พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ บารมี “ป๋า”

ด้วยความที่ คมช. และรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ชุดปัจจุบัน มีบุคลากรหลายท่านที่ล้วนเคยทำงานให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มาก่อนในสมัยที่เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้พลเอกเปรมยังคงมีบทบาท และเป็นตัวแปรที่สำคัญทางการเมืองสูงมาก จนถึงกับกระแสโจมตีการเมืองหลายส่วนส่วนพุ่งไปที่พลเอกเปรม โดยมีการชุมนุมโจมตีพลเอกเปรมอย่างเปิดเผยและหนักหน่วง

กระแสโจมตีนี้มาจากทั้งกลุ่มการเมืองเช่น “คนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ” ที่มีท่าทีโน้มไปทางอดีตนายกฯทักษิณ เน้นเรื่องส่วนตัวและข่าวลือข่าวปล่อยต่างๆ ผ่านทางการชุมนุมที่ท้องสนามหลวง และเว็บบอร์ดในเครือข่ายที่เกี่ยวพันกับพรรคไทยรักไทย เช่น Saturdayvoice, Trtfanclub

บางส่วนมาจากนักวิชาการบางกลุ่มที่มองว่าตำแหน่งประธานองคมนตรีนั้นไม่ควรมีบทบาททางการเมือง ซึ่งเน้นโจมตีโดยยกหลักการต่างๆ ทางวิชานิติศาสตร์รัฐศาสตร์ โดยโจมตีผ่านสื่ออย่างนิตยสารบางฉบับเช่น “ฟ้าเดียวกัน” และเว็บบอร์ดการเมืองหลายแห่ง เช่น Pantip ราชดำเนิน, ประชาไท รวมไปถึงการชุมนุมของกลุ่ม “19 กันยา ต้านรัฐประหาร”

ที่มาที่ไปของการเผชิญหน้าช่วงนี้ เริ่มขึ้นในช่วงปลายรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่พลเอกเปรมได้เดินสายพบปะเหล่าทหารในที่ต่างๆ และมีปาฐกถาอันลือลั่นคือเปรียบทหารเหมือนม้า ที่ต้องเป็นของเจ้าของม้าคือพระราชา ไม่ใช่ของจ๊อกกี้ และบทบาทการนำคณะ คมช. เข้าเฝ้าฯ ในคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมถึงการกล่าวปาฐกถาหลายๆ ครั้งที่มุ่งโจมตี “คนที่ไม่รู้บุญคุณแผ่นดิน” อย่างเต็มๆ

แต่แม้จะถูกโจมตีอย่างหนัก แต่ท่าทีจากพลเอกเปรมยังคงเหมือนที่เป็นมาตลอดชีวิตทางการทำงาน คือ “ใช้ความสงบสยบเคลื่อนไหว” ซึ่งท่าทีสุขุมนุ่มลึก สงบสยบเคลื่อนไหว ของพลเอกเปรมนั้นได้รับการพิสูจน์มาแล้วอย่างยาวนานเกือบ 30 ปี

ย้อนกลับไป พ.ศ. 2523 ถึง 2531 คือ 8 ปีที่ประเทศไทยมีพลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีผู้ไม่มีพรรคการเมืองอยู่ในมือ ไม่ได้ขึ้นมาด้วยการรัฐประหาร แต่ไม่ว่าผลการเลือกตั้ง ส.ส. จะจบด้วยชัยชนะของพรรคใด สุดท้ายจะไปเชิญพลเอกเปรมมาเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่เสมอ

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่เข้ารับตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่ปี 2523 ด้วย Positioning ที่ได้รับการยอมรับ “อย่างปราศจากเงื่อนไข” จากทุกฝ่ายรวมถึงทหารและข้าราชการระดับสูง

ตลอด 8 ปี รัฐบาล “เปรม 1” ถึง “เปรม 5” แม้จะผ่านการปรับ ครม. และพรรคร่วมรัฐบาลหลายครั้ง แต่ก็นับเป็นยุคที่การเมืองไทยมีเสถียรภาพที่สุดยุคหนึ่ง เพราะนโยบายซึ่งส่วนใหญ่จะถูกร่างลงมาจากข้าราชการประจำ “เทคโนแครต” ไม่ใช่นโยบายจากพรรคการเมือง

หลังยุติทางการเมือง ประกาศไม่รับตำแหน่งนายกฯ เมื่อปี 2531 ด้วยคำอธิบายสั้นๆว่า “ผมพอแล้ว” 1 เดือนหลังจากนั้นก็ได้รับแต่งตั้งเป็นองคมนตรีในปี 2531 นั่นเอง และสิบปีต่อมา 2541 ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานองคมนตรีในที่สุด

ด้วยฐานะองคมนตรีที่ถวายการรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความพยายามคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมืองหลายครั้งจึงมักมีกระแสข่าวถึงชื่อพลเอกเปรมเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการอยู่เสมอ

จากเส้นทางทำงานที่ยาวนาน “ลูกป๋า” หรือผู้ที่เคยทำงานใต้บังคับบัญชาใกล้ชิดกับพลเอกเปรมจึงมีอยู่มากมายและมีบทบาทอยู่ในแทบทุกภาคส่วน หลายคนก็เป็นรัฐมนตรีและตำแหน่งสำคัญๆ ในกองทัพอยู่ขณะนี้ รูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดคือ แทบทุกครั้งก่อนจะมีการตัดสินใจทางการเมืองระดับใหญ่ๆ ในรอบปีกว่าที่ผ่านมา จะมีการขอเข้าพบหารือที่ “บ้านสี่เสาเทเวศร์” อยู่เสมอ

Profile

Name : พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
Born : 26 สิงหาคม 2463 ที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
Family : เป็นบุตรคนที่ 6 ของอำมาตย์โท หลวงวินิจ ฑัณทกรรม กับนางอ๊อด ติณสูลานนท์

บทบาททางการเมือง :
พ.ศ. 2502 สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
พ.ศ 2511 สมาชิกวุฒิสภา
พ.ศ 2516 สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ
พ.ศ 2520 สมาชิกสภานโยบาย
พ.ศ 2520-2522 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
พ.ศ 2523-2531 นายกรัฐมนตรี 5 สมัย
พ.ศ. 2531 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นองคมนตรีและรัฐบุรุษ