ประสงค์ สุ่นศิริ "ซีไอเอเมืองไทย"

“Old soldier never die, they just fade away” หรือ “ทหารเก่า (แก่) ไม่เคยตาย” เป็นประโยคดังจากนายพลดักลาส แม็คอาเธอร์ แห่งสหรัฐฯ ในสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วนในสมรภูมิการเมืองไทย 20 ปีที่ผ่านมานี้ก็ดูจะไม่ขาดนักรบ “old soldier” อย่าง นาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ

วันนี้ในวัย 80 ปี น.ต.ประสงค์นั่งตำแหน่งประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีบทบาทนำในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งมีส่วนชี้อนาคต คมช. และการเมืองไทยอย่างมีนัยสำคัญ ควบคู่ไปกับการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เกือบจะได้เป็นประธานสภาฯ ก่อนนี้ แต่แพ้โหวตภายในต่อมีชัย ฤชุพันธ์ ไปเสียก่อน

นอกจากฉายา “ซีไอเอเมืองไทย” ความเป็นนักรบทางการเมืองที่มีศัตรูไม่น้อย นำมาซึ่งฉายาด้านมืด “ปิศาจคาบไปป์” ที่คู่ปรับทางการเมืองขนานนามให้จากรสนิยมของ น.ต. ประสงค์ เองที่ชื่นชอบสูบไปป์เป็นประจำ

ชีวิตทางการเมืองของ น.ต.ประสงค์ เริ่มต้นใน พ.ศ. 2529 ที่ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการ สนช. มาเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีของพลเอกเปรม หนึ่งใน “ลูกป๋า” ในรัฐบาล “เปรม 5” ใช้ความชำนาญด้านข่าวกรองมาทั้งประสานงานและ “จัดการ” กับพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน ตลอดจนทุกฝ่ายเพื่อสร้างเสถียรภาพให้รัฐบาล ฉายา “นายกฯน้อย” และ “ซีไอเอเมืองไทย” ก็ได้รับในช่วงนี้

ปี 2531 เข้าสู่ยุครัฐบาลชาติชาย น.ต.ประสงค์ลงสนามการเมืองเต็มตัว ด้วยตำแหน่งเลขาธิการพรรคความหวังใหม่ วิพากษ์อภิปรายรัฐบาลชาติชายและรัฐบาล รสช. อย่างดุเดือด ด้วยข้อมูลลับที่เร้าใจก่อผลสะเทือนใหญ่ๆ ได้เสมอ ก่อนพฤษภาทมิฬ 2535 ไม่นาน น.ต.ประสงค์เข้าร่วมเป็นกำลังสำคัญของพล.ต.จำลอง ศรีเมือง และพรรคพลังธรรม

หลังพฤษภาทมิฬ น.ต.ประสงค์ลงสมัครรับเลือกตั้งและได้ตำแหน่งสำคัญถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศโควต้าพรรคพลังธรรมในรัฐบาล “ชวน 1” ที่นอกจากงานบริหารทั่วไปแล้ว เขายังได้ใช้ศักยภาพด้านข่าวกรองเกี่ยวกับขบวนการยาเสพติดมาตอบโต้นักการเมืองฝ่ายค้านหลายคนในยุคนั้นอย่างดุเดือดและได้ผล

ปี 2537 เกิดความแตกแยกครั้งใหญ่ในพรรคพลังธรรม น.ต.ประสงค์ต้องเสียเก้าอี้รัฐมนตรีให้ทักษิณ ชินวัตร พร้อมกับการตั้ง “กลุ่ม 23” ในพรรค ก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะถูกซักฟอกในเรื่องขาดคุณสมบัติของเป็นรัฐมนตรีเพราะมีสัมปทานกับรัฐจนต้องลาออกหลังจากนั้นเพียง 3 เดือน แต่ น.ต. ประสงค์ก็ตัดสินใจย้ายไปพรรคนำไทยของ ดร.อำนวย วีรวรรณ เปิดศึกทั้งแฉเรื่องขบวนการค้าไม้พม่ากับ ส.ส. “กลุ่ม 16” ในยุครัฐบาลบรรหาร และทั้งถูกมองว่ามีบทบาทนำใน “ม็อบสีลม” ที่เขย่ารัฐบาลพลเอกชวลิตจนต้องออกไป

ช่วงนี้เองที่ น.ต.ประสงค์มีอีกบทบาทที่โดดเด่นขึ้นมา คือการเขียนคอลัมน์ “น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ พูด” ในหนังสือพิมพ์แนวหน้า จนมาถึงรัฐบาลชวน 2 ที่กลับมามีตำแหน่งในงานถนัด คือที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงของนายกฯ

หลังจากนั้นที่ พ.ต.ท.ทักษิณก่อตั้งพรรคไทยรักไทยจนได้เป็นนายกรัฐมนตรี คอลัมน์ของ น.ต.ประสงค์ก็มุ่งซักฟอกเปิดศึกกับนายกฯ ทักษิณตลอดมา ทั้งโดยผ่านคอลัมน์ประจำตัว และยังถูกมองว่าเป็นผู้ให้ข้อมูลสำคัญๆ กับหลายๆ ฝ่ายในกระแส “ทักษิณ ออกไป” จนเกิดการปฏิรูปฯ ในที่สุด

จากหลายบทบาทที่ยาวนาน ทั้งกูรูด้านข่าวกรองความมั่นคง นักการเมือง คอลัมนิสต์ น.ต.ประสงค์สุ่นศิริ ได้ตกผลึกออกมาเป็นงานเขียนหนังสือหลายเล่ม ตั้งแต่งานที่เป็น “การเมือง” อย่างรุนแรงอย่าง “สุนัขตัวนั้น” , “รู้ทันกังฉิน ชาดกฉ้อฉล นิทานคนโกง พงศาวดารกินเมือง” , ไปจนถึงงานเชิงความรู้ด้านประวัติศาสตร์อย่าง “ปฏิวัติ-รัฐประหาร ทหารกับนักการเมือง”, “สงครามก่อการร้าย…อันตรายใกล้ตัว”, “คลื่นลูกเก่า” และ “อยู่อย่างจีน”

ทุกวันนี้ที่รัฐธรรมนูญฉบับร่าง 2550 กระแสจากหลากหลายฝ่ายทั้งต่อต้าน สนับสนุน และเรียกร้องให้เพิ่มให้ลดมาตราต่างๆ จึงพุ่งไปที่ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานคณะกรรมการยกร่างฯ อย่างที่น่าจับตามองต่อไปว่าศึกนี้ “ซีไอเอเมืองไทย” จะรับมืออย่างไร

Profile

Name : นาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ
Born : 11 สิงหาคม พ.ศ. 2470
Education :
โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
ปริญญาตรีและปริญญาโท สาขาการบริหาร ที่สหรัฐอเมริกา
Career Highlights
– รับราชการเป็นครูโรงเรียนประจำจังหวัดราชบุรี
– รับราชการทหาร ยศเรืออากาศตรี ที่กรมข่าวทหารอากาศ ติดตาม พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา ที่สำนักรักษาความปลอดภัย กองทัพอากาศ
– ได้รับทุนไปเรียนด้านข่าวกรองที่กองทัพอากาศ สหรัฐอเมริกา กลับมาได้ย้ายไปสังกัดสำนักงานรักษาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ได้รับเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการข่าวกรอง, ผู้ช่วยเลขานุการ สมช., รองเลขาธิการ สมช. จนได้รับตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ต่อจาก พล.อ.สิทธิ เศวตศิลา ที่เกษียณอายุ ในปี พ.ศ. 2523
Status : สมรสกับสุคนธ์ สุ่นศิริ