ตุลาการรัฐธรรมนูญทีมฟันธงคดีการเมือง

คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ แห่งศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระที่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่ามีบทบาทที่ทรงอิทธิพลที่สุดในรอบปี 2550 จากการทำหน้าที่เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ในการตัดสินคดียุบ 5 พรรคการเมือง ชี้ชะตาให้”ประชาธิปัตย์” อยู่ต่อ แต่สำหรับ”ไทยรักไทย” คือยุบทั้งพรรค ทั้งคน หยุดอนาคตทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด 111 คนไว้ 5 ปี รวมทั้งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย

ผลการตัดสินคือการสร้างความชัดเจนให้กับอนาคตทางการเมืองไทย ว่าแน่นอนจะไม่มีกลุ่มแกนนำของพรรคไทยรักไทย โดยเฉพาะพ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามามีโอกาสในอำนาจการปกครองประเทศ หลังถูกรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 แต่ขณะเดียวกันผลการตัดสินนี้อาจนำไปสู่การเริ่มต้นของความวุ่นวาย ไม่สงบในบ้านเมืองได้ หากอดีตคนไทยรักไทย “ไม่ยอม” และหาทางดิ้นรนเพื่อกลับมาสู่อำนาจ

แต่นี่คือผลของ”อิทธิพล”จากคณะตุลาการรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันที่พิพากษาแล้วว่าไม่สมควรอีกต่อไปสำหรับ”พ.ต.ท.ทักษิณ” ในการได้อำนาจปกครองประเทศ หลังจากที่เคยให้”โอกาส”พ.ต.ท.ทักษิณ”มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อครั้งตัดสินให้พ้นผิดด้วยตุลาการเสียงข้างมาก 8 ต่อ 7 เสียง จาก”คดีซุกหุ้น” จาก”เหตุบกพร่องโดยสุจริต”เมื่อปี 2544 จนเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางนายกรัฐมนตรีของ”พ.ต.ท.ทักษิณ”

ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ นั้นจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาคดีทั่วไป ส่วน“คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” เป็นบุคคลที่คัดเลือกมาจากแวดวงสาขาอาชีพ ทั้งรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ซึ่งตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กำหนดต้องผ่านการพิจารณาจากวุฒิสภา และโปรดเกล้าฯจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในขั้นตอนสุดท้าย

สำหรับคณะตุลาการรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน ได้รับการโปรดเกล้าฯ หลังจากรัฐประหารเมื่อกันยายน 2549 ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549 และได้บัญญัติขึ้นตามมาตรา 35 ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 มีทั้งหมด 9 คน โดยมี “ปัญญา ถนอมรอด”เป็นประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ, อักขราทร จุฬารัตน เป็นรองประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ส่วนตุลาการรัฐธรรมนูญทั้ง 7 คนประกอบด้วย สมชาย พงษธา, หม่อมหลวงไกรฤกษ์ เกษมสันต์, ธานิศ เกศวพิทักษ์, กิติศักดิ์ กิติคุณไพโรจน์, นุรักษ์ มาประณีต, จรัญ หัตถกรรม, วิชัย ชื่นชมพูนุท

หากย้อนหลังผลงานของตุลาการรัฐธรรมนูญในชุดก่อน ๆ ล้วนแต่สามารถชี้เป็นชี้ตายอนาคตของบุคคลและเหตุการณ์สำคัญมาแล้วหลายครั้ง ที่เป็นไฮไลต์ปี 2549 ที่ผ่านมา ต้องยกให้การตัดสินในคดีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 116 เเป็นการเลือกตั้งที่โมฆะ จาการจัดการการเลือกตั้งที่ไม่เป็นกลางของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เช่น การหันคูหาการลงคะแนน การกำหนดวันเลือกตั้งอย่างกระชั้นชิด การที่พรรคใหญ่ว่าจ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้ง ส่งผลต่อเนื่องมาให้กกต.ทั้ง 4 คน ได้แก่ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ นายปริญญา นาคฉัตรีย์ พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ นายวีระชัย แนวบุญเนียน หลุดจากตำแหน่งกกต. ดับฝันการกลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพ.ต.ท.ทักษิณในเวลานั้น

แม้ว่าหลังจากนั้นจะเกิดความวุ่นวาย สังคมแตกแยกแบ่งขั้วกันชัดเจน จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ส่งต่อมาถึงความไม่นิ่งทางการเมือง และความหวาดระแวงต่อกลุ่มของอดีตนายกรัฐมนตรี ที่ปฎิบัติการอย่างต่อเนื่องในการทวงคืนอำนาจ เพื่อนำพรรคไทยรักไทยกลับคืนสู่เส้นทางการเมือง แต่ดูเหมือนไม่ง่ายนัก เมื่อสถานการณ์เวลานี้ “ตุลาการรัฐธรรมนูญ”คือผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า

Profile

ประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ
Name: ปัญญา ถนอมรอด
Born: เกิด 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2490
Education: นิติศาสตร์ เกียรตินิยมดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Career Highlights:
– ปัจจุบัน ประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ (ทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญ)
-อดีตรองประธานศาลฎีกา
-อดีตประธานแผนกคดีพาณิชย์ในศาลฎีกา
-อดีตรองอธิบดีศาลแพ่ง
-อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ศาลจังหวัดน่าน
-อดีตผู้พิพากษาศาล จังหวัดเชียงใหม่
-อดีตผู้ช่วยผู้พิพากษา

Profile

รองประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ
Name: ศาสตราจารย์อักขราทร จุฬารัตน
Born: 1 เมษายน พ.ศ. 2483
Education:
-ระดับมัธยมปลายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
– ปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
-เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
-ปริญญาเอก กฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยโรม ประเทศอิตาลี
-วุฒิบัตรการศึกษาอบรมหลักสูตรนักปกครองระดับสูง วิทยาลัยการปกครองระดับสูง กระทรวงมหาดไทย
-วุฒิบัตรจากสถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูง กองทัพบก
วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
Career Highlights:
-พ.ศ. 2543-ปัจจุบัน ประธานศาลปกครองสูงสุด และรองประธานคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
– 2549 “นักกฎหมายที่สมควรได้รับการยกย่อง ประจำปี 2548” จาก คณะกรรมการ “มูลนิธิศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์”
-ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด ตั้งแต่ พ.ศ. 2543
-เคยได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา เคยดำรงตำแหน่งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
อาจารย์สอนวิชาากฎหมายมหาชนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์