หลายคนในเมืองไทยอาจจะไม่คุ้นเคยกับชื่อ “Vatit Itthi” หรือ “วทิต อิทธิ” เหมือนสาวไฮโซในอเมริกา โดยเฉพาะในชิคาโก ชื่อของ “Vatit Itthi” เป็นที่นิยมไม่น้อยในหมู่สาวสังคม ผู้นิยมออกงานกลางคืนเป็นกิจวัตร เพราะนั่นคือ องค์ประกอบหลักของการเป็น “Vatit Itthi”…เสื้อผ้าหรูสำหรับกิจกรรมยามค่ำ…ดินเนอร์ ชิล ชิล ไปถึงเจ้าสาวแบบในฝัน
“Vatit Itthi” เป็นแบรนด์เนมที่ วทิต วิรัชพันธุ์ และ อิทธิ เมทะนี ช่วยกันร่าง สร้างฝัน ลองผิดลองถูกเป็นเวลา 4 ปี จนได้รับเลือกจาก Fashion Group International แห่งชิคาโก ให้เป็น “Style Makers & Rule Breakers” เมื่อปี 2005 และได้รับเชิญจาก Gen Art ให้ร่วมแสดงแฟชั่นดาวรุ่งหน้าใหม่ของชิคาโกเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ปัจจุบันพวกเขาตัดสินใจกลับมาสานต่อธุรกิจนี้ที่เมืองไทย…
สองหนุ่มพบกันครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะนิเทศศาสตร์ เอกการละคร ทั้งสองเป็นนักเต้นของคณะฯ ไม่ว่าจะมีกิจกรรมการละครที่ไหน จะต้องเห็นสองหนุ่ม “วทิต อิทธิ” อยู่บนเวทีเสมอ ขณะเดียวกันก็มีงานหลังเวที คือ ออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าให้แก่นักเต้นเองด้วย ทำไปทำมา วทิตได้รับจ้างเป็นคอสตูมดีไซด์เนอร์ให้แก่โรงละครกรุงเทพ ทั้งคู่ยังเป็นฟรีแลนซ์รับทำเครื่องแต่งกายให้กับนักเต้นตามงานเปิดตัวสินค้าแบรนด์ชั้นนำต่างๆ อีกด้วย อาทิ คริสเตียน ดิออร์ ชิเซโด โมโตโรล่า และ มาสด้า เป็นต้น ซึ่งขณะนั้นพวกเขาอยู่ประมาณปี 2 ปี 3 หลังจากทำงานไปด้วย ความสนใจในการเรียนก็ลดลง ทั้งสองก็ไม่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ แต่ทั้ง 2 พยายามค้นหาตนเองว่า แท้จริงแล้ว ชอบอะไร
ในที่สุด วทิตค้นพบว่า ตนเองนั้นรักการออกแบบเสื้อผ้าเป็นชีวิตจิตใจ เขาจึงตัดสินใจข้ามน้ำข้ามทะเลมาศึกษาต่อทางด้านนี้โดยตรงที่อเมริกา โดยโอนหน่วยกิจจากเมืองไทยเข้าไปเรียนที่สถาบันแฟชั่นดีไซน์แห่งหนึ่งในเมืองแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย ขณะเดียวกัน อิทธิซึ่งยังอยู่ที่เมืองไทย ทำงานประชาสัมพันธ์ให้กับภัทราวดีเธียเตอร์ และเกิดความชอบงานเกี่ยวกับโรงละครมากขึ้น เขาจึงเลือกที่จะมาอเมริกาเพื่อศึกษาต่อทางด้านเธียเตอร์โดยเฉพาะ โดยเริ่มเรียนภาษาที่จอร์เจียก่อน และย้ายมาที่โคลัมเบีย คอลเลจ ในชิคาโก เป็นจังหวะเดียวที่ค่าเงินบาทอ่อนตัว เมื่อทั้งสองย้ายมาที่ชิคาโก และวทิตก็เริ่มหางาน เขาได้งานผู้ช่วยดีไซเนอร์ที่ Mira Couture ซึ่งเป็นร้านออกแบบและตัดเย็บชุดแต่งงาน และชุดงานกลางคืนตามสั่งของลูกค้าที่มีชื่อที่สุดร้านหนึ่งในชิคาโก
จากการร่วมงานกับช่างตัดเสื้อผ้าอาวุโส ผู้มีประสบการณ์มานานหลายสิบปีที่ร้าน Mira Couture วทิตได้เรียนรู้เทคนิคการตัดเย็บและการทำธุรกิจแบบไฮคลาสสไตล์ยุโรปแท้ๆ เพราะช่างส่วนใหญ่สั่งตรงมาจากยุโรป แม้กระทั่ง Mira Horoszowski เจ้าของร้านก็มาจากโปแลนด์ และอดีตลูกค้าประจำคนหนึ่งของร้านนี้คือ Susan Thompson Buffet ภรรยาของ Warren Buffet
“ผมขอเขาทำงานที่หลังร้าน เพราะเราได้เรียนรู้งานเทคนิคการตัดเย็บได้มากกว่า” วทิตเล่า ซึ่งเขาทำงานอยู่หลังร้านได้ประมาณ 5 ปี เขาก็เริ่มออกมารับผิดชอบงานหน้าร้าน ซึ่งเป็นงานดีไซน์หลักๆ และเขาก็เริ่มมีลูกค้าเป็นของตัวเอง “เริ่มจากงานออกแบบชุดแต่งงานให้กับเพื่อนจากมิชิแกน แต่เป็นคนไทย หอบชุดกลับไปแต่งงานที่เมืองไทย งานชิ้นนั้นคนชื่นชมมาก และเป็นชิ้นแรก” วทิตเล่าอย่างภูมิใจ และนั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจในดารทำธุรกิจของเขาและอิทธิ
ขณะนั้น อิทธิเพิ่งเรียนจบทางด้านเธียเตอร์ ก็เริ่มคิดว่าจะทำอะไรดีต่อจากนี้ ประจวบเหมาะกับที่ Merchandise Mart ในชิคาโกจัดงานสัมมนาการทำธุรกิจด้านแฟชั่น เขาก็เลยไปร่วมงาน
“แม้ว่าเราจะเคยเป็นฟรีแลนซ์มาก่อน แต่เราไม่เคยรู้จริงๆ ว่าโครงสร้างของการทำธุรกิจ และการสร้างแบรนด์นั้นเป็นอย่างไร ไม่เหมือนเมืองไทยที่ใครนึกจะเปิดร้านตัดเสื้อผ้าก็เปิดได้ไม่มีหลักการอะไร แต่ที่นี่ไม่ได้ ทุกอย่างต้องมีที่มาที่ไป ซึ่งงานนี้เขาสอนหมดตั้งแต่การหาผ้า หาโรงงาน เรื่องของการเงิน การทำตลาด การสร้างแบรนด์ ทุกอย่าง” อิทธิเล่าถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา หลังจากนั้นเขากลับมาเล่ารายละเอียดให้วทิตฟัง และทั้งสองคิดเหมือนกันว่า “ดูแล้วไม่ใช่เรื่องยากนะ เราน่าจะลองทำดู…และเคยอ่านเจอในหนังสือว่า เศรษฐีเงินล้านส่วนใหญ่เริ่มจากศูนย์กันทั้งนั้น” สองหนุ่มช่วยกันเล่าอย่างอารมณ์ดี
ในปี 2002 ทั้งสองเปิดตัวแบรนด์ “Vatit Itthi” ด้วยคอลเลกชั่นแรกมีทั้งหมด 6 ชุด “ตอนแรกไม่ใครซื้อเลย แต่ยังมีแขวนขายในร้าน Mira Couture ซึ่งเขาก็พอขายได้ เขาไม่ได้ซื้อขาดไปจากเราเลย แต่เขาก็ได้เปอร์เซ็นต์ไปถ้าขายได้” ก็ถือว่าเขาช่วยสนับสนุนในระดับหนึ่ง จากนั้นทั้งสองก็เริ่มส่งแค็ตตาล็อกไปหลายแห่ง ซึ่งได้รับการปฏิเสธกลับมาเป็นส่วนใหญ่ แต่พวกเขาก็ยังไม่ท้อ ซึ่งช่วงนั้นรายได้หลักยังมาจากชุดแต่งงาน พวกเขาเริ่มทำคอลเลกชั่นที่ 2 ก็ยังขายไม่ได้อีก “แต่คอลเลกชั่นนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก”
ช่วงนั้น พวกเขาพยายามออกไปพรีเซนต์ผลงานให้ได้มากเท่าที่จะทำได้ ในที่สุดมีโอกาสเข้าไปพรีเซนต์งานที่บูติกเฮนรี่ เบนเดล (Henri Bendel) ในนิวยอร์ก
“เราไปต่อแถวตั้งแต่หกโมงเช้า พอไปถึงเขาบอกเราว่า คอลเลกชั่นของพวกเธอน่าสนใจ ดูดีมาก แต่เราหมดทุนที่จะซื้อ ณ เวลานี้นะ แล้วเราจะทำอะไรได้ เราก็ดึงเสื้อผ้าของเราออกมาจากถุง ทุกคนที่อยู่ในที่นั้นก็ตื่นตาตื่นใจ ชื่นชมกันใหญ่…แต่ยังขายไม่ได้” ไหนๆ มาถึงนิวยอร์กแล้ว พวกเขาก็ลองไปเสนอที่อื่นอีก แต่จังหวะไม่ดี ร้านที่เขาไปเสนอต้องการทำแบรนด์ของตนเองก็เลยไม่สนใจซื้อ
จากนั้นพวกก็กลับมาตั้งต้นใหม่ที่ชิคาโก เดินเข้าเกือบทุกร้านในชิคาโก ก็ยังไม่สำเร็จ แม้ว่าส่วนใหญ่จะชอบดีไซน์มาก แต่เนื่องจากคอลเลกชั่นของพวกเป็น “Very Evening Dress” คือเป็นชุดออกงานกลางคืนล้วน จึงไม่เข้ากับสไตล์ของร้าน และที่สำคัญคนอเมริกันส่วนใหญ่จะเข้าไปซื้อชุดแบบทางการในห้าง ซึ่งวทิต และอิทธิเลี่ยงที่จะเข้าไปขายในห้าง เหตุเพราะ การจะเข้าห้างที่นี่ได้จะต้องมีประวัติดีมากๆ และสามารถผลิตงานจำนวนมากๆ ได้ แต่พวกเขายังใหม่ต่อธุรกิจนี้มาก และกำลังเพียงสองคนก็ไม่สามารถทำงานวอลุ่มมากๆ ได้ ประกอบกับแรงงานฝีมือในอเมริกายังไม่ดีพอสำหรับงานประณีต และการลงทุนก็สูงมากด้วย
ในที่สุดพวกเขามาพบร้าน Helen Yi ที่เจ้าของร้านเป็นชาวเอเชียเหมือนกัน ซึ่งขณะนั้น Helen เพิ่งเปิดร้านมาได้เพียง 5 สัปดาห์เท่านั้น และขายเฉพาะแบรนด์ยูนิคเท่านั้น เธอสนใจงานของ “Vatit Itthi” มาก แต่ขอให้ลดคุณภาพลงมาสักนิด เพื่อจะได้ตั้งราคาได้เหมาะสม พวกเขาก็ลองทำออกมา 2 แบบ แบบละ 10 ชิ้น ขายได้หมดภายใน 1 เดือน จากนั้นเริ่มมีกำลังใจ เริ่มลองชุดผ้ายืดย้อมสีดู เป็นการสร้างลายผ้าขึ้นเอง เรียกว่า “T-Lab” เพื่อจะได้ขายได้ง่ายขึ้น เพราะนึกว่าไม่ต้องใช้ทุนมาก แต่ทำไปทำมา ทุนก็ตกอยู่ที่เดิม เพราะต้องใช้แรงงานและแรงสมองเยอะมาก ขายดีแต่ไม่คุ้ม ซึ่งราคาของ “Vatit Itthi” อยู่ที่ประมาณ 300-1,000 เหรียญสหรัฐ
ชื่อเสียงของ “Vatit Itthi” เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น จากนั้น Saks Fifth Avenue และ Neiman Markus ติดต่อให้เข้าไปพรีเซนต์งาน ทาง Saks ต้องการให้ทำให้ถูกลง Neiman ต้องการให้แพงขึ้น พวกเขาได้เรียนรู้ในการตั้งราคาจากที่เหล่านั้นว่า ราคาที่เขาตั้งนั้นอยู่ในช่วงที่ถูกเกินไปและแพงเกินไปสำหรับบางแห่ง ซึ่งไม่ฟิตที่ไหนเลย พวกเขาก็เลยเริ่มคิดหนักว่า จะวางแบรนด์ไว้ที่โพสิชั่นไหนดี
พวกเขาก็พยายามหาคำตอบ โดยลองทำคอลเลกชั่นที่ 3 ให้ถูกลง ปรากฏว่าชิ้นที่ขายได้คือชิ้นที่แพงที่สุด และพวกเขาก็ไม่มีความสุขในการทำคอลเลกชั่นนั้นเลย
วทิตและอิทธิกลับมาทบทวนตัวเองแล้วพบว่า “เราต้องการให้ห้องเสื้อ Vatit Itthi เป็นแบรนด์เนี้ยบ เรียบ หรู เก๋ ไม่ล้าสมัย ไม่เหมือนใคร ฉะนั้นทุกอย่างต้องเต็มที่ เน้นที่คุณภาพเป็นหลัก เป็นออริจินัลจริงๆ” พวกเขาทิ้งทวนชีวิตในอเมริกาด้วยคอลเลกชั่นที่ 5 ชื่อว่า “Lady in the Garden” และพร้อมกลับมาเปิดตัวที่เมืองไทย โดยมีฐานลูกค้าในอเมริกาเป็นแรงหนุน…”Vatit Itthi” จะอยู่ตรงไหนของวงการแฟชั่นเมืองไทย ต้องติดตามกันต่อไป
Profile :
Name : วทิต วิรัชพันธุ์
Age : 33 ปี
Education : B.F.A. สถาบันแฟชั่นดีไซน์ในเมืองแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย
Name : อิทธิ เมทะนี
Age : 33 ปี
Education : B.A. สาขา Theater จาก Columbia College Chicago
Website: www.vatititthi.com