เมื่อ “เศรษฐกิจพอเพียง” กลายเป็นเรื่องใหญ่ ที่องค์กรหลายแห่งหันมาสนใจไม่แพ้เรื่อง “แบรนด์”ทำให้ “ศิริกุล เลากัยกุล” กูรูและที่ปรึกษาเรื่องแบรนดิ้ง ต้องหันกลับมามอง และนำเอาทั้งสองส่วนมาผสมและตกผลึกออกมาเป็นกรณีศึกษาผ่านพ็อกเกตบุ๊ก เล่มที่ 2 ได้อย่างน่าสนใจ
ศิริกุล มีประสบการณ์คร่ำหวอดในฐานะที่ปรึกษาองค์กรและธุรกิจราว 20 ปี และลงลึกในฐานะที่ปรึกษาสร้างแบรนด์เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้เธอมีผลงานแบบคลุกคลีโดยตรงจากแบรนด์ชั้นนำในธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ อาทิ เทสโก้ โลตัส, จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, ดีแทค, ยูบีซี, อีจีวี รวมถึงเอ็มเค เรสเตอร์รองท์
เมื่อถึงยุค “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นนโยบายขับเคลื่อนประเทศ เธอจึงนำประสบการณ์โดยตรงที่ได้จากการเป็นที่ปรึกษาการสร้างแบรนด์ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ให้กับองค์กรชั้นนำ อาทิ แบงก์กรุงศรีอยุธยา, ปตท., SCG และดอยตุง สะท้อนข้อคิด มุมมองที่แตกต่างกัน ในแง่ทั้งเชิง Business Model สไตล์สร้างแบรนด์อย่างพอเพียง มาถ่ายทอดลงในพ็อกเกตบุ๊กเล่มล่าสุด
ในผลงานนี้ เธอวางจุดขาย Content อยู่ที่การเน้นอธิบายกระบวนการสร้างแบรนด์อย่างพอเพียง เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสมัยใหม่ไม่ทำธุรกิจแบบขี่ช้างกับตั๊กแตน แต่ทำธุรกิจอย่างพอดี
ศิริกุลยกตัวอย่างเด่นๆ ว่า “กรณีศึกษาของ ปตท. พูดในแง่การสร้างแบรนด์อย่างมีเหตุผล ในแนวองค์กรกล้าคิด ลูกค้ากล้าทำ หรือกรณีดอยตุง สะท้อนให้เบื้องหลังทีมงานที่อินกับแบรนด์ว่ามีตั้งแต่ระดับบนถึงล่างอย่างน่าศึกษา”
ไม่เพียงประสบการณ์สร้างแบรนด์ แต่เธอยังเป็นอาจารย์พิเศษบรรยายตามสถาบันการศึกษาชั้นนำ ด้วยความรู้การันตีจากสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าดีกรีบริหารธุรกิจ สื่อสารการตลาด จากจุฬาฯ และปริญญาโท สาขาบริหารโฆษณาที่ Austin และสูงสุดระดับด็อกเตอร์ ด้านการศึกษา
ปัจจุบันเธอมีภาพลักษณ์ตัวเองหลายแบรนด์ เพราะสวมหมวกหลายใบทั้ง ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท Brandbeing ที่ปรึกษาสร้างแบรนด์, อาจารย์สอนตามมหาวิทยาลัย และวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเรื่องแบรนด์ ล่าสุดกับบทบาท นักเขียน ซึ่งเป็นงานที่เธอใฝ่ฝันมานาน
Did you know
ประเทศไทย หันมาให้ความสนใจอย่างจริงจังเรื่องแบรนด์ (Brand) เป็นเวลา 5 ปี ปัจจุบันมี Branding Agency โดยวาง Positioning เป็นที่ปรึกษาสร้างแบรนด์เด่นๆ แบบสแตนอะโลน อาทิ Enterprise IG, Brand Scape, Turn Around, Brandbeing