สะออน เปิดใจ

โมเดลการบริหารวงดนตรีโปงลางสะออน ซึ่งถูกหล่อหลอมขึ้นมาจาก อี๊ด โปงลาง เขาเปรียบเสมือนแม่ทัพใหญ่ บัญชาการงานแสดงทุกอย่าง มีลาล่า และลูลู่ สองสาวสะออน ผู้เป็นเหมือนแขนซ้าย แขนขวาของเขา เป้าหมายของศิลปิน “ขายโชว์” วงนี้จะเป็นอย่างไร ลองฟังคำตอบได้ จากบรรทัดต่อไปนี้

อี๊ด โปงลางสะออน

“อยากเป็นสถาบันการแสดง”

ระหว่างที่ นิตยสาร POSITIONING เข้าไปสัมภาษณ์อี๊ดโปงลาง สิ่งหนึ่งที่อี๊ดกำลังครุ่นคิดอยู่ในใจของเขา คือ ความคิดที่จะเพิ่มสมาชิกในวงดนตรี ซึ่งเขาได้นำความคิดนี้ไปเสนออาร์เอสแล้ว และได้รับไฟเขียว ให้รับสมัครสมาชิกในวงดนตรีเพิ่มเติมได้

“ผมอยากเพิ่มแดนเซอร์ นางรำอีกประมาณ 30-40 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือก โดยพื้นฐานการคัดเลือกสมาชิกใหม่ตั้งอยู่เงื่อนไขเดิม คือ ต้องมีพื้นฐานการแสดง เรียนจบนาฏศิลป์ หรือวิชาการแสดงมาบ้าง”

การเพิ่มจำนวนสมาชิกของโปงลาง ถือเป็นเป้าหมายใหม่ในการพัฒนาวงดนตรีขายโชว์วงนี้ อี๊ด บอกว่า แม้การเพิ่มคนจะเป็นการขยายต้นทุนก็จริง แต่ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่โปงลางจะต้องพัฒนาการแสดงไปอย่างหยุดนิ่ง ซึ่งบุคลากรด้านการแสดงถือเป็นสิ่งจำเป็น

แม้อี๊ดจะไม่ได้บอกโดยตรงว่า เขาอยากให้โปงลางสะออนเป็นสถาบันทางการแสดง แต่เป้าหมายที่เขากำลังทำ ประหนึ่งให้คิดว่า อีกไม่นาน โปงลางจะกลายเป็นสถาบันการแสดง คล้ายกับ ทิฟฟานี่โชว์ คาบาเร่ต์โชว์ ซึ่งมีทีมแสดงนับร้อยคน

“โปงลางสะออน เป็นสูตรที่ไม่มีอะไรตายตัว เนื่องจากเป็นวงดนตรีที่เน้นการแสดงโชว์เป็นหลัก การกำหนดสมาชิกวงจึงไม่สามารถขีดเส้นไว้แค่ไหนได้ จากอดีตที่วงโปงลางยุคแรกมีเพียง 3-4 คน มาถึงวันนี้มีเกือบ 30 คน และในอนาคตอาจจะเป็น 100 คนก็ได้ เพราะการแสดงโชว์จำเป็นต้องมีบุคลากรจำนวนมากขึ้น เพิ่มสีสันในการแสดง”

อี๊ดเรียกคอนเซ็ปต์ของโปงลางสะออนว่าเป็น วาไรตี้บันเทิง มีอิสระในการแสดง แต่ต้องคงเอกลักษณ์ในความเป็นไทย ดนตรีอีสานไว้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้คนรู้จักโปงลางสะออน ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากอีสาน

หลักการบริหารวงดนตรี ที่มีสมาชิกจำนวนมาก อี๊ดบอกว่า เขายึดหลักแบบ “พี่สอนน้อง” ให้ทุกคนรู้สึกเหมือนครอบครัวเดียวกัน เห็นสิ่งไหนดีไม่ดี สามารถดุด่า ว่ากล่าวกันเดี๋ยวนั้นได้ทันที ไม่เก็บไว้จนกลายเป็นปมของปัญหา

การประชุมวง เป็นจุดหนึ่งของกระบวนการบริหารงานที่วงโปงลางสะออนใช้เป็นการพูดคุยทั้งการปรับเปลี่ยนการแสดงในแต่ละครั้ง ปัญหาใหญ่ภายในวง ทำให้การประชุมมีความถี่ค่อนข้างบ่อยครั้ง

“แต่ผมในฐานะหัวหน้าวง ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้สมาชิกในวงเห็นด้วย เช่น ตรงต่อเวลา รับผิดชอบงาน ทุ่มเทกับงาน และที่สำคัญผมต้องแสดงถึงความเด็ดขาดด้วย”

ถ้าจะพูดถึงหัวใจหลักของการทำงานของโปงลางสะออนจากอีดตมาถึงปัจจุบัน อี๊ดยังทำทุกอย่างในโปงลางสะออนเหมือนเดิม ตั้งแต่การคิดคอนเซ็ปต์การแสดง ออกแบบชุด บริหารคน แก้ปัญหา ติดต่อธุรกิจ แบ่งรายได้ เขารับหน้าที่เองทั้งหมด แม้จะมีผู้จัดการวงอย่างนุจ- นุจรินทร์ พลแสน แต่อี๊ดก็ยังเป็นผู้ตัดสินใจทุกอย่าง

“ผมอยากทำเองทุกอย่าง ทำแล้วสบายใจ แม้จะเหนื่อย แต่ก็คุ้มค่า เพราะนี่เป็นโอกาสที่เราฝันมาตลอดและเมื่อได้มาแล้วต้องทำให้ดีที่สุด”

เป้าหมายของโปงลางสะออนอีกอย่างหนึ่ง อี๊ดทิ้งท้ายว่า อยากนำการแสดงไปเล่นให้ชาวต่างชาติชม ให้เขาหัวเราะเหมือนคนไทย ยอมรับความงดงามของศิลปการแสดงของไทย

ผู้ช่วยบริหารมุก

ลาล่า – ขวัญนภา เรืองศรี

สาวสะออนที่ใครๆ ต่างรู้จักในลีลาคาแร็กเตอร์แบบสาวฝรั่ง เป็นลีลาที่ตัวเธอบอกว่า “พี่อี๊ด” เป็นคนคิดและสร้างบทบาทนี้ขึ้นมา

ลาล่า บอกว่า ทุกวันนี้คนจำเธอได้เพราะบทบาทนี้ และการเล่นบทบาทนี้ไม่ทำให้เธออึดอัด เพราะเป็นคาแร็กเเตอร์ที่ใกล้เคียงสไตล์ขี้เล่นของเธอ

สองปีของโปงลางสะออน ลาล่า เล่าว่า มีการพัฒนาด้านการแสดงอย่างมาก อย่างหนึ่งที่สำคัญคือการมีส่วนช่วยใน “บริหารมุก” คิดมุกใหม่ๆ ซึ่งเป็นประเด็นหลักในการแสดง

“พี่อี๊ดมักจะให้ส่งมุกก้อนใหญ่มา เราเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยนำมุกมาจัดการ คิดใหม่บ้าง ตบมุกบ้าง ซึ่งถึงวันนี้มีส่วนช่วยได้มาก อีกอย่างท่าเต้น เราช่วยสอนน้องๆ ในการแสดงด้วย ให้เต้นแบบกวนๆ”

ลูลู่-ดวงฤดี บุญบำรุง

คาแร็กเตอร์สาวพม่า ที่พูดไทยสไตล์พม่า เธอบอกว่า นั่นเพราะด้วยใบหน้า และท่าทางช้า เนิบๆ พี่อี๊ด จึงลองให้เล่นดู เล่นไปเล่นมา เรียกเสียงฮาสนั่นหวั่นไหว

ลูลู่ บอกว่า การแสดงโชว์ของโปงลางสะออนยังต้องพัฒนาอีกมาก นโยบายของโปงลาง สะออน คือให้ทุกคนมีส่วนช่วยในการแสดง เช่น ให้ทุกคนฟังเพลงหนึ่งเพลง แล้วช่วยกันหาไอเดียใหม่ๆ มานำเสนอ

“โปงลาง เน้นโชว์การแสดง ดังนั้นต้องพยายามหาอะไรใหม่ๆ ในการแสดงมานำเสนอ อย่างบทบาทที่แต่ละคนได้รับต้องพัฒนาตัวเองให้เต็มที่ คิดเป็นการบ้านเสมอว่าเราจะทำอย่างไร ให้คนดูชอบ เรียกเสียงฮามากๆ”

หลักการบริหารมุกการแสดง

ใช้หลักการสำคัญ คือ กลุ่มคนดู หรือกลุ่มเป้าหมายในการแสดง และสถานการณ์เหตุการณ์บ้านเมืองที่คนทั่วไปสนใจ อย่าง กลุ่มคนดูการแสดง ถ้าเป็นวัยรุ่นก็จะใช้มุกที่วัยรุ่นเข้าใจ นำเพลงวัยรุ่นมาแสดง แต่ถ้าเป็นคนสูงวัยมากหน่อย เด็ก ก็ต้องใช้มุกที่เข้ากับวัยเขา

มุกการแสดงของโปงลาง จะมีเผื่อไว้สำหรับคนทุกกลุ่ม จะมีซ้ำบ้าง เก่ามาก แต่จะไม่เล่นซ้ำในสถานที่เดียวกัน ซึ่งเคยไปแล้ว เช่น เคยเล่นที่นี่แล้ว ก็จะไม่เล่นซ้ำ

กว่าจะสะออนทั่วประเทศ

ถ้าไม่มีวันที่ 29 มิถุนายน 2547 วันแรกที่ปรากฏตัวในรายการตีสิบ ในช่วงดันดารา ชื่อของโปงลาง สะออนอาจจะยังไม่สะออนถึงวันนี้

คงจะเรียกว่าโชคและวาสนาไม่ได้ เพราะการเดินทางสู่ดวงดาวของวงดนตรีโปงลางสะออนน่าจะเรียกว่า “โอกาส” ดูจะเหมาะสมกว่า

โอกาสที่ไม่ได้เกิดจากการนั่งรอความหวัง แต่เป็นการสร้างโอกาส ของผู้อยากได้รับโอกาส ซึ่งกำลังกล่าวถึง “อี๊ด” หรือ สมพงษ์ คุนาประถม ผู้เป็นเสมือน “เสาหลัก” ในการสร้างโอกาสให้วงดนตรีสไตล์อีสานนี้เกิดขึ้น ด้วยความพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เล่นดนตรี และวันหนึ่งเขาก็วิ่งไปหาโอกาสที่รายการตีสิบ ช่วงดันดารา

นับจากวันนั้น โปงลางสะออนเริ่มสะออนไปทั่วสารทิศ อดีตเด็กนักศึกษาจากวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ นำโดยอี๊ด ได้รวมตัวขึ้นอย่างจริงจัง ออก แสดงโชว์ตามร้านอาหาร สวนอาหารต่างๆ ด้วยสไตล์ขายความฮามุกตลก ผสมกับการแสดงดนตรี ร้องเพลง และการออกรายการตีสิบครั้งที่สอง ได้ช่วยเร่งเร้าชื่อของโปงลางสะออนให้แจ้งเกิดในวงการมากขึ้น

ไม่นานนักชื่อเสียงของวงดนตรีสไตล์อีสานประยุกต์ก็เริ่มเข้าตาค่ายยักษ์ใหญ่อย่างอาร์เอส โดยมีเหน่ง – จิรวัฒน์ ปานพุ่ม โปรดิวเตอร์มือทอง ของอาร์เอส เป็นผู้ชักชวนเข้าสังกัด เมื่อเขาไปนั่งชมที่โรงเบียร์แห่งหนึ่งแล้วเกิดความประทับใจ

โปงลางสะออน ในวิถีทางของธุรกิจได้เริ่มขึ้นเมื่อประมาณปี 2548 และโด่งดังกลายเป็นวงดนตรีมหาชน ที่มีเอกลักษณ์สไตล์อีสาน มีงานแสดงมากที่สุดวงหนึ่งของประเทศ และที่สำคัญโปงลางสะออนได้กลายเป็นทั้งนักดนตรี นักแสดง ดารา และพรีเซ็นเตอร์ ชนิดที่ถนนสายบันเทิงต้องยอมรับในความสามารถ

สะออนน่ารู้

เพลงหากินเพลงแรกๆ ที่ใช้ร้องในการแสดง
-เพลงทหารพิการรัก

มุกแรกๆ ที่ใช้ในการแสดง
-มุกขอเพลงฝรั่ง
“อ้ายๆ ขอเพลง ‘อะเซเดเฮ’ แหน่”
“โอ๋ย…สิขอเพลงหยังกะเบิ่งหน้าคนร้องแหน่ครับ” (ฮา)

อี๊ด ชอบคิดมุกได้ที่ไหน
-ขณะขับรถยนต์อยู่คนเดียว คิดได้จะรีบโทรไปบอกน้องๆ ให้ช่วยจด

ร้านอาหารแห่งแรกๆ ที่โปงลางเล่นแล้วคนเต็มร้าน
-ร้านไก่ย่างโคราช ย่านวิภาวดี

ชื่อวงแรกๆ ที่ใช้
-เดอะสะออนเด

เพลงแรกๆ ที่ไปโชว์ในรายการตีสิบ
-น้ำตาจ่าน้อย ของลูกแพร อุไรพร

ผู้ชักนำออกหน้าจอทีวี
-คืนสิทธิ์ สุวรรณวัฒกี จากรายการตีสิบ

ผู้ชักนำเข้าวงการสังกัดค่ายเพลง
– เหน่ง-จิรวัฒน์ ปานพุ่ม

แฟนเพลงชอบให้อะไรเป็นของขวัญ
-ส้มตำ ปลาร้า ของกินพื้นบ้านของแต่ละจังหวัด

เดินทางแสดงมาแล้วกี่จังหวัด
-เกือบทุกจังหวัด ยกเว้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้