ห้องเรียน “โมโตโรล่า”

เป็นอีกครั้งที่ “วิทการ จันทวิมล” ผู้จัดการฝ่ายการตลาด โทรศัพท์มือถือ โมโตโรล่า ประเทศไทย ต้องละทิ้งจากหน้าที่การงานถึง 2 ปีเต็ม เพื่อกลับเข้าสู่ชั้นเรียนอีกครั้ง ไม่ใช่หลักสูตรปริญญาโท หรืออบรมผู้บริหารของสถาบันใด แต่เป็นหลักสูตรเฉพาะของ“โมโตโรล่า” ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ โมโตโรล่า เพื่อสร้างผู้นำเลือดใหม่ สำหรับก้าวใหม่ของผู้ผลิตมือถือแห่งนี้เท่านั้น

แม้ว่าสินค้า Technology กลายเป็นหนึ่งสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันมากขึ้น อาทิ คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ หรือกล้องดิจิตอล เป็นต้น ส่งผลให้การทำตลาดมีสีสันใกล้เคียงสินค้า Consumer แต่การทำตลาดสินค้า Technology ยังไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องการผู้บริหารที่เข้าใจกลยุทธ์การตลาด และรู้จักเทคโนโลยีในระดับที่ดี เพื่อตีโจทย์การทำตลาดเทคโนโลยีในรูปแบบแบบคอนซูเมอร์ได้ง่ายขึ้น

ดังนั้น Motorola International จัดตั้งโครงการพัฒนาผู้บริหาร (Young Blood) ขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อฝึกอบรม และจัดชั้นเรียนให้พนักงานงานโมโตโรล่าที่ถูกคัดเลือกไว้ให้เป็นผู้บริหารโดยเฉพาะ โดยรุ่นแรกนี้มีผู้บริหารรุ่นใหม่ที่ถูกคัดเลือกจากโมโตโรล่าทั่วโลกไปสู่ Class นี้รวม 25 คน และหนึ่งในนั้นเป็นผู้บริหารโมโตโรล่า ประเทศไทยเพียง 1 คนเท่านั้น

“วิทการ จันทวิมล” ผู้จัดการฝ่ายการตลาดระดับภูมิภาค บริษัทโมโตโรล่า ประเทศไทย และอินโดจีน เป็นผู้บริหารคนไทยคนแรกและคนเดียวที่ถูกส่งไปร่วมเรียนในโครงการพัฒนาผู้บริหารนี้ หลังจากเข้ามาร่วมงานกับ Motorola ได้ประมาณ 2 ปี ซึ่งโครงการนำร่องเริ่มในปี 2547 โดยจัดให้มีการเรียนการสอน และเทรนนิ่งอยู่ที่เมืองลิเบอร์ตี้วิลล์ มลรัฐอิลลินอยส์ และที่สำนักงานโมโตโรล่า ประเทศสิงคโปร์

“ผู้บริหารหรือมือการตลาดที่ถูกส่งไปเข้าคอร์สนี้ ต่างถูกวางตัวไว้ให้กลับมารับตำแหน่งระดับผู้บริหารที่สูงขึ้น หรือพัฒนาศักยภาพการทำงานเดิมในระดับที่ดีขึ้น โดยได้สิทธิขอเปลี่ยนแผนก เพื่อทำงานที่ชอบ และถนัดมากขึ้น เพื่อนำประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มาให้ใช้งานได้เต็มที่ ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้รับโอกาสนี้” วิทการ บอก

เฉพาะผู้บริหารรุ่นใหม่

หลักสูตรนี้ Internal Development ของโมโตโรล่าอยู่ในส่วน Leadership Development โดยมีชื่อโครงการว่า Business Leadership Development Program หรือ BLDP เป็นโครงการสำหรับผู้บริหารที่เป็นรุ่นใหม่ที่พึ่งก้าวขึ้นมาเป็นระดับผู้จัดการ โดยถูกคัดเลือกจากผู้บริหารในแต่ละประเทศ เพื่อส่งผู้บริหารรุ่นใหม่นี้เข้าไปร่วมการฝึกอบรมในระดับโลก

รูปแบบการฝึกอบรมนี้จะมีทั้งหมด 3 ส่วนหลักคือ ส่วนแรก คือ Education เป็นชั้นเรียนที่สอนเกี่ยวกับธุรกิจทั้งหมดที่อยู่ภายใต้โครงสร้างการดำเนินงานของโมโตโรล่า อาทิ การเงิน การบริหารสต็อก การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งจะครอบคลุมกระบวนการดำเนินธุรกิจทั้งหมดของโมโตโรล่า

โครงการนี้จะมีผู้บริหารระดับสูงของ MOTO เป็นจัดตำรา และผู้สอนตลอดหลักสูตร อาทิ ผู้บริหารระดับ Senior President หรือ Vice President โดยเป็นการเรียนการสอนรูปแบบ Online Training เพื่อช่วยให้ง่ายต่อการเรียนจากสถานที่ไหนก็ได้ทั่วโลก แต่ทุกคนต้องรักษาเวลาให้ตรงกัน

“Class ลักษณะนี้สะดวกครับ เพราะถึงเวลาเราก็ Login เข้าชั้นเรียน เสียบหูฟังและไมโครโฟน เพื่อฟังการสอน และมีปัญหาหรือไม่เข้าใจอะไรก็กดปุ่มถาม เพื่อถามเข้าไปแล้วคนโมโตโรล่าทั่วโลกก็จะได้ยินพร้อมกัน และได้ยินคำตอบจากอาจารย์พร้อมกัน” วิทการ อธิบาย

ลักษณะชั้นเรียนแบบนี้เรียกว่า Virtual Class คล้ายกับชั้น E-learning ปกติ แต่พิเศษตรงที่ Motorola จะเน้นความไฮเทคจากการใช้ High Technology เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ผู้บริการในชั้นเรียนได้มากที่สุด เพราะการทำตลาดของ Motorola คือสินค้าเทคโนโลยีนั่นเอง

พัฒนาวิชั่นระดับมหาภาค

ส่วนที่ 2 คือ On the job training เกิดจากวิชั่นของผู้บริหารโมโตโรล่าที่ต้องการผู้บริหารที่มีความสามารถหลากหลาย และมีมุมมองธุรกิจที่ก้าวครอบคลุม โดยการเป็น Leadership จะต้องมองภาพธุรกิจระดับกว้างได้อย่างครอบคลุม ดังนั้นโครงการนี้แบ่งการสอนออกเป็น 4 ครั้ง/หลักสูตร ครั้งละ 6 เดือน โดยมีเงื่อนไขง่ายๆ คือให้ผู้เรียนเลือกเข้าเทรนนิ่งในส่วนงานที่ไม่เคยทำมาก่อน เพื่อให้เกิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในการเรียนรู้ อาทิ ปกติทำงานฝ่ายการตลาด แต่เลือกเทรนนิ่งในส่วนพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

รวมทั้งเลือกสถานที่ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน เพื่อให้ผู้บริการกลุ่มนี้มีวิชั่น และประสบการณ์ใหม่ๆ ที่หลุดจากกรอบเดิม เพราะฉะนั้น วิทการจึงเลือกใช้เวลาช่วงเรียน เพื่อทำงานในประเทศไทย 1 ปี และออกไปหาประสบการณ์ในต่างประเทศอีก 1 ปี

“ผมเริ่มต้นเทรนในฝ่ายขาย ลงลึกในรายละเอียดพอสมควร ก่อนจะย้ายไปฝ่ายการเงิน เพราะการเงิน คือหัวใจของธุรกิจ จากนั้นไปเทรนเรื่องการบริหารสต็อก และจบลงที่ส่วนงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่ผมไม่เคยรู้มาก่อน เดินดูกระบวนการพัฒนาสินค้า เรียนร็ R&D เพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ก่อนจะย้ายไปต่างประเทศ”

ตรงนี้ Motorola ต้องการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ จากการทำงานในฟังก์ชั่นอื่นๆ ให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ของโมโตโรล่า เพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมการทำงานของบริษัทที่เป็น Multi International Company จึงจำเป็นต้องสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ผู้บริหารทุกคนได้เรียนรู้วัฒนธรรม และการใช้ชีวิตในต่างประเทศ เพื่อให้ในอนาคตสามารถแลกเปลี่ยน หรือย้ายไปทำงานในประเทศอื่นๆ ได้

“เป้าหมาย คือ วันนี้คุณนั่งทำงานอยู่ที่เมืองไทย แต่มีคำสั่งให้ย้ายไปดูแลตลาดอินเดีย สิงคโปร์ หรือต้องไปช่วยงานที่อเมริกาในวันรุ่งขึ้น คุณก็ต้องพร้อมทำงานได้ทันที เพราะฉะนั้นคุณก็ต้องเรียนรู้ และสามารถปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมการทำงาน และชีวิตความเป็นอยู่ในแต่ละประเทศได้ ตรงนี้สำคัญมาก”

สร้างมืออาชีพ

ส่วนสุดท้าย คือ Feedback หรือการประเมินผล เพื่อการพัฒนาต่อยอดให้ผู้บริหารรุ่นใหม่นี้ พร้อมในการเตรียมตัวก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารในระดับสูงขึ้นต่อไป ส่วนนี้จึงกลายเป็นกระบวนการสำคัญ เพื่อสรุปผลและเสริมศักยภาพการเทรนนิ่งตลอดเกือบ 2 ปี

“การได้รับเสียงสะท้อนจากผู้ฝึกสอนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้ประเมินผลการเรียนรู้ และควรจะเพิ่มเติมตรงไหน เนื่องจากผู้ฝึกสอนเคยผ่านประสบการณ์เป็นผู้บริหารระดับนี้มาแล้วทั้งนั้น มีปัญหาอะไรก็จะคุย และแลกเปลี่ยนกับเขาได้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็น Feedback ที่ไม่ดี เพื่อให้เกิดการพัฒนาการทำงาน เพราะก่อนที่เขาจะเลือกเราเข้ามา เขาวางตัวเราไว้แล้วว่า 5 ปีข้างหน้าจะเป็นยังไง เขาลงทุนกับเรา และเราก็ต้องเดินตามแผนให้ได้อย่างมืออาชีพ” วิทการบอก

BLDP จึงเป็นโครงการนำร่องที่ Motorola จัดให้กับผู้บริหารกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อปั้นเลือดใหม่ให้ได้ Young Leader ให้ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้และฝึกอบรม เพื่อเตรียมไว้รองรับตำแหน่งใหม่ๆ ในระดับบริหารที่สูงขึ้น รวมทั้งแก้ปัญหาเดิมที่โมโตโรล่าเคยประสบปัญหาขาดแคลนผู้บริหารระดับสูงในช่วงที่ผ่านมา

โดยเฉพาะในประเทศไทย Motorola วิกฤตถึงขั้นต้องไปซื้อตัวผู้บริหารจากบริษัทคอมพิวเตอร์รายใหญ่ เพื่อเข้ามาบริหารงานในตำแหน่งสูงสุดในไทย แต่ด้วยวัฒนธรรมการทำงาน และประสบการณ์ที่แตกต่างกันระหว่างการทำตลาดคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ ที่ยังต้องการความชำนาญเฉพาะด้านอยู่นั่นเอง จึงต้องเปลี่ยนผู้บริหารใหม่อีกครั้ง

เป็นเพียงหนึ่งโครงการที่ Motorola ได้ฝึกอบรมให้กับผู้บริหารจากโครงการพัฒนาผู้บริหารระดับอื่นๆ อาทิ ระดับ Senior หรือ Vice President ซึ่งทุกคนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารของ Motorola ต้องผ่านการฝึกอบรมในลักษณะนี้เกือบทั้งหมด แต่จะต่างกันในรายละเอียด และเงื่อนไขที่เกี่ยวโยงการกับทำงาน

กลับมาพร้อมสีสัน

หลังจากวิทการสิ้นสุดการฝึกอบรมตลอดหลักสูตร ตั้งแต่มกราคม 2547- ธันวาคม 2548 ได้กลับมาเริ่มงานในตำแหน่งใหม่ในประเทศไทยเมื่อต้นปีนี้ ซึ่งเขากลับมาพร้อมความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ เราจึงเห็นสีสัน Motorola แรงมาจัดตั้งแต่ต้นปี อาทิ การเข้าไปสนับสนุนกิจกรรมดนตรีร่วมกับ MTV Asia หรือการเปิดตัวโทรศัพท์หลากสีสัน อาทิ สีเขียว ชมพู และม่วง เป็นต้น

โจทย์ของ Motorola คือการเปลี่ยนโพสิชันนิ่งให้เป็นวัยรุ่น และมีความสนุกสนานมากขึ้น นั่นเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีผู้บริหารที่รู้จักตลาด ทันสมัย และสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่นได้ง่ายขึ้น วิทการจึงเป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ Motorola ปีนี้

ทุกวันนี้วิทการมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานด้านการตลาดสำหรับกลุ่มลูกค้าทั่วไป และคู่ค้าธุรกิจในระดับภูมิภาค ให้กับกลุ่มอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยครอบคลุมประเทศไทย ลาว กัมพูชา และบังกลาเทศ โดยมีสำนักงานประจำอยู่ที่บริษัทโมโตโรล่า ประเทศไทย ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่ที่ได้รับหลังผ่านโครงการพัฒนาผู้บริหาร 2 ปี

ก่อนหน้านี้ วิทการร่วมงานกับโมโตโรล่าในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาดนานเกือบ 2 ปี และ 4 ปีที่แล้วเขาเคยเป็นผู้จัดฝ่ายผลิตภัณฑ์ระดับภูมิภาค บริษัทยูนิลีเวอร์ และผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์ ที่บริษัท ฟริโต-เลย์ จำกัด