คตส. “พลังจับโกง”

”คตส.” 3 ตัวอักษรย่อ ที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่ง ทั้งที่เพิ่งก่อตั้งได้เพียง 8 เดือน นับตั้งแต่วันรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพื่อตรวจสอบโครงการและนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” ที่เข้าข่ายทุจริตคอรัปชั่น

8 เดือนแรกของการทำงานของ คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ) ตั้งแต่ 30 กันยายน 2549-31 พฤษภาคม 2550) เต็มไปด้วยความเข้มข้น ชนิดที่ว่า คตส.ไปรื้อค้นข้อมูลโครงการต้องสงสัยตรงไหน ก็เจอกลิ่น เจอข้อมูล ที่สามารถฝังกลบผู้กระทำการผิดได้

ด้วยความชัดเจนในแนวทางการทำงานของคณะกรรมการ คตส. ทั้งหมด 12 คน ที่ส่วนใหญ่มีจุดยืนแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาในการต่อต้านระบอบทักษิณ ไม่ว่าจะเป็น “แก้วสรร อติโพธิ” “กล้าณรงค์ จันทิก” “คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา” ทำให้ คตส. เป็นหน่วยงานที่ได้รับความมั่นใจอย่างเต็มที่ว่าจะสืบค้นข้อมูลการคอรัปชั่น อันเป็นเหตุผล 1 ใน 4 ข้อที่รัฐบาลทักษิณถูกรัฐประหาร และนำเข้าสู่กระบวนการลงโทษ ยึดทรัพย์บุคคลในคณะรัฐบาลของ “ทักษิณ” ได้สำเร็จ

ความคาดหวังที่มีอยู่สูง ทำให้การดำเนินงานของ คตส. ถูกจับตาอย่างใกล้ชิด จนปรากฏเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ ผ่านจอทีวี คลื่นวิทยุเกือบทุกวัน โดยเฉพาะการตรวจสอบที่มาของทรัพย์สินของบุคคลในครอบครัวชินวัตร

ยิ่งเวลาผ่านไป การทำงานของ คตส. ยิ่งเข้มข้น เพราะถึงเวลาใกล้สรุป จากก่อนหน้านี้ในช่วง 3 เดือนแรกคือการรวบรวมเอกสารข้อมูล ถึงบทสรุปเมื่อไหร่นั่นหมายถึงการชี้ชะตาอนาคตทางการเมืองของ “ทักษิณ ชินวัตร” และทรัพย์สินมากมายของครอบครัว “ชินวัตร” รวมไปถึงอดีตรัฐมนตรีบางคน ที่อาจจบลงด้วยการถูกยึดทรัพย์

การใส่เกียร์เดินหน้าเต็มสูบทำให้กลุ่ม “ทักษิณ” ออกแรงดิ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะไม่เพียงภาพของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภรรยาสุดที่รักของอดีตท่านผู้นำจะต้องขึ้นโรงขึ้นศาลแล้ว บรรดาลูก ๆ ของ “ทักษิณ” ก็ต้องเดินสายให้การ ชี้แจงต่อศาล และ คตส. ด้วยเช่นกัน

นี่น่าจะเป็นทุกข์อย่างที่สุดของหัวหน้าครอบครัวอย่างอดีตนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย

ในปี 2550 คตส. จึงถือเป็นองค์กรที่มีบทบาทและหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งในการจับโกง สามารถเป็นตัวเร่งให้ “ทักษิณ” ออกอาการส่งแรงดิ้นมากขึ้นเรื่อยๆ จนน่าติดตามว่าระหว่าง คตส. หรือการต่อสู้ของ “ทักษิณ” ใครจะหมดแรงก่อนกัน

13 โครงการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ คตส. ณ วันที่ 23 พฤษภาคม 2550

1.โครงการจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000
2.โครงการจัดซื้อที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษกของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร
3. การตรวจสอบการเสียภาษีจากการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป กรณีบรรพจน์ ดามาพงศ์ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร พร้อมพวก 6 คนหลีกเลี่ยงภาษีการซื้อขายหุ้นตระกูลชินวัตร
4. โครงการแอร์พอร์ตลิงค์
5. โครงการทุจริตกล้ายาง
6. โครงการจัดซื้อรถดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร
7. โครงการจัดซื้อจัดจ้างท่อร้อยสายไฟฟ้าสนามบินสุวรรณภูมิ
8. โครงการธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิม แบงก์ ปล่อยเงินกู้ให้พม่า
9. โครงการเซ็นทรัลแลป
10. โครงการบ้านเอื้ออาทร
11. กรณีมติ ครม. เรื่องภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคม
12. โครงการหวยบนดิน 2-3 ตัว
13. ผู้บริหารกรุงไทยปล่อยกู้บริษัทกฤษฎานคร 9,000 ล้านบาท

จุดเดือด “คดีที่ดินรัชดา”

การตรวจสอบโครงการที่ได้รับความสนใจอย่างยิ่งของประชาชน คือการชนะประมูลซื้อที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษกของภรรยา “ทักษิณ” คุณหญิงพจมาน ชินวัตร มูลค่า 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพราะไม่เพียงจะมีข้อมูลเพียงพอในการยึดทรัพย์ในโครงการนี้แล้ว ตามกฎหมายแล้วภรรยาและสามีถือเป็นบุคคลคนเดียวกัน ซึ่งอาจทำให้ “ทักษิณ” หมดอนาคตทางการเมือง หากถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก

คดีนี้ คตส. สรุปแล้วว่าเข้าข่ายกระทำผิด และส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้อง ตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. ในมาตรา 100 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดดำเนินกิจการดังนี้

(1) เป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี

(2) เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี

(3) รับสัมปทานหรือคงถือไว้ซึ่งสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว

(4) เข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงานหรือลูกจ้างในธุรกิจของเอกชนซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่หรือปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของธุรกิจของเอกชนนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น

เกี่ยวกับ คตส.

คตส. หรือชื่อเต็มว่าคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ ตั้งขึ้นตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 23 และแก้ไขใหม่ทั้งการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการ คตส. และอำนาจหน้าที่เป็นชุดปัจจุบัน ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 30

คตส. ชุดแรก ตั้งขึ้นตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 23 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2549 มีนายสวัสดิ์ โชติพานิช เป็นประธาน แต่ถูกวิจารณ์ว่ามีกรรมการบางคนใกล้ชิดกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ต้องถูก คตส. ตรวจสอบ คปค. จึงประกาศแต่งตั้งใหม่ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2549 และขยายอำนาจให้ครอบคลุมถึงความผิดอันเกิดจาการการหลีกเลี่ยงกฎหมายภาษีอากร ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ

อายุการทำงานเดิมของ คตส. กำหนดไว้ 1 ปี หรือสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2550 แต่เมื่อรัฐบาลและ คตส. ประเมินแล้วคดีต่างๆ ที่อยู่ในการพิจารณาไม่สามารถสรุปสำนวนได้ทันเวลา คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2550 จึงมีมติต่ออายุการทำงานของ คตส. จนกว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะหมดวาระ