Greyhound เค้นศักยภาพทำเงิน โตติดสปีด 3 เท่าภายใน 5 ปี ผ่านโมเดลแฟรนไชส์-ไลเซนส์

Greyhound ประกาศครบรอบ 40 ปี ปรับแผนใหม่ วางเป้าโต 2-3 เท่าภายใน 3-5 ปี ฝั่งธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม เปิดโมเดลธุรกิจ “แฟรนไชส์” ในประเทศภายใต้แบรนด์ Greyhound Coffee พร้อมกับไล่ล่ากิจการแบรนด์ใหม่เข้าพอร์ต ด้านธุรกิจแฟชั่น เปิดโมเดล “ไลเซนส์” ทำสัญญาใช้แบรนด์ผลิตสินค้า เริ่มพันธมิตรแรก โอ ซี ซี ในเครือสหพัฒน์ 

Greyhound (เกรฮาวด์) แบรนด์ไลฟ์สไตล์และอาหารที่อยู่มานาน 40 ปีและปัจจุบันอยู่ในเครือมัดแมน มีการเสริมทัพผู้บริหารเลือดใหม่และทำให้บริษัทมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนขึ้นในการ “บุก” ตลาดอย่างเต็มที่ โดยแผนต่อจากนี้จะเห็นบริษัทรีดเค้นศักยภาพ คว้าโอกาสทำเงินทั้งฝั่งร้านอาหารและฝั่งแฟชั่นไลฟ์สไตล์

“ลิมลี่ ทิพพงษ์ประภาส” กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท เกรฮาวด์ ฉายภาพใหญ่ก่อนว่า รายได้รวมของกลุ่มบริษัทอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท (ยกเว้นปีนี้ที่รายได้จะลดลงเนื่องจาก COVID-19) โดยแบ่งสัดส่วนเป็นกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร-เครื่องดื่ม 80% และกลุ่มธุรกิจแฟชั่นไลฟ์สไตล์ 20%

ทีมบริหาร Greyhound : (จากซ้าย) ฐิติภูมิ วงศ์เกียรติขจร, ลิมลี่ ทิพพงษ์ประภาส, กฤตินาท อิศรางกูร ณ อยุธยา และ ปิยพงศ์ รินทรานุรักษ์

โดยบริษัทเล็งเห็นว่า ศักยภาพของบริษัทสามารถทำรายได้เติบโตได้อีก 2-3 เท่า ภายใน 3-5 ปี ผ่านกลยุทธ์ใหญ่ 3 ประการ คือ

1) Expansion ขยายสาขา 5-10 สาขา ในปี 2564 (รวมสองกลุ่มธุรกิจ) โดยใช้งบลงทุน 50-100 ล้านบาท
2) Extention แตกไลน์สู่กลุ่มสินค้าใหม่
3) Acquisition ซื้อกิจการและหาพันธมิตร

ร้านอาหารใช้โมเดล “แฟรนไชส์” ต่อยอด

สำหรับฝั่งร้านอาหาร Greyhound จนถึงสิ้นปีนี้จะมีทั้งหมด 7 แบรนด์ 38 สาขา (เฉพาะในประเทศไทย) มีแบรนด์ที่โดดเด่น เช่น Greyhound Cafe 17 สาขา, Greyhound Coffee 15 สาขา, Another Hound Cafe 3 สาขา เป็นต้น

โมเดลใหม่ที่จะเกิดขึ้นคือ Greyhound Coffee เป็นแบรนด์ที่บริษัทหยิบมาทำธุรกิจ “แฟรนไชส์” ในประเทศ เพื่อทำให้การเติบโตเร็วขึ้น

Greyhound Coffee ในโชว์รูม Cub House Honda เมื่อแยกตัวออกมานอกโชว์รูม จะมีการปรับสไตล์ร้านอีกครั้ง (Photo: FB page@greyhoundcoffeeoriginal)

“ฐิติภูมิ วงศ์เกียรติขจร” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและพัฒนาธุรกิจ บริษัท เกรฮาวด์ จำกัด และ บริษัท เกรฮาวด์ คาเฟ่ จำกัด กล่าวถึงโมเดลนี้ว่า จุดเริ่มต้นมาจากการทำสัญญาเปิด Greyhound Coffee ในโชว์รูม Cub House มอเตอร์ไซค์ของ Honda ทั้งหมด 15 สาขา ในเวลา 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้เรียนรู้ธุรกิจร้านกาแฟจนมีความมั่นใจที่จะขยายแบรนด์นี้

โดยจะเริ่มเห็นการนำ Greyhound Coffee ออกนอกโชว์รูมของ Honda ทางบริษัทจะลงทุนเองเพื่อเปิดคู่ไปกับ Greyhound Cafe สาขาใหม่ 3 สาขา มีการปรับสไตล์ใหม่ให้มีความเป็นแบรนด์ตนเองมากขึ้น และจะเริ่มเปิดให้แฟรนไชส์ติดต่อเพื่อนำแบรนด์ไปลงทุนปีหน้า เบื้องต้นวางค่าแรกเข้า 150,000 บาท และค่าธรรมเนียม 6% จากยอดขาย

เพิ่มสินค้าประเภทซื้อกลับบ้าน แบรนด์ Life Is Too Short For Bad Snacks

นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มร้าน Greyhound Cafe ไทป์ใหม่ในชื่อ Greyhound Cafe Selected ปรับขนาดร้านให้เล็กลงเหลือประมาณ 100 ตร.ม. จากเดิม 200-300 ตร.ม. เพื่อให้หาพื้นที่เปิดสาขาได้ง่ายขึ้น ด้วยขนาดที่เล็ก จะทำให้เมนูของร้านน้อยลงกว่าเดิม แต่จะเพิ่มเมนูพิเศษเฉพาะไทป์ร้านขนาดนี้

รวมไปถึงเพิ่มไลน์สินค้าประเภทซื้อกลับบ้านมาขายในร้าน ภายใต้ชื่อ Life Is Too Short For Bad Snacks จำหน่ายขนมขบเคี้ยว คุกกี้ แยม กราโนล่า ช่วยเพิ่มยอดขายจากความหลากหลายของสินค้า

 

หาโอกาสซื้อกิจการ – JV ลงทุนต่างประเทศ

ด้านการพัฒนาธุรกิจใหม่ในฝั่งร้านอาหาร “ปิยพงศ์ รินทรานุรักษ์” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เกรฮาวด์ คาเฟ่ จำกัด เปิดเผยกับ Positioning ว่า บริษัทวางงบลงทุนเพื่อซื้อกิจการไว้ 1,000 ล้านบาท สำหรับใช้ซื้อกิจการในช่วง 3 ปี โดยมองหาร้านอาหาร-เครื่องดื่มแบรนด์ใหม่มาเติมเต็มพอร์ตให้ไม่ซ้ำกับที่บริษัทมีอยู่เดิม

จากปัจจุบัน Greyhound เป็นแบรนด์ที่จับตลาดกลางถึงกลางบน และเป็นร้านอาหารไทยฟิวชั่น ดังนั้น แบรนด์ใหม่ที่สนใจจะมองเป็นกลุ่มร้านอาหารสไตล์อื่น หรือจับเซ็กเมนต์ตลาดแมส หรือขึ้นไปหาโอกาสในกลุ่ม Fine Dining ก็ได้ แต่ต้องเป็นแบรนด์ที่มีศักยภาพพอที่จะขยายไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ

คาดว่าภายในไตรมาส 2/64 น่าจะเห็นความชัดเจน ปัจจุบันมีเริ่มเจรจาบ้างแล้ว โดยมีทั้งเชนร้านอาหารที่ขยายไปแล้วกว่า 20 สาขา และเชนขนาดเล็กที่มีอยู่ 2-3 สาขาแต่ศักยภาพเติบโตสูง

Greyhound Cafe UK สาขาแฟลกชิปในต่างประเทศ

ส่วนธุรกิจร้านอาหารในต่างประเทศ ปัจจุบันขยายไปแล้ว 15 สาขาใน 6 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ ทุกประเทศเป็นการขยายโดยให้สิทธิแฟรนไชส์ ยกเว้นที่อังกฤษซึ่งบริษัทลงทุนเอง ในปี 2564 จะมีการขยายอีก 3 สาขาใน 2 ประเทศใหม่ คือ ฟิลิปปินส์ และอีกหนึ่งประเทศยังอยู่ระหว่างเจรจา

อย่างไรก็ตาม ปิยพงศ์กล่าวว่า หลังจากนี้จะเริ่มมองหาดีลการร่วมลงทุน (JV) ในการเปิดสาขาที่ต่างประเทศ สำหรับประเทศที่บริษัทยังไม่เคยมีการเปิดสาขามาก่อน โดยเฉพาะประเทศขนาดใหญ่ เช่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา มีความน่าสนใจที่จะลงทุนแบบ JV มากกว่าแฟรนไชส์ เพราะพื้นที่ขยายสาขามาก ความเสี่ยงสูงขึ้นก็จริง แต่จะทำให้ได้รายได้กลับมามากกว่าการเก็บค่าธรรมเนียมลิขสิทธิ์เท่านั้น

 

กลุ่มแฟชั่นขาย “ไลเซนส์” เปิดน่านน้ำสินค้าไลฟ์สไตล์

ฟากธุรกิจแฟชั่นซึ่งแม้จะยังมีสัดส่วนที่เล็ก แต่ทางกลุ่มบริษัทมองว่ามีโอกาสโตสูงมาก “กฤตินาท อิศรางกูร ณ อยุธยา” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เกรฮาวด์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเริ่มพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่คือการให้ “ไลเซนส์” หรือทำสัญญาให้บริษัทอื่นนำแบรนด์ของเครือไปใช้กับสินค้า ซึ่งจะทำให้แบรนด์แตกไลน์สินค้าใหม่ได้เร็วกว่าการพัฒนาด้วยตนเองคนเดียว

ไลน์สินค้าใหม่ของกลุ่มแฟชั่น โดยมีชุดชั้นใน Smileyhound ที่ออกแบบร่วมกับ โอ ซี ซี เตรียมวางขายปีหน้า (นายแบบ-นางแบบสวมใส่ทางซ้ายมือ)

ยกตัวอย่างพันธมิตรเจ้าแรกคือ บริษัท โอ ซี ซี จำกัด (มหาชน) ใน เครือสหพัฒน์ ทำสัญญา 3 ปีเพื่อผลิตชุดชั้นในแบบ Unisex ภายใต้แบรนด์ Smileyhound โดยโอ ซี ซีจะเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเอง ส่วนการออกแบบจะร่วมกันออกแบบทั้งสองฝ่ายและเกรฮาวด์มีสิทธิตัดสินใจสูงสุดในด้านงานออกแบบ

“เราไม่ได้เก่งทุกด้านที่จะทำเองทุกอย่าง อย่างร่วมกับโอ ซี ซี เขาก็มีนวัตกรรมของเขาที่จะผลิต underwear และมีช่องทางการขายที่ใหญ่กว่าเรา ดังนั้นการไปโมเดลนี้จะดีกว่า” กฤตินาทกล่าว อย่างไรก็ตาม บริษัทย้ำว่าการให้ไลเซนส์ แม้จะเปิดกว้างให้กับสินค้าไลฟ์สไตล์ต่างๆ แต่ก็ต้องมีการคัดเลือกเพื่อให้เหมาะกับแบรนด์ด้วย

แบรนด์ในเครือของเกรฮาวด์นั้นเป็น “สินทรัพย์” ที่มีพลังมากในการนำมาเปิดขายไลเซนส์ เพราะมีอัตลักษณ์ที่ชัดเจนในแง่แฟชั่น และมีฐานลูกค้าที่เหนียวแน่น มีกำลังซื้อ ที่ผ่านมาเครือเกรฮาวด์จึงมีงาน collab กับแบรนด์อื่นๆ ต่อเนื่อง เช่น IKEA, Heineken

 

แบรนด์เก่าเล่าใหม่-เพิ่มสินค้าให้ครบลูป

นอกจากโมเดลธุรกิจใหม่แล้ว กฤตินาทกล่าวว่ากลุ่มแฟชั่นได้เริ่มนำแบรนด์เก่า Animal House มาลงตลาดอีกครั้ง และจะเป็นแบรนด์สำหรับขายออนไลน์เท่านั้น ไม่มีหน้าร้าน เพื่อจับกลุ่มลูกค้าตลาดแมส พูดง่ายๆ คือการท้าชนกับ “เสื้อผ้าไอจี” ทั่วไทย

แบรนด์เก่าฟื้นชีพ : Animal House เริ่มขายสินค้าแรกคือ หน้ากากผ้า

ดังนั้น ปัจจุบันกลุ่มเกรฮาวด์จะมีสินค้าแฟชั่นตั้งแต่ระดับกลางบนถึงแมส หากวัดเป็นราคา ‘เสื้อเชิ้ต’ แบรนด์ Greyhound Original จะอยู่ในช่วงราคา 2,500-3,000 บาท Smileyhound เป็นช่วงราคา 1,000-1,500 บาท ส่วน Animal House จะอยู่ในช่วงราคาไม่เกิน 1,000 บาท

Animal House ปีนี้เริ่มเปิดขายสินค้าแรกเป็นหน้ากากผ้าผ่าน 24Shopping ในเครือซีพีออลล์ และปีหน้าจะนำไลน์เสื้อผ้ากลับมาแบบจัดเต็ม พร้อมจำหน่ายทุกช่องทางทั้งเว็บไซต์ของบริษัทและมาร์เก็ตเพลซ

ไลน์สินค้าใหม่ น้ำหอม Smileyhound

ด้านการพัฒนาสินค้าใหม่ กลุ่มแฟชั่นใช้แบรนด์ Smileyhound เป็นเรือธง เริ่มเปิดไลน์น้ำหอมเป็นครั้งแรก 2 กลิ่นและสนีกเกอร์แบบแรกออกวางจำหน่ายแล้ว

สรุปแผนบุกธุรกิจของกลุ่มเกรฮาวด์นั้น “จัดเต็ม” แบบติดอาวุธรอบด้าน แม้ปีนี้สถานการณ์จะหนักหน่วงจาก COVID-19 แต่บริษัทยังคงต้องการลงทุนเพื่อเติบโตให้เร็วกว่าที่เคยเป็นมา