ในมุมมองนักการตลาดอย่าง “ดนัย จันทร์เจ้าฉาย” ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ DC Consultant วิเคราะห์ปรากฏการณ์จตุคามรามเทพว่า ความสำเร็จของกระแสจตุคามรามเทพเกิดขึ้นจากส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างโปรดักส์ กระบวนการทางการตลาด และจังหวะเวลา อาจอธิบายผ่านรูปแบบการตลาดที่เรียกว่า Faith Marketing หรือการตลาดด้วยความรักความศรัทธานั่นเอง
กระบวนการเริ่มต้น Faith Marketing เริ่มจาก
1. โปรดักส์โดนใจ หากมองจตุคามรามเทพ ซึ่งเป็นเทพที่มีบารมี ความศักดิ์สิทธิ์ที่บุคคลในสังคมหลายระดับให้ความเคารพนับถือ เป็นโปรดักส์ ก็จัดว่าเป็นที่โดนใจผู้บริโภค ประกอบกับปัจจุบันพฤติกรรมซื้อสินค้าด้วยอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล ขณะเดียวกัน จิตใจอยู่ในภาวะที่ต้องการหาเครื่องยึดเหนี่ยว หากมีโปรดักส์ใด (ไม่ว่าเป็นสินค้าทั่วไป หรือวัตถุมงคล)ตอบสนองประเด็น ก็ตัดสินใจจ่ายเงินซื้อโดยไม่ยาก
“จากปรากฏการณ์เสื้อสีเหลือง ปี่เซี้ยะ จนถึงจตุคามรามเทพ สะท้อนว่า ผู้บริโภคต้องการเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่กูรูการตลาดระดับโลก ฟิลิป คอตเลอร์ ฟันธง โลกใบนี้ขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ความรู้สึก ดังนั้นผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้า ชอบหรือไม่ชอบแบรนด์ มันไม่ใช่เรื่องของเหตุผล แต่เป็นอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด และหาเหตุผลมาสนับสนุน”
2. กระบวนการสื่อสารทางการตลาด เริ่มต้นจากประเด็นที่จุดพลุ (Tipping Point) ทำให้ปรากฏการณ์กลายเป็นกระแสสังคมลุกลามใหญ่โต คือ ขุนพันธรักษ์ราชเดชกับพิธีงานศพ ที่สื่อเกือบทุกแขนงลงตีพิมพ์ภาพคนจำนวนมากไปร่วมงานด้วยศรัทธา ทำให้กลายเป็นกระแสระดับแมสที่คนสนใจขยายวงมากขึ้น ทั้งที่ในความเป็นจริงจตุคามรามเทพเป็นเทพที่มีคนศรัทธาและนับถือกันมาระยะหนึ่งแล้ว (เฉพาะกลุ่ม)
จากนั้น เมื่อมีการจัดสร้าง ปลุกเสกวัตถุมงคลนื้ ก็มีการโปรโมตผ่านสื่อหลัก อาทิ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ แมกกาซีนพระ หรือเว็บไซต์ โดยใช้งบมีเดียจำนวนมาก เน้นจุดขายเด่นชัด พิธีกรรมดี ผ่านการปลุกเสกจากเกจิอาจารย์วัดดังๆ และจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ซึ่งในขั้นตอนนี้ถือเป็นตัวกระตุ้นและตัวเร่งให้เกิดความต้องการในกลุ่มผู้บริโภคที่สนใจมากยิ่งขึ้น
ที่สำคัญและเป็นคีย์ซัคเซส คือความสามารถของ Buzz Word หรือการบอกต่อแบบปากต่อปาก ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่มีพลังต่อเนื่องมากกว่าแคมเปญการทางตลาดที่วางไว้อย่างยิ่ง เพราะประสบการณ์จากคนที่น่าเชื่อถือหรือคนใกล้ชิดถูกนำไปบอกใน Faith Marketing ถือว่าเป็นตัวที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในเชิงสื่อสารการตลาด
“เราไปเช่าวัตถุมงคลมาสักอันหนึ่งด้วยความภาคภูมิใจและศรัทธา แล้วไปแจกและบอกต่อคนที่รู้จัก หรือหากมีประสบการณ์ศรัทธาจากปาฎิหาริย์ ก็ยิ่งมีการบอกต่อๆ กัน อันนี้เป็นการจุดกระแสต่อ และมันเป็น Key Success เพราะสื่อหนังสือพิมพ์ ทีวี ออกข่าว คุณอาจไม่เชื่อ แต่เมื่อเพื่อนสนิทหรือคนรู้จักบอกต่อก็มักจะเชื่อ”
พีอาร์-โฆษณาเด่น
ทางด้านนักโฆษณาผู้คร่ำหวอดในวงการมานาน 25 ปี ปารเมศร์ รัชไชยบุญ ให้ทัศนะสอดคล้องว่า ปรากฏการณ์จตุคามรามเทพโดดเด่นด้วยงานพีอาร์ หรือที่เรียกว่า Word of mouth ทำให้มีการบอก
ต่อ กลายเป็นโฆษณาโปรดักส์ได้เป็นอย่างดี และยิ่งเชื่อมต่อมาจากความศรัทธาระหว่างผู้ให้และผู้รับสาร ก็ทำให้Message นั้นได้ผลมากยิ่งขึ้น
ปรากฏการณ์นี้ประสบความสำเร็จมากขึ้นมาจากสังคมไทยหวั่นไหวง่าย และต้องการเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ โดยเฉพาะคนเอเชียและคนไทย ความเชื่อ ความศรัทธาต่ออิทธิฤทธิ์ปาฎิหาริย์ที่มีอยู่เป็นทุน อีกทั้งความศรัทธาในเรื่องของศาสนา ยิ่งจตุคามรามเทพเป็นเรื่องราวเกี่ยวข้องกับศาสนา ก็ยิ่งทำให้ง่ายต่อการเกิดกระแสศรัทธา
3. จังหวะเวลา ซึ่งหมายถึง เมื่อกระแสสังคมมา และมีการจุดพลุเกิดขึ้น นั่นคือจังหวะเวลาที่ทำให้กลายเป็นปรากฏการณ์และกระแสต่อเนื่องออกไป โดยประเด็นปัจจัยทางสภาพเศรษฐกิจนั้น เขามองว่า ไม่จำกัดว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี แต่ถ้าหากกระแสสังคมในช่วงนั้นเกิดศรัทธา ก็กลายเป็นปรากฏการณ์ฟีเวอร์ได้ทั้งนั้น