“พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์” ผู้ถูกท้าทาย

8 เดือนดูเหมือนยาวนานเหลือเกินสำหรับ “พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์” ที่มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภายหลังเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ความรู้สึกที่ยาวนานนี้เกิดขึ้นเพราะไม่เพียงภารกิจในการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย การสร้างความมั่นใจด้านเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้วิกฤตกระทบต่อปากท้องของประชาชนภายใต้แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว สิ่งที่ท้าทายพลเอกสุรยุทธ์อยู่ตลอดเวลาคือการจัดการกับ “เชื้อ”ของระบอบทักษิณ ที่ยังฝังตัวและกำเริบกระทบต่อรัฐบาลขิงแก่ตลอดเวลา

หลายคนเปลี่ยนความรู้สึกจากเคยเชียร์พลเอกสุรยุทธ์จนสุดใจในช่วงแรกที่เข้ารับตำแหน่ง มาวันนี้อาจเกิดอาการเบื่อหน่ายกับเกียร์ว่าง ล่าช้าในการแก้ปัญหาต่างๆ จนเกิดคำถามว่า พลเอกสุรยุทธ์ ยังเหมาะสมสำหรับเก้าอี้นายกรัฐมนตรีหรือไม่

ปัจจัยต่างๆ ที่รุมเร้าพลเอกสุรยุทธ์ กระทั่งเกิดกระแสเรียกร้องให้ลาออก หรือการสร้างข่าวความแตกแยกระหว่างพลเอกสุรยุทธ์ กับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ถึงขั้นลือว่าพลเอกสนธิ บุญยรัตกลินจะปลดพลเอกสุรยุทธ์ หรือมีการถามกลับมาว่า แล้วพลเอกสุรยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีจะปลดพลเอกสนธิออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกหรือไม่

ความสับสนในข่าวสาร และการลือต่างๆ หากไม่ใช่พลเอกสุรยุทธ์ นายทหารผู้ผ่านหน่วยรบ ได้ชื่อว่าตงฉิน มีคุณธรรม ยึดหลักธรรมในการดำเนินชีวิต และที่สำคัญได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรี ก่อนมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คงต้องมีอาการหลุดมาบ้าง

สิ่งที่ยืนยันในความเป็นพลเอกสุรยุทธ์ คือความมีตรรกะในเรื่องต่างๆ และนำหลักธรรมปรับใช้กับสถานการณ์กดดันที่เผชิญอยู่ ดังเช่นข้อความหนึ่งที่สนทนากับคอลัมนิสต์ระหว่างการรับประทานอาหารร่วมกันเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2550

“เคยอ่านพระไตรปิฎกตอนหนึ่งระบุถึงเรื่องพระโมคคัลลานะ ต้องทำใจให้ได้เหมือนแผ่นดิน ใครจะเหยียบ จะย่ำ จะถ่ายรด ก็ไม่รู้สึก จะทำให้เหมือนพระโมคคัลลานะ ทำใจให้หนักแน่นเหมือนแผ่นดิน”

ความชัดเจนยังเป็นคุณสมบัติโดดเด่นของพลเอกสุรยุทธ์ นอกเหนือจากความรับผิดชอบต่อหน้าที่ หลายต่อหลายครั้งเขาเน้นย้ำว่ามีกำหนดเวลาอยู่ในตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ คือจนกว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้ง ไม่ถอดใจลาออก ที่สำคัญยังเป็นคำประกาศเพื่อลดข้อกังขาเรื่องการสืบทอดอำนาจแล้วว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันที่ 16 หรือ ไม่ก็ 23 ธันวาคม 2550 หรือหากเป็นไปได้ ก็อยากให้เลือกตั้งได้เร็วกว่านั้น

บทบาทของพลเอกสุรยุทธ์แม้จะยังไม่เด่นชัดในการอ่านเกมงานบริหารประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านเศรษฐกิจของประเทศ แต่ก็ไม่ดื้อดึง หลงตัวเอง พยายามปรับคณะรัฐมนตรีหลายครั้งเพื่อให้ได้รัฐมนตรีร่วมคณะมาช่วยงาน จนมี ครม. สุรยุทธ์ 5 ภายในเวลาเพียง 8 เดือน

ยังมีหลายอย่างที่คาดไม่ถึงว่าบุคคลอย่างพลเอกสุรยุทธ์จะตัดสินใจทำ ก็ได้เห็น โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์งานของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเห็นด้วยให้กระทรวงการต่างประเทศจ้างที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ของสหรัฐอเมริกาเดือนละ 200,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อชี้แจงต่อกรของเกมของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรให้ต่างชาติเข้าใจสถานการณ์ประเทศไทยอย่างถูกต้อง

การทำรายการวิทยุโดยกองงานโฆษกในรายการสายตรงทำเนียบ หรือการ “เปิดบ้านพิษณุโลก” ออกอากาศทุกวันเสาร์ ทางช่อง 11 เพื่อชี้แจงผลการดำเนินงานของรัฐบาลชุดขิงแก่

หรือการวิเคราะห์เกมที่อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณทำอยู่ โดยเฉพาะการเรียกร้องความสนใจผ่านสื่อต่างชาติ ผ่านอินเทอร์เน็ต หรือล่าสุดการส่งเสียงผ่านวิทยุชุมชน พลเอกสุรยุทธ์สามารถอ่านขาด อธิบายได้ตรงใจคอการเมืองทั้งหลาย

“คุณทักษิณ อาจจะถูกดำเนินคดี กรณีที่ดินรัชดา ก็เป็นจุดอันหนึ่งที่ผมเคยคุยกับคุณทักษิณ และเขาก็เป็นห่วงว่าจะถูกดำเนินคดีอย่างไร และเขาก็เป็นอดีตนายกฯ ด้วย คงจะพูดขอร้องความเห็นใจจากผู้ที่ยังสนับสนุนอยู่ แต่ผมคิดว่าโอกาสที่จะรุกทางการเมืองคงจะน้อย เพราะมีหลายคดี โอกาสที่จะมาดำเนินการทางการเมืองน้อยมาก เพราะคดีที่ยังค้างอยู่มีอีกหลายคดี และคิดว่าคดีเหล่านั้นคงจะทยอยออกมาตามระยะเวลา หากเป็นไปอย่างที่พูด โอกาสที่จะกลับมาดำเนินการทางการเมืองก่อนเลือกตั้ง หรือหลังเลือกตั้งเล็กน้อย เกือบจะเป็นไปไม่ได้”

สำหรับพลเอกสุรยุทธ์ เกมนี้คงรู้ดีว่าลำพังการอ่านเกมของพ.ต.ท.ทักษิณ เพียงอย่างเดียวคงไม่อาจทำให้ลดความวุ่นวายลงได้ คำตอบมีอยู่ในคำอธิบายแล้วว่าชะตากรรมของพ.ต.ท.ทักษิณจะเป็นอย่างไร

พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ บุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่แม้หลายคนอาจไม่รู้สึกมากนัก เพราะภาพลักษณ์ที่สงบนิ่งนั้นชัดเจนกว่า แต่สำหรับพ.ต.ท.ทักษิณแล้วยากที่จะปฏิเสธนายทหารนายกรัฐมนตรีผู้นี้ไปได้

Profile

Name : พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์
Born : 28 สิงหาคม 2486
Education :
– ระดับประถมศึกษา โรงเรียนเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์
– ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนเซนต์คาเบรียล
– ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
– โรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 1
– โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 12
– โรงเรียนศูนย์การทหารราบ
– โรงเรียนเสนาธิการทหารบก สหรัฐอเมริกา
– หลักสูตรการบริหารทรัพยากร กระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา

Career Highlights :
พ.ศ. 2508 ประจำศูนย์การทหารราบ
พ.ศ. 2509 ผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองพันทหารราบที่ 1 กรมผสมที่ 31
พ.ศ. 2513 ผู้บังคับชุดปฏิบัติการ กองร้อยพิเศษ กองรบพิเศษ (พลร่ม) ที่ 2
พ.ศ. 2515 ครูโรงเรียนสงครามพิเศษ ศูนย์สงครามพิเศษ
พ.ศ. 2521 ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 4 กรมผสมที่ 23
พ.ศ. 2526 ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 กองพลรบพิเศษที่ 1
พ.ศ. 2532 ผู้บัญชาการกองรบพิเศษที่ 1
พ.ศ. 2535 ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ
พ.ศ. 2537 แม่ทัพภาคที่ 2
พ.ศ. 2540 ที่ปรึกษาพิเศษ กองทัพบก
พ.ศ. 2540 ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก
พ.ศ. 2541–2545 ผู้บัญชาการทหารบก
พ.ศ. 2545–2546 ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี
19 ตุลาคม 2549 ได้รับโปรดเกล้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ของประเทศไทย หลังรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2550

Status : สมรสกับพันเอกหญิง ท่านผู้หญิงจิตรวดี จุลานนท์ (นามสกุลเดิมสันทัดเวช) มีบุตรชาย 3 คน คือ ร้อยเอกนนท์ จุลานนท์, นายสันต์ จุลานนท์ (ข้าว) และ นายจุล จุลานนท์ (น้ำ)