การบริหารศิลปินยุคใหม่

เกิดอะไรขึ้นกับศิลปินเหล่านี้… โปงลางสะออน AF และวงดนตรีแสตมป์ ซึ่งนิตยสาร POSITIONING หยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์อย่างเจาะลึก

คำตอบ คือ ทั้ง 3 ศิลปิน ถือเป็นกรณีศึกษาสำคัญที่สะท้อนถึงวิธีการบริหารศิลปินยุคใหม่ (Artist Management) ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในธุรกิจบันเทิงในยุคนี้อย่างมาก

การวิเคราะห์ผ่านโมเดลความสำเร็จโปงลางสะออน ศิลปินAF และแสตมป์ ล้วนมีความน่าสนใจในแต่ละโมเดลแตกต่างกัน ยิ่งถ้ามองศิลปินเหล่านี้เป็นเหมือน “สินค้า” ย่อมจะเห็นชัดถึง โพสิชันนิ่งทางการตลาดที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน และจะเข้าใจดีว่า ทำไมศิลปินเหล่านี้จึงประสบความสำเร็จ

เริ่มจาก กลุ่มศิลปินวงโปงลางสะออน ใครจะเชื่อว่าวงดนตรีจากฝีมือของกลุ่มนักศึกษานาฏศิลป์จากภาคอีสาน ได้สร้าง “ปรากฏการณ์” ความสำเร็จแบบถล่มถลาย เพียงหนึ่งปีเศษสามารถทำรายได้ถึง 350 ล้านบาท

ความน่าสนใจของโปงลางสะออน คือ หลักการบริหารที่มองศิลปินเป็น “สินทรัพย์” (Asset) แตกขยายช่องทางของรายได้ โปงลางสะออน ถือเป็นสินค้าระดับแมส (Mass) ที่มีคุณภาพ การขยายช่องทางของรายได้จึงก่อดอกออกผลขึ้นเป็นจำนวนมาก

ช่องทางของรายได้ที่เหมือนยังไม่มีที่สิ้นสุดของโปงลางสะออน กลายเป็นขุมทรัพย์ของผู้ผลิต ในการสร้างศิลปินกลุ่มนี้ให้มีความหลากหลายในการขายสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการสร้างมูลค่าให้เป็นนักร้อง นักแสดง ดารา พรีเซ็นเตอร์ ล้วนเป็นมูลค่าเพิ่มที่ยากจะปฏิเสธได้ว่า นี่คือ “สินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สูงสุด”

การสร้างศิลปิน AF เป็นโมเดลที่ใช้หลักการบริหารศิลปินเดียวกันกับโปงลางสะออน คือ การขยายช่องทางของรายได้ให้เกิดมูลค่าสูงสุด หากแต่ AF เป็นสินค้าที่มีการตลาดที่แตกต่างจากโปงลางสะออน อาจเรียกว่า เป็นสินค้าที่มุ่งตลาดกลาง-บน มีกลุ่มเป้าหมายอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก จึงมีกระบวนการทางการตลาดที่แตกต่างกัน

ผู้ผลิตศิลปิน AF ได้สร้างขึ้นศิลปินกลุ่มนี้ ขึ้นด้วย “ความผูกพัน” ต่อสินค้า ค่อยๆ ซึมซับและกระตุ้นด้วยกลยุทธ์การตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความจงรักภักดีต่อสินค้า และเชื่อว่าความรู้สึกเหล่านี้จะทำให้ศิลปิน AF ประสบความสำเร็จ
การตลาดที่ขับเคลื่อนไม่หยุดนิ่งของการบริหาร AF เพื่อก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มของรายได้ อีกทั้งยังมีกลุ่ม “แฟนคลับ” ซึ่งเปรียบเหมือนพลังลึกๆ ที่กระตุ้นมูลค่าเพิ่มของกับศิลปินกลุ่มนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามอย่างยิ่ง

ศิลปินวงแสตมป์ นับเป็นศิลปินอีกลุ่มหนึ่งที่มีโพสิชันนิ่งการบริหารงานอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการศึกษาและมองตลาดเฉพาะกลุ่ม ซึ่งค้นพบว่า ช่องว่างระหว่างกลุ่มผู้ฟังเพลงลูกทุ่ง และ เพลงเพื่อชีวิต มีช่องว่างขนาดใหญ่พอที่คอนเทนต์เพลงของแสตมป์จะแทรกเข้าไปถึงกลุ่มคนเหล่านี้ได้

เพลงลูกทุ่งกึ่งเพื่อชีวิต ได้บรรเลงมาระยะหนึ่งแล้ว และพบว่า ประสบความสำเร็จสร้างมูลค่ารายได้ให้กับวงดนตรีเล็กกลุ่มนี้มากมายมหาศาล มีกลุ่มคนฟังในต่างจังหวัด โดยเฉพาะหนุ่มสาวโรงงาน และผู้ใช้แรงงานท้องถิ่นเป็นกลุ่มผู้ฟังที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงมีการกล่าวขานถึงวงแสตมป์ว่า เป็นวงดนตรีประเภท “ป่าล้อมเมือง” ที่ดังที่สุดในช่วงนี้

… 3 กลุ่มศิลปินที่หยิบยกมาวิเคราะห์ จึงเป็นประเด็นที่น่าติดตามอย่างยิ่ง อาจเป็นคำตอบให้ธุรกิจค่ายเพลงได้ล่วงรู้ถึงวิธีการบริหารศิลปินยุคใหม่ ทำอย่างไรถึงเรียกว่า “ขุมทรัพย์”