ปานบัว บุนปาน “นักปฏิวัติ”

หวานเย็น หรือ “ปานบัว บุนปาน” ผู้หญิงหน้าหวาน บุคลิกนุ่มนวลสมชื่อ แต่แววตาฉายความเด็ดเดี่ยว ดูมุ่งมั่นและจริงจัง เธอเป็นทายาทคนโตของขรรค์ชัย บุญปาน ผู้ก่อตั้งและเจ้าของเครือมติชน ธุรกิจสื่อใหญ่ของเมืองไทย เธอก้าวเข้ามาเป็นผู้บริหารด้วยตำแหน่ง หัวหน้าสำนักประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เพื่อแก้ไข สะสางปัญหาต่างๆ ทั้งเก่าใหม่ขององค์กรนี้โดยเฉพาะ

เป็นการพลิกผันความตั้งใจเดิมของเธอที่ต้องการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและเป็นการบอกลาคำนำหน้าว่า ดร. จากอังกฤษ เพื่อภารกิจอันหนักอึ้งทว่าท้าทายสำหรับมือใหม่อย่างเธอยิ่งนัก เป็นการเปิดฉากรบโดยที่เธอบอกว่าไร้กระบวนท่าและปิดตำราพิชัยสงครามสู้สุดตัว!

จากเด็กนักเรียนเรียนดีระดับหัวกะทิของโรงเรียนสตรีวิทยา ก้าวเข้าสู่รั้วเหลืองแดงในฐานะนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ สาขาการระหว่างประเทศ จนกระทั่งการไปเรียนต่อระดับปริญญาโทด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และต่อเนื่องด้วยการศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขาเดียวกันที่อังกฤษ เส้นทางการศึกษาที่เกิดขึ้นล้วนเป็นการตัดสินใจจากตัวเธอผ่านการเรียนรู้แบบซึมลึกจากผู้พ่อ

“คุณพ่อคุณแม่ไม่เคยบอกว่าต้องเรียนอะไร ทำอะไร ต่างคนต่างรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองให้ดี ด้วยความที่ท่านทำงานหนัก จะไม่มีเวลามานั่งสอนตรงๆ แต่ทั้ง 2 ท่านเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ที่บ้านก็จะมีหนังสือเยอะ เลยอยู่กับหนังสือกองโตมาตั้งแต่เด็กๆ และด้วยอายุที่ห่างกับน้องชายมากถึง 10 ปี ทำให้รู้สึกว่าเป็นลูกสาวคนเดียวอยู่พักใหญ่ ตอนนั้นยังไม่มีน้องก็ไม่รู้จะเล่นกับใคร ก็เลยอยู่กับหนังสือ”

“สมัยเด็กจะเชื่อต่วยตูนอย่างหนัก (หัวเราะ) เหมือนกับพ่อ และจะอ่านเรื่องสั้นเยอะ ลักษณะการอ่านจะเกินวัย เพราะไม่ชอบอ่านการ์ตูน รู้สึกว่าไม่ใช่หนังสือจะอ่านนิทานแทน พอเรียน ป.1 ก็อ่านหนังสือพิมพ์รายวันแล้วและเป็นประจำอ่านทุกวัน โดยเฉพาะข่าวการเมืองจะชอบมาก” ปานบัวย้อนอดีตวัยเยาว์

กว่า 7 ปีที่เธอใช้ชีวิตโดยมุมานะกับการเรียนที่อังกฤษอย่างหนัก จนกระทั่งเกิดจุดหักเหในชีวิตเมื่อขรรค์ชัย ผู้พ่อสุขภาพไม่แข็งแรงและล้มป่วยลง เธอจึงยุติการศึกษาระดับปริญญาเอก กลับเมืองไทยดูแลบุพการี และช่วยงานในบริษัทมติชน เธอบอกว่า มีหน้าที่สางปัญหาคั่งค้างในองค์กรนี้มานาน มุ่งเน้นความกลมเกลียวและรวมกันเป็นหนึ่ง

3 ปีที่แล้ว ปานบัว เริ่มจากดูแลพ็อกเกตบุ๊กที่ออกในนามศิลปะวัฒนธรรม ต้นปี 2548 ก็ได้รับผิดชอบโครงสร้างบริหารงานของบริษัททั้งหมด โดยเฉพาะส่วนงานที่มีปัญหา การได้บริหารงานในภาพรวมทำให้เธอได้เรียนรู้ทุกส่วนขององค์กร ทั้งฝ่ายผลิต โรงพิมพ์ และกองบรรณาธิการ

เธอต้องฝ่าฟันวิกฤตอย่างหนักในการชี้แจงและแก้ไขปัญหา ตลอดระยะเวลา 3 เดือนเมื่อครั้งแกรมมี่ซื้อหุ้นมติชน มกราคม 2549 เธอก้าวเข้าสู่การรับผิดชอบสำนักพิมพ์มติชน หน่วยธุรกิจสำคัญของบริษัทให้แข็งแกร่งและเดินได้ถูกทิศถูกทางมากขึ้น

“การคัดเลือกเรื่องที่จะตีพิมพ์ จะเปิดโอกาสให้งานเขียนของคนใน คือ นักข่าวมากขึ้น เพื่อให้เขาต่อยอดผลงานและมีรายได้เพิ่มขึ้น งานข่าวที่ดีมีอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครสนใจรวบรวม มัวแต่ไปหานักเขียนนอก ซื้อลิขสิทธิ์เมืองนอก งานฝรั่งไม่ได้ดีกว่างานคนไทยเท่าไหร่ ไม่อยากให้งงหรือหลงทาง งานที่ชูจุดขายว่าเป็น Best Seller ก็ไม่ใช่งานดีทั้งหมด หลายๆ งาน Non sense” เธอบอกเล่าถึงจุดเปลี่ยนภาพลักษณ์สำนักพิมพ์มติชน ที่ทำให้แต่ละส่วนงานได้ทำงานใกล้ชิดกันและก่อเกิดผลงานร่วมกันมากขึ้น

เธอบอกย้ำอย่างหนักแน่น และให้ข้อคิดถึงภาวะของตลาดหนังสือเมืองไทยด้วยว่า “ทำหนังสือทั้งที อ่านแล้วน่าจะได้สาระ เพราะหนังสือสำคัญมากมีอิทธิพลต่อวิธีคิดและการตัดสินใจ แต่สังคมยังให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์นี้น้อยมาก สนใจจะโปรโมตแต่เรื่องชุ่ยๆ ง่ายๆ งานนักเขียนดีๆ มักไม่ได้รับการโปรโมต มีแต่งานของคนดังที่มีช่องทางออกสื่อทีวี มักจะติด Top 5 เสมอ คนทำหนังสือต้องมีหน้าที่ฝืนกระแสนี้ ต้องผลักดันให้คนรู้จักใฝ่ดี”

ในส่วนของสำนักพิมพ์มติชน เธอได้ประเมินถึงจุดแข็งและจุดอ่อน โดยยึดมั่นในตลาดเดิมที่แข็งแกร่ง คือ เรื่องของเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง แต่ยังไม่ทิ้งผลงานแปลที่จะมุ่งเน้นเฉพาะงานแปลที่ได้รับรางวัลการันตี และจับจองเรื่องราวของสิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งยังไม่มีสำนักพิมพ์ใดเป็นคู่แข่ง

โดยเฉพาะเรื่องการเมืองที่ให้ความสำคัญมาก เพราะพฤติกรรมผู้อ่านให้ความสนใจกับเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น ล่าสุดเรื่อง แฉฉาวนักการเมือง ก็ขายได้เป็นหมื่นเล่ม

งานมหกรรมหนังสือแห่งชาติครั้งที่ 9 ที่จะจัดขึ้นปลายเดือนตุลาคมนี้ จะชูจุดขายที่หนังสือบอกเล่าเรื่องราวของพล.อ เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นการปรับกลยุทธ์ใหม่ รับกับเหตุการณ์รัฐประหาร อีกทั้งยังมีไฮไลต์ที่หนังสือบอกเล่าแนวคิดของในหลวงผ่านทางองคมนตรีท่านอื่นๆ อีกหลายเล่ม

เธอยังให้ความสำคัญกับหน้าตาของหนังสือเป็นอย่างมาก เพราะเชื่อว่าหนังสือดีและหนังสือสวยจะช่วยทำให้คนอ่านตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น เป็นการทำหนังสือไทยในรูปแบบของเมืองนอก

ด้วยสไตล์การทำงานแบบถึงลูกถึงคน จริงจัง ลงลึกรายละเอียด ทำให้เธอเป็นที่เกรงขามของลูกน้อง เธอยอมรับว่า เธอดุ! และนิยมชมชอบการโต้เถียงอย่างสร้างสรรค์ ไม่น้อยไปกว่าการวิพากษ์วิจารณ์ และมักกระตุ้นให้ลูกน้องเกิดแรงบันดาลใจในการทำงานให้ก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา

“การทำงานจะต้องดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะถ้าไม่ดีจะทำทำไม คนทำงานจะต้องเข้มแข็งขึ้น อดทนขึ้น งานที่ท้าทายและยากมันหมายถึงการเติบโต”

ผลงานชิ้นเด่นที่เธอริเริ่มขึ้นและเป็นสิ่งสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนที่สุด คือ “มติชน บุ๊ค คลับ” ร้านหนังสือที่รวบรวมพ็อกเกตบุ๊กทุกเล่มของสำนักพิมพ์มติชน ปัจจุบันเปิดให้บริการที่ไทยแลนด์ บุ๊ค ทาวเวอร์ ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ และอาคารข่าวสด โดยสไตล์การตกแต่งจะเป็นแบบอังกฤษ เป็นร้านหนังสือสีดำเช่นเดียวกับร้าน Water Stone ร้านหนังสือโปรดตรงข้ามบ้านพักของเธอที่อังกฤษ

ทุกวันนี้ปานบัวเลือกผ่อนคลายกับการดูหนังผ่อนคลายสไตล์อังกฤษ และใช้เวลาว่างอยู่กับสุนัขตัวน้อย 6 ตัว ซึ่งมีหลายพันธุ์ อาทิ ชิวาวา ปอม เป็นต้น ขณะที่การสะสมของเก่าโดยเฉพาะเครื่องกระเบื้องเคลือบลายซึ่งเธอหอบหิ้วมาจากเมืองผู้ดี รวมถึงเครื่องเรือนหลายชิ้น เป็นความชอบที่ถูกถ่ายทอดมาจากบิดามารดาซึ่งล้วนเป็นนักโบราณคดีตัวยง

แม้ภารกิจยังไม่จบสิ้น และการรบทุกครั้งที่ผ่านมาของเธอจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเพียงใด แต่เลือดนักสู้ของขรรค์ชัย ผู้พ่อได้ถ่ายทอดมาสู่เธออย่างไม่ผิดแผก ซึ่งเธอถือเป็นต้นแบบสำคัญในการดำเนินชีวิตและการทำงาน

“คุณพ่อเป็นคนทำงานหนัก ซื่อสัตย์สุจริต มีเมตตา รักลูกน้อง และมีจังหวะในการบริหารที่ดี รู้ว่าเวลาไหนจะลุย เวลาไหนจะนิ่ง เรียนรู้ความเป็นนักสู้จากท่าน ให้เรียนรู้จากประสบการณ์”

Profile

Name: ปานบัว บุนปาน
Age: 34 ปี
Education:
ปริญญาโท SOAS , University Of London
ปริญญาตรี รัฐศาสตร์ สาขาการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Career Highlight: หัวหน้าสำนักประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)
Family:
บิดา มารดา ขรรค์ชัย-นลินี บุนปาน
น้องชาย-ปราบต์ บุนปาน วัย 24 ปี นอกเหนือจากจะเป็นนักศึกษาปริญญาโทคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว ยังมีฝีมือในการกำกับหนังสั้นอีกด้วย