เล้าจน์วีไอพี

สายการบินแควนตัสและบริติชแอร์เวย์เปิดตัวห้องพักรับรอง (Lounge) ผู้โดยสารชั้นธุรกิจและชั้นเฟิร์สคลาส ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อสร้างแรงจูงใจต่อนักท่องเที่ยวและนักเดินทาง ”ระดับบน” ให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากตลาดในไทยส่วนใหญ่ ผู้ที่เดินทางด้วยสองสายการบินนี้ ยังคงเป็นลูกค้าระดับกลางถึงล่าง คือเป็นนักท่องเที่ยวแบบประหยัดเป็นหลัก ซึ่งขัดกับ Positioning ของแบรนด์ที่วางไว้ในระดับพรีเมียม

ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะในบ้านเรายังไม่มี Regional Office ของธุรกิจระดับโลกมากเท่ากับฮ่องกง ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะบินในระดับชั้นธุรกิจและชั้นเฟิร์สคลาส อีกทั้งมีผู้โดยสารจำนวนหนึ่งนิยมตัดสินใจเลือก Transit Point จากความพร้อมในสิ่งอำนวยความสะดวกของห้องพักรับรองผู้โดยสารของสายการบินเป็นหลัก

นำมาสู่การพิจารณาสร้างเลานจ์ร่วมกันระหว่างแควนตัสและบริติชแอร์เวย์ที่สนามบิน ”สุวรรณภูมิ” ซึ่งเป็นฮับ (Hub) ใหม่ที่มีศักยภาพในตัวเองสูง และมีแนวโน้มในการขยายตัวเป็นฮับระดับโลกอย่างต่อเนื่อง

การตกแต่งห้องพักรับรองผู้โดยสารทั้งชั้นธุรกิจและชั้นเฟิร์สคลาส ใช้เฟอร์นิเจอร์หรูหราระดับโลกอย่าง Morosso, B & B, และ Italian Vitta ร่วมด้วยการผสานกลิ่นอายตะวันออกโดยใช้วัสดุเอเชียอย่างผ้าไหมสีทองจากจิม ทอมป์สัน พรมไทปิงจากฮ่องกง ตลอดจนแนวผนังที่ใช้ไม้ธรรมชาติ

คอนเซ็ปต์การออกแบบเน้นการเปิดโล่ง เพื่อให้ความรู้สึกอบอุ่น สบายและโอ่โถง โดยมีทั้งหมด 5 โซนตามความต้องการของผู้โดยสาร ได้แก่ Business Center, Entertainment Zone, Relax Zone, Cave Zone,และ Refresh Zone ทำให้มั่นใจได้ว่า ในอนาคต สุวรรณภูมิจะเป็นทางเลือกใหม่ของผู้โดยสารระดับบนได้อย่างแน่นอน

และด้วยเหตุที่กรุงเทพฯ เป็นฮับ (Hub) ที่สำคัญในด้านเครือข่ายของทั้งสองสายการบิน แควนตัสและบริติชแอร์เวย์จึงมีการวางแผนให้กรุงเทพฯ เป็น Transit Point ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง นอกเหนือจากจาก ”สิงคโปร์”และ ”ฮ่องกง” ซึ่งเป็นฮับใหญ่ในเอเชียแปซิฟิกมาก่อนหน้า

ฮ่องกงมีความได้เปรียบในด้านการเป็นศูนย์กลางทางเครือข่ายการบินระดับโลกมาเป็นเวลานาน ในขณะที่สิงคโปร์ก็นับว่าเป็น ”คู่แข่ง” ที่น่ากลัวที่สุดของไทยในภูมิภาคอาเซียน เพราะจุดแข็งคือ การมีเครือข่ายที่ใหญ่โตและได้รับการพัฒนามาก่อน ลูกค้าของสายการบินสามารถเชื่อมต่อไปยังจุดหมายปลายทางอื่นได้หลากหลายมากกว่า ทำให้อัตราการนำเครื่องลงจอดของแควนตัสและบริติชแอร์เวย์ระหว่างสิงคโปร์และไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 7:3

ทว่าข้อเสียเปรียบหนึ่งของสนามบินนานาชาติสิงคโปร์ ที่อาจทำให้สนามบินสุวรรณภูมิของไทยสามารถตีตื้นขึ้นมาได้ทันก็คือ ความจำกัดในเรื่องที่ดิน ทำให้การลงทุนในพื้นที่มีราคาสูงกว่าไทยมาก

แควนตัสและบริติชแอร์เวย์ได้มีการร่วมมือทางธุรกิจ (Joint Service Agreement) ในด้านต่างๆ ตั้งแต่ปี 2538 ได้แก่ ราคาตั๋วโดยสาร ตารางเที่ยวบิน ผลประโยชน์ของสมาชิกสายการบิน การให้บริการด้านการขนส่งทางอากาศ ตลอดจนห้องพักรับรองผู้โดยสารดังกล่าว

Oneworld คือกลุ่มพันธมิตรการบินที่ทั้งแควนตัสและบริติชแอร์เวย์เป็นสมาชิก โดยสมาชิกใหม่ที่มีแผนจะเข้าร่วมในช่วงฤดูใบไม้ผลินี้ได้แก่ โรยัล จอร์เนเดียน, มัลลีฟ, และเจแปนแอร์ไลน์

Did u know?

หุ้นของ British Airways ครึ่งหนึ่งถือครองโดยพนักงานของ British Airways เอง

www.qantas.com.au
www.ba.com