“มือปราบนักบู๊” เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส

จากตำแหน่ง จเรตำรวจแห่งชาติ ในวันนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ก้าวขึ้นนั่งเก้าอี้รักษาการผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) หรือ ผบ.ตร. เป็นเบอร์ 1 ของ 4 เหล่าทัพ ที่มีหน้าที่รักษาความมั่นคงของชาติในเวลานี้

ปี 2550 “วีระบุรุษนาแก” คนนี้ พิสูจน์ให้เห็นถึงประโยชน์ของคุณสมบัติความเป็นคนตรงไปตรงมา ต่อต้านการคอรัปชั่น เป็นความหวังของรัฐบาลชิงแก่ และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในภารกิจฟื้นฟูประเทศ และจัดการกับ “ระบอบทักษิณ” หลังการรัฐประหาร เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2550 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จึงได้รับการแต่งตั้งจากพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี นั่งรักษาการตำแหน่งผู้บัญชาการ สตช. เป็นเบอร์ 1 ของ 1 ใน 4 สี่เหล่าทัพ หน่วยงานหลักในการรักษาความมั่นคงของชาติในเวลานี้

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ มาแทน พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ที่ถูกปลดเพราะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตั้งใจร่วมทำภารกิจของ คมช. ให้สำเร็จ จากการที่ไม่สามารถจับคนร้ายในคดีเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ระเบิดกรุงช่วงคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2549 เหตุการณ์เผาโรงเรียนในภาคอีสาน อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเหตุการณ์หนึ่งซึ่งพิสูจน์ว่ามีการต่อท่อนำเลี้ยงจากอำนาจเก่า

สไตล์บู๊แหลกของเขานอกจากการปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขันทุ่มเทแล้ว คำพูดแต่ละครั้งก็ชัดเจนบ่งบอกถึงทิศทางของ สตช. ยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นข้อความที่ให้สัมภาษณ์หลังรับทราบว่าต้องรับหน้าที่บิ๊ก สตช. ว่า “สำหรับผมต่อไปเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น จะบู๊ล้างผลาญอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น นักเลง ผู้มีอิทธิพลทั้งหลายเตรียมตัว ตำรวจเกียร์ว่าง ต้องระวังตัว”

หรือแม้แต่การให้ความเห็นเมื่อทราบว่าอดีตนายเก่าอย่างพล.ต.อ.โกวิทถูกปลด พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ตอบคำถามนักข่าวสั้นๆ แต่ยังเป็นถูกจดจำว่านี่คือผลพวงของ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แค่นั้น”

สำหรับนายตำรวจตงฉินผู้นี้ ไม่เพียงเป็นมือปราบความหวังใหม่ของชาวบ้านเท่านั้น แต่ยังมีสีสันน่าติดตาม ครั้งนี้เขาเข้าใจเรื่องของประชาสัมพันธ์มากขึ้น เห็นได้จากป้ายอวยพรและเตือนประชาชนที่เดินทางเข้าออกกรุงเทพฯให้ไม่ประมาท และเดินทางอย่างปลอดภัยขึ้นพรึบพรับทั่วไปในถนนหลายสาย รวมไปถึงป้ายงานชุมนุมศิษย์เก่าโรงเรียนทวีธาภิเศกซึ่งพล. ต.อ.เสรีพิศุทธ์จบการศึกษามา

ควบคู่ไปกับการพีอาร์ ผลงานของพล. ต.อ.เสรีพิศุทธ์คือการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติใหม่ออกเป็น 7 สายงาน

“ผมผ่านมาเยอะ ปราบคอมมิวนิสต์มา ๑๐๐ กว่าครั้ง เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ยิงกันหูดับไฟแลบ ก็สามารถ ผ่านวิกฤตต่างๆ มาได้ตลอด ช่วงหลังโตขึ้นด้วยยึดหลักความถูกต้อง บางทีก็ต้องเผชิญกับปัญหา ยิ่งสูงยิ่งหนาว ถ้าเราเป็นนายตำรวจใหม่ๆ ปัญหาก็อยู่ในระดับต่ำๆ ไม่ค่อยมีอิทธิพล อิทธิฤทธิ์เท่าไร แต่ยิ่งอยู่สูง ก็ต้องต่อสู้กับผู้ที่เหนือกว่า หรือคนมีอำนาจ มีอิทธิพล เกือบจะถูกปลดตั้งหลายครั้ง ความที่เราไม่ยอมเขานั่นเอง”

เป็นคำบอกเล่าอดีตของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ในนิตยสาร “สารอโศก” เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งแนวทางที่คงเส้นคงวานี้ส่งให้เขาได้เป็นถึงเบอร์หนึ่งอย่างที่เห็น

ชื่อ “เสรีพิศุทธ์” นั้นเปลี่ยนมาจากชื่อเดิม “เสรี” เป็นการทำเพื่อภรรยาด้วยเหตุผลที่เล่าไว้ในนิตยสาร “สารอโศก” ว่า “ภรรยาผมเจ็บออดๆ แอดๆ แล้วไปฟังคนที่เคารพนับถือมาว่า ชื่อไม่ถูกโฉลก แต่ถ้าจะเปลี่ยน ต้องให้สามีเปลี่ยนด้วย ก็มาปรึกษาผม ผมคิดว่าสิ่งไหนเราเสียสละให้ครอบครัวได้ก็ให้ ความจริง ผมรักชื่อผมนะ ก็ขออย่างเดียว อย่าเปลี่ยนหมดได้ไหม ขอให้มีชื่อเดิมเอาไว้ ก็ให้เขาไปคิดกัน และเขาก็ให้ผม เปลี่ยนชื่อมาอย่างนี้”

พล.ต.อ. เสรี (ชื่อเดิมขณะนั้น) เริ่มมีชื่อเสียงในช่วงปี 2520 ที่ขอย้ายตัวเองจากเขตเมืองไปยังอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็น “พื้นที่สีแดง” ที่มีคอมมิวนิสต์ชุกชุมในยุคนั้น จนได้ชื่อว่าเป็นวีระบุรุษนาแก

แต่เมื่อชีวิตราชการยาสนานผ่านมากับตำแหน่งที่สูงขึ้น ศึกใหญ่ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ หลายครั้งกลับเกิดจากตำรวจด้วยกันเอง

“ถูกแกล้งเรื่อยเพราะขัดผลประโยชน์ และคนไม่อยากเห็นเราเด่นเกิน ผมเคยแป้กหลายครั้ง โดนตั้งคณะกรรมการกลั่นแกล้ง เราก็ฟ้องกลับ เคยถูกอธิบดีเล่นงานเราก็ฟ้องกลับ สู้กันจนกว่าอธิบดีถูกปลดไป” เป็นคำบอกเล่าของ พล. ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ในรายการโทรทัศน์ “คมชัดลึก” เมื่อปีที่แล้ว

ในความรับรู้ของประชาชนส่วนใหญ่ผ่านทางสื่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์เป็นสัญลักษณ์เสมือนการการันตีบัญชาการสอบสวนทุจริตเหล่านี้จะเป็นไปอย่างเที่ยงตรง จากคดีทุจริตของกำนันเป๊าะ, บ่อนปอประตูน้ำ, คดีบ่อนลอยฟ้าปิ่นเกล้าที่มีตำรวจอยู่เบื้องหลัง, คดีที่อยู่ระหว่างสืบสวนสอบสวนเช่น ทุจริตลำไย ทุจริตทางด่วนบูรพาวิถี ไปจนถึงตรวจสอบศพที่ปัตตานี

จับบ่อนไหนต้องให้ได้ตัวเจ้าของ จัดทีมเฉพาะกิจเตรียมไว้ หาคนที่ซื่อสัตย์ ฝีมือใช้ได้ ก่อนจะไปจับใครจะมีเรารู้คนเดียวหรือระดับสูงไม่กี่คนเท่านั้น กันข่าวรั่ว ถึงเวลาก็เรียกรวมพลไป ตำรวจในทีมไม่มีใครรู้ว่าจะไปไหนจนกว่าจะไปถึงบ่อน” คือกลยุทธ์บางส่วนที่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์เชื่อมั่น

ย้อนไปในอดีตหลายครั้งที่พล. ต.อ.เสรีพิศุทธ์ถูกโยกย้ายไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ได้คุมกำลัง เช่นที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ แต่ในที่สุดแล้วก็จะกลับมามีบทบาทได้เสมอราวกับแมวเก้าชีวิต และก้าวถึงจุดสูงสุดในชีวิตราชการตำรวจนับตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นมา