กล่องนาบุญ โปรดักส์แห่งศรัทธา

“พวงหรีดใหญ่ ราคาราว 5 พันบาท ถูกนำมาให้เจ้าภาพงานศพ เพื่อแสดงความเสียใจ ถามว่า หลังจากเสร็จงานแล้ว พวงหรีดเหล่านั้นไปอยู่ที่ไหน? คำตอบ คือ ป้ายชื่อเก็บไว้ แต่พวงหรีดทิ้งเป็นขยะ” โจทย์และคำตอบที่ “ปารเมศร์ รัชไชยบุญ” นักโฆษณาและประธานกิตติมศักดิ์สมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย ค้นพบจากงานศพ ณ วัดแห่งหนึ่ง และนี่คือที่มาของบริษัทเนื้อนาบุญ และกล่องนาบุญ ธุรกิจและโปรดักส์ที่ก่อกำเนิดขึ้นมาจาก “ศรัทธา” และความคิดที่ต้องการทำบุญ แต่ได้มากกว่าบุญ

3 ปีแล้วที่ปารเมศร์ส่งต่อกล่องนาบุญไปยังผู้มีจิตศรัทธา ลูกค้าหลักของเนื้อนาบุญที่ต้องการแสดงความไว้อาลัยให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว ขณะเดียวกันพวกเขาเหล่านี้และญาติมิตรยังมีโอกาสช่วยเหลือเด็ก ผู้ด้อยโอกาสที่ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียน กีฬา เป็นหลัก

“ในเชิงธุรกิจ เนื้อนาบุญไม่ได้ทำเพื่อผลธุรกิจมหาศาล เพราะมาร์จิ้นต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจดอกไม้ แต่เราขอแค่เป็นทางเลือกของคนคิดเหมือนกัน (Think alike หรือคิดว่าการทำบุญให้ได้มากกว่าบุญมันทำได้และไม่ยาก)” ปารเมศร์เผยกับ POSITIONING

Positioning ของเนื้อนาบุญวางไว้เป็นบริษัททำธุรกิจของชำร่วยสำหรับงานศพ ที่ไม่ใช่พวงหรีดดอกไม้ เน้นสิ่งของอุปกรณ์การเรียนการศึกษาที่มีประโยชน์ต่อเด็ก โดยมีโปรดักส์เรียกว่า กล่องนาบุญ ที่ถูกออกแบบรเรียบง่าย แต่มีดีไซน์ และให้ทุกอุปกรณ์ใช้ประโยชน์ใช้สอยได้จริง

ปารเมศร์บอกว่า การเกิดเนื้อนาบุญและกล่องนาบุญแบบใหม่นี้ ไม่ได้ต้องการลบล้างหรือเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการส่งพวงหรีด สำหรับงานศพไว้อาลัยแต่อย่างใด แต่ต้องการให้เป็น “ทางเลือกใหม่” สำหรับผู้ที่ต้องการแสดงความเสียใจโดยไม่เน้นว่าจะต้องเป็นพวงหรีด

“การส่งพวงหรีด (Wreath) เป็นประเพณีที่นิยมปฏิบัติกันมานานกว่าร้อยปีแล้ว เพื่อแสดงความเคารพและไว้อาลัยต่อผู้ที่จากไป รวมถึงเป็นการแสดงความเสียใจต่อครอบครัวและญาติของผู้เสียชีวิต ปัจจุบันมีหลากหลายประเภท อาทิ ดอกไม้สด ดอกไม้แห้ง ฯลฯ

แต่ทุกครั้งหลังจากที่พิธีกรรมทางศาสนาจบลง ดอกไม้เป็นตันๆ รวมถึงแผ่นโฟมซึ่งไม่สามารถย่อยสลายได้ ก็ถูกทิ้งให้เน่าเสีย และคุณค่าของพวงหรีดก็จบลง ณ ตรงนั้น พร้อมทั้งมีปัญหาอื่นๆ ที่ตามมาก็คือ การทำลายธรรมชาติและมลภาวะที่เพิ่มขึ้น” เขาบอกเหตุผล

การแปลงวิกฤตสิ่งแวดล้อมมาเป็นโอกาสธุรกิจ ทำให้วันนี้เนื้อนาบุญ และกล่องนาบุญ กลายเป็นแบรนด์ที่โดดเด่นในแวดวงของธุรกิจของชำร่วยงานศพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์โดยตรงของปารเมศร์ ในฐานะนักโฆษณาที่คลุกคลีในแวดวงมานาน 25 ปี

มีเพื่อนฝูง คนในวงการที่รู้จักมากมายมาช่วยกันทำธุรกิจแบบต้นทุนต่ำ คือเน้นผู้สมัครใจช่วยตั้งแต่ ออกแบบตราสินค้า เว็บไซต์ ประชาสัมพันธ์ข่าวตอนเปิดตัวบริษัทครั้งแรก รวมไปถึงสื่อมวลชน หนังสือพิมพ์ แมกกาซีนที่ให้ความสนใจ กับแนวคิดทำธุรกิจแบบใหม่ของเขาอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

สำหรับการทำตลาด ปารเมศร์บอกว่า ในปีนี้จะเน้นทำตลาดมากขึ้น โดยเน้นต่อยอดจากฐานลูกค้าเดิม และขยายฐานลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น โดยเน้นช่องทาง Direct Mail ไปยังวัดกลุ่มเป้าหมาย ขณะที่กลุ่มลูกค้าทั่วไปส่งอีเมลแจ้งข่าวสารและแนะนำตัว เพื่อให้เกิดการส่งต่อไปยังกลุ่มเพื่อนๆ อีกทางหนึ่ง

“โปรดักส์เป็นสินค้าไม่มีฤดูกาล ส่งหรือสั่งซื้อเมื่อมีเหตุการณ์ อีกทั้งเป็นสินค้าของกระแสการบอกต่อ Word of mouth ดังนั้นจึงต้องทำ Marketing ต่อเนื่อง”

และเพื่อเป็นเพิ่มมูลค่าของโปรดักส์ให้โดดเด่นมากไปอีก เขายังได้ออกแบบให้เงินรายได้ทุก 10% ของมูลค่า “กล่องนาบุญ” ทางบริษัทฯ จะนำไปบริจาคให้กับมูลนิธิชัยพัฒนาในพระบรมราชูปถัมภ์

ขณะที่ส่วนของ “กล่องนาบุญ” นั้น ทางเจ้าภาพสามารถบริจาคกล่องนาบุญได้ 3 ทางเลือก ดังนี้
– บริจาคให้กับวัดที่จัดงานพิธีนั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีโรงเรียนประจำวัดอยู่แล้ว
– แล้วแต่ศรัทธาและจิตเจตนาของเจ้าภาพ (โดยเจ้าภาพจะนำไปบริจาคให้กับวัดอื่น หรือ
มูลนิธิอื่นๆ ฯลฯ)
– บริจาคให้กับโรงเรียนในโครงการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) สังกัดกองบัญชาการ-
ตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งมีโรงเรียนมากมายอยู่ตามถิ่นทุรกันดารของประเทศ

เขาบอกว่าวิธิคิดลักษณะนี้ช่วยให้ผู้ซื้อกล่องนาบุญได้มั่นใจ และภูมิใจในการทำบุญครั้งนี้ ได้ประโยชน์แก่ผู้รับหลากหลายช่องทาง อันจะส่งผลกลับมายังแบรนด์เนื้อนาบุญในลักษณะศรัทธาและเชื่อมั่นได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน

เว็บไซต์
http://www.nabun.co.th