“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เป็นบุคคลที่ใครได้ยินชื่อแล้ว เกิดความรู้สึกได้ทั้งความมั่นใจและความรู้สึกระแวงแคลงใจ อย่างที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีพิสูจน์มาแล้วกับ “นักกลยุทธ์มาร์เก็ตติ้ง” คนนี้ หรือแม้แต่รัฐบาลขิงแก่ ก็เกือบย่ำแย่เพราะถูกเกมของ “สมคิด” วางหมากจนปั่นป่วน หรือกระทั่งล่าสุดหัวหน้ากลุ่มมัชฌิมา “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ที่รู้สึกเชื่อมั่นสุดๆ กับแบรนด์ “สมคิด”ที่หวังให้เป็นจุดขาย ก็ยังต้องลุ้นไปกับการตัดสินใจของ “สมคิด” ว่าพร้อมร่วมก๊วนเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่จะตั้งขึ้นใหม่หรือไม่
บทบาทของ “สมคิด” เด่นชัดในแวดวงการเมืองนับตั้งแต่เข้าร่วมกับพ.ต.ท.ทักษิณ ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ร่วมร่างนโยบายที่ถือเป็นจุดขายของพรรค ตั้งแต่การช่วยเหลือคนจนแบบประชานิยม ด้วยโครงการเอื้ออาทร กองทุนหมู่บ้าน กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ไปจนถึงการปลุกเศรษฐกิจมหภาค ผ่านนโยบายดอกเบี้ยต่ำ และลดภาษีกระตุ้นการลงทุน
การวางตัวระหว่างร่วมเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณสำหรับ “สมคิด” แล้ว คือมืออาชีพมุ่งมั่นบริหารประเทศ ไม่คอมเมนต์เรื่องการเมือง ที่สำคัญ ไม่แสดงให้เห็นว่าเขาต้องการเทียบรัศมีของ “พ.ต.ท.ทักษิณ” แต่เป็นเพียงมือเศรษฐกิจของรัฐบาลเท่านั้น
กระทั่งมาถึงความเพลี่ยงพล้ำของหัวหน้าพรรคไทยรักไทยเอง ทั้งปัญหาจริยธรรมทางการเมือง การซุกหุ้น เลี่ยงภาษีขายหุ้น ผลประโยชน์ทับซ้อน และการคอรัปชั่น จนเดินทางมาสู่การตะโกนขับไล่ “ท้าก…. ษิน” ออกไป ในช่วงปี 2548-2549 และอาหารมื้อค่ำมื้อหนึ่งระหว่างสมาชิกพรรคกลุ่มชื่อขึ้นต้นด้วย ส. ที่แว่วออกมาว่า เพื่อหาทางออกให้กับรัฐบาลไทยรักไทย ด้วยการชู “สมคิด” เป็นนายกรัฐมนตรี
ความระแวงต่อ “สมคิด” จึงเกิดขึ้นพร้อมๆ กับเสียงที่บ่งบอกว่า “สมคิด” เหมาะสมที่จะนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีแทนพ.ต.ท.ทักษิณ โดยมาจากความเชื่อมั่นของกลุ่มนักธุรกิจ
แต่นักกลยุทธ์อย่าง “สมคิด” ไม่บ่งบอกอะไรที่ชัดเจน ปล่อยให้ความคลุมเครือคลี่คลายสถานการณ์ด้วยตัวของมันเอง และรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณก็ต้องปิดฉากลงเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 จากการรัฐประหารของกลุ่มทหาร นำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน
แต่สำหรับ “สมคิด” คือการเริ่มต้นในถนนสายใหม่ โดยไม่กี่เดือนหลังการรัฐประหาร และรัฐบาลขิงแก่เริ่มบริหารประเทศยึดแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2550 “สมคิด” เริ่มเดินสายพาตัวเองเข้าไปในแวดวงสนทนาเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จนสร้างเซอร์ไพรส์ให้กับคอการเมืองจากคำสั่งของนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่แต่งตั้งให้ “สมคิด” เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานและกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ด้วยภารกิจการสร้างความเข้าใจเรื่องนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงแก่ต่างประเทศ
นี่คือแผนดึงศัตรูเป็นมิตร หรือแผนการสร้างความสมานฉันท์ หรือความเชื่อมั่นในความสามารถของ “สมคิด” และคำถามอื่นๆ ที่เกิดขึ้นมากมายในช่วงนั้น
แต่ไม่ว่าจะเป็นแผนใด สังคมก็ปฏิเสธ “สมคิด” เพราะเขาคือ “แบรนด์รอง” ของพรรคไทยรักไทย เป็นเจ้าตำรับการกระตุ้นการบริโภคชนิด “จีดีพีนิยม” สวนทางกับเศรษฐกิจพอเพียงอย่างชัดเจน และในที่สุดเขาต้องถอยออกไป แถลงข่าวถอนตัวพร้อมน้ำตาซึม ได้ภาพลักษณ์ความเป็นผู้เสียสละถอนตัวเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ในประเทศ
ผลที่ได้ถือว่าน่าพอใจ ที่“สมคิด”ไม่เพียงรีแบรนด์สร้างระยะห่างจากพ.ต.ท.ทักษิณเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างรอยร้าวภายในรัฐบาลขิงแก่เอง โดยเฉพาะอาการหลุด ไม่พอใจจากม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่นั่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพียงพอที่จะสร้างความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว จากนั้นอีกไม่นาน “หม่อมอุ๋ย” ก็สละจากเรือขิงแก่
ที่สำคัญกว่านั้น การกลับมาแทรกซึมของ “สมคิด” ยังทำให้ประชาชนเริ่มระแวงในเป้าหมายของรัฐบาลขิงแก่ รวมไปถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ว่าเล่นกลรัฐประหารฮั้วกับพ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ เพราะ “สมคิด” ไม่ใช่ใครอื่นไกล แต่คือคนสนิทของพ.ต.ท.ทักษิณ
เมื่อบรรยากาศทางการเมืองเดินทางมาสู่จังหวะที่เหมาะสม โดยเฉพาะการตัดสินคดียุบพรรคการเมืองโดยตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งมี 2 พรรคใหญ่ที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ คือพรรคไทยรักไทย และประชาธิปัตย์ แต่ระหว่างรอคำพิพากษา ตลอดเวลาก่อน 30 พฤษภาคม 2550 อันเป็นวันชี้ชะตา ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อยู่ในความสนใจ คือการตั้งพรรคการเมืองใหม่ และแน่นอน “สมคิด” ถูกคาดหวังให้เป็นจุดขายของอดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทยที่ออกมาตั้งพรรคใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” หัวหน้ากลุ่มมัชฌิมา ถึงขั้นยอมปูทางรวมอดีตนักการเมือง ตั้งท่ารอให้ “สมคิด” มาร่วมวง และตั้งชื่อพรรคใหม่ให้
อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาเกือบ 3 เดือน ท่าทีของ “สมคิด” ไม่เคยแสดงให้เห็นว่าพร้อมจะเปลี่ยนตัวเองจากแบรนด์รองพรรคไทยรักไทย มาเป็นแบรนด์หลักให้กับพรรคใด มีเพียงความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนคือ พร้อมเป็นตัวเลือกกลับเข้ามาบริหารประเทศในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ด้วยการดำเนินกลยุทธ์ผูกมิตรกับทุกกลุ่มก้อนทางการเมือง และกลุ่มนักธุรกิจที่กำลังทนไม่ได้กับจีดีพีที่โตเพียง 3% ภายใต้รัฐบาลชุดขิงแก่ ถึงขั้นลือกันว่าร่วมลงขันเทกโอเวอร์สื่อสิ่งพิมพ์หัวเก่าแก่เพื่อเป็นสื่อนำไปสู่การผลักดัน “สมคิด” ให้บรรลุเป้าหมาย
สูตรสำเร็จนี้ไม่ต่างจากช่วงที่เขาเคยร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ทั้งการควบกิจการกับพรรคการเมืองอื่น ดึงพันธมิตรจากกลุ่มต่างๆ ของสังคม ตั้งแต่เกษตรกร กลุ่มนักกิจกรรม และนักธุรกิจ การชูนโยบายบริหารประเทศที่ต่างจากเดิม และการดึงสื่อเป็นพวก
“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ณ ชั่วโมงนี้ จึงยังเป็นบุคคลที่เต็มไปด้วย “กลยุทธ์” เพียงแต่ว่า “กลยุทธ์” ที่เขาต้องวางในเวลานี้ ไม่ใช่เพื่อปูทางให้คนอื่นอีกต่อไป เพราะจังหวะนี้ถึงเวลาแล้วที่พร้อมวางกลยุทธ์สำหรับตัวเอง