เสื้อแบบ โอทกูตูร์ หรือจะเป็นเสื้อที่ต้องใช้ลีลาในการสร้างแพตเทิร์นมากมาย”
แม้จะไม่ใช่อุปสรรคขัดขวางเส้นทางของการเป็นดีไซเนอร์ ที่จิตต์สิงห์เปรียบตัวเองไม่ต่างไปจากผู้รับเหมา ที่ไม่จำเป็นต้องตอกตะปูได้ แต่ก็สร้างบ้านได้
“ถามว่า ควรจะเรียนรู้มั้ย…จริงๆ แล้ว ควร แต่ทุกวันนี้ผมยังทำแพตเทิร์นไม่เป็นเลย เพราะผมไม่ได้อยากเป็นช่างตัดเสื้อ ผมอาจจะเป็นคนกรุ๊ปปิ้งที่ดี หรือเป็นสไตลิ่งที่ดี หรืออาจรู้จักเสื้อด้วยตัวของมัน
แต่ใช่ว่าเขาจะไม่เจอปัญหา
“ช่างตัดเสื้อเขาไม่เชื่อคุณ เขาเชื่อมั่นตัวเองมาก ผมไม่ได้จบมาจากไหน แต่ผมก็มีวิธีของผม เนื่องจากผมได้ความรู้จากเสื้อเก่า ซื้อเสื้อที่สนามหลวง จตุจักร ถึงจะปฏิบัติไม่เป็น แต่มันอ้างอิงได้”
ในทางตรงกันข้าม การไม่รู้แพตเทิร์น หรือการตัดเย็บ ทำให้ความเป็นดีไซเนอร์ของเขาไม่ถูกตีกรอบ ยกตัวอย่าง ไอเดียในการทำเสื้อเชิ้ตไม่มีรอยเย็บ ก็มาจากความคิดที่ไร้กรอบของเขา
ด้วยการ “โกอินเตอร์” ของเกรย์ฮาว ทำให้จิตต์สิงห์ เรียนรู้ติดตาม Trend แฟชั่นใหม่ๆ เพื่อออกแบบล่วงหน้าเป็นปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้พลังงานสูง
“เพราะเราไม่ได้ก๊อบปี้ เราพยายามหาคาแร็กเตอร์ และหาคอนเซ็ปต์มา เพื่อที่จะทำงานมากกว่าเมืองนอก การเรียนรู้ และปรับใช้ให้พอดีได้อย่างไร ตรงนี้สำคัญ โลกหมุนไปทุกวัน และต้องยอมรับว่า เราก็ไม่สำเร็จ มีเงื่อนไขอื่นเข้ามา”
จตุจักร ห้องสมุดอันกว้างใหญ่ ที่เขาต้องไปประจำทุกสัปดาห์ ติดต่อกันมาหลายปีจนถึงทุกวันนี้
“ผมเรียนรู้จากเสื้อผ้าเก่า ไปดูคน ทำตัว ทำผม ทำหน้า ทำตา เสื้อผ้า… จตุจักรมีทั้งอินดี้ และความดิบ เห็นเนื้อแท้ของพวกเขา บางทีได้เจอรองเท้า แว่นตา รูปภาพ โต๊ะ บางทีเป็นสังคมใหม่ จากคนไทยนี่แหละ”
คุณสมบัติที่สำคัญของจิตต์สิงห์ คือ การเป็นคนเปิดกว้างรับสิ่งต่างๆ ไม่ว่าชอบหรือไม่ชอบ ได้ตลอดเวลา โดยที่รู้จักกลั่นกรองและนำมาใช้
ด้วยความเป็นคนเช่นนี้เอง เป้าหมายของเขาจึงไม่ใช่ศิลปิน หรือนักออกแบบเสื้อที่ดีที่สุด แต่สำหรับเขา คือการที่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ
“ผมเปิดรับหมด มีเพื่อนมาให้ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ผมก็ไปทำ เพราะเส้นชัยมันถูกเลื่อนไปเรื่อยๆ ผมเป็นโรคชอบทำอะไรหลายๆ อย่างอยู่แล้ว ยุคนี้อาจเป็นยุคของเป็ดก็ได้ ที่การทำอะไรหลายๆ อย่างเป็นสิ่งที่ดีกับตัวเอง แทนที่จะเก่งอยู่อย่างเดียว แต่ไม่รู้ดีหรือเปล่า”
การใช้ชีวิตของจิตต์สิงห์ทุกวันนี้ นอกจากเลิกเหล้า บุหรี่ เที่ยวกลางคืนแล้ว เขายังใช้เวลาไปกับการออกกำลังกายด้วยการต่อยมวย ควบคู่ไปกับการเป็นดีไซเนอร์แฟชั่น และศิลปินวาดภาพ และพร้อมจะเริ่มทำงานกับสิ่งใหม่ๆ หากอยู่ในความสนใจของเขา
“คนเราต้องมีความสุขด้านอื่นด้วย ไม่ใช่งานอย่างเดียว” นี่คือวิธีคิดของจิตต์สิงห์ ดีไซเนอร์วัย 45 ปี ที่ผสมผสานชีวิตการทำงานกับส่วนตัวกับครอบครัวให้ลงตัวมากที่สุด
Profile
Name : จิตต์สิงห์ สมบุญ
Age : 44 ปี
Education :
– คณะจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์และภาพไทย สาขาจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
– วิทยาลัยช่างศิลป์
– โรงเรียนเทพศิรินทร์
Career Highlights :
งานด้านแฟชั่นดีไซน์
– ปัจจุบัน – Head of Design เสื้อผ้าแบรนด์ Playhound ในเครือบริษัทเกรฮาวด์
– 2546 บรรณาธิการฝ่ายแฟชั่น บริษัทโพเอม่า จำกัด (นิตยสารฟรอนท์)
– 2541 ที่ปรึกษาด้านการออกแบบ บริษัท เทคนา จำกัด
– 2535 ที่ปรึกษาด้านศิลปกรรม บริษัท แปลน พับลิชิ่ง จำกัด
– 2531-2546 ออกแบบเสื้อผ้าชาย บริษัทเกรฮาวด์
งานศิลปกรรม
– 2524-ปัจจุบัน ร่วมแสดงงานศิลปกรรมมาโดยตลอด ล่าสุด คือ งาน Drawing to Thai Artists และงาน อยู่เย็นเป็นสุข จัดโดยนิตยสารดิฉัน
Status : แต่งงาน
Life Style :
– สถานที่ต้องไปประจำ – ไปสวนจตุจักร ทุกวันเสาร์ เพื่อดูคน เสื้อผ้า และของเก่า และปีนี้เพิ่มรัชดาไนท์พลาซ่า อีกแห่ง
– ออกกำลังกาย – มวยไทย
– ของสะสม – แว่นตา รุ่นที่ชื่นชอบ ยี่ห้อเรย์แบนด์ กระจกบอชแอนด์ลอม, Cool-ray,
– รถยนต์ – ดัทสัน แฟร์เลดี้ (Fairlady 280 Z ปี 1979)
– โทรศัพท์มือถือ – โนเกีย