พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน Co-Prime Minister

ตลอดเกือบ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 ที่ “พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน” เป็นแกนนำคณะนายทหารกลุ่มหนึ่งรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ชัดเจนว่าเขาไม่ได้มีบทบาทเป็นเพียงแค่ทำหน้าที่ผู้บัญชาการทหารบก หรือแค่ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. เท่านั้น แต่ถูกมองว่าเป็น นายกรัฐมนตรีร่วม

แม้ว่าประธาน คมช. ผู้นี้พยายามชี้แจงอยู่ตลอดเวลาว่า เขาเป็นเพียงผู้สนับสนุน “พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์” นายทหารรุ่นพี่ให้ทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ปัญหาของประเทศเท่านั้น

แต่ภาพความเป็นนายกรัฐมนตรีร่วม (Co- Prime Minister) ของพลเอกสนธิกลับชัดเจนมากขึ้น และยิ่งเวลาผ่านไป ยิ่งเป็นจุดศูนย์รวมการแก้ไขปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ระเบิดพาวเวอร์เจล ไปจนถึงปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการจัดการกับเครือข่ายและระบอบทักษิณ หรือแม้แต่งานประจำของคณะรัฐมนตรีขิงแก่ พลเอกสนธิก็เข้าไปเกี่ยวข้องผ่านการเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2550 และทุกวันอังคาร ซึ่งเป็นวันนัดหมายการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำสัปดาห์

ความเป็นผู้มีอำนาจตัวจริงของการบริหารบ้านเมืองในเวลานี้ ยังถูกตอกย้ำจากคำยืนยันของพลเอกสนธิเอง ถึงการปลดหรือไม่ปลดพลเอกสุรยุทธ์จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

“ยังไม่มีใครมีความคิดที่จะปลดนายกรัฐมนตรี สื่อมวลชนเขียนกันไปเองทั้งนั้น ที่ผ่านมามีการหารือกับนายกรัฐมนตรีตลอด และขณะนี้ก็พอใจการทำงานของรัฐบาล”

แต่ท่ามกลางกระแสข่าวว่าพลเอกสุรยุทธ์อาจถอดใจทิ้งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี พร้อมๆ กับข่าวลือว่าพลเอกสนธิกำลังเล่นเกมกดดันพลเอกสุรยุทธ์ ได้ถูกตีความจากการกระทำของพลเอกสนธิเอง ทั้งการนั่งรถยนต์ที่ใช้ทะเบียนรถที่อดีตเป็นรถประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และการรับหนังสือเสนอให้ปลดพลเอกสุรยุทธ์ จากสมัชชาประชาชนภาคอีสาน 19 จังหวัด ที่นำโดยนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ด้วยตัวเอง แม้ว่าจะเฉลยในเวลาต่อมาว่าเพราะรถที่ใช้ประจำถูกนำเข้าศูนย์ซ่อมบำรุง ส่วนการออกมารับหนังสือด้วยตัวเองนั้น เพราะถูกหลอก

ทำให้พลเอกสนธิต้องเคลียร์ความมีอิทธิพลของตัวเอง ผ่านการให้สัมภาษณ์ของพ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก คมช. หลังการประชุม คมช. เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2550 อีกครั้ง

“ประธาน คมช. ยืนยันด้วยความสัตย์จริงว่าไม่เคยมีความคิดเรื่องนี้ เพราะเป็นผู้คัดเลือกนายกรัฐมนตรีมาบริหารงานด้วยตนเอง และตลอดเวลาที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้พยายามทำหน้าที่อย่างดีที่สุด สามารถปรึกษาหารือกันได้ทุกเรื่อง โดย คมช. ทำหน้าที่เสนอแนะงานด้านความมั่นคง ขณะที่รัฐบาลทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน

ความขัดแย้งที่หลายฝ่ายพยายามโยงใยให้คนเห็นว่ามีความขัดแย้งกัน ท่านยืนยันว่าไม่เป็นความจริง คมช. กับรัฐบาลยังต้องทำงานร่วมกันต่อไป เรื่องนี้ท่านประธาน คมช. แสดงจุดยืนที่ชัดเจนมาตลอด คงไม่ต้องอธิบายซ้ำ สำหรับในส่วนของสมาชิก คมช. ก็ไม่ได้ติดใจอะไร ไม่ได้สอบถามอะไรเพิ่มเติม หลังจากที่ท่านอธิบายจบก็จบกัน”

แต่ดูเหมือนยิ่งเคลียร์ ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของ “พลเอกสนธิ” ใน พ.ศ. นี้

เหลือเพียงแต่ว่าหลังเกษียณอายุราชการ 30 กันยายน 2550 จากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และไม่มีกองทัพอยู่ในมือ เขาจะอยู่ ณ จุดใดของอำนาจ เพราะหลายครั้งที่ถูกสัมภาษณ์ว่าจะเล่นการเมืองหรือไม่ คำตอบจนถึง ณ นาทีนี้ คือยังไม่มีคำยืนยันใดๆ จากปากของเขา นอกจากคำว่า “ยังไม่ตัดสินใจ”

ดูเหมือนว่าหลังเกษียณอายุราชการ ไม่ได้มีความหมายถึงการสิ้นสุดการเดินทาง แต่อาจเป็นการเริ่มต้นอีกครั้งของ “พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน”