นอกเหนือจากตัวอาคารศูนย์การค้า “เอสพลานาด” ที่โดดเด่นและแตกต่างจากอาคารอื่นๆ บนถนนเส้นเดียวกันแล้ว “โรงละครรัชดาลัย” ของถกลเกียรติ วีรวรรณ ก็เป็นอีก 1 ผลงานภายใต้ฝีมือของนักออกแบบซึ่งรั้งตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของบริษัท สำนักงานสถาปนิกกรุงเทพ
ท่ามกลางความนิยมของละครเพลงเรื่อง “ฟ้าจรดทราย” แต่น้อยคนจะรู้ว่าเบื้องหลังความสำเร็จของโรงละครแห่งนี้มาจาก “สมิตร โอบายะวาทย์” ผู้ซึ่งไม่เคยออกแบบโรงละครแห่งใดมาก่อนเลย
สมิตร จัดเป็นสถาปนิกคู่ใจของ “วิชา พูลวรลักษณ์” เพราะออกแบบโรงภาพยนตร์ ให้กับเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์มาตั้งแต่สาขาแรกที่ปิ่นเกล้า ซึ่งขณะนั้นเขามีอายุเพียง 30 ปี และยังมีผลงานการออกออกแบบ Hip Resort อย่างวิรันดา หัวหิน รวมถึงโชว์รูมรถมินิ ที่เอกมัย โชว์รูมมิลเลนเนียม ออโต้ พระราม 4 เขามีเรื่องเล่าเล็กๆ มาบอกกับ POSITIONING
สมิตรบอกว่าทุกที่ที่เขาออกแบบจะต้องให้คนทั่วไปมองแล้วรู้สึกว่า “เหนือกว่าค่าเฉลี่ย” เมื่อเปรียบเทียบกับอาคารที่อยู่บนทำเลเดียวกัน “แค่นี้ก็นอนหลับฝันดีแล้ว (หัวเราะ)”
เขายกตัวอย่าง กรณีของศูนย์การค้าเอสพลานาด ที่ร่างแบบเพียงชั่วครู่บนโต๊ะอาหารระหว่างที่สนทนากับนพพร วิฑูรชาติ ซึ่งบอกถึงความต้องการขยายธุรกิจ Outdoor Mall อีกแห่งบนถนนรัชดา
“โจทย์ของที่นี่คือ พื้นที่มีขนาดใหญ่ จะสร้างเป็นศูนย์การค้าเพียงแค่ 2-3 ชั้น ไม่คุ้มกับค่าที่ดิน และมีปัญหาเรื่องฝุ่นเยอะ จึงมาสรุปลงที่ความเป็น Lifestyle Shopping Complex แบบ Closed Mall ที่ใส่ความเป็น Art-entertainment”
อาคารถูกออกแบบให้มีรูปทรง Blob หรือทรงโค้งมน ใช้เส้นโค้งเยอะตาม Passion ของสมิตร เขาเชื่อว่าสถาปัตยกรรมแบบของเอสพลานาดจะอัพเกรดให้ย่านรัชดาดูมีคลาสขึ้นกว่าเดิม
เมื่อต้องมาออกแบบ “โรงละครรัชดาลัย” ประสบการณ์ความชื่นชอบส่วนตัวในการดูละครบรอดเวย์มาเนิ่นนาน ทำให้เขาไม่เบื่อที่จะบินไปศึกษาระบบโครงสร้างและการออกแบบโรงละครที่บรอดเวย์ แต่หลังจากได้มีโอกาสเข้าไปดูข้างหลังม่าน เขารู้เลยว่าไม่ง่าย
“ผมว่าเป็นการออกแบบที่ยากที่สุด ยากกว่าโรงหนังเยอะ เมืองไทยไม่เคยมีใครมีประสบการณ์ ที่ศูนย์วัฒนธรรมฯ ก็เป็นผลงานของญี่ปุ่น ถึงแม้โรงละครขนาด 1,500 ที่นั่ง ไม่ได้ใหญ่มาก แต่รายละเอียดเยอะ ทั้งเรื่องการจัดวางระบบเสียง แสง เทคนิค ฉาก โดยมีบริษัทที่ปรึกษาจากนิวยอร์กให้คำแนะนำ แต่ยิ่งกดดันเข้าไปอีก เมื่อต้องทำงานแข่งกับเวลาด้วยการก่อสร้างแบบ 24 ชม.”
แต่เมื่อผลงานปรากฏสู่สายตา ผู้ชมได้สัมผัสกับผนังบริเวณบันไดทางขึ้นขนาดใหญ่ออกแบบให้เหมือนลูกระนาด ดูเก๋ แปลกตา เป็นการผสมผสานความเป็นไทยกับศิลปะแนวโมเดิร์นอย่างกลมกลืน เป็นส่วนหนึ่งของความภูมิใจในผลงาน ที่ทำให้ให้ผู้ชมสัมผัสไปนอกเหนือจากความบันเทิงบนเวทีละครแห่งนี้
สมิตร นั้นเป็นเป็นศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบปริญญาโทสาขาเดียวกันที่Minnesota University สหรัฐอเมริกา และเป็นอุปนายก คณะกรรมการบริหารสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์